posttoday

เตือนกทม.ผ่อนปรนผู้ค้ากีดขวางทางเท้าทำจัดระเบียบล้มเหลว

23 สิงหาคม 2559

"กลุ่มคนไม่เอาหาบเร่แผงลอย" ชี้แรงต้านจากผู้ค้าถนนข้าวสารไม่ยอมรับมาตรการจัดระเบียบทางเท้าของ กทม. ส่อบานปลายทำจัดระเบียบล้มเหลว

"กลุ่มคนไม่เอาหาบเร่แผงลอย" ชี้แรงต้านจากผู้ค้าถนนข้าวสารไม่ยอมรับมาตรการจัดระเบียบทางเท้าของ กทม. ส่อบานปลายทำจัดระเบียบล้มเหลว

นายวัชราทิตย์ เกษศรี แอดมินเพจกลุ่มคนไทยไม่เอาหาบเร่แผงลอย เปิดเผยภายหลังผลการประชุมกลุ่มผู้ค้าแผงลอยถนนข้าวสาร ไม่ยอมรับมาตรการจัดระเบียบทางเท้าของทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า   หาก กทม.ยอมผ่อนปรนตามผู้ค้าแผงลอย เท่ากับเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ปฏิบัติตามกฏหมายมีอำนาจต่อรอง และปล่อยให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนใช้ทางเท้า นักท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อนต่อไป และหากพื้นที่อื่นที่เคยจัดระเบียบไปก่อนหน้านี้แล้วยื่นข้อเสนอแบบเดียวกันบ้าง หน่วยงานรัฐจะไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนถูกละเมิดสิทธิได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ข้ออ้างว่าการขายของบนทางเท้าเป็นเสน่ห์ในย่านถนนข้าวสาร ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสถานที่ใดที่มีชื่อเสียงโด่งดังนักท่องเที่ยวจะยังคงเดินทางเข้ามาและสถานที่แห่งนั้นยังสามาถสร้างตัวตนเป็นย่านการค้าได้เช่นเดิมโดยไม่ต้องมีร้านค้าแผงลอยกีดขวางทางเท้า

“การตีความเรื่องสตรีทฟู้ดในประเทศไทยผิดเพี้ยนไป ซึ่งไม่ใช่แค่นำอาหารมาขายบนทางเท้าแล้วจะเรียกว่าสตรีทฟู้ดได้ เพราะในต่างประเทศร้านอาหารต้องเปิดในอาคารให้ถูกต้องตามกฏหมาย เขาก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นสตรีทฟู้ดมีชื่อเสียงไปทั่วโลก อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีย่านโอซาก้า ย่านกินซ่า ไม่เห็นต้องมีร้านค้าแผงลอยเลย ดังนั้นการจัดระเบียบทางเท้ากระทบต่อตัวพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้เงินจากการเบียดเบียนผู้อื่นเท่านั้น พูดเอาดีเข้าตัวไว้ก่อน”นายวัชราทิตย์ กล่าว

นายวัชราทิตย์ กล่าวอีกว่า 7 ข้อเรียกร้องของผู้ค้ามีบางข้อรับได้ เช่น ตั้งร้านขายในพื้นที่ที่กำหนด รวมถึงเก็บกันสาดผ้าใบหลังปิดร้านทุกครั้ง แต่ยังขาดเรื่องบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดที่ฝ่าฝืนลงมาขายบนถนน ไม่มีการพูดถึงบทบาทที่ผู้ค้าต้องช่วยดูแลกันเอง ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจัดระเบียบของถนนข้าวสารในอนาคตอาจไร้ระเบียบเช่นเดิมอีก

“ปัญหาแผงลอยเกิดขึ้นมานานมาก จนทำให้คนมองว่าสิ่งที่เห็นอยู่ทุกวันเป็นเรื่องปกติ ผู้ค้าก็มองว่าสามารถทำได้แม้จะรู้ว่ากำลังทำผิดกฏหมาย ส่วนเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่อ ปล่อยปละละเลยให้ผู้ค้าทำความผิด ขณะเดียวกันผู้ซื้อก็คิดถึงแต่ความสะดวกสบาย ซื้อง่าย หยิบจับง่าย โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อคนอื่นที่ต้องลงไปเดินบนถนนเสี่ยงถูกรถเฉี่ยวชน ยืนขวางหน้าร้านก็ถูกพ่อค้าแม่ค้าดุด่า ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องสร้างจิตสำนึกไม่ละเมิดสิทธิทางเท้า  ด้านเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด และผู้ซื้อต้องไม่คิดถึงแต่ความสบายเพียงอย่างเดียว” นายวัชราทิตย์ กล่าว

สำหรับผลการประชุมระดมความเห็นของกลุ่มผู้ค้าแผงลอยถนนข้าวสาร ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้ กทม.นำกลับไปพิจารณา 7 ข้อ ดังนี้ 1. เปิดให้มีทางเดินด้านในติดกับอาคารบนฟุตบาทไม่น้อยกว่า 3 บล็อก หรือ 1 เมตร 20 เซนติเมตร 2. แผงค้าด้านในอาคาร ไม่ตั้งวางสินค้ายื่นเลยมาเกินกว่า 1 บล็อก หรือ 40 เซนติเมตร 3. แผงลอยที่ไม่ได้อยู่หัวมุม หรือด้านหลังไม่ได้เป็นกำแพง ต้องเปิดให้มีทางเดินเข้าอาคารอย่างน้อย 2 บล็อก หรือ 80 เซนติเมตร ส่วนแผงลอยที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เมตร 20 เซนติเมตร ให้จัดวางให้เห็นอาคารด้านหลังตามสมควร 4. หลังเลิกทำการค้าให้เก็บอุปกรณ์ หลังคาผ้าใบ กันสาด ให้เรียบร้อย

5.ต้องเก็บขยะและดูแลท่อระบายน้ำหลังเลิกทำการค้า โดยให้ถ่ายรูปส่งเข้ามาในกลุ่มเพื่อยืนยัน 6. ต้องช่วยกันดูแลสอดส่องเกี่ยวกับอาชญากรรม และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และ7.ห้ามนำสินค้าลงมาตั้งวางขายบนผิวจราจร