posttoday

ตามรอยศิลปะของพ่อ ที่ หออัครศิลปิน

29 ตุลาคม 2560

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นเลิศทางด้านงานศิลปะหลายแขนง

เรื่อง : สมแขก ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นเลิศทางด้านงานศิลปะหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น ทางด้านดนตรี ด้านการถ่ายภาพ ด้านจิตรกรรม วรรณกรรม พระองค์ทรงมีคุณูปการอุปถัมภ์ศิลปินทั้งหลายมาโดยตลอด ทรงได้รับการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะ "อัครศิลปิน" ซึ่งแปลว่า "ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ" หรือ "ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน" ซึ่งประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลกในพระปรีชาสามารถ

สถานที่ซึ่งรวบรวมพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่ทรงเป็น "อัครศิลปิน" ตลอดจนพระปรีชาสามารถในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็น "วิศิษฏศิลปิน" ทุกเรื่องราวถูกจัดเป็นนิทรรศการถาวรที่หออัครศิลปิน

ตามรอยศิลปะของพ่อ ที่ หออัครศิลปิน

 

"หออัครศิลปิน" ก่อสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 5 ไร่ ใน ต.คลองห้า จ.ปทุมธานี จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 3 ชั้น เพื่อเป็นสถานที่แสดงผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย

งานหัตถกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่สำคัญคือการต่อเรือใบ ซึ่งเป็นกีฬาที่ทรงโปรด ประกอบกับทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่าง จึงโปรดที่จะต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง

ตามรอยศิลปะของพ่อ ที่ หออัครศิลปิน

 

พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์เป็นที่ประจักษ์ได้ด้วยผลงานพระราชนิพนธ์หลายต่อหลายเล่ม ซึ่งพระราชนิพนธ์เล่มแรก ได้แก่ พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 พระราชนิพนธ์แปล ได้แก่ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และติโต นอกจากนี้ ยังมีบทความที่พระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียง และผลงานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่กล่าวขานอย่างที่สุดเรื่อง พระมหาชนก

ด้านจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เท่าที่ปรากฏแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ลักษณะหนึ่งเป็นภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) อีกลักษณะหนึ่งคือ คตินิยมแบบลัทธิเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) และที่ได้เห็นกันช่วงหลังๆ เป็นศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism) ซึ่งจัดแสดงไว้ภายในหออัครศิลปินนี้

ตามรอยศิลปะของพ่อ ที่ หออัครศิลปิน

 

การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 สนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นกล้องธรรมดาหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ และการถ่ายภาพสไลด์ ก็เป็นงานอดิเรกที่ทรงโปรดมาก ในขณะที่นิทรรศการนำพระปรีชาสามารถอันหลากหลายภูมิสถาปัตยกรรม ด้วยสื่อวีดิทัศน์และภาพพระราชกรณียกิจหลากหลายโครงการ

ภายใต้แนวคิด "อัครศิลปินรายล้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ซึ่งพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์" หออัครศิลปินยังใช้เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ อีกด้วย

ตามรอยศิลปะของพ่อ ที่ หออัครศิลปิน

 

การแบ่งห้องต่างๆ ภายในพื้นที่ 3 ชั้นของหออัครศิลปิน ได้แบ่งห้องจัดแสดงนิทรรศการเริ่มต้นที่ห้องนิทรรศการวิศิษฏศิลปิน ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับพื้นที่ชั้นที่ 2 ห้องนิทรรศการอัครศิลปิน ซึ่งเป็นห้องที่จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปะ รวมถึงจัดแสดงผลงานจิตรกรรฝีพระหัตถ์และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

ในส่วนของชั้น 3 จัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านคีตศิลป์ พระราชอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยการนำเสนอพระราชนิพนธ์กว่า 43 บทเพลง โดยมีบทเพลงที่คนไทยคุ้นเคย เช่น แสงเทียน ชะตาชีวิต ยามเย็น ใกล้รุ่ง พรปีใหม่ นอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเครื่องดนตรีหลายชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์ และเปียโนด้วย

ตามรอยศิลปะของพ่อ ที่ หออัครศิลปิน

 

จุดสำคัญของหออัครศิลปิน เป็นที่ประดิษฐานบุษบกไม้ประดับกระจกปิดทอง ภายในบุษบกประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 จำลองบนพานแว่นฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์ สมดังพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน"

สำหรับผู้ชื่นชอบงานศิลปะ หออัครศิลปินให้ทั้งความรู้ ความอิ่มเอมและเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจจากองค์พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เวลาทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 02-986-5020-4

ตามรอยศิลปะของพ่อ ที่ หออัครศิลปิน