posttoday

ประสานเสียง ‘สมาน’ แผลในใจคน

02 สิงหาคม 2560

ความรุนแรงจากคนในครอบครัวทำให้ "เด็ก" ถูกทำร้ายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หลายรายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อศาลมีมติให้เด็กแยกจากครอบครัว ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ความรุนแรงจากคนในครอบครัวทำให้ "เด็ก" ถูกทำร้ายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หลายรายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อศาลมีมติให้เด็กแยกจากครอบครัว ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และมีที่พึ่งพิงใดให้รักษาบาดแผลทางกายและจิตใจอันเป็นผลกระทบยิ่งใหญ่ของครอบครัว

สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดชลบุรี เป็นสถานสงเคราะห์สำหรับเด็กชาย อายุระหว่าง 7-18 ปี ประกอบด้วยเด็กที่ขาดผู้อุปการะ กำพร้า ถูกทอดทิ้ง เร่ร่อน พลัดหลง ครอบครัวยากจน ครอบครัวแตกแยก เด็กที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองให้การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ถูกกระทำทารุณ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกบังคับขายบริการทางเพศ เด็กที่มีปัญหาความประพฤติตนไม่เหมาะสมกับวัย เด็กที่หน่วยงานราชการและเอกชนขอความร่วมมือรับไว้อุปการะ บุตรผู้รับการสงเคราะห์จากบิดามารดาที่ต้องโทษ เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือมีอาการทางจิตประสาท โดยปัจจุบันมีเด็กชายในสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดชลบุรีจำนวน 30 คน

เผด็จ ผิวงาม ผู้อำนวยการสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เด็กในสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กฯ ร้อยละ 90 จะมีอาการทางจิตเวชและต้องรับประทานยาตลอด "มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ไม่ต้องรับประทานยา โดยพฤติกรรมปกติของเขาคือ เอะอะโวยวาย ด่าพ่อแม่ ทะเลาะกัน ไม่มีสมาธิ และควบคุมตัวเองไม่ได้"

ประสานเสียง ‘สมาน’ แผลในใจคน

เด็กเหล่านี้เรียกว่า เด็กกลุ่มพิเศษ ซึ่งทางสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กฯ พยายามหากิจกรรมเพื่อเยียวยาจิตใจและเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยกิจกรรมหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จ คือ การร้องเพลงประสานเสียง ในโครงการดนตรีบำบัดสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กในสถานรองรับ : เพชรน้ำหนึ่ง จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

"เมื่อมูลนิธิฯ เข้ามาทำกิจกรรมช่วงแรกเด็กหลายคนให้ความร่วมมือดี แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่สนใจทำกิจกรรมเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ เด็กที่ต่อต้านเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมเพราะเห็นเพื่อนทำโดยความสมัครใจ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี รวมทั้งในด้านอารมณ์ เมื่ออยู่ในช่วงเล่นดนตรีหรือหลังจากเล่นดนตรีแล้ว อารมณ์เขาจะเปลี่ยนไปทันที จากที่อารมณ์ร้ายโมโห เอะอะโวยวายจะลดน้อยลงหรือแทบไม่พบเลย

มูลนิธิฯ เข้ามาช่วยเหลือเราตรงนี้ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนกว่าที่เราทำกันเองมาก เพราะมูลนิธิฯ มีกระบวนการที่ชัดเจนและมีวิธีการที่ถูกต้อง ครูที่เข้ามาสอนก็มีประสบการณ์ด้านนี้โดยเฉพาะ ผลลัพธ์ที่ชัดเจน คือ เด็กลดพฤติกรรมความรุนแรง ลดความก้าวร้าวลง มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เด็กกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง สามารถขึ้นโชว์ได้อย่างมั่นใจ ร้องเพลงประสานเสียงได้ และถูกต้องตามวิธีที่ครูสอน"

ด้าน ครูต้น-ชยพล สุขดี ครูสอนขับร้องประสานเสียง มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลลัพธ์ของการบำบัดด้วยการร้องเพลงประสานเสียงคือ การก่อตั้ง "วงแสงเทียน" ที่ประกอบด้วยเด็กกลุ่มพิเศษจำนวนทั้งสิ้น 30 คนของสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดชลบุรี โดยสอนทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-12.00 น. ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ผ่านกิจกรรม 2 ประเภท คือ การร้องเพลงประสานเสียง และบอดี้เพอร์คัสชั่น (การใช้การกระทบกันของร่างกายให้เกิดเป็นเสียง)

เขาเล่าว่า หลักการสอนเหมือนกับเด็กทั่วไปคือ เริ่มตั้งแต่พื้นฐานของการร้องเพลง การวอร์มเสียง เรียนรู้การหายใจและจังหวะ แต่ที่แตกต่างคือ เพลง โดยจะเลือกเพลงที่มีความหมายเหมาะสมกับเด็กกลุ่มพิเศษ เพื่อให้รู้สึกใกล้ตัวและทำให้เด็กมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น

"นอกจากเราจะนำดนตรีไปบำบัด เราอยากเพิ่มทักษะการอยู่ด้วยกันของเด็กๆ ความกล้าแสดงออก และการทำงานเป็นทีม เพราะการขับร้องประสานเสียงคือการร้องเพลงไปพร้อมกัน หายใจเข้าไปพร้อมกัน ดังนั้นเด็กทุกคนต้องมีระเบียบวินัย รู้หน้าที่ของตัวเอง และแม้ว่าเด็กๆ จะยังไม่สามารถร้องประสานเสียงได้ แต่แค่ร้องให้พร้อมเพรียงกันก็ถือเป็นความสำเร็จก้าวใหญ่แล้ว"

