posttoday

‘โขนพระราชทาน’ ถวายความจงรักภักดี ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

15 สิงหาคม 2560

คณะโขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะมีโอกาสร่วมแสดงความจงรักภักดี โดยได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการแสดงมหรสพครั้งนี้กับกรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ คณะโขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จะมีโอกาสร่วมแสดงความจงรักภักดี โดยได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการแสดงมหรสพครั้งนี้กับกรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยรูปแบบของการจัดแสดงในครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อนๆ เนื่องจากเป็นการแสดงกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือจึงจัดให้มีการแสดงรูปแบบใหม่ (โขนกึ่งฉาก) คือ มีทั้งฉากและเทคนิคมัลติวิชั่นที่วิจิตรงดงามมาใช้ประกอบกัน พร้อมกันนี้ ยังมีการปรับรูปแบบการแต่งกาย เพลงดนตรี เพลงขับร้อง แต่ยังคงรักษาจารีตประเพณีโบราณไว้อย่างครบถ้วน

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวถึงการแสดงโขนพระราชทานในโอกาสสำคัญครั้งนี้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้โขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มาแสดงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีมหรสพในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยกำหนดให้ผู้แสดงโขนทั้งหมดซ้อมร่วมกันที่วิทยาลัยนาฏศิลป ศาลายา จ.นครปฐม ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปที่เคยแสดงโขนพระราชทานมาแล้ว รวมถึงครูอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ ที่ต้องการมีส่วนร่วมแสดงถวายพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย

‘โขนพระราชทาน’ ถวายความจงรักภักดี ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ

นับได้ว่าเป็นเกียรติที่โขนพระราชทาน ที่จะได้มีโอกาสสนองพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นครั้งสุดท้าย

“โขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ดำเนินงานมากว่า 10 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะจัดแสดงกลางแจ้ง ซึ่งทุกคนทั้งคณะกรรมการ นักแสดง นักร้อง คณะทำงานทุกฝ่าย รวมทั้งนักเรียนศิลปาชีพ ต่างถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมในการแสดงถึงความจงรักภักดีอย่างสุดหัวใจ”

‘โขนพระราชทาน’ ถวายความจงรักภักดี ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย

เหตุผลที่ครั้งนี้ต้องจัดให้มีการแสดงรูปแบบใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาจะจัดแสดงภายในอาคาร แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงกลางแจ้ง จึงจัดให้เป็นรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “โขนกึ่งฉาก” คือมีทั้งฉากและเทคนิคมัลติวิชั่นที่วิจิตรงดงามมาใช้ประกอบกัน โดยเฉพาะฉากใหญ่ๆ ที่ไม่สามารถยกเอามาใช้ในภาคสนามได้ จะใช้วิธีฉายภาพขึ้นจอ

แต่ละฉากจะมีอุปกรณ์ประกอบเป็นแบบสามมิติที่วิจิตรงดงาม เช่น ฉากที่ประทับพระอิศวร หรือฉากตอนลักสีดา เชื่อว่าครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังแน่นอน เพราะยังคงความงดงามทั้งรูปแบบ การร่ายรำ การเปลี่ยนฉากให้สมกับเป็นโขนพระราชทาน และใช้ผู้แสดงถึง 300 คน มากกว่าโขนพระราชทานที่จัดแสดงเป็นปกติซึ่งใช้ผู้แสดงราว 200 คน

การแสดงในครั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ตอน ใช้ระยะเวลาการแสดง 2 ชั่วโมง ได้แก่ ตอนรามาวตาร เป็นต้นเรื่องของการแสดง กล่าวถึงการอัญเชิญพระนารายณ์ให้อวตารลงมาเป็นพระราม เพื่อปราบอสูร โดยมีเหล่าเทพบุตรต่างๆ อาสาลงมาเป็นพลวานร ทั้งพระลักษณ์และเทพอาวุธ ถัดมาคือตอน สีดาหาย และพระรามได้พล กล่าวถึงตอนที่ทศกัณฐ์ใช้อุบายลักนางสีดาพาขึ้นพระราชรถเหาะมาพบนกสดายุเข้าขัดขวาง แต่นกสดายุพ่ายแพ้ ได้รับบาดเจ็บจนพระรามพระลักษณ์ติดตามมาพบ จึงทราบเหตุการณ์ทั้งหมด ตอนสุดท้ายคือ ตอนขับพิเภก กล่าวถึงตอนที่พิเภกทูลให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาแก่พระราม ทศกัณฐ์โกรธจึงขับไล่ออกจากเมือง พิเภกไปสวามิภักดิ์กับพระราม และถวายสัตย์ สุจริต

‘โขนพระราชทาน’ ถวายความจงรักภักดี ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม

“ในการแสดงครั้งนี้ เราได้เพิ่มฉากระบำ เป็นการสรรเสริญความซื่อสัตย์ของพิเภก พร้อมทั้งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกาย เพลงดนตรี เพลงขับร้อง แต่ยังคงรักษาจารีตประเพณีโบราณอย่างครบถ้วน นำทั้งดนตรีและเพลงขับร้องโบราณมาใช้ ซึ่งบางเพลงยังไม่เคยมีการแสดงที่ไหนมาก่อน เช่น การแสดงหน้าพาทย์ ซึ่งเพลงที่ใช้ประกอบกิริยาการแสดงมาตั้งแต่โบราณ มีหลายระดับ แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงหน้าพาทย์ในระดับสูงสุดที่ใช้กับตัวละครสูงศักดิ์ โดยได้หลักฐานจากลายมือของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เจ้ากรมโขนหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้บันทึกไว้ แต่ยังไม่มีการถ่ายทอด ซึ่งเราได้แกะลายมือแล้วนำมาใช้ในการแสดงครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังได้นำเพลง “วา” ของคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี 2529 ที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน มาจัดแสดงครั้งนี้ด้วย”

ขณะที่ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและจัดทำฉากโขน กล่าวว่า ฉากที่นำมาใช้ในครั้งนี้ เป็นฉากเดิมที่เคยทำไว้อย่างดีที่สุดและมีการเก็บรักษาไว้ตั้งแต่เริ่มจัดแสดงโขนพระราชทานครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยจะนำมาถ่ายรูปและฉายขึ้นวีดิทัศน์ ประกอบกับอุปกรณ์ประกอบฉาก เช่น ราชรถ และวิมาน เป็นต้น ซึ่งมีความงามไม่แพ้กับฉากจริง

‘โขนพระราชทาน’ ถวายความจงรักภักดี ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย

อลังการ “เครื่องแต่งกาย” สุดประณีต

ด้าน อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้จัดทำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เผยถึงการจัดทำเครื่องแต่งกายโขน พัสตราภรณ์ จะมีการดำเนินการใหม่ให้วิจิตรงดงามตามโบราณราชประเพณี โดยชุดสำคัญจะสร้างใหม่ทั้งหมด ได้แก่ ชุดของทศกัณฐ์ 5 ชุด และที่พิเศษมีการสร้างชุดมหาเทพ พระอิศวร พระนารายณ์ 2 ชุด ซึ่งไม่เคยสร้างขึ้นมาก่อน รวมถึงผ้าห่มนาง 24 ผืน 12 ชุด กษัตริย์ 2 ชุด นางกำนัล 10 ชุด เช่นเดียวกับชุดเสนายักษ์ เสนาลิง ที่ชำรุดเพราะผ่านการแสดงมานานก็สร้างใหม่เช่นกัน

ในการทำงานจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การทอผ้ายกทองเป็นผ้านุ่งที่วิจิตรงดงาม ใช้ช่างฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค นอกจากนี้ยังได้กลุ่มศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง ร่วมทอผ้ายกทอง ส่วนงานปักเครื่องโขน ตั้งแต่แขนเสื้อ อินธนู กรองคอ สนับเพลา รัดเอว ได้ช่างฝีมือของศิลปาชีพ จำนวน 76 คน จากทั่วประเทศเข้ามาดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดา ศูนย์ศิลปาชีพหนองลาด จ.สิงห์บุรี กลุ่มดอนคำเสนา จ.สกลนคร กลุ่มกุดนาขาม จ.สกลนคร กลุ่มสานแว้ จ.สกลนคร กลุ่มอุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ กลุ่มกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี และกลุ่มเพชรบุรี ศูนย์ศิลปาชีพสวนผึ้ง

“เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ได้สืบทอดจากเครื่องภูษาพัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ อันเป็นเครื่องประดับลงยาที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้วัสดุอย่างดี มีค่า ขณะนี้เครื่องแต่งกายโขนทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ววิจิตรงดงามเป็นงานที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพมีทักษะและความชำนาญมากขึ้น” อาจารย์วีระธรรม กล่าว

สำหรับเวลาในการแสดงโขนพระราชทานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงนั้น ยังไม่มีหมายกำหนดการที่แน่นอน แต่จะเป็นการแสดงช่วงต้นของการแสดงโขนทั้งหมดของทางราชการ