posttoday

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพอิสระ หัวใจรักษ์ทะเล

14 มีนาคม 2559

ชายหนุ่มหน้าตาเท่ๆ มาดเซอร์ๆ อัธยาศัยดีเยี่ยมคนนี้ คือ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

โดย...วรธาร ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ชายหนุ่มหน้าตาเท่ๆ มาดเซอร์ๆ อัธยาศัยดีเยี่ยมคนนี้ คือ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นิกเนมว่า ชิน ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระและกำลังศึกษาปริญญาโท สาขานิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

แม้ไม่ได้มีถิ่นฐานบ้านเกิดติดทะเล ไม่ได้เป็นลูกชาวเล แต่หัวใจของเขารักทะเลเต็มหัวใจ เพราะชินทำงานอนุรักษ์มาตั้งแต่ที่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีกระทั่งปริญญาโท โดยงานหลักของเขาในปัจจุบันคือถ่ายภาพโดยเฉพาะภาพใต้ท้องทะเล และทำงานวิจัยควบคู่กันไป 

ก่อนนี้ชื่อเสียงของชินอาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไป คงรู้จักแต่ในหมู่ของนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักอนุรักษ์ทะเลตัวพ่อถึงกับยกย่องชิน ว่า เป็นนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ไฟแรง ตัวจริง ของจริง ไม่ใช่นักอนุรักษ์ฉาบฉวย หรือคอยสร้างกระแส แต่ผลงานของชินสามารถปลุกกระแสให้คนหันมาให้ความสำคัญกับทะเลรวมถึงทรัพยากรต่างๆ ในทะเล

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพอิสระ หัวใจรักษ์ทะเล

 

ตอนนี้เชื่อว่าคนทั่วไปน่าจะรู้จักชินมากขึ้น เพราะเขาเพิ่งคว้ารางวัลช่างภาพใต้น้ำระดับโลกประจำปี 2016 มาหมาดๆ จากการส่งผลงานภาพถ่ายของตนที่เคยถ่ายไว้จากการทำงานอนุรักษ์ทะเลและงานวิจัยในห้วงหลายปีที่ผ่านมาเข้าประกวดที่องค์กรชื่อว่า Save Our Seas Foundation ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้คณะกรรมการระดับโลกได้พิจารณาคัดเลือกตัดสินว่าผลงานของใครจะเป็นที่หนึ่ง ที่สุดปรากฏว่าผลงานของชินชนะใจกรรมการทั้งที่มีช่างภาพฝีมือพระกาฬจากทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชียส่งเข้าประกวดจำนวนมาก

ชิน เล่าว่า การแข่งขันครั้งนี้จะเน้นให้ช่างภาพอนุรักษ์รุ่นใหม่อายุประมาณ 30 ปี ส่งผลงานเข้าประกวดมากมายล้วนแล้วเป็นช่างภาพเก่งๆ ทั้งสิ้น จนไม่กล้าหวังรางวัลอะไรมาก แต่ก็พยายามทำเต็มที่ เพราะสองปีที่แล้วเคยส่งประกวด (สองปีจัดแข่งขันครั้งหนึ่ง) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะภาพที่ถ่ายไว้ก่อนนั้นไม่สวยและไม่มีสตอรี่ที่น่าสนใจ อาจด้วยเป็นครั้งแรกและไม่มีประสบการณ์ มาครั้งนี้จึงรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

“เพิ่งส่งภาพประกวดเมื่อปลาย ม.ค.นี้ครับ โดยภาพที่ส่งมีสองประเภทหลัก คือ ภาพสวยงามที่พร้อมนำเสนอเรื่องราวและแคปชั่นที่ดีและสร้างสรรค์ เพื่อให้คนดูมีความสุข เกิดความฟูใจ ว่าสิ่งอันงดงามนี้มันมีอยู่ในท้องทะเลนะ อยากให้คนได้เห็นกัน เกิดความรู้สึกหวงแหน เกิดการพูดต่อ

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพอิสระ หัวใจรักษ์ทะเล

 

