posttoday

‘ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล’... เงินติดล้อ ผู้ชอบเรียนรู้ประสบการณ์

05 สิงหาคม 2560

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล ถือได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่อีกคนในแวดวงการสถาบันการเงิน เมื่อปัจจุบันด้วยวัยเพียง 36 ปี ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง

โดย...ฉัตรชัย ธนจินดาเลิศ

 ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล ถือได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่อีกคนในแวดวงการสถาบันการเงิน เมื่อปัจจุบันด้วยวัยเพียง 36 ปี ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ บริษัทที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์อันดับต้นๆ ของประเทศ  และยังเป็นกรรมการบริษัทในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีก 3 แห่ง

 ปิยะศักดิ์ บอกว่า  เริ่มทำงานที่บริษัท เงินติดล้อ เมื่อตอนอายุ 27 ปี ด้านฝ่ายการตลาดก่อน จากพนักงานตอนนั้นแค่ 600 คน กับ 133 สาขา ธุรกิจก็ขยายเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีพนักงานถึง 3,000 คน กับ  540 สาขา และมีผมเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่มีเป้าหมายต้องผลักดันให้ธุรกิจขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง

 ทั้งนี้ หากพูดถึงแนวคิดในการทำงานกับพนักงานนับพันคนนั้น สิ่งสำคัญสุดคือต้องให้พนักงานรู้สึกถึงความมีเจ้าของในงานที่ตัวเองทำอยู่ด้วย  ซึ่งส่วนใหญ่มนุษย์เงินเดือนจะขาดตรงนี้ เพราะถ้าเราคิดว่าเราเป็นเจ้าของบริษัทร่วมด้วย การทำงานก็จะราบรื่นมากขึ้น มีแรงกระตุ้นให้เกิดการทำงานเต็มที่

 “เวลาทำงานเราก็จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องมากมาย  ถ้าเรามีความรู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น ก็จะทำงานเต็มที่ มีความรักลูกค้า รักการทำงาน เกิดการพัฒนามีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำงานให้ผ่านพ้นๆ ไปวันๆ และแน่นอนถ้าทุกคนร่วมกันทำงานได้ดี ผลตอบแทนและชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องดีขึ้นตามไปด้วย” ปิยะศักดิ์ กล่าว

‘ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล’... เงินติดล้อ ผู้ชอบเรียนรู้ประสบการณ์

 นอกจากนี้ ในช่วง 3-4 ปี มานี้ ปิยะศักดิ์ บอกว่า เขาก็มีมุมมองใหม่เกี่ยวกับการทำงานเพิ่มขึ้น คือ การฝึกอบรมเพื่อดึงศักยภาพของพนักงานออกมาในมุมมองที่แตกต่างซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าบอกรักและดูแลลูกน้องให้ดี งานที่ได้กลับมาหาบริษัทก็จะดีไปด้วย

 สุดท้าย คือ ความซื่อสัตย์ มีสัจจะซึ่งสำคัญมาก ทำให้เกิดการไว้วางใจกัน

 อย่างไรก็ตาม การอาศัยหรือศึกษาหาความรู้จากผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการบริหารงานได้  และปิยะศักดิ์เองก็ชอบอ่านหนังสือประเภทคัมภีร์ซีอีโอ หนังสือเกี่ยวกับความคิด แนวคิดทั้งหลาย ทำให้ตัดสินใจได้แบบไหน พยายามทำความเข้าใจ แกนหลักคืออะไร เวลาเกิดปัญหาจะทำอย่างไร

 "หนังสือที่อ่าน เช่น ซีอีโอ อย่าง สตีฟ จ็อบส์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ แจ๊ค เวลซ์ ผู้บริหาร ไอบีเอ็ม ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประธานาธิบดี บิล คลินตัน หรือถ้าไม่เกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับผู้บริหารโดยตรง ก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น ทำให้ผมเข้าใจปัญหา การดำรงชีวิต และนำสิ่งที่ได้มาสร้างแรงบันดาลใจ  ซึ่งถ้าเข้าใจพวกนี้ได้จะช่วยทำให้ผมไม่หลงทาง เพราะบางครั้งก็ไม่มีอะไรถูกหรือผิดตายตัว"

