posttoday

ศศิกานต์ วงศ์ไวศยวรรณ เวลาหยุดเดินเมื่อทำขนม

18 มีนาคม 2559

เชฟส้ม-ศศิกานต์ วงศ์ไวศยวรรณ เชฟสาวหน้าหวาน ดูเรียบร้อย น่าทะนุถนอม กล่าวพร้อมรอยยิ้มน้อยๆ ชวนใจละลาย

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

เชฟส้ม-ศศิกานต์ วงศ์ไวศยวรรณ เชฟสาวหน้าหวาน ดูเรียบร้อย น่าทะนุถนอม กล่าวพร้อมรอยยิ้มน้อยๆ ชวนใจละลาย “การทำขนมเปิดโอกาสให้ส้มได้ใช้ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ส้มเรียนมา และความชอบด้านศิลปะที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กไปพร้อมกัน นี่คงจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ส้มหลงรักในการเป็นเชฟขนม”

เชฟส้ม แนะนำตัวอย่างสุภาพว่า ตอนนี้รับหน้าที่เป็นแพนทรีเชฟของร้านอาหารเกรฮาวด์ หน้าที่หลักคือการรังสรรค์สเปเชียล เมนูในส่วนของขนมตามธีมที่ได้รับจากฝ่ายการตลาด ซึ่งโดยเฉลี่ยในแต่ละปี ทางเกรฮาวด์จะมีเมนูขนมพิเศษออกมา 5-6 ครั้ง ครั้งละ 2-3 เมนู นั่นหมายความว่าแต่ละปีเชฟส้มต้องครีเอทเมนูใหม่ๆ ออกมาไม่ต่ำกว่า 15 เมนู นอกจากนี้เธอยังต้องตระเวนออกมาหน้าร้านเพื่อดูแลคุณภาพของขนมด้วย

“ที่เกรฮาวด์เชฟจะทำงานร่วมกับครีเอทีฟ เพราะเราไม่ใช่แค่ต้องการทำขนมออกมาให้อร่อย แต่หน้าตาของขนมต้องดี ต้องเลือกภาชนะที่จะเสิร์ฟให้เหมาะ เพราะฉะนั้นในขั้นตอนแรกของขนมที่ออกมา เชฟและครีเอทีฟต้องพอใจกับรสชาติ ลงตัวเรื่องการตกแต่ง การเลือกภาชนะ แล้วจึงส่งต่อไปยังฝ่ายการตลาด ซึ่งเป็นผู้ให้คอนเซ็ปต์ในการคิดเมนูขนม”

ตลอดระยะเวลาปีครึ่งที่ร่วมงานกับเกรฮาวด์ เชฟส้มบอกว่าสนุกกับงานที่ทำ เพราะตอบโจทย์กับสิ่งที่เธอรัก นั่นคือได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการคำนวณส่วนผสมเพื่อทำขนมให้ได้รสชาติดี และได้ใช้ความรักในศิลปะมาใส่ในการออกแบบหน้าตาขนมด้วย

ย้อนกลับไปก่อนที่เชฟส้มจะเริ่มต้นในถนนสายนี้ เธอเรียนจบภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชฟส้มบอกว่าตอนที่เลือกเรียนยังไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากเป็นเชฟ แค่อยากเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร แต่พอเรียนจบมาปรากฏว่าเริ่มสนใจการทำขนม จึงไปลงคอร์สหลักสูตรเบเกอรี่และแพนทรี ที่โรงเรียนวิชาการโรงแรมแห่งโรงแรมโอเรียนเต็ล (โอแฮป)

ศศิกานต์ วงศ์ไวศยวรรณ เวลาหยุดเดินเมื่อทำขนม

 

“ตอนที่ไปเรียนทางบ้านก็เห็นด้วย เพราะเขาอยากให้ส้มทำธุรกิจของตัวเองอยู่แล้วในอนาคต ดังนั้นถ้าเราเอาดีทางสายทำขนม ในอนาคตก็อาจจะเปิดร้านของตัวเองได้”

