posttoday

ของสะสมปลัดกระทรวงศึกษาฯ

29 กรกฎาคม 2560

“ต้องการจุดพักสายตาที่ให้ผลด้านดีต่อจิตใจ” คือเหตุผลที่ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บอกว่า

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

 “ต้องการจุดพักสายตาที่ให้ผลด้านดีต่อจิตใจ”

 คือเหตุผลที่ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มสะสมงานศิลปะประดับบนผนังทั้งที่บ้านและที่ห้องทำงานปัจจุบัน บนตึกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นห้องทำงานชั่วคราวระหว่างการซ่อมแซมอาคารราชวัลลภอันเป็นห้องทำงานเก่าแก่ของปลัด ศธ.ทุกยุคทุกสมัยในกระทรวงครูยังไม่แล้วเสร็จ

 “ชอบงานศิลปะและอยากให้มีอยู่ใกล้ๆ ตัว ชิ้นแรกๆ ที่ซื้อมาคืองานที่ขายอยู่ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ตอนนั้นได้ไปนั่งพูดคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่เขียนภาพขายอยู่ที่นั่น เล่าให้แกฟังว่าอยากได้ภาพแบบไหน อาจารย์ท่านนั้นก็วาดให้ตามที่เราต้องการ หลังจากนั้นไปที่ไหนก็มองหาภาพเขียนตลอด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ได้ไปเดินงานอาร์ตมาร์เก็ต ซึ่งจัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม มีงานของนักศึกษาขายก็ช่วยซื้อมาจำนวนหนึ่ง แล้วพอมาเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็มีโอกาสได้รู้จักอาจารย์หลายคนที่ทำงานด้านนี้ ก็ทำให้มีโอกาสเป็นเจ้าของงานอีกหลายชิ้น”

 ปลัด ศธ.เริ่มเล่าถึงช่วงแรกๆ ก่อนที่จะเป็นที่มาของคอลเลกชั่นภาพเขียนติดอยู่รายรอบห้องทำงาน แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้สนใจงานศิลปะจริงๆ คือการได้ไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน ในส่วนห้องแสดงงานศิลปะ

ของสะสมปลัดกระทรวงศึกษาฯ

 การเดินทางครั้งนั้น ทำให้อาจารย์ชัยพฤกษ์ได้เห็นงานศิลปะตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งประเทศอเมริกาที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ เป็นภาพเหตุการณ์ ภาพบุคคลไว้ในงานศิลปะชิ้นสำคัญๆ ของศิลปินมากมาย ไล่เรียงตั้งแต่ยุคก่อตั้งอาณานิคม ซึ่งปรากฏมุมมองมากมาย ในผลงานของ จอห์น ซิงเกิลทัน โคพลีย์ จิตรกรคนสำคัญชาวอเมริกันของคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ซึ่งเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพเหมือนบุคคลสำคัญในนิวอิงแลนด์ยุคเริ่มอาณานิคม จนถึงงานในศตวรรษต่อมา งานศิลปะร่วมสมัย หรือกระทั่งงานของจิตรกรมีชื่อนานาชาติที่พิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดง

 ความสนใจในครั้งนั้น ทำให้ถึงกับต้องควักกระเป๋าซื้อโปสเตอร์งานภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ผลงานของ คะสึชิกะ โฮะกุไซ จิตรกรภาพอุกิโยะและภาพพิมพ์แกะไม้ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยเอโดะ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19

 โปสเตอร์ที่ปลัด ศธ.หอบหิ้วกลับมาใส่กรอบประดับบ้านจากพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน เป็นภาพพิมพ์แกะไม้ลือนามที่หลายคนคุ้นตากันดี นั่นก็คือภาพชุด “ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ” ซึ่งภาพที่ผ่านตาและคุ้นเคยกันดีจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็คือชิ้นที่ชื่อว่า “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงะวะ”

ของสะสมปลัดกระทรวงศึกษาฯ

 “ตอนเห็นงานคลื่นยักษ์ ก็ชื่นชมว่าทำไมเขามีงานที่พลังขนาดนี้ แล้วก็คิดว่าไหนๆ ก็มีโปสเตอร์แล้ว มาสะสมงานจริงเลยดีกว่า ก็เริ่มจากงานที่เห็นใกล้ตัวนี่แหละ จากที่อุดหนุนงานเด็กทุกปี มาได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มขยับไปหาผลงานของศิลปินไทยที่มีชื่อเสียง เพราะอยากมีงานชิ้นใหญ่ๆ เก็บไว้บ้าง เพื่อนซึ่งรู้จักศิลปินใหญ่ๆ ที่ผลงานดีแต่ราคาเด็ก ก็แนะนำคนนั้นคนนี้ให้ เช่น งานของอาจารย์เทอดศักดิ์ ไชยกาล เจ้าของผลงานภาพเขียนสีน้ำมันชิ้นสำคัญหลายชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ถูกนำไปพิมพ์เป็นปกอนุสาร อสท มาแล้วหลายฉบับ

 "มาจนถึงผลงานของ สมภพ บุตราช หนึ่งในผลงานชุดนางสงกรานต์ ซึ่งเคยจัดแสดงในนิทรรศการที่หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล เมื่อเดือน เม.ย. 2556 ออกจากห้องแสดงก็มีคนติดต่อขอซื้อในราคาหักคอ และชิ้นที่รักมากอีกชิ้นก็คืองานของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรมปี 2557 ทั้งสองชิ้นได้ในราคาตั๋วเด็ก ติดต่อซื้อผ่านคนรู้จัก”

 ใครที่ผ่านไปยังห้องทำงานของปลัด ศธ.ท่านนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมถึงมีงานศิลปะประดับฝาผนังมากมายหลายชิ้น ยังไม่นับถึงประติมากรรมพระพุทธรูปที่เรียงอยู่รายรอบห้อง แต่ละชิ้นมีที่มาเรื่องราวที่หากใครซักถามแล้วท่านปลัดมีเวลา ท่านก็เล่าให้ฟังถึงที่มาของแต่ละชิ้นอย่างอารมณ์ดีและสนุกไปกับที่ได้เล่าที่มาอันเป็นสุนทรียสนทนา พร้อมกับบอกว่าตอนนี้จะหยุดสะสมงานศิลปะไปสักพัก เพราะเริ่มเห็นว่าตอนนี้ที่บ้านไม่มีผนังเหลือให้แขวนอีกเลย

ของสะสมปลัดกระทรวงศึกษาฯ