posttoday

กทม.ระดมเอกชน สร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม

04 กรกฎาคม 2559

กทม.-เคที เร่งหาเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเทา-สายสีลมส่วนขยาย เกือบ 24 กม.

กทม.-เคที เร่งหาเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเทา-สายสีลมส่วนขยาย เกือบ 24 กม.

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) รัฐวิสาหกิจที่ดูแลโครงการรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มีแผนจะเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. และได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างตามแผนแม่บทแล้ว 2 เส้น ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีลมส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชัน 7.5 กม. 7-8 สถานี ซึ่งในอนาคต กทม.มีแผนจะขยายเส้นทางไปถึง จ.นนทบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเทาทองหล่อ-วัชรพล 16.25 กม. 15 สถานี

"กทม.และเคทีมีความสามารถที่จะไปเจรจากับบริษัทใหญ่ให้เข้ามาลงทุน เพราะแทนที่เขาจะเอาเงินไปลงทุนนอกประเทศ ถ้าเห็นว่าลงทุนในประเทศแล้วคุ้มกว่า ก็น่าจะลงทุนที่ไทย แต่ปัญหา คือ เขาอยากลงทุนไหม ถ้าเขาอยาก ก็ต้องถามต่อว่าเขามีความสามารถหาเงินมาลงทุนได้หรือเปล่า ดังนั้นขั้นตอนจากนี้ไปก็ต้องให้ กทม.เข้าไปเจรจาหาเงินทุน ใช้การทูตเข้าไปเจรจา เพราะ กทม.ไม่มีงบ และหากจะไปกู้ใครมาลงทุนก็ไม่มีใครให้กู้ ส่วนการหาเอกชนตอนนี้ยังไม่ได้เริ่ม แต่โครงการได้รับอนุมัติแล้ว" นายมานิต กล่าว

นายมานิต กล่าวว่า การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทาง จะเป็นรูปแบบเดียวกับที่ กทม.เชิญชวนเอกชนมาลงทุนก่อนหน้านี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีทอง 3 สถานี ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-โรงพยาบาลตากสิน ระยะทาง 1.7 กม. ซึ่งเป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายหลักเพื่อแก้ปัญหาจราจรในบริเวณดังกล่าว โดย กทม.ได้ลงนามสัญญากับกลุ่มไอคอนสยามให้เข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นเงิน 2,000 ล้านบาท แลกกับการให้เอกชนได้สิทธิในการโฆษณาในบริเวณสถานีเป็นเวลา 30 ปี ขณะที่การก่อสร้างและเปิดเดินรถจะเริ่มในอีก 18 เดือนนับจากเดือน ก.พ. 2559 หรือในช่วงปลายปี 2560 ส่วนการจัดหาเอกชนมาเดินรถนั้น กทม.และเคทีจะเปิดให้เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาเสนอราคา หากเอกชนรายใดเสนอค่าจ้างเดินรถต่ำสุดก็จะได้ไป

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การหาเอกชนมาลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเทาทองหล่อ-วัชรพล ซึ่งเส้นทางหลักจะเลียบทางด่วนรามอินทรา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากก่อสร้างบนดินจะต้องเสียค่าเวนคืนที่ดินสูงมาก เนื่องจากราคาที่ดินแพงมหาศาล แต่หากสร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินต้นทุนค่าลงทุนจะสูงกว่ารถไฟลอยฟ้ามาก