posttoday

คณชัย เบญจรงคกุล เติบโตจากภายในด้วยการให้

19 สิงหาคม 2560

เป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าชื่นชมแนวความคิดเรื่องการให้และการแบ่งปัน คิด-คณชัย เบญจรงคกุล ที่แม้จะทำงานในสายช่างภาพแฟชั่น

โดย...กองทรัพย์ ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

 เป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าชื่นชมแนวความคิดเรื่องการให้และการแบ่งปัน คิด-คณชัย เบญจรงคกุล ที่แม้จะทำงานในสายช่างภาพแฟชั่น แต่เขาก็ช่วยเหลือสังคมในโครงการต่างๆ มาโดยตลอด

 ล่าสุด เขามีโอกาสทำงานร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยใช้ความถนัดของตัวเองช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในฐานะช่างภาพ นำเสนอมุมมองความรักของผู้ลี้ภัยผ่านการถ่ายภาพของเขา เพื่อค้นหาคำนิยามของความรักในรูปแบบต่างๆ ของผู้ลี้ภัยที่พักพิงในประเทศไทยมายาวนานกว่า 30 ปี การทำงานด้วยความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ทำให้คิดเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล  "Stand with Refugees"

 จุดเริ่มต้นของการได้ถ่ายภาพผู้ลี้ภัย เกิดขึ้นเพราะได้รับการชักชวนจากท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งท่านได้ชวนศิลปินและช่างภาพ ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อประมูลรายได้ให้กับทาง UNHCR พอโปรเจ็กต์นั้นจบไป ก็ได้รับคำชักชวนจาก ปู-ไปรยา ลุนเบิร์ก และ UNHCR ได้ร่วมกันเป็นครั้งแรกในการจัดนิทรรศการภาพถ่าย “รักไร้พรมแดน” เพื่อแบ่งปัน 30 เรื่องราวชีวิตจริงของผู้ลี้ภัยทั้งในประเทศไทย และจอร์แดน จึงกลายมาเป็นนิทรรศการซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของความรักภายในค่าย

 "ในฐานะช่างภาพ ผมเชื่อในพลังของภาพถ่าย และต้องการที่จะใช้มันเพื่อมนุษยธรรม ผมจึงหวังว่า รูปภาพและเรื่องราวที่ผมถ่ายทอดออกมาจะทำให้ทุกคนหันมาใส่ใจผู้ลี้ภัย และร่วมกันทำให้เขาไม่รู้สึกว่ามีชีวิตอยู่เพียงลำพัง”

 หลายคนเห็นว่า คิดว่าเป็นลูกชายเจ้าสัว ทำงานเป็นช่างภาพแฟชั่น และเห็นหน้าเขาตามงานสังคมต่างๆ พอสมควร แต่เมื่อเขาลงพื้นที่ และทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ลี้ภัยเปิดโลกให้กับหนุ่มคนนี้ได้ไม่น้อย

 “ก่อนหน้านี้ ผมรู้สึกว่าประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นอะไรที่ไกลตัวมาก และไม่เคยรับรู้ด้วยซ้ำว่ามีกลุ่มผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในประเทศไทยเยอะมากแค่ไหน พอได้ลงพื้นที่ 3 ค่าย ใน จ.ตาก 1 ค่าย และใน จ.แม่ฮ่องสอน 2 ค่าย ทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะถูกมองข้ามไป

 "เราก็เลยอยากจะทำให้คนข้างนอกได้เห็นว่ามีคนกลุ่มนี้ที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ด้วย และภาพผู้ลี้ภัยที่เราเคยเห็นส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่ค่อนข้างหดหู่ อยู่ท่ามกลางสงคราม เรารู้สึกว่าบางทีอาจจะดูไกลตัวสำหรับคนในเมืองไทย เราอยากให้คนสัมผัสถึงความรัก ก็เลยตีเป็นโจทย์นี้คือความรักและความสวยงามในค่ายบ้าง”
 การไปถ่ายภาพเพื่อนิทรรศการครั้งนี้ คิดและทีมงานเดินทางไปที่ค่ายแม่สุรินทร์ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นค่ายผู้ลี้ภัยขนาดเล็ก อยู่ในพื้นที่ที่ลึกเข้าไป หากแต่แวดล้อมด้วยภูเขาและลำธาร ทำให้ค่ายนี้สงบกว่าทุกค่ายที่เคยไปเยือน “ผมทำการบ้านก่อนจะมาถ่าย คือดูข้อมูลของคนที่เราจะมาถ่าย เราเห็นวิวแล้วก็อยากถ่ายรูปเลย และมีเวลาแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อเก็บภาพให้ได้ครบ 20 คู่ ก่อนที่ค่ายจะปิด

 “การมาทำงานตรงนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ที่มอบทั้งความท้าทายต่างจากงานที่เราเคยทำ การถ่ายภาพแฟชั่นเป็นความเคยชินและดูเหมือนจะง่ายสำหรับเราไปเลย หลังจากได้มาถ่ายภาพผู้ลี้ภัย เพราะนายแบบนางแบบที่ทำงานร่วมกับเรา ปกติผมไม่ต้องกำกับอะไรมาก เราแค่จัดการเรื่องแสง เรื่องไฟ แค่นั้น

คณชัย เบญจรงคกุล เติบโตจากภายในด้วยการให้

 "แต่งานนี้เราต้องทำหน้าที่ดึงอารมณ์ของตัวแบบด้วย ทำยังไงให้เขารู้สึกไว้ใจเรา เป็นความท้าทายที่เราอยากลอง อีกอย่างหนึ่งคือเราอยากช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอยู่แล้ว เพราะเป็นคนชอบทำกิจกรรมที่ถ้าเราพอจะช่วยเหลือคนอื่นได้เราก็ยินดีที่จะทำ”

 ความคาดหวังในฐานะช่างภาพ คิดอยากทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาให้ดีที่สุด

 “ถ้าคนดูดูแล้วรู้สึกอิน กินใจ เราถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วในฐานะช่างภาพ ก็อยากจะให้คนดูแล้วรู้สึกว่ารู้จักคนกลุ่มนี้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้คนหยิบยื่นความช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ด้วย ในฐานะคนหนึ่งที่ได้คลุกคลีกับผู้ลี้ภัย พวกเขาก็มอบบางอย่างให้ผม

 "อย่างแรกคือทำให้รู้สึกว่าดีใจที่เรามีบ้านอยู่ แล้วก็ต้องดีใจแทนคนอื่นๆ ด้วยที่เรามีแผ่นดินให้อยู่ เพราะคนกลุ่มนี้เขาต้องหนีออกจากบ้านเพราะเหตุการณ์สงคราม ทำให้เรารู้สึกว่าอาจจะด้วยโชคหรือบุญเก่าของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าเราอยู่ในจุดที่มีโอกาสมากกว่าหรือโชคดีกว่า ก็อยากให้แบ่งปันสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ช่วยกลับคืนไปให้เขาได้”

 แม้สิ่งที่เห็นภายนอกคิดไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความดีและการให้ในใจของเขาเติบโตอย่างงดงาม การให้แต่ละครั้งเหมือนการรดน้ำพรวนดินแนวคิดที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

 “ทั้งหมดที่เจอมาทำให้เรารู้จักคิดมากขึ้น พอเราได้เห็นกลุ่มคนที่ไม่มีอะไรจริงๆ เราต้องรู้จักคิดมากขึ้น ไม่ว่าเรื่องการใช้จ่ายหรือการซื้อความสุขให้ตัวเอง” คิด กล่าวสรุป