posttoday

Younghappy สะพานเชื่อมผู้สูงวัย กับเทคโนโลยี

08 สิงหาคม 2560

ในท่ามกลางยุค 4.0 ที่ความตั้งใจของเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราได้รู้จักกลุ่มยังแฮปปี้ (Younghappy) คอมมูนิตี้ออนไลน์เพื่อผู้สูงวัย

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ ยังแฮปปี้younghappy

ในท่ามกลางยุค 4.0 ที่ความตั้งใจของเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราได้รู้จักกลุ่มยังแฮปปี้ (Younghappy) คอมมูนิตี้ออนไลน์เพื่อผู้สูงวัย พวกเขาก็ตั้งใจที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเหมือนกัน สิ่งที่พวกเขาทำคือสะพานที่โยงผู้สูงวัยกับโลกเทคโลยีให้เชื่อมถึงกัน Younghappy ยังเป็นชื่อเพจเฟซบุ๊ก ชื่อไลน์แอด ชื่อแอพพลิเคชั่นและอีกมาก ทุกสิ่งที่พวกเขาทำนำสู่เป้าหมายเดียว นั่นคือการทำให้ผู้สูงวัย “ยัง” แฮปปี้...มีความสุขในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

3 ผู้ก่อตั้ง ณฎา ตันสวัสดิ์ วัย 36 ปี จุติพร อู่ไพบูลย์ วัย 30 ปี และแก๊ป-ธนากร พรหมยศ วัย 29 ปี กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ท้าทายตัวเองในการแก้ปัญหาผู้สูงวัย ในรูปแบบของเอสอี-ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) สร้างสะพานเชื่อมระหว่างผู้สูงอายุกับเทคโนโลยี เพื่อให้กลุ่มปัจฉิมวัยที่กำลังจะเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในสังคมเรา ได้มีชีวิตที่ง่ายขึ้น มีคุณค่า มีความสุข

ณฎา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง เล่าว่า จุดเริ่มต้นคือเธอกับแก๊ปที่นั่งคุยกัน เขาเล่าให้ฟังเรื่องเอสอี ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างการทำธุรกิจที่มุ่งผลกำไรสูงสุดกับการกุศลที่มุ่งรับเงินบริจาค จุดกึ่งกลางที่ท้าทายเธออย่างเหลือเกินว่า จะพัฒนารูปแบบของการทำธุรกิจอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย ขณะเดียวกันก็มีรายได้ที่อยู่รอดด้วยตัวของตัว 

ทันทีที่ได้ยินเพื่อนรุ่นน้องเล่าเรื่องเอสอี จำความรู้สึกตัวเองได้ว่าตื่นเต้นที่สุด เหมือนค้นพบใจว่าอยากทำอะไรแบบนี้ ตัวเธอเองจบด้านไฟแนนซ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำธุรกิจของตัวเองมา 15 ปี ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ขายขนมปัง (ผ่านเฟซ) เป็นงานอดิเรกบ้าง ตลอดเวลาที่ผ่านมา คำตอบหนึ่งที่ได้กับตัวเอง คือ เงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต

“เมื่อรู้ว่าเงินไม่ใช่คำตอบ ชีวิตจึงมีเป้าหมายที่ไม่ใช่เงิน เป้าหมายของณฎาคือความสุข อยากทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองมีความสุข แล้วจึงต่อไปอีกขั้นว่า อยากทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้ผู้อื่นมีความสุข ชีวิตยังด้วยประโยชน์ต่อผู้อื่น”

ชีวิตมุ่งหวังความสุข และความสุขนั้นพึงเกิดได้ด้วยการมีประโยชน์ต่อผู้อื่น เมื่อคำตอบคือเอสอี ณฎาถามตัวเองว่าอยากแก้ปัญหาอะไรของสังคมนี้ ลงตัวที่ปัญหาผู้สูงวัย ที่ทั้งเธอและแก๊ปเห็นพ้อง แก๊ปเป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่ เขาคิดอยู่ว่า ถ้าวันหนึ่งเขาไม่อยู่ ใครจะดูแลพ่อแม่ทั้งสอง ส่วนณฎาเองมีมารดาเป็นข้าราชการบำนาญโลว์เทค

Younghappy สะพานเชื่อมผู้สูงวัย กับเทคโนโลยี

“แม่เป็นอาจารย์มาก่อน แม่พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเองนะ แต่ปัญหาคือ แม่ออกมาจากโลกอะนาล็อกที่แม่คุ้นเคยได้ยากมาก”

