posttoday

สายเลือดนักวิชาการ นักวางยุทธศาสตร์ ‘พสุ เดชะรินทร์’ ก้าวไกลในเวทีโลก

29 กรกฎาคม 2560

“เรากล้าพูด กล้าแสดงออกในเวทีนานาชาติมั้ง และความเป็นคนไทยก็ช่วยอย่างหนึ่ง คือ เป็น Nice People คงทำให้เขาไว้ใจเลือกเรา”

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

“เรากล้าพูด กล้าแสดงออกในเวทีนานาชาติมั้ง และความเป็นคนไทยก็ช่วยอย่างหนึ่ง คือ เป็น Nice People คงทำให้เขาไว้ใจเลือกเรา”

อาจารย์หนุ่มจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาไกลเกินกว่าที่วางไว้ รศ.พสุ เดชะรินทร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เป็นคนไทยคนเดียวที่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านบริหารธุรกิจนานาชาติชื่อดัง 3 แห่งของโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย

3 สถาบันที่ รศ.พสุ เข้าไปเป็นกรรมการ คือ 1.AACSB (The Association of Advance Collegiate School of Business) สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านบริหารธุรกิจเลื่องชื่อจากอเมริกากว่า 100 ปี มีสมาชิกกว่า 1,500 มหาวิทยาลัยทั่วโลก 2.EFMD (European Foundation for Management Development) เป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษานานาชาติจากยุโรป และ 3.ประธานกรรมการ AAPBS (Association of Asia-Pacific Business Schools) สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก มีประเทศสมาชิกกว่า 150 สถาบันทั่วภูมิภาคเอเชีย

“ถ้าเป็นของอเมริกากับยุโรป ผมเป็นคนไทยคนแรก แต่ของเอเชียผมเป็นคนที่สองของประเทศไทย มีศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณาม (อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรนี้ งานพวกนี้เป็นงานอาสา ไม่ได้ค่าตอบแทน แต่ก็เป็นข้อดีกับมหาวิทยาลัยของประเทศ คือ เวลาเราไปพูดทุกครั้ง เราก็จะแนะนำว่ามาจากจุฬาลงกรณ์ ประเทศไทย เขาก็รู้จักประเทศไทยมากขึ้น” 

สายเลือดนักวิชาการ นักวางยุทธศาสตร์ ‘พสุ เดชะรินทร์’ ก้าวไกลในเวทีโลก

รศ.พสุ ในวัย 49 ปี อยู่ในวงการศึกษามากว่า 30 ปี เป็นลูกหม้อคณะบัญชี จุฬาฯ เรียนที่แห่งนี้ตั้งแต่เรียนจบ สอนด้านกลยุทธ์ การแข่งขันทางธุรกิจ การบริหาร ยังไปช่วยทำเวิร์กช็อปให้กับหลายบริษัทชื่อดัง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดีด้านยุทธศาสตร์ ก่อนมาเป็นคณบดีปัจจุบัน

ว่าไปแล้วลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นก็คงใช่ เพราะมารดาของ รศ.พสุ เป็นอาจารย์ในคณะนี้มาก่อน หากแต่ได้เสียชีวิตกลางคันจากอุบัติเหตุเครื่องบินเลาดาแอร์ตกที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อปี 2534 พร้อมด้วยบิดา ไพรัตน์ เดชะรินทร์ อดีต ผวจ.เชียงใหม่ นั่นเป็นจุดพลิกผันให้เจ้าตัวตัดสินใจเบนเป้าจากการทำงานเอกชนมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ

“ผมผูกพันกับคณะมาก เรียนประถม มัธยมศึกษาก็ที่สาธิตจุฬาฯ วิ่งเล่นที่คณะนี้มาตลอดตั้งแต่อายุ 9 ขวบ พอเรียนมหาวิทยาลัยก็มาที่คณะนี้ ทำกิจกรรมเป็นหัวหน้านิสิตของสาขา จบไปอยู่เครือซีเมนต์พักหนึ่ง แล้วไปเรียนต่อ MBA ที่อเมริกา กลับมาเมืองไทยก็ไม่คิดเป็นอาจารย์ ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่เป็นข้าราชการทั้งคู่ ท่านบอกว่าจบไปควรไปทำงานเอกชนสร้างธุรกิจของตัวเอง พอจบออกมามาทำเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ทำด้านการตลาดแล้วแต่งงาน คิดถึงอนาคตจะทำอย่างไร ลองตัดสินใจสมัครเป็นอาจารย์ ตอนนั้นจบปริญญาโทก็มาเป็นอาจารย์ที่คณะอยู่ได้ปี ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอก AIT ตอนนั้นเรียนอยู่เมืองนอก เครื่องบินเลาดาแอร์ตกพ่อแม่ผมเสียชีวิต ผมกลับมาจัดการงานศพแล้วไปบินเรียนต่อ แต่เชื่อว่าถ้าพ่อแม่ยังอยู่ชีวิตอาจไม่ได้เป็นแบบนี้ก็ได้ อาจไปทำงานตามบริษัททั่วไป สุดท้ายเราก็ทำงานเป็นอาจารย์ปกติ และก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นคณบดี”

ไทยจุดอ่อนการศึกษา เมียนมา เวียดนาม แรงดูดดึงต่างชาติ

บทบาทในเวทีสากล รศ.พสุ เล่าว่า ภารกิจหลักที่ร่วมเป็นกรรมการใน 3 สถาบันไม่เหมือนกัน แต่หลักๆ คือการคัดเลือกรับรองมาตรฐานให้กับแต่ละสถาบันการศึกษาในด้านบริหารธุรกิจ ต้องมานั่งดูว่าสถาบันที่เหมาะสมที่ควรได้การรับรอง โดยเฉพาะการให้มุมมองจากเอเชีย เพราะตอนนี้เป็นความตื่นตัวของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ที่อยากได้การรับรองตรงนี้เพื่อที่จะสามารถมีความร่วมมือ ก็เหมือนกับที่เราทำธุรกิจแล้วเราบอกว่าธุรกิจต้องเป็นโลกาภิวัตน์ มหาวิทยาลัยทั่วโลกเขาก็ต้องการโลกาภิวัตน์ ให้มีมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ


ในประเทศไทยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองหลักสูตรธุรกิจจากอเมริกา รศ.พสุ บอกว่า มี 4 แห่ง คือ จุฬาฯ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่กำลังยื่นขอรับรองอยู่ ซึ่งก็ได้แนะนำถ่ายทอดประสบการณ์กับเขาว่าควรทำอย่างไรถึงจะผ่านการรับรองเพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นที่รู้จักในทางสากลมากขึ้น


“สิ่งที่ผมได้บอกในคณะกรรมการคือ เอเชียแม้จะเป็นหนึ่งทวีป แต่เอเชียก็ไม่ได้เป็นหนึ่งทั้งหมด เหมือนอเมริกาหรือยุโรป ที่มีความใกล้เคียงกันทั้งการบริหารองค์กร ด้านสังคม การศึกษา ในทวีปเอเชียแตกต่าง หลากหลายกันมาก เอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อีกแบบ เอเชียใต้ที่เป็นอินเดีย ปากีสถาน ก็อีกแบบ เอเชียที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต หรือเอเชียตะวันออกกลางก็เป็นอีกแบบ”


แล้วของไทยมีจุดแตกต่างด้านการศึกษาอย่างไร? “สำหรับไทยคนจะนึกถึงอาหาร และการท่องเที่ยว สองอย่างนี้เป็นหลัก เขาจะไม่มองว่าเราเป็นฮับการศึกษา เพราะไม่ได้น่าดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุน ตอนนี้เราก็เริ่มช้าที่ให้ต่างชาติเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยนานาชาติ ปัจจุบันหลายแห่งยิงตรงไปที่เมียนมา เวียดนาม ไม่ได้มาผ่านไทย เช่น MIT, Stamford ที่เขาอยากเอาเด็กเขาไปทำกิจกรรมที่เมียนมา เวียดนามเองก็มีมหาวิทยาลัยที่ถีบตัวเองพอสมควร”


