posttoday

ปลูกผักออร์แกนิกช่วยดึงชีวิต วัชรี ศิริเวชวิวัฒน์ ให้ช้าลง

13 สิงหาคม 2560

เวิร์กกิ้งมัมที่เป็นคุณแม่ของลูกชายสุดหล่อ 2 คน วัย 12 ปีกับ 7 ขวบ เอ๋-วัชรี ศิริเวชวิวัฒน์ ปัจจุบันรั้งตำแหน่งเมเนจิ้ง ไดเรกเตอร์

โดย...วราภรณ์

เวิร์กกิ้งมัมที่เป็นคุณแม่ของลูกชายสุดหล่อ 2 คน วัย 12 ปีกับ 7 ขวบ เอ๋-วัชรี ศิริเวชวิวัฒน์ ปัจจุบันรั้งตำแหน่งเมเนจิ้ง ไดเรกเตอร์ Goodthings happen บริษัทดูแลด้านการตลาดให้บริษัท GDH 559  โดยเธอนั่งในตำแหน่งผู้บริหารมา 4 ปีแล้ว นอกจากนี้เธอยังเป็นเจ้าของ “Pluuk Therapy” เพจที่ให้ความรู้เรื่องการปลูกผักสวนครัว  ซึ่งเธอบอกว่าการปลูกผักไว้แจกจ่าย จำหน่ายและรับประทานเอง นอกจากทำให้ตัวเธอได้สัมผัสกับชีวิตที่ช้าลงแล้ว ยังช่วยบำบัดลูกชายคนที่สองที่เป็นเด็กพิเศษให้มีความสุขอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เปลี่ยนสนามหญ้าให้กลายเป็นแปลงผัก

วัชรีเรียกตัวเองว่าเป็นผู้หญิงบ้างาน มีชีวิตรูทีนคือ เริ่มทำงานตั้งแต่ 10 โมงเช้า เลิกงานหกโมงเย็นหรือเลตกว่านั้นหากมีประชุม กลับถึงบ้าน 3 ทุ่ม ชีวิตวนเวียนแบบนี้ 5 วัน/สัปดาห์  

“เอ๋ทำงานเยอะมาก ทำงานไม่เคยหยุดเลยตั้งแต่เรียนจบ จัดเป็นเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์มากๆ ทุกอย่างต้องได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น เคยทำงานเอเยนซี เคยเป็นฝ่ายโปรดักชั่นที่แกรมมี่ ก่อนจะมาเปิดบริษัทเองโดยมีจีดีเอชถือหุ้นด้วย เราผลิตคอนเทนต์เองเอ๋จึงมีเวลาว่างมากขึ้นในช่วงหลังๆ มียุ่งบ้างในช่วงซีรี่ส์ที่บริษัทเราดูแลออกอากาศ”

ปลูกผักออร์แกนิกช่วยดึงชีวิต วัชรี ศิริเวชวิวัฒน์ ให้ช้าลง

การมีครอบครัวมีลูก 2 คนก็ไม่เป็นปัญหากับการทำงานหนัก แม้ลูกคนเล็กจะเป็นเด็กพิเศษแต่ก็มีอุปนิสัยร่าเริง จึงจำเป็นที่วัชรีต้องแบ่งเวลาทำงานมาดูแลหากิจกรรมทำร่วมกับลูก ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้คุณแม่คุณลูกสามารถทำร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน คือ การปลูกผักออร์แกนิก โดยเปลี่ยนสวนหลังบ้านที่เคยปลูกหญ้าเขียวชอุ่ม ต้องจ้างคนมาตัดหญ้าเดือนละ 3,000 บาท มาเป็นแปลงผักที่เป็นศูนย์รวมทำให้คุณพ่อคุณแม่สามี แม่ของวัชรีและลูกๆ มีกิจกรรมทำร่วมกัน

“วันหนึ่งเอ๋มองไปที่สวนหลังบ้านมีเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา ซึ่งเราเปลี่ยนให้เป็นแปลงผักมาประมาณ 1 ปีแล้ว แต่ก่อนสนามหญ้าไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เลยเพราะเอ๋ก็ทำงานยุ่ง ลูกคนโตก็ไปเรียนโรงเรียนประจำที่เขาใหญ่ ไม่มีเวลาได้เดินชื่นชมความงามของสนามหญ้า แต่พอเราเปลี่ยนจากสนามหญ้ามาปลูกผัก ลูกก็ได้ไปวิ่งเล่นในสวน”

