posttoday

ธานินทร์ โชคชัยเจริญพร เพราะทุกการให้มีความหมาย

12 สิงหาคม 2560

จากเด็กหนุ่มที่ทำหน้าที่ร่ำเรียนมาตามขั้นตอน เข้าทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียง แต่สิ่งที่เติมเต็มอีกส่วนในชีวิตของเขาก็คือการทำงานเพื่อสังคม

โดย...สมแขก

 จากเด็กหนุ่มที่ทำหน้าที่ร่ำเรียนมาตามขั้นตอน เข้าทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียง แต่สิ่งที่เติมเต็มอีกส่วนในชีวิตของเขาก็คือการทำงานเพื่อสังคม

 เราเจอ บิณฑ์-ธานินทร์ โชคชัยเจริญพร ในโครงการวันเดอร์ วิว (Wonder View) ที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยมูลนิธิฟอร์เวิร์ด (Forward Foundation) และเมื่อสังเกตเพื่อนร่วมทีมของเขาก็พบว่ามีแต่เด็กหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยพลังงานดีๆ และแววตาที่พร้อมช่วยเหลือผู้อื่น

 บิณฑ์ เล่าถึงงานอาสาสมัครที่ทำอยู่ว่า

 “ผมกับเพื่อนๆ ทำงานแนวนี้มาหลายปีแล้ว แต่ทำในนามส่วนตัว พวกเรามาจากหลากหลายสาย แต่ละคนก็มีงานประจำที่ทำกันอยู่แล้ว มีทั้งจากสายการศึกษา สายวิศวกรรมศาสตร์ไอที นักพัฒนา นักการตลาด สายการเงินกลยุทธ์ คือผมเอง เคยทำงานที่ปรึกษามาก่อน ปัจจุบันก็ทำงานธนาคาร วางแผนกลยุทธ์ทางการเงินให้กับบริษัท รวมตัวกันได้เพราะมีท่าน ว.วชิรเมธี เป็นที่ปรึกษา เราเคยมีการพูดคุยเรื่องการทำงานเพื่อสังคมกัน รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อสร้างเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เรานำเข้ามา”

 แรกเริ่มเดิมทีคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้คิดจะทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมาหนึ่งชิ้น วัตถุประสงค์เพื่อเป็นตลาดความดี จับคู่ผู้ให้กับผู้รับมาเชื่อมกัน คอนเซ็ปต์ของเราก็คือว่าเราคิดว่าแพลตฟอร์มตัวนี้ก็คือใครทำอะไรก็ได้ เป้าหมายของเราก็เหมือนเป็นการรวบรวมโครงการดีๆ อื่นๆ เข้ามาอยู่ที่เราโดยที่ไม่ใช่โครงการของเราอย่างเดียว

ธานินทร์ โชคชัยเจริญพร เพราะทุกการให้มีความหมาย

 "เหมือนเราเป็นตลาดความดี เป็นโครงการต้นแบบเพื่อจุดประกายให้คนอื่นๆ ในวงกว้างได้รับรู้เรื่องราวตรงนี้ ได้มีส่วนร่วม มีอะไรก็สามารถให้ได้ อย่างมีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก มีเวลาให้เวลา มีความรู้ให้ความรู้ เราไม่ได้บอกว่าคุณต้องบริจาคเงิน แต่เราอยากบอกว่าสิ่งที่คุณมีมาให้เท่าไหร่ก็ได้ เพราะทุกการให้มันมีความหมาย”

 ตัวแทนจากมูลนิธิฟอร์เวิร์ด บอกว่า จุดเริ่มต้นของการทำโครงการด้านการแก้ไขปัญหาด้านสายตาสำหรับเด็กในชนบทที่ขาดแคลนแว่นตา เพราะคิดว่าปัญหาด้านสายตาเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนเมืองเข้าถึงได้ง่าย และสามารถแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและสื่อสารเป็นภาพในวงกว้างได้ง่ายที่สุด

 “ผมก็คิดว่าปัญหาตรงนี้สามารถถอดความเพื่อไปบอกกับคนอื่นต่อได้ พอเอาคอนเซ็ปต์นี้ไปเล่าให้กับศิลปิน หรือคนที่มีจิตใจอาสา หลายคนก็ช่วยในแบบของตัวเอง บางคนสนับสนุนเป็นสิ่งของ บางคนสนับสนุนโครงการด้วยเงิน หลังจากส่งมอบแว่นแล้ว เราเห็นประเด็นปัญหาที่ชัดเจน และนำเรื่องของวันนี้ไปขยายความต่อ เพื่อให้ผู้คนได้เห็นภาพว่ามีเรื่องที่พวกเรายังช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกันได้ ซึ่งมีอีกหลายที่ในเมืองไทยที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน และกำลังรอให้ทุกคนเข้ามาร่วมแก้ไข มีอะไรที่สามารถให้ได้ก็ช่วยเหลือกัน” บิณฑ์ เล่า

 สิ่งที่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้รับนอกจากการได้ทำงานที่พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เห็นรอยยิ้มของผู้รับที่เป็นเด็กที่มีปัญหาด้านสายตาแล้ว การลงพื้นที่และมอบแว่นตาในครั้งนี้ยังทำให้พวกเขาได้เห็นการทำงานที่เครือข่ายมีความสำคัญ

 “โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้นจาก สสส. ซึ่งไม่เพียงแต่เงินทุนแต่การลงพื้นที่ผมและเพื่อนๆ ได้ความรู้เยอะมาก เพราะเราทำงานในเมือง ไม่รู้หรอกว่าพื้นที่นี้มีปัญหาต้องอาศัยภาคีเครือข่ายที่บอกข่าว พอมารู้ปัญหาจริงๆ ก็ต้องอาศัยการทำงานที่ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทีมก็แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ประสานงานกันตามหน้าที่ สละเวลาเท่าที่แต่ละคนให้ได้

 “ส่วนผมเองการแบ่งเวลาสำหรับทำงานด้านสังคม ผมมองว่าเรามีเวลาแล้วก็มีกำลังที่จะช่วยได้ ก็ลงมือทำงานในวันหยุด อย่างการลงพื้นที่ก็ใช้เวลาในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ มาช่วยกัน ซึ่งเพื่อนคนอื่นๆ ก็เหมือนกัน คนที่ไม่มีเวลาสามารถช่วยเรื่องกำลังสมอง หรือมีกำลังทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ ก็คอยช่วยเหลือกัน ผมว่าสะดวกแบบไหนก็ช่วยแบบนั้น แค่มีใจที่จะช่วยเหลือ ผมว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้รับแล้วครับ” บิณฑ์ กล่าวสรุป

ธานินทร์ โชคชัยเจริญพร เพราะทุกการให้มีความหมาย