posttoday

กทม.เดินหน้าศึกษาสร้างที่จอดรถถนนราชดำเนินจุได้1,400คัน

22 มิถุนายน 2560

กทม.เดินหน้าศึกษาแนวทางสร้างที่จอดรถราชดำเนินจุได้ 1,400 คัน ลุยต่อยอดสาทรโมเดล แก้รถถนนติดพระราม 4

กทม.เดินหน้าศึกษาแนวทางสร้างที่จอดรถราชดำเนินจุได้ 1,400 คัน ลุยต่อยอดสาทรโมเดล แก้รถถนนติดพระราม 4

นายสุจินต์ ทยานุกูล ผู้อำนวยการกองจัดระบบการจราจรทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาปริมาณการจราจรที่หนาแน่น ทางกรุงเทพมหานคร(กทม.) จึงได้เสนอรับผิดชอบโครงการต่อเนื่องอย่างการสร้างที่จอดรถใต้ดิน โดยกทม.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินบริเวณถนนราชดำเนิน วงเงิน 6 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เลยภายในปีนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินโครงการภายในปีหน้า

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะอยู่ในแนวตั้งแต่แยกจปร.ถึงสหประชาชาติจรดถนนศรีอยุธยาประกอบด้วยที่จอดรถ 4 ชั้น รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลได้ 1,400 คัน และ 3 ชั้นรองรับรถโดยสารขนาดใหญ่ได้ 160 คัน เพื่อใช้เป็นที่จอดรสบัสสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวบริเวณถนนราชดำเนินและท้องสนามหลวง

ส่วนโครงการที่จอดรถใต้ดินบริเวณสนามม้านางเลิ้งนั้นราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ได้แจ้งว่าไม่ขัดข้องและยินดีให้ความร่วมมือดำเนินโครงการที่จอดรถใต้ดินเพื่อแก้ปัญหาจราจร ดังนั้นจึงได้สั่งการให้กทม.เดินหน้าทำการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างควบคู่ไปด้วย

ขณะที่โครงการก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินบริเวณสวนรมณีนาถข้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ขนาดพื้นที่กว้าง 24 เมตร ยาว 300 เมตร พื้นที่ 29 ไร่ นั้นกทม.เห็นว่าไม่เหมาะสมในด้านการก่อสร้างอีกทั้งยังอยู่ในเขตเกาะรัตนโกสินที่ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำสิ่งปลูกสร้างใต้ดินจนอาจส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาดำเนินโครงการได้

อย่างไรก็ตาม กทม.ยังมีแผนการก่อสร้างที่จอดรถอีกหลายแห่งเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรประกอบด้วยโครงการที่จอดรถราชนาวีสโมสร พื้นที่ 8 ไร่ โครงการที่จอดรถใต้ดินสวนนาคราภิรมย์ บริเวณท่าพระอาทิตย์ พื้นที่ 7.5 ไร่ เป็นอาคาร 4 ชั้นรองรับรถยนต์จำนวน 700 คัน ควบคู่กับบริเวณแนวถนนศิริพงษ์ด้านหน้าสวนนาคราภิรมย์พื้นที่ 5 ไร่

นายสุจินต์ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมและสนข.ได้วางเป้าหมายขยายโครงการสาทรโมเดลออกไปยังพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครให้ประสบความสำเร็จเหมือนที่ได้ดำเนินการที่ถนนสาทร ซึ่งครั้งนี้เลือกที่จะขยายโครงการเข้าไปแก้ปัญหาบนถนนพระราม 4 ระยะทาง 6 กิโลเมตร ตั้งแต่แยกสถานีรถไฟหัวลำโพงไปจนถึงแยกเกษมราษฎร์ ถนนพระราม 4 ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมมองว่าจุดดังกล่าวมีความสำคัญเพราะเป็นพื้นที่หนาแน่นและประสบปัญหาจราจรมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังผ่านแยกสำคัญที่มีปัญหาจราจรมากกว่า 10 จุด อาทิ แยกสามย่าน แยกอังรีดูนังต์ แยกวิทยุ แยกศาลาแดงและแยกคลองเตย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการลงนาม MOU กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเข้าศุกษาความเหมาะสม คาดว่าในปีหน้าจะได้เห็นความชัดเจนและรูปแบบการดำเนินโครงการต่อไป

“ยอมรับว่าเป็นงานที่ยากกว่าเดิมเนื่องจากที่ผ่านในโครงการสาทรโมเดลนั้นได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแค่แยกเดียว แต่ในครั้งนี้เป็นระยะทางที่ยาวผ่านพื้นที่แออัดและแยกสำคัญหลายแห่ง จึงเป็นอีกงานที่ท้าทายเพื่อแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร” นายสุจินต์กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงการเตรียมการรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรให้กับนิสิตนักศึกษา 42,000 คน ในเดือนสิงหาคม บริเวณสวนอัมพรซึ่งมีปัญหาการจราจรติดขัดในทุกปี โดยได้มอบหมายให้ตำรวจจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ดำเนินการเชื่อมโยงการขนส่งเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบรรเทาความเดือดร้อนของผู้สัญจรและคนในพื้นที่