สอนแม่แล้วหงุดหงิด เรื่องบางเรื่องที่คนรุ่นใหม่รู้สึกง่ายแสนง่าย แต่กับคนรุ่นเก่ากลายเป็นเรื่องยากต่อความเข้าใจ ณฎาเริ่มจากเรื่องยากนี้ เธอชอบเขียนหนังสืออยู่แล้ว จึงทำหนังสือคู่มือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ว่าด้วยการใช้ไลน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และกูเกิลสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้กลุ่มคนจากโลกอะนาล็อกได้เรียนรู้การใช้เครื่องไม้เครื่องมือในโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่

ก่อนเขียนคู่มือ ณฎาอาสาตัวเองเพื่อสอนการใช้โซเชียลมีเดียแก่ผู้สูงอายุในหลายที่หลายสถาบัน แม้จะ (เคย) คิดว่าตัวเองมีทักษะการสอนที่ดีเป็นทุน หากเมื่อไปสอนจริง ปรากฏว่าไม่มีผู้สูงอายุคนไหนเข้าใจ การให้ความรู้ผู้อาวุโสควรอย่างยิ่งต้องเป็นภาพ ต้องเป็นขั้นตอนหรือฮาวทูที่ชัดเจน เธอสังเกตวิธีเรียนของนักเรียนรุ่นคุณป้า ทุกคนเรียนด้วยการจดชอร์ตโน้ตและวาดรูป

“พวกเขาโตมากับโลกอะนาล็อก เราต้องเข้าใจจุดนี้ เมื่อเข้าใจนักเรียน เราจะรู้วิธีสอน”

สอนไปเขียนคู่มือไปอยู่ประมาณ 1 เดือน หนังสือก็เสร็จ “สูงวัย Like Social” การทำคู่มือมีข้อดี เพราะผู้ใหญ่สามารถเรียนตามได้ง่าย เข้าใจง่าย และถ้าลืม (ซึ่งส่วนใหญ่จะลืม) ก็กลับมาพลิกอ่านทบทวนได้เสมอ ทำซ้ำๆ จนชำนาญแล้วไม่ต้องเปิดหนังสืออีก ลงเฟซบุ๊กรับสอน ก็มีผู้สนใจติดต่อให้ไปสอนในหลายที่ มีตั้งแต่กลุ่มชมรมผู้สูงวัยต่างๆ โรงพยาบาล ศูนย์อัลไซเมอร์ กระทั่งผู้พิพากษาในศาลคดีเด็กและเยาวชน ฯลฯ

“ยังแฮปปี้รับเชิญไปสอนในหลากหลายองค์กร สนุกและมีความสุขมาก อีกได้กับตัวเองว่า เวลาเราไปสอนพ่อแม่ของชาวบ้าน เราใจเย็นได้ เราเข้าใจพ่อแม่ของเรามากขึ้น สอนพ่อแม่คนอื่นสอนได้ ทำไมจะสอนพ่อแม่เราเองไม่ได้”

เหมือนปลาที่เปลี่ยนน้ำ ผู้สูงอายุที่เรียนรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงขึ้น พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ไม่เหงา ไม่อ่อนแอ โดยยังแฮปปี้เน้นผลิตเนื้อหาที่มีสาระประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สูงวัยโดยตรง ประกอบด้วย เทคโนโลยี สุขภาพ ท่ากายบริหาร กินเที่ยว การเงินการงาน รวบรวมอะไรดีๆ มีประโยชน์ ใช้อินโฟกราฟฟิกที่ดึงดูด น่ารัก เข้าใจง่าย

Younghappy มีทุกอย่างที่ผู้สูงวัยสนใจและต้องการ เข้าถึงหรือใช้บริการได้ผ่านช่องทางต่างๆ คือ คอมมูนิตี้ออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก : ยังแฮปปี้ younghappy, ไลน์แอด @younghappy แอพพลิเคชั่น Younghappy แอพพลิเคชั่นสำหรับผู้สูงอายุ ความช่วยเหลือมาทันทีภายในหนึ่งคลิก ให้บริการเชื่อมต่อทุกเซอร์วิส (จะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้)

Younghappy สะพานเชื่อมผู้สูงวัย กับเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังมี “น้องสุข Assist” บริการคอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง เพื่อผู้สูงอายุ โทรมาขอความช่วยเหลือได้ทุกเรื่อง “ตัวช่วย” ที่จะให้ความช่วยเหลือพื้นฐาน รวมทั้งเป็นเพื่อนคุยแก้เหงา (จะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้) Thinking Radio Aging Show รายการยังเก๋า 4.0 ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 19.00 น. โดยเป็นคลิปสั้นๆ 3-5 นาที ให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีแก่ผู้สูงวัย หนังสือคู่มือ “สูงวัย Like Social” ก็มี แล้วยังรับสอนอบรมให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีแก่ผู้สูงวัยแก่หน่วยงานหรือสถาบันที่สนใจอีกด้วย