หลังจากเรียนจบ เชฟส้มเริ่มต้นงานแรกที่บริษัท ฟูจิออยล์ กรุ๊ป บริษัทญี่ปุ่นที่ขายผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม เช่น มาการีน วิปปิ้งครีม ช่วง 2-3 ปีแรกที่ทำ เชฟส้มบอกว่าบริษัทยังไม่มีสาขาในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเธอต้องขึ้นตรงกับสาขาที่สิงคโปร์

“ด้วยความที่ไม่มีสำนักงานในไทยนี้เอง ปีแรกๆ ส้มจึงมีโอกาสบินไปเทรนการทำขนมที่สิงคโปร์ หน้าที่หลักของส้มคือ เรียนรู้วิธีการทำขนมใหม่ๆ โดยใช้ส่วนผสมที่บริษัทเราจำหน่าย เพื่อนำมาถ่ายทอดให้กับบรรดาตัวแทนจำหน่ายในไทย เหมือนเป็นการมาให้ความรู้ลูกค้าของเราต่ออีกทีว่าสินค้าของเราสามารถนำไปต่อยอดทำขนมอะไรได้บ้าง”

ผ่านไป 7 ปี เชฟส้มเริ่มอิ่มตัวกับงานที่ทำ อยากเปลี่ยนบทบาทจากการโลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตวัตถุดิบ มาสวมบทเป็นผู้ที่เลือกใช้วัตถุดิบเพื่อส่งต่อขนมอร่อยๆ ให้ลูกค้าบ้าง

“ช่วงที่อยากเปลี่ยนงานพอดี โชคดีมีเพื่อนแนะนำว่าทางเกรฮาวด์กำลังหาเชฟทำขนม เลยลองมาสมัครดู กว่าจะเข้ามาทำงานได้ก็ต้องเจอกับบททดสอบความสามารถไม่น้อย ด่านแรกคือให้ลองทำขนม 3 อย่าง ตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย ส้มอาศัยความตั้งใจบวกกับความรู้ในการทำขนม เลยทำให้ผ่านบททดสอบและได้งานในที่สุด”

ถามว่าอะไรคือสิ่งที่เธอคิดว่าเป็นซิกเนเจอร์ในขนมทุกชิ้นที่ทำ เชฟส้มบอกว่ากลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น รสชาติของขนมที่ออกมาไม่หวานจัดเกินไป รสละมุนลิ้น กินได้เรื่อยๆ ที่สำคัญหน้าตาต้องสวยงาม แต่ถ้าเป็นเรื่องของคาว เชฟส้มยอมรับว่าฝีมือยังห่าง

ศศิกานต์ วงศ์ไวศยวรรณ เวลาหยุดเดินเมื่อทำขนม

“นอกจากขนม ช่วงนี้ส้มเริ่มสนใจอยากจะลองทำอาหารคาวดูบ้าง ส้มว่าการทำขนมกับอาหารไม่เหมือนกันเลย ส่วนตัวส้มมองว่าการทำอาหารเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันหน้างานเลยว่าจะออกมาดีหรือไม่ เพราะวัตถุดิบที่เราเตรียมมาทั้งหมดต้องเอามาปรุงสด ต่างกับขนมที่เราเตรียมวัตถุดิบมาเป๊ะๆ ทำตามสูตร บางอย่างก็ทำไว้ก่อนได้ เพราะฉะนั้นถ้าทำออกมาแล้วชิมว่าอร่อย ตอนนำมาเสิร์ฟยังไงก็อร่อย ส้มว่าอาหารต้องมีเรื่องของรสมือเข้ามาเกี่ยวเยอะ ในขณะที่ขนมยังมีสูตรตายตัว เปิดตำราทำได้ เพราะฉะนั้นการทำอาหารคาวค่อนข้างเป็นเรื่องท้าทายสำหรับส้ม”

เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคตของเชฟส้ม เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่าตั้งใจจะสานฝันเป็นเจ้าของร้านขนมให้เป็นจริง ตอนนี้นอกจากเธอจะพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก็พยายามคิดหาคอนเซ็ปต์ในการทำร้านขนมที่น่าสนใจ เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านขนมที่มีอยู่มากมาย

“สำหรับส้ม ช่วงเวลาที่ได้ทำขนมคือช่วงเวลาแห่งความสุข อย่างตอนที่เรียนที่โอแฮป ถึงจะเรียนหนักตั้งแต่ 8 โมงเช้า อยู่ในครัวถึงค่ำก็ไม่เหนื่อย เพราะเราสนุกจนลืมเวลา ห้องครัวสำหรับส้มเหมือนเป็นห้องแล็บให้เราทดลองทำสิ่งต่างๆ ได้ใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ลงไปเต็มที่” เชฟส้มกล่าวด้วยดวงตาเป็นประกาย เมื่อถามถึงชีวิตการเป็นเชฟ จนไม่ต้องถามต่อเลยว่าเธอจะทำอาชีพนี้ไปตราบจนเมื่อไหร่ เพราะคำตอบของเธอคงอธิบายได้ชัดเจนอยู่แล้ว

ช็อกโกแลตบานาน่าเครปเค้ก

ส่วนผสม

1.แผ่นเครป 10 แผ่น

2.วิปปิ้งครีม 500 กรัม

3.น้ำตาลไอซิ่ง 50 กรัม

4.คัสตาร์ด 300 กรัม

5.ช็อกโกแลตกานาช 300 กรัม

6.กล้วยหอม 4 ลูก

วิธีทำ

1.เริ่มจากทำช็อกโกแลตกานาช ให้นำวิปปิ้งครีมไปอุ่นในไมโครเวฟ ประมาณครึ่งนาที จากนั้นนำมาเทใส่ดาร์ก ช็อกโกแลตในสัดส่วน 1 ต่อ 1 จากนั้นคนให้เข้ากันแล้วนำไปแช่เย็นเพื่อให้ช็อกโกแลตเซตตัวประมาณ 3 ชั่วโมง

2.นำแผ่นเครปมาวางบนฐานรองเค้ก จากนั้นปาดด้วยวิปปิ้งครีมที่นำไปผสมกับ ไอซิ่ง ตีจนขึ้นยอดแล้ว 1 ชั้น แล้วนำเครปแผ่นที่ 2 มาวางทับด้านบน ปาดด้วยช็อกโกแลตกานาช วางทับด้วยเครปแผ่นที่ 3

3.จากนั้นปาดด้วยวิปปิ้งครีม วางทับด้วยเครปแผ่นที่ 4 แล้วปาดด้วยครีม คัสตาร์ด พร้อมกล้วยหอมที่หั่นไว้เป็นแว่นๆ จนเต็มแผ่นเครป จึงวางทับเครปแผ่นที่ 5 แล้วปาดด้วยวิปปิ้งครีม ซ้อนแผ่นเครปแผ่นที่ 6 แล้วปาดด้วยช็อกโกแลตกานาช

4.ต่อด้วยวางซ้อนแผ่นเครปแผ่นที่ 7 แล้วปาดด้วยวิปปิ้งครีม ซ้อนแผ่นเครปแผ่นที่ 8 ปาดหน้าด้วยคัสตาร์ดและกล้วยหอมที่หั่นเป็นแว่นๆ วางซ้อนด้วยแผ่นเครปแผ่นที่ 9 ด้วยวิปปิ้งครีม และซ้อนแผ่นเครปแผ่นสุดท้ายที่ด้านบน

5.ตกแต่งหน้าเครปด้วยกล้วยหอมที่สไลซ์เป็นชิ้นๆ โรยด้วยไอซิ่งและใช้โบลทอร์ช (ที่พ่นไฟ) ตรงหน้าขนม เพื่อให้น้ำตาลไอซิ่งละลายกลายเป็นคาราเมล