ขณะที่ภาพอีกส่วนหนึ่ง ผมต้องการสะท้อนให้เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องทะเลเพื่อให้คนได้หันมาใส่ใจ อย่างน้อยถ้าก่อให้เกิดการพูดคุยหรือถกกันในสังคมสำหรับผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว หรือถ้านำไปสู่การบริหารจัดการปัญหาต่อไปก็ยิ่งดี ภาพก็จะนำเสนอความเสื่อมโทรม ความเสียหาย ความโหดร้ายของทะเลและทรัพยากรในทะเล เป็นต้น เพื่อให้คนหันมามีจิตสำนึกในการที่จะช่วยกันรักษาทะเลต่อไป”

ชินยกตัวอย่างภาพที่ประกวด เช่น ภาพปลา กระเบนราหูเจ้าพระยา ที่เกาะเต่า เป็นงานวิจัยของสัตวแพทย์จุฬาฯ ท่านหนึ่ง ร่วมกับทีมวิจัย ในการเก็บข้อมูลของกระเบน เช่น การเติบโต การรักษา การอนุรักษ์กระเบนชนิดนี้ที่มีไม่กี่ที่ในโลก และมักเจอในประเทศไทย

ภาพเรืออวนล้อมในทะเลไทย ที่ปลาหลากชนิดใหญ่น้อยถูกจับขึ้นมาเต็มอวน หรือภาพหัวพะยูนลูกอ่อนซึ่งติดเบ็ดตาย ต่อมามีการชำแหละตัดหัวเอาไปศึกษาที่ศูนย์ชีวะภูเก็ต อย่างไรก็ตาม พะยูนตัวนี้เคยเป็นข่าวมาแล้วโดยอาจารย์ธรณ์มีการแชร์ออกสื่อด้วย แต่รูปนี้ของเขายังไม่เคยปล่อยที่ไหนมาก่อนซึ่งจะบอกว่าภาพนี้เวลาถ่ายน้ำตาแทบไหลเพราะความสงสาร

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพอิสระ หัวใจรักษ์ทะเล

 

การได้รับรางวัลช่างภาพใต้น้ำระดับโลกของชินในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการทำความฝันของเขาให้เป็นจริง เนื่องจากรางวัลที่จะได้รับสำหรับคนที่ชนะเลิศ คือ การได้ไปฝึกงานกับแคทธี โมรัน ซีเนียร์เอดิเตอร์ ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และเดนิส กริฟฟิน ผู้กำกับภาพของวอชิงตันโพสต์ พร้อมกันนี้ยังจะได้ทำงานภายใต้การนำของ โทมัส เพสแชค ไอดอลของเขา และที่สำคัญคือการถูกส่งไปถ่ายงานให้กับองค์กรที่จัดประกวดเป็นเวลา 1 เดือนในประเทศต่างๆ

“การประกวดครั้งก่อน เขาส่งช่างภาพที่ชนะเลิศไปที่เซาท์แอฟริกา ครั้งนี้และตอนนี้ผมยังไม่รู้ว่าผมจะส่งผมไปถ่ายงานที่ประเทศไหนบ้าง แต่เวลาน่าจะช่วงเดือน มิ.ย.หรือ ก.ค.นี้ ผมรู้สึกดีใจและค่อนข้างตั้งความหวังกับรางวัลนี้พอควร เพราะมองว่าเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต และการได้ร่วมงานกับคนเก่งระดับโลกมันหาได้ไม่ง่ายในการที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเองยิ่งๆ ขึ้นไป”

ไม่น่าเชื่อว่า ชินที่ไม่เคยเรียนถ่ายภาพที่ไหนมาก่อน แต่ความสามารถของเขาสามารถพัฒนาไปไกลถึงระดับโลกขนาดนี้ได้ ต้องถือว่าเขามีความมุ่งมั่นสูง อย่างไรก็ตาม หากชินไม่ได้หลงรักทะเลก็อาจไม่ได้มายืนอยู่ ณ จุดนี้ก็ได้

