posttoday

‘Elements’ ไมเคิล เดลลอฟร์ สัจจะแห่งธรรมชาติและวิทยาศาสตร์

13 สิงหาคม 2560

การนำสัจจะและปรัชญาจากธรรมชาติมาหลอมรวมกับวิทยาศาสตร์ เป็นที่มาของการสร้างสรรค์งานศิลปะชุด “Elements”

โดย...พริบพันดาว

การนำสัจจะและปรัชญาจากธรรมชาติมาหลอมรวมกับวิทยาศาสตร์ เป็นที่มาของการสร้างสรรค์งานศิลปะชุด “Elements” นิทรรศการศิลปะชุดใหม่โดยศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศส ไมเคิล เดลลอฟร์

ได้มีโอกาสชมผลงานที่ เอส แกลเลอรี โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท ซึ่งเดินชมแบบเพลินๆ อย่างเต็มอิ่มในช่วงเวลาไม่นานนัก

ว่าไปแล้ว ไมเคิล เดลลอฟร์ อดีตช่างภาพสงครามที่ลุ่มหลงในศิลปะและผันตัวเองมาเป็นศิลปินวาดภาพ เขาเคยมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่กรุงเทพฯ มาแล้วเช่นกัน แต่ครั้งนี้กับแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่นำสัจจะและปรัชญาจากธรรมชาติมาหลอมรวมกับพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากธาตุทั้งสี่อันเป็นองค์ประกอบหลักของโลกใบนี้ตามหลัก “Philosophia Naturalis”

‘Elements’ ไมเคิล เดลลอฟร์ สัจจะแห่งธรรมชาติและวิทยาศาสตร์

ไมเคิล เดลลอฟร์ กล่าวว่า สำหรับคอนเซ็ปต์ของงานนิทรรศการครั้งนี้ เกิดจากโลกที่หมุนไปไวมาก แต่ความจริงแล้ว จุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ มันก็คือจุดกำเนิดจากดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งก็คือธรรมชาตินั่นเอง ที่เป็นตัวกำเนิดทุกอย่าง

“ผมอยากจะทำผลงานศิลปะออกมาแสดงให้คนได้เห็น โดยคาดหวังว่าทุกคนจะชอบและรักงานศิลปะของผม แม้ว่าการตีความและเสพงานศิลปะในแต่ละชาติแต่ละประเทศจะแตกต่างกันก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าจะเข้าใจหรือตีความแตกต่างกัน เพียงแค่ชื่นชอบงานที่ผมสร้างสรรค์ ผมก็มีความสุขแล้ว”

เมื่อได้สัมผัสด้วยสายตากับภาพวาดของ ไมเคิล เดลลอฟร์ จึงตั้งคำถามในใจว่า แล้ว “Philosophia Naturalis” คืออะไร?

‘Elements’ ไมเคิล เดลลอฟร์ สัจจะแห่งธรรมชาติและวิทยาศาสตร์

เมื่อไปค้นก็พบว่า เซอร์ไอแซก นิวตัน นักฟิสิกส์ และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญคือ “Philosophiae Naturalis Principia Mathematica” หรือ “Principia” ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรก เนื้อหาในเล่มอธิบายเรื่องกฎความโน้มถ่วงสากล (Law of universal gravitation) ซึ่งเป็นการวางรากฐานกลศาสตร์ดั้งเดิม (Classical mechanics) ผ่านกฎการเคลื่อนที่ (Law of Motion) ของเขา

ในผลงานชิ้นนี้ นิวตันได้ประกาศว่าดวงดาวแต่ละดวงในเอกภพล้วนแล้วแต่มีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน โดยที่แรงดึงดูดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามมวลของดาวแต่ละดวง และแรงดังกล่าวนี้ก็คือแรงชนิดเดียวกันกับแรงที่ทำให้วัตถุต่างๆ ต้องตกลงสู่พื้นโลกเสมอ ซึ่งก็คือ “แรงโน้มถ่วง” นั่นเอง ยิ่งดวงดาวอยู่ห่างจากกัน แรงดึงดูดก็จะยิ่งน้อยลง เป็นสาเหตุที่ทำให้ดาวเคราะห์ต่างๆ มีวิถีโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี

คำอธิบายที่ชัดเจนเหล่านี้เองที่ทำให้แบบจำลองจักรวาลของอริสโตเติลและปโตเลมี อีกทั้งความเชื่อเรื่องเทหวัตถุที่สืบทอดมาอย่างยาวนานต้องพบกับจุดจบ และก่อให้เกิดวิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ยุคใหม่ขึ้นมาแทน ในปี 2535 คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการว่า แนวคิดเกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาลของกาลิเลโอนั้นถูกต้อง Principia ของนิวตันได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่สำคัญมากที่สุดชิ้นหนึ่งของวงการฟิสิกส์

‘Elements’ ไมเคิล เดลลอฟร์ สัจจะแห่งธรรมชาติและวิทยาศาสตร์

เพราะฉะนั้น งานของไมเคิลมีรากฐานความคิดมาจากหลักแห่งดาราศาสตร์ กายภาพ เคมี และวิทยาศาสตร์ ชีวภาพ ซึ่งเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัยยุคกลาง (ค.ศ. 476-1453) ทั้งยังเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของหลักการแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เชื่อมโยงสู่ต้นกำเนิดของเทคโนโลยีอันล้ำสมัยในปัจจุบัน

เอกลักษณ์การนำธรรมชาติมาผสานกับความทันสมัย ทำให้ผลงานศิลปะของ ไมเคิล เดลลอฟร์ ถูกจัดแสดงไปยังแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ชื่อดังทั่วโลก อาทิ Hamburger Bahnhof Museum เมืองเบอร์ลิน The Museum of Contemporary Art (MCA) เมืองชิคาโก National Foundation for Contemporary Art (FNAC) ในนครปารีส

สำหรับ “Elements” นิทรรศการศิลปะชุดนี้ จัดแสดงที่ เอส แกลเลอรี โรงแรมโซฟิเทล ถึงวันที่ 1 ก.ย. 2560 ตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. สอบถาม โทร.02-126-9999

‘Elements’ ไมเคิล เดลลอฟร์ สัจจะแห่งธรรมชาติและวิทยาศาสตร์