 อย่างทุกๆ เล่มที่อ่าน เอ็มดีเงินติดล้อจะได้ความคิดใหม่ๆ กลับมาอย่างน้อย 2-3 เรื่อง เอามาใช้กับการทำงาน ใช้กับชีวิตได้

 "ผมชอบมากอ่านตอนนั่งเครื่องบินมาก เพราะมันปิดการสื่อสารทั้งหมด เป็นเวลาที่คิดอะไรออกมากมาย พอคิดได้ก็พิมพ์เก็บไว้เลย ชอบอ่านผ่านอี-บุ๊ก เพราะเก็บได้ 3-4 เรื่อง อ่านสลับไปสลับมาได้"

 นอกจากนี้ ปิยะศักดิ์ ยังชอบออกกำลังกาย ด้วยการตื่นตั้งตี 5 มาวิ่งประจำ ครั้งละ 30 นาที เพื่อผ่อนคลายและให้ร่างการแข็งแรง รู้จักเสริมความรู้ให้กับตัวเองและขยันมากขึ้น รวมถึงยังชอบสะสมประสบการณ์จากการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งทุกๆ ปีจะเดินทางไปต่างประเทศ 1-2 ประเทศ แต่ไปครั้งหนึ่งเต็มที่ก็ได้แค่ 2 อาทิตย์ ไปนานกว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากมีเวลาจำกัด

‘ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล’... เงินติดล้อ ผู้ชอบเรียนรู้ประสบการณ์

 "ผมเลือกไปยังประเทศที่ไม่เคยไปมาก่อน ไปเรียนรู้ ไปดูวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ประเทศนี้เจริญเพราะอะไร ประเทศนี้ไม่เจริญเพราะอะไร อย่างตัวผมเองก็เติบโตจากสหรัฐมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งพื้นฐานความคิด คือคำว่า “ทำไม” การเรียนการสอนของที่สหรัฐ เขาจะบังคับให้อธิบาย ให้มีเหตุผล ทำให้เรื่องนี้ติดตัวผมมาถึงทุกวันนี้

 "หรือญี่ปุ่นเป็นอะไรที่เป๊ะมาก กฎระเบียบเยอะ และไม่ค่อยพลาด เป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูง เป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี อย่างเช่น ตอนที่ผมไปขึ้นลิฟต์ชมหอคอยโตเกียว พนักงานในลิฟต์ก็ยังคงบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เขาก็รู้ว่าผมกับแฟนเป็นคนต่างชาติและไม่มีมีคนญี่ปุ่นอยู่ด้วย"

 ปิยะศักดิ์ ย้ำว่าเขาชอบไปยังประเทศที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง  ชอบไปเมืองเล็กๆ  เพื่อให้ได้บรรยากาศที่หลากหลาย ซึ่งก็สะท้อนวัฒนธรรมที่หลากหลายตามไปด้วย เพราะถ้าเป็นเมืองหลวงส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆ กันหมด

 "เดินทางท่องเที่ยวพบปะผู้คนก็ต้องควบคู่กับการถ่ายรูปด้วย ซึ่งทุกปีผมจะรวบรวมรูปเป็นอัลบั้มดิจิทัลเล่มละประมาณ 1,000 รูปเก็บไว้ มีการบันทึกเรื่องราวที่ประทับใจไว้ในนั้นคู่กัน ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2554 ตอนนี้ก็ได้มา 6 เล่มแล้ว สนุกดี ได้พบอะไร ได้เจออะไรในมุมที่น่าสนใจ ก็บันทึกเก็บไว้

 สุดท้ายเขายอมรับว่าเป็นคนคิดเยอะ เมื่อพบปะลูกน้องเยอะ ก็มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผมจึงต้องทำหน้าที่ให้คนที่ไม่เห็นด้วยเดินไปกับด้วยกันให้ได้

 "มาอยู่ในตำแหน่งนี้ ก็ไม่เชื่อว่าจะมาถึงขณะนี้เหมือนกัน เพราะทำงานมาแค่ 8-9 ปี  ก็พอใจระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะทำอะไรได้อีกมาก มีความภูมิใจที่ทำงานอยู่ตรงนี้  สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือการสะสมประสบการณ์

 "ผมมาถึงตรงนี้ได้ เพราะมีคนให้โอกาส ซึ่งผมก็ต้องให้โอกาสคนอื่นด้วยเช่นกัน"