เหตุผลที่ไทยไม่ได้รับความสนใจในหมู่ประเทศเอเชียด้วยกัน รศ.พสุ แจกแจงว่า 1.เราไม่เก่งภาษาอังกฤษ ต่างชาติจึงมุ่งไปที่มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ 2.การเติบโตทางเศรษฐกิจ จีนกับอินเดีย เป็นสองประเทศที่มุ่งมั่นมาก 3.ประเทศที่มีบริษัทชั้นนำของโลกอยู่ที่ญี่ปุ่น เกาหลี 4.ถ้าเขาต้องการประชากรมาก เขาจะมองอินโดนีเซีย ฉะนั้นประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาอีกมาก ถ้าต้องการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาในภูมิภาคนี้ 

สายเลือดนักวิชาการ นักวางยุทธศาสตร์ ‘พสุ เดชะรินทร์’ ก้าวไกลในเวทีโลก


โลกดิจิทัลเปลี่ยนทุกสิ่ง อาชีพที่ต้องการ 'นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล'


ประสบการณ์ในแวดวงการศึกษาทั้งการสอนด้านทฤษฎีและปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทั้งยังสอนเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดแตกต่างจากอดีต รศ.พสุ ยอมรับว่า หลายอย่างเปลี่ยนไปทั้ง กระบวนการเรียน การสอน ถ้าในต่างประเทศมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น มีหลักสูตรออนไลน์ (Massive online open courseware) ตอนนี้ที่คณะบัญชี จุฬาฯ ก็มีการสอนแบบออนไลน์ ปลายปีนี้จะเผยแพร่ออกสู่ภายนอก เช่น วิชาบัญชี ตลาด ครั้งละ 3 ชั่วโมง ผลิตขึ้นมาโดยลงทะเบียนสมัครสมาชิก


“ทุกอย่างเปลี่ยน ตอนนี้แผ่นใส กระดานดำถูกฆ่าไปแล้ว (หัวเราะ) เทคโนโลยีมันมาทดแทนของเก่า แต่ก่อนเรายืนพูดหน้าห้อง ตอนนี้ถ้าผมสอนหนังสือคนรุ่นใหม่ Gen Z จะยืนสอน 3 ชั่วโมงไม่ได้แล้ว แต่มันต้องเป็น Active Learning มีรูปแบบห้องเรียนใหม่ๆ เราเรียกว่า Learning Space มีจออยู่รอบห้องไปหมด อาจารย์สามารถยืนสอนตรงไหนก็ได้ อีกอย่างเด็กก็มีโอกาสแสวงหาความรู้ของตนเองมากขึ้น หลายเรื่องพูดตามตรง เด็กเขามีความรู้มากกว่าเรา เพราะเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ มันก็ทำให้อาจารย์ต้องคอยติดตามข่าวสาร อัพเดทความรู้ใหม่ๆ ตลอด อาจารย์ยุคใหม่จึงถูกท้าทายในการสอนมากขึ้น”


รศ.พสุ ระบุว่า เด็กยุคใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองและมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น การสอนที่คณะก็ไม่ได้เตรียมตัวเพื่อให้เขาทำงานบริษัทแล้ว แต่เตรียมพร้อมเพื่อให้โอกาสกับเขามากขึ้น ที่คณะจะเน้นให้เด็กทำกิจกรรม ในแต่ละปีจะมีเกือบร้อยกิจกรรม เพราะการเรียนในห้องเรียนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ความรู้ในห้องเรียนมันอาจจะล้าสมัย เพราะหลายความรู้เขาต้องไปเรียนใหม่เสมอเมื่อเขาต้องไปทำงาน เราจะให้เขาทำกิจกรรมเพื่อสร้างทักษะ ล่าสุดกิจกรรมที่เราได้รางวัลระดับนานาชาติ คือให้รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จระดับซีอีโอทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องนิสิตในปัจจุบัน การวางเป้าหมายในชีวิตเพื่อให้ชัดเจน นอกจากนี้คณะยังมีกิจกรรมที่ลงไปช่วยชุมชนค่อนข้างมาก เอาเด็กของเราไปช่วยทำบัญชีครัวเรือน ชุมชน


สิ