ต้นไม้และธรรมชาติช่วยบำบัดเด็กพิเศษ

วัชรีบอกว่าเธอเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า การปลูกผัก ถือเป็นการบำบัดเด็กพิเศษที่ดีทางหนึ่ง เช่น การฝึกกล้ามเนื้อเพราะเด็กจะได้หยิบจับ รดน้ำต้นไม้ จับสายยาง จับพลั่วพรวนดิน วิ่งเล่นร่าเริงในสวน

“สวนช่วยบำบัด ลูกชายมีปัญหากับการสัมผัส เขาจะไม่กล้าจับอะไรตั้งแต่เด็กๆ พ่อก็จะพาลูกไปลูบต้นไม้ใบไม้ซึ่งช่วยได้ พอเราทำสวน ลูกจะลงมาเล่นที่สวน รู้หมดว่าต้องเปิดน้ำตรงไหน เขาสนุกเหมือนเป็นโซนเด็กเล่น เขาอารมณ์ดีมีพัฒนาการที่ดี ต้นไม้ช่วยได้จริงๆ เอ๋ว่าเด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ เด็กเวลามองเห็นอะไรสีเขียว เขาก็รู้สึกผ่อนคลาย ลูกชายวิ่งเล่นในสวนทุกเช้าเลย เห็นใครรดน้ำก็มาช่วย จันทร์ถึงศุกร์ให้พี่เลี้ยงของน้องเอาลูกมาเล่นที่บ้านได้ เขาจะวิ่งเล่นกันแย่งกันรดน้ำต้นไม้ ดูลูกมีความสุข

ล่าสุดพาลูกไปสวนที่ราชบุรี พอเขาเห็นต้นไม้ เขาร่าเริงวิ่งเล่นบนพื้นที่กว้างๆ รู้สึกเลยว่าต้นไม้และสวนช่วยบำบัดคนทั้งบ้าน เราทุกคนโฟกัสในเรื่องเดียวกันคือการปลูกต้นไม้ เมื่อก่อนเคยเถียงกันเรื่องการปลูก พ่อแม่ก็มีความเชื่อในการปลูกต้นไม้แบบหนึ่ง เอ๋ก็เชื่ออีกแบบหนึ่งก็เคยมีเถียงๆ กันบ้าง แต่ตอนนี้เรากลืนทุกอย่างเข้าด้วยกัน มีอะไรแชร์ในกรุ๊ปไลน์ครอบครัว ก็สามัคคีกันไปเองค่ะ ”

ปลูกผักออร์แกนิกช่วยดึงชีวิต วัชรี ศิริเวชวิวัฒน์ ให้ช้าลง

มีรายได้แบบไม่คาดคิด

นอกจากจะมีสนามหญ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว และด้วยการทำงานมากๆ ส่งผลให้วัชรีเป็นไมเกรน ทำให้ตนเองได้คิดว่า ชีวิตช้าบ้างก็ดี ซึ่งมันเป็นความเครียดสะสมที่เธอไม่เคยรู้ตัวมาก่อน เธอเริ่มสังเกตตัวเองเวลาออกไป
ต่างจังหวัด ไปดูตลาดดูผัก ชีวิตมีความสุขาก

“อันนี้คือสิ่งที่เราชอบ เอ๋จึงเริ่มปลูกผักเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ใช้พื้นที่ 60 ตร.ว.มาปลูกผัก พอเอ๋เปลี่ยนมาปลูกผักออร์แกนิกกินเอง เราก็ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อผัก ไม่ต้องเสียเงินตัดหญ้าเดือนละ 3,000 บาท แถมปัจจุบันมีรายได้อาทิตย์ละ 2,000 บาทจากการจำหน่ายผักโดยคิดว่าทำเล่นๆ แล้วเวลาว่างๆ ยังสอนพี่เลี้ยงของลูกให้เขาลองปลูกถั่วงอก ต้นทานตะวันอ่อน คือตอนนี้สวนหลังบ้านปลูกผักเยอะมาก โชคดีที่มีเพื่อนสนใจเรื่องผักออร์แกนิก เขาจัดหาเกษตรกรออร์แกนิกมาพูดเรื่องการปลูกแบบออร์แกนิกให้เอ๋ฟัง หาเมล็ดพันธ์ุผักจากเกษตรที่ปลูกผักออร์แกนิกมาให้เอ๋ ช่วยพาเอ๋ไปรู้จักกับโรงเรียนทอสีที่สอนวิถีพุทธที่เอกมัย ทำให้เอ๋ไปฝากขายผักออร์แกนิกของตัวเองด้วย โดยเอ๋ส่งผักให้เขาทุกวันพุธ”