ประสานเสียง ‘สมาน’ แผลในใจคน

ถึงแม้ว่าครูต้นจะมีประสบการณ์สอนเด็กในสถานสงเคราะห์ เช่น บ้านปราณี และบ้านเมตตา แต่สำหรับเด็กกลุ่มพิเศษถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ด้วยความที่เป็นผู้ชายล้วนและมีอายุต่างกันมากจึงต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าหากัน และคนเป็นครูต้องศึกษาลักษณะของเด็กทุกคนเพื่อทำความเข้าใจว่าต้องสอนเด็กแต่ละคนอย่างไร

"ความโชคดีของดนตรีอย่างหนึ่งคือ เป็นสิ่งที่ทุกคนสนุกสนานได้" ครูต้นกล่าวต่อ "ทำให้เด็กค่อยๆ ทลายกำแพงตัวเองลง และให้ดนตรีเป็นสื่อกลางที่ทำให้เด็กๆ เย็นลง กระตือรือร้นมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น และทำให้รู้สึกดีเวลาร้องเพลง"

นอกจากนี้ การตั้งวงแสงเทียนยังทำให้เด็กๆ ได้ออกไปสร้างแรงบันดาลใจนอกสถานที่และเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีชุดความคิดที่จะไม่กล้าแสดงออกต่อสาธารณะ เพราะกลัวสายตาหรือคำพูดของคนอื่นที่สะท้อนกลับมา

"เราจะบอกพวกเขาเสมอว่า ลองคิดว่าเราเป็นผู้ให้ดูสิ เรามาให้ความสนุก เรามาสร้างความสุข เรามาสร้างรอยยิ้ม แล้วทำไมเขาจะมองเราไม่ดี พอเราให้มุมมองแบบนี้ เด็กๆ ก็จะกล้าแสดงออกและมีความภาคภูมิใจที่จะร้องเพลงให้ผู้อื่นฟังหรืออยากฝึกร้องเพลงให้ดีขึ้นต่อไป"

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการร้องเพลงประสานเสียงในช่วงแรกมีกำหนดถึงเดือน ก.ย. แต่ตอนนี้คาดว่าจะมีช่วงที่สองต่อไป ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การสอนเจ้าหน้าที่ที่สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กฯ เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวมีทุกวันและเพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว

อีกทั้งด้าน รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังกล่าวด้วยว่า มูลนิธิฯ มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสทุกรูปแบบโดยผ่านดนตรี เพราะเชื่อว่าเสียงดนตรีจะไปช่วยขยายโมเลกุลของกล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เมื่อโมเลกุลของร่างกายขยายแล้วก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส ระหว่างที่ยิ้มแย้มก็จะลืมความทุกข์ไป เพราะมีความสุขเข้ามาแทนที่ เสียงเพลงจึงกลายเป็นเพื่อนของคนเหงา และที่สำคัญดนตรีไม่เคยเป็นพิษเป็นภัยกับใคร

ประสานเสียง ‘สมาน’ แผลในใจคน รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข

"ผมว่าสังคมไทยมีคนอับเฉาเยอะ หมายความว่า มีคนด้อยโอกาสมาก แต่ไม่ค่อยมีใครนำดนตรีไปบำบัดจิตใจคน เมื่อคนร้องเพลงออกมาแล้วมีเสียงใสหรือเสียงคลุมเครือ มันบ่งบอกถึงจิตใจเขาว่า สะอาดหรือไม่สะอาด หากเสียงอู้อี้ร้องไม่เต็มปากแสดงว่าความทุกข์ในจิตใจเยอะ แต่ถ้าเมื่อไรที่เขาร้องเพลงอย่างเปิดเผยสง่างาม แสดงว่าความทุกข์ลดน้อยลง

จะเห็นได้ว่าเมื่อมูลนิธิฯ เข้าไปจากที่เด็กเล่นดนตรีหรือร้องเพลง 1-2 สัปดาห์ เด็กจะหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสมากขึ้น มีความเป็นมิตรมากขึ้น เปิดโอกาสให้ตนเองคุยกับ ผู้อื่นได้มากขึ้น มีความสุขมากขึ้น ความทุกข์ก็น้อยลงไปเอง เมื่อเด็กมีความสุขมากขึ้นโอกาสที่เขาจะเติบโตทางร่างกาย จิตวิญญาณ และสมองก็จะดีขึ้นด้วย"

นอกจากนี้ ดนตรีบำบัดยังส่งเสริมเรื่องทักษะสังคม ได้แก่ การยืน การยิ้ม การวางตัว การมีส่วนร่วมในสังคม ความภาคภูมิใจในตนเอง และการยอมรับผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการยอมรับกฎเกณฑ์ในสังคม และทำให้เด็กพร้อมที่จะออกจากสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กฯ ไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป

ทว่า การป้องกันหรือการลดจำนวนเด็กกลุ่มพิเศษที่ดีที่สุดต้องเริ่มตั้งแต่ "ครอบครัว" เด็กทุกคนควรจะได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม พ่อแม่ให้ความรักความเมตตาและความอบอุ่นเพื่อเป็นเกราะป้องกันชั้นดี รวมถึงพ่อแม่ก็ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง และพูดคุยกับลูกอย่างมีเหตุมีผล เพราะเมื่อครอบครัวดีก็จะผลิตเด็กที่ดี และเด็กที่ดีก็จะเป็นบุคลากรที่ดีมีคุณภาพในอนาคต n