posttoday

ทรงเป็นต้นแบบ ชีวิตพอเพียง

26 ตุลาคม 2560

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักออมและนักจัดการเงินที่ดี

ทรงเป็นต้นแบบ ชีวิตพอเพียง

โดย ราตรีแต่ง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักออมและนักจัดการเงินที่ดี ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการปลูกฝังในเรื่องนี้เคร่งครัด ประชาชนไทยได้อ่านพระราชประวัติ ก็จะได้รับรู้ถึงพระอุปนิสัยการใช้จ่ายอย่างมีระเบียบวินัย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงปลูกฝังอบรมพระโอรสและพระธิดาในเรื่องการใช้จ่ายเงินอย่างรู้คุณค่ามาโดยตลอด

ทรงเป็นต้นแบบ ชีวิตพอเพียง

นักออมเงินตั้งแต่ทรงพระเยาว์

เรื่องเงินเป็นเรื่องต้องสอน และได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสอนพระโอรสและพระธิดาเรื่องนี้เสมอมา โดยในหนังสือ "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับการพัฒนาคุณภาพประชากร" สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มี พระราชดำรัสเช่นเดียวกับข้อความในหนังสือโดยมีใจความสำคัญๆ ในการออมเงินตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยมี พระดำรัสไว้ว่า

"... สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสอนในการประหยัด ได้จัดให้มีเงินค่าขนม หรือพ็อกเกตมันนี่ ให้สัปดาห์ละครั้งตามอายุ และก็ได้ไม่มากนัก พอที่จะซื้อขนมพวกลูกกวาดหรือช็อกโกแลต แต่อาจจะซื้อหนังสือหรือของเล่นซึ่งของพวกนี้ ต้องซื้อเอง เพราะของเล่นนั้น ส่วนมากแล้วแม่จะไม่ได้ซื้อให้ เว้นแต่ปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันปีใหม่ และวันเกิด จะได้ของเล่นที่สำคัญและใหญ่โต

เราอยากได้อะไรก็ขอไป บอกว่าอยากได้ของเล่นพวกนี้ ท่าน (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้ จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ แต่ของเล็กๆ น้อยๆ นั้น เราจะต้องซื้อเอง และท่านก็สอนให้เอาเงินไปฝากธนาคาร เมื่อมีจำนวนพอแล้ว..."

เมื่อครั้งประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามาตรัสบอกสมเด็จพระบรมราชชนนี ว่าอยากได้จักรยาน เช่นเดียวกับเพื่อนๆ หลายคนที่มีจักรยานถีบกันแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตรัสว่า

"ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็เก็บสตางค์ที่แม่ให้ไปกินที่โรงเรียนไว้สิ"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเก็บเงินหยอดกระปุกวันละเหรียญ สองเหรียญ เงินออมทวีจำนวนด้วยพระอุตสาหะ พอถึงวันปีใหม่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอนุญาตตรัสว่า

"ปีใหม่แล้ว เราไปซื้อจักรยานกัน ให้แคะกระปุกดูซิว่ามีเงินเท่าไร?"

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงแถมให้ ซึ่งส่วนที่แถมนั้นมีมากกว่าเงินในกระปุก ทรงซื้อจักรยานให้พระโอรสเป็นการประหยัดด้านการเดินทางอีกด้วย ในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สนพระราชหฤทัยในการดนตรีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงคือหีบเพลง แอกคอร์เดียน หลังจากนั้น ก็ได้ทดลองเล่นแซ็กโซโฟน และคลาริเน็ต ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงซื้อด้วยเงินทรงเก็บออมเก็บไว้

ทรงเป็นต้นแบบ ชีวิตพอเพียง

ทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังราว 14-15 พรรษา ทรงหัดเล่นด้วยแซ็กโซโฟนมือสอง ทรงซื้อราคา 300 ฟรังก์ โดยใช้เงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกให้อีกครึ่งหนึ่ง

นอกจากเครื่องดนตรี ก็ยังมีของใช้ส่วนพระองค์หลายชิ้น เช่นเดียวกับกล้องถ่ายรูปที่พระองค์ทรงเก็บเงินซื้อด้วยพระองค์เองตั้งแต่ 8 พรรษา กล้องตัวแรกที่ทรงใช้มีชื่อว่า Coronet Midget

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงซื้อของที่ทรงอยากได้จากเงินออมซึ่งเหลือจากเงินค่าขนม หากได้รับเงินในโอกาสพิเศษจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็ทรงเก็บสะสมไว้สมทบเงินออมเพิ่ม เพื่อจะได้ซื้อของที่อยากได้เร็วขึ้น

พระราชประวัติในช่วงพระเยาว์ บ่งบอกพระอุปนิสัยที่ได้รับการปลูกฝังเรื่องการบริหารเงิน โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีการกำหนดเงินค่าขนมรายสัปดาห์ ให้ทรงใช้ ทรงสะสม เมื่อได้ก้อนใหญ่จึงมีเงินซื้อของเล่น และนำเงินไปฝากธนาคาร ทรงเป็นต้นแบบของความเรียบง่าย ความประหยัด และความพอเพียงมาโดยตลอด ด้วยการบ่มเพาะพระอุปนิสัยประหยัด เลี้ยงดูจากพระราชชนนี

สร้างรายได้ และการให้

เนื้อหาในหนังสือ "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับการพัฒนาคุณภาพประชากร" แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะได้ค่าขนมทุกสัปดาห์ ก็ยังทรงรับจ้างเก็บผักและผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม และนำเงินที่เหลือมาใส่กระป๋องออมสิน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงตั้งกระป๋องออมสิน ทรงเรียกว่า "กระป๋องคนจน" เอาไว้ข้างที่ประทับพระธิดาและโอรสทุกๆ พระองค์ และทรงสอนถ้ามีกำไร ก็จะต้องถูกเก็บภาษีหยอดใส่กระปุกนี้ 10%

เมื่อถึงสิ้นเดือนทรงประชุมทั้ง 3 พระองค์ ว่าจะนำเงินก้อนนี้ไปทำประโยชน์อย่างไร ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก "การให้" หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจนอย่างไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

พระราชจริยวัตรที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างเป็นประจำเสมอ โดยเป็นแนวคิดง่ายๆ ที่ทุกคนนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว และเมื่อพระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อ ปี 2548 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความเด่นชัดในเรื่องการใช้ชีวิตเรียบง่าย พระองค์ทรงปฏิบัติเป็น ต้นแบบมาโดยตลอด การใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าที่สุด อย่างเช่น หลอดยาสีพระทนต์ประวัติศาสตร์

ภาพนี้ถูกตีพิมพ์เป็นโปสเตอร์ โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สื่อให้ได้เรียนรู้และเข้าใจ คำว่า "ประหยัด" ศ.พิเศษ ทพญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าให้ฟังว่า "... มหาดเล็กห้องสรง เห็นว่ายาสีพระทนต์ของพระองค์ คงใช้หมดแล้ว จึงได้นำหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อทรงทราบ ก็ได้ขอให้เขานำยาสีพระทนต์หลอดเก่ามาคืน และพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง 5 วัน

พระราชจริยวัตรของพระองค์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงพระวิริยะ อุตสาหะ ตลอดจนความประหยัดในการใช้ของอย่างคุ้มค่า ซึ่งตรงกันข้ามกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงพระราชทานเพื่อราษฎรผู้ยากไร้อยู่เป็นนิตย์

หลังจากนั้น ทันตแพทย์ประจำพระองค์ทูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้น เพื่อนำไปให้ศิษย์ได้เห็นและรับใส่เกล้าเป็นตัวอย่างเพื่อประพฤติปฏิบัติในโอกาสต่อๆ ไป"

พสกนิกรชาวไทยได้รับฟัง พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มี พระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องการออม และการประหยัดบ่อยครั้ง เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2502 มีพระราชดำรัสสอนให้ประชาชนของพระองค์ใช้ชีวิตด้วยความประหยัด และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"...การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว

ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย..."

เรื่องราวของพระราชาผู้เป็นที่รัก ซึ่งทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต ใส่ใจใช้ชีวิตประหยัดอดออม รู้จักสร้างความมีวินัยทางการเงินให้แก่ตัวเองได้อย่างมั่นคง ด้วยแนวทางที่ทรงปฏิบัติไว้เป็นต้นแบบอย่างเด่นชัด