“แม้บ้านผมไม่ได้อยู่ติดทะเล (ผมเกิดกรุงเทพฯ) แต่ผมหลงรักทะเลและทุกอย่างที่อยู่ในทะเลตั้งแต่เด็ก จุดเริ่มมาจากพ่อและแม่มักจะซื้อหนังสือสารคดีเกี่ยวกับทะเลมาให้อ่านตลอด เป็นภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งเวลาเปิดอ่านเห็นสัตว์ทะเลก็เห็นว่าสวย โดยเฉพาะฉลามรู้สึกชอบ อดนั่งคิดคนเดียวว่าฉลามมันเท่เวลาที่ว่ายไปมา นอกจากนี้ตอนเด็กพ่อทำธุรกิจกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นแล้วคนญี่ปุ่นก็มักจะไปทะเล และบ่อยครั้งที่พ่อพาผมไปด้วยไป นั่นแหละทำให้ผมหลงรักทะเลตั้งแต่นั้น”

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพอิสระ หัวใจรักษ์ทะเล

 

เขากล่าวต่อว่า ตอนเรียน ม.5-6 ก็ได้ไปเรียนที่นิวซีแลนด์อยู่ 2 ปี ถือเป็นช่วงที่มีความสุขมากทั้งในการเรียนและการใช้ชีวิต โดยการเรียนก็ไม่ยากเพราะครูสอนง่ายๆ ไม่ต้องมานั่งท่องจำอะไรให้ยาก พร้อมทั้งได้เรียนรู้การดำน้ำจากรุ่นพี่ พอกลับมาเมืองไทยก็มาเรียนปริญญาตรีวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แล้วตั้งชมรมดำน้ำที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นประธานชมรมดำน้ำ พร้อมจัดทริปไปดำน้ำและทำกิจกรรมอนุรักษ์ทะเลกับนักอนุรักษ์ที่เกาะเต่า ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เรียนรู้การอนุรักษ์ปะการังกับนักอนุรักษ์ต่างชาติอีกด้วย

“ตอนเรียนปี 2 ผมจัดทริปไปดำน้ำที่เกาะเต่า ได้รู้จัก แชด สกอต นักอนุรักษ์ชาวอเมริกัน ซึ่งคนนี้เก่งมาก เขาสอนเรื่องการดำน้ำและการอนุรักษ์ทะเลให้กับผมมากมาย พอขึ้นปีสามจัดทริปไปก็เจอแชด และหลังปิดเทอมทุกครั้งผมก็จะไปอยู่เกาะเต่า เรียนรู้งานอนุรักษ์จากเขาจนรู้สึกสนิทกันมากขึ้น แล้วปีที่ 5 ผมขอมหาวิทยาลัยไปทำธีซิสที่เกาะเต่า 1 ปี จริงๆ จบปี 4 แล้ว แต่อยากอยู่เกาะเต่าทำวิจัยปะการังใต้น้ำ ปีที่ไปทำวิจัยปะการัง คือปี 2010 ปีที่ปะการังฟอกขาวหนักมาก เป็นข่าวเลยละครับ”

หันมาที่การถ่ายภาพ ชิน บอกว่า เริ่มถ่ายตั้งแต่ตอนจบปริญญาตรี โดยการฝึกฝนด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน ก็ขอคำแนะนำจากช่างภาพรุ่นพี่และผู้มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพอีกหลายคน ฝึกฝนมาเรื่อยๆ โดยภาพที่ถ่ายไม่ได้เน้นว่าต้องสวยงาม แต่เน้นออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดความรักและหวงแหนในท้องทะเล ซึ่งเป็นสมบัติของทุกคนในชาติ

ทุกวันนี้ชินเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ โดยรัับถ่ายภาพให้กับองค์กร บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่เขาฝันไว้ว่าวันหนึ่งอยากร่วมงานด้วยในฐานะคนขององค์กรจริงๆ พร้อมกันนี้ เขายังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเกี่ยวกับเรื่องฉลามในท้องทะเลไทย แต่ถ้าใครสนใจอยากให้ชินไปถ่ายภาพในงาน ติดต่อได้ที่ www.shinsphoto.com และ www.facebook.com/shinsnap