ที่สุดของที่สุดคือความพอดี ณฎา เล่าว่า นักเรียนคุณลุงคุณป้าทำมาแล้วคือหลับคาไอแพด หลับคามือถือ สถิติสูงสุดคือเล่นอินเทอร์เน็ตติดต่อกันตั้งแต่ 10 ชั่วโมงขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุมีเวลาว่างมาก เพราะฉะนั้นก็ “เต็มที่” จากเล่นไม่เป็น จะเริ่มเล่นไม่หยุด อีกอย่างคือแชร์แหลก ไม่ชัวร์ก็แชร์ มีความสามารถในการเปิดอ่านทุกอย่างและเชื่อทุกอย่าง

“กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นผู้สูงวัยจะมีความเชื่อในทุกอย่างที่ฟอร์เวิร์ดมาในไลน์ แชร์อีกต่างหาก ทุกคนมีความสามารถในการแชร์ขั้นสูง รวดเร็วฉับไวไม่รั้งรอ ตั้งแต่ข่าวน้ำท่วม มรสุมเข้า สมุนไพรต้านมะเร็งและอื่นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเราสร้างเขาขึ้นมาในโลกออนไลน์แล้ว เราก็ต้องสร้างภูมิต้านทานให้เขาด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบ”

ในการดึงผู้สูงอายุเข้าสู่โลกออนไลน์ มีประโยชน์เพราะทำให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมีความหมายอีกครั้ง หากจุดประสงค์สูงสุดของยังแฮปปี้ ไม่ใช่เพียงแค่นั้น แต่เพื่อเป็นช่องทางต่อไปในการดึงผู้สูงอายุออกจากโลกออนไลน์และกลับสู่โลกออฟไลน์อีกครั้ง กลไกที่ผกผันเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดในอันที่จะทรงไว้ซึ่งคุณค่า ความมีชีวิตชีวา ความสนุก ความสุขพึงมีพึงเป็น

“เมื่อผู้สูงวัยเข้าถึงเทคโนโลยี พึ่งพาตัวเองได้ ไม่เหงา ไม่เป็นโรคซึมเศร้า เขาจะสนุกกับโลกใหม่ เพราะตอนนี้เขาใช้เฟซบุ๊กเป็น เขารู้แล้วว่าเขาอยากไปไหน เขาอยากทำอะไร เขาจะใช้ชีวิตในโลกใหม่อย่างไร เราก็ใช้โอกาสนี้ดึงเขาจากออนไลน์ วางมือถือและกลับออกไปใช้ชีวิต ออกไปนอกบ้าน ออกไปหาเพื่อน ออกไปทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำ”

ถึงวันนี้ ยังแฮปปี้ดำเนินมาแล้ว 5 เดือน ไปไกลเกินเป้า แต่ก็ยังต้องไปต่อ ณฎา บอกว่า เหมือนที่ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กพูดไว้ ในครั้งแรกเฟซบุ๊กไม่ได้คิดจะทำธุรกิจ แต่คิดอยากสร้างอิมแพ็คให้กับโลก ยังแฮปปี้ก็เหมือนกัน คีย์เวิร์ดคือการลงมือทำ ผลกระทบ แรงกระแทกหรืออิมแพ็คสร้างได้แค่ไหนไม่รู้ แต่ที่รู้และได้รับกลับมาทันทีแน่ๆ คือ การได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา พร้อมๆ กับรอยยิ้มเสียงหัวเราะจากตาจ๋ายายจ๋า ผู้สูงวัยในสังคมบ้านเราคู่มือ “สูงวัย Like Social”

หนังสือ “สูงวัย Like Social” เป็นคู่มือการใช้โซเชียลมีเดีย 4 ตัวหลัก ได้แก่ LINE, Facebook, Youtube,Google สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ! ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดส่งไปยังห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ 128 หน้า ตัวใหญ่ อ่านง่าย พร้อมภาพประกอบ ตัวการ์ตูนแบบเป็นขั้นตอน สนใจสั่งซื้อทักไลน์มาได้ที่@younghappy ราคาเล่มละ 250.- โดย 1 เล่มที่มีคนซื้อ younghappy จะนำอีก 1 เล่ม ไปบริจาคให้กับชุมชนผู้สูงอายุในต่างจังหวัด(Buy1Give1) อ่านตัวอย่างเนื้อหาได้ที่ https://issuu.com/young- happy/docs/issuu