posttoday

100 ปี ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย

17 กันยายน 2560

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day)

โดย...ส.สต

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) เริ่มในวันที่ 28 ก.ย. 2560 นั้น ผู้เขียนเสาะหาข้อมูลความเป็นมาของธงชาติ ได้ดังนี้

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชถึง 3 สมัย (พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2516 รวม 2 สมัย) พระเถระนักปราชญ์แผ่นดินสยาม เล่าเรื่องสัญลักษณ์ของชาติไทย หรือธง ในหนังสือ ชีวิตกับเหตุการณ์ ว่าเรื่องธงปรากฏใน ธชัคคสูตร ตอนเท้าสักกะ (พระอินทร์) บอกเทพยดาทั้งหลายว่า ถ้าทำสงครามกับอสูร แต่เกิดหวั่นไหว (กลัว) ให้มองดูธงของเท้าสักกะ ความกลัวจะหายไป

พระพุทธองค์ก็ตรัสกับภิกษุสงฆ์ที่จะออกธุดงค์เข้าป่า ว่า ถ้ากลัวก็ให้นึกถึงพระพุทธเจ้า (สวดบทอิติปิโส) ความกลัวหายเช่นกัน

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เล่าว่า ธงชาติเป็นเครื่องหมายของชาติ เพื่อประกาศว่า ชาตินั้นเป็นชาติเอกราช เมื่อธงชาติยังคง สะบัดพลิ้วอยู่เหนือยอดเสาธงตราบใด ความ ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ก็ยังปลุกชีวิตเราให้ตื่นตัวสำนึกถึงความเป็นเอกราชของชาติอยู่ตราบนั้น

ความเป็นมาของธงในสยามนั้น สมเด็จ พระนักปราชญ์ เล่าว่า เริ่มแต่แผ่นดินสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 2199-2225 ตอนนั้นมีชาว ต่างประเทศเข้ามาทำการค้า และเจริญทางพระราชไมตรีหลายชาติด้วยกัน ครั้งหนึ่ง มองซิเออร์เดลันด์ ผู้แทนบริษัทชาติฝรั่งเศส ได้ลงเรือกำปั่นชื่อว่า เลอร์โวตูร์ บรรทุก เครื่องราชบรรณาการเข้ามา เพื่อจะถวายพระเจ้ากรุงสยาม

เจ้าเมืองบางกอก (ธนบุรี) ได้รับคำสั่งให้คอยต้อนรับ ครั้นเรือกำปั่นชื่อว่า เลอร์โวตูร์ ผ่านป้อมได้ชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นคำนับ ฝ่ายเจ้าเมืองบางกอกไม่รู้ว่าจะชักธงอะไร จึงตัดสินใจ เอาผ้าแดงทำเป็นธง ชักขึ้นคำนับตอบ นายเรือเลอร์โวตูร์เห็น ก็ยิงสลุตคำนับธงผ้าแดงนั้น นี่คือธงผืนแรกที่ไทยอวดชาวต่างชาติ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงดำริว่า "เรือหลวงกับเรือราษฎร์ ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้บรรดาเรือหลวงทั้งปวง ทำรูปจักร อันเป็นนามพระบรมราชวงศ์ ลงไว้ในกลางธงสีพื้นแดงเป็นเครื่องหมายว่าเป็นเรือหลวง"

ถึง พ.ศ. 2360-2366 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือกำปั่นหลวงขึ้น 2 ลำ สำหรับใช้ไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์และ มาเก๊า โดยใช้ธงแดงเหมือนเดิม เจ้าเมืองสิงคโปร์ว่า สีเหมือนเรือชวา มลายู แนะให้เปลี่ยนเป็นสีอื่น ตอนนั้นรัชกาลที่ 2 ได้ช้างเผือกถึง 3 เชือก เป็นประเพณีไทยว่าเป็นพระเกียรติยศอย่างสูง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาว ติดไว้กลางธงแดง ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระเจ้าแผ่นดินที่มีช้างเผือก ให้ใช้ได้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือพ่อค้าให้ใช้ธงแดง

สมัย ร.4-6

นับแต่ไทยทำสัญญาเปิดการค้าขายกับ ชาวตะวันตก เมื่อ พ.ศ. 2398 สมัยรัชกาลที่ 4 ต่างชาติเข้ามาค้าขาย และตั้งกงศุล พร้อมทั้งชักธงประเทศนั้นๆ ด้วย ไทยเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีธงชาติเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงชาติในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นธงชาติ แต่ให้เอารูปจักรที่อยู่ตรงกลางออก เพราะจักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน จึงเห็นช้างเผือกอยู่กลางธงแดงโดดๆ

รัชกาลที่ 5 ทรงตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเมื่อ ร.ศ. 118 ตรงกับ พ.ศ. 2442 ตาม พระราชบัญญัตินี้ ระบุว่าเรือหลวงให้ใช้ธงอะไร และเรือทั้งหลายของพ่อค้าและของสามัญชนทั่วไปให้ใช้ธงอะไร เป็นต้น

ครั้นมาในรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างธงมหาราช เนื่องด้วยเสด็จสมโภชพระปฐมเจดีย์และพระราชมนเทียรสถาน ในขณะที่ราษฎรปราจีนบุรี ขุดได้แผ่นสำริดเป็นรูปกระบี่หนึ่งครุฑหนึ่งคู่กันสันนิษฐานว่าเดิมจะเป็นของสำหรับประจำธงชัยของพระมหากษัตริย์ครั้งโบราณ พระยาสุนทรบุรี (ชม สุนทรารชุน) สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบเป็นธงขึ้นใช้เป็นธงประจำพระองค์เรียก "ธงกระบี่ธุชครุฑพ่าห์"

เหตุเกิดที่อุทัยธานี

ส่วนธงไตรรงค์เกิดขึ้นเมื่อไร ต้องไปดูการฉลองที่ จ.อุทัยธานี ในเวลานี้ เว็บเพจรายงานว่า จ.อุทัยธานี เริ่มประดับธงช้างและธงไตรรงค์กันทั่วเมือง เพื่อเตรียมฉลองครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย ในวันที่ 12-17 ก.ย. 2560 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย จากการที่ จ.อุทัยธานี เป็นปฐมเหตุ สืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ 6 เสด็จประพาส จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2459 ชาวบ้านชาวเมืองประดับธงทิวถวายการรับเสด็จ รวมทั้งประดับธงช้างเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้นด้วย เมื่อพระองค์และข้าราชบริพาร เสด็จผ่านบ้านหลังหนึ่งทอดพระเนตรเห็นธงช้างสลับกลับด้าน ช้างนอนหงายท้องเท้าชี้ฟ้า ทรงสลด พระราชหฤทัย เมื่อเสด็จกลับ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนธงจากธงช้างเป็นธงไตรรงค์ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2460 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2460 ดังนั้นขอจงร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทาน ธงไตรรงค์เป็นธงชูชาติไทย มา 1 ศตวรรษ และจะยั่งยืนตลอดไป