การปลูกผักออร์แกนิกทำให้วัชรีพบกับกัลยาณมิตรด้านการเกษตรอีกหลายคน เช่น ร้านตะกร้าปันผักจากวัชรีเคยอุดหนุนจ่ายเงินเดือนละ 8,000 บาท ได้ตะกร้าผักออร์แกนิกหลากชนิด 7 ตะกร้าส่งทุกวันพุธ หลังๆ เมื่อเธอเริ่มปลูกผักออร์แกนิกกินได้เอง จึงจับมือกับร้านตะกร้าปันผักนำผักในสวนหลังบ้านของวัชรีไปจำหน่ายโดยแลกกับไข่ออร์แกนิกมาแบ่งปันกันกินอย่างมีความสุข

ปัจจุบันวัชรีเปิดไลน์ไอดี @pluuktherapy มีการสั่งออร์เดอร์ผักล่วงหน้า เพื่อเธอจะได้วางแผนได้ว่า พุธหน้าเธอจะส่งถั่วงอกให้ใครบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าของ pluuktherapy ก็คือเพื่อน ลูกค้าที่บริษัทซึ่งคิดราคาเป็นมิตรมาก แต่ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าขนส่งด้วยตนเอง นอกจากลูกค้าจะรับประทานผักที่ดีกับสุขภาพแล้ว ยังถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุภายในบ้านให้รู้จักแบ่งหน้าที่กันดูแลผักในส่วนของตนให้เจริญงอกงามดีอีกด้วย

“ผักของเอ๋ราคาย่อมเยา เช่น เมล็ดอ่อนทานตะวันถุงละ 50 บาท โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่สามีและคุณแม่ของเอ๋สนุกกันมาก ก็ช่วยกันดูแลผัก ทำให้เขามีกิจกรรมทำ ไม่เบื่อ อย่างปลูกถั่วงอกมีรายละเอียดเยอะต้องรดน้ำ 4 เวลา โดยคุณพ่อสามีเป็นคนดูถั่วงอก ซึ่งเขาแบ่งประเภทผักกันดูแล ต้นอ่อนทานตะวันพี่เลี้ยงของลูกดูแล พ่อสามีอยู่ในสวนทั้งวัน ดูเพลี้ยที่จะมากินผัก แต่ถ้าวันไหนต้องเก็บผัก ชั่งน้ำหนักผักเราจะมาช่วยกัน บางครั้งสามีก็มาช่วยกันทำสนุกดีค่ะ (ยิ้ม)”

ปลูกผักทำให้ชีวิตช้าลง

การปลูกผักมาเกือบ 1 ปี วัชรีบอกว่าช่วยทำให้ชีวิตของเธอช้าลงมาก จากกรุ๊ปไลน์ของครอบครัวที่ชอบส่งคลิปเตือนภัยลูกหลานแบบน่ากลัวๆ ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นส่งเทคนิคการปลูกถั่วงอกอย่างไรให้ต้นอวบ ซึ่งจรรโลงใจมากๆ หรือว่างๆ ก็พากันไปดูชีวิตเกษตรอินทรีย์ที่ไร่สุขพ่วง จ.ราชบุรี วัชรีก็ได้เทคนิคการปลูกผักแบบออร์แกนิกมาใช้เอง นอกจากนี้เธอยังได้เมล็ดพันธุ์พืชผักออร์แกนิก เช่น จิงจูไฉ่ จากศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ เป็นสวนตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อทดลองปลูกผักออร์แกนิก

ปลูกผักออร์แกนิกช่วยดึงชีวิต วัชรี ศิริเวชวิวัฒน์ ให้ช้าลง

“ที่ไร่สุขพ่วงหากดินไม่ดี เขาเปลี่ยนมาปลูกผักในตะกร้า ปลูกแล้วเวิร์กมากๆ เราก็เอามาเป็นต้นแบบแล้วก็อุดหนุนตะกร้าของที่ไร่ เราก็ได้อุดหนุนชาวบ้าน เหมือนเราตัดตัวเราออกจากโลกธุรกิจไปสู่อีกโลกหนึ่ง อย่างวันธรรมดาเราต้องสวยเพราะต้องแต่งตัวไปทำงาน แต่เสาร์อาทิตย์เอ๋แต่งตัวเหมือนเกษตรกรเลย มันสุขสงบแบบไม่ต้องคิดวนเวียนแต่เรื่องงาน ทำอย่างไรตัวเลขจึงไปสู่เป้าหมาย ทำสวนทำให้เราตัดออกจากโลกภายนอก ตอนนี้ตื่นเช้ามาทุกวันลงไปดูสวนก่อนไปทำงานทุกวัน ถ่ายรูปอัพลงเพจ ชีวิตสุขคนละเรื่อง ตอนนี้ชีวิตดีมากๆ คลายเครียดจากเมื่อก่อนได้เยอะมาก เสาร์อาทิตย์เราไม่ต้องใช้สตางค์เลย ว่างๆ ก็ดูแมกกาซีนเมืองนอกปลูกถั่วฝักยาวอย่างไรให้ฝักยาวลงมาสวยงาม คือเอ๋ชอบงานอาร์ตก็ชอบออกแบบสวนของเราให้ปลูกผักออกมาแล้วดูสวยงาม ยิ่งห็นผลิตผลงอกงาม รู้สึกชื่นใจเป็นความสุขเล็กๆ อย่างเห็นกระเจี๊ยบลูกเล็กๆ ออกลูกเราดีใจกว่าขายแอดโฆษณาได้เป็นล้านอีกนะคะ ดีใจกันทั้งบ้าน เพราะเราทำกับมือมันเป็นชีวิตเรา อย่างข้างๆ บ้านมีที่ดินว่าง 120 ตร.ว. เอ๋ก็ไปติดต่อเจ้าของที่กับหมู่บ้านให้ส่งคนงานมาถางต้นไม้รกๆ ออกแล้วก็สอนคนงานให้ทำปุ๋ยคอกเอง คือเสาร์อาทิตย์เราทำกิจกรรมนู่นนี่ได้อยู่บ้าน มีชีวิตที่เรียบง่ายก็มีความสุข”

ตอนนี้การปลูกผักเหมือนเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างกัน

“ตอนปลูกถั่วงอกแม่ไม่เชื่อว่ามันจะขายได้ ใครจะซื้อ ซึ่งเมล็ดพันธุ์พืชผักล้วนเป็นออร์แกนิกทั้งหมด พอเริ่มมีออร์เดอร์แม่สามีก็รู้สึกสนุกไปด้วย สนุกกันทั้งบ้าน เพื่อนบ้านยังได้กินในสิ่งที่เราปลูก เพราะเราแจกจ่ายโดยใส่ใบตองไปให้เขา เราปลูกแบบออร์แกนิกจริงๆ เพราะเราก็กินเองปลูกเอง”

ผักในสวนมีหลากหลายชนิด อาทิ ถั่วงอก ผักบุ้ง มะเขือเปราะ มะเขือยาว กระเจี๊ยบขาว กระเจี๊ยบแดง โหระพา กะเพรา กล้วย มะละกอ ตะไคร้ ใบเตย พริกขี้หนู มะนาว ทำให้วัชรีลดปริมาณการซื้อผักในตลาดไปได้มาก

“ตอนนี้เรากำลังปลูกใบจิงจูไฉ่โดยได้พันธุ์มาจากอาจารย์ปัญญาที่ศูนย์ภูมิรักษ์ฯ จ.นครนายก เราเรียกว่าแปลงผักพระราชา เราได้เมล็ดพันธ์ุพืชจากที่นี่เรารู้สึกภูมิใจมาก เราไปเหมาซื้อพันธุ์ต้นกล้ามาหลายชนิดมาก การปลูกเราเน้นออร์แกนิก คือต้องดูแลอย่างดี เราเจอปราชญ์ชาวบ้าน เขาสอนวิธีการจัดการวิถีธรรมชาติต้องทำให้รสชาติผักนั้นๆ เปลี่ยนรสชาติ ด้วยการเอาพริกแกงมาผสมน้ำ 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำและบวกซันไลต์นิดเดียวเอาไปรดแล้วเอาไปพ่นตามใบผัก เพลี้ยไม่กิน แต่เราต้องขยันเปลี่ยนสูตรไปเรื่อยๆ ทำให้ผักเราเป็นออร์แกนิก ปุ๋ยเราทำเองใช้เองโดยเอาเศษใบไม้ผสมขี้วัว สูตรของแม่โจ้ เรียกว่าสูตรไม่พลิกกอง ข้อดีของมันคือทุ่นแรง โดยการใช้เศษผักเปลือกผลไม้ในห้องครัว รวมทั้งเศษหญ้ามาหมักเป็นปุ๋ยชั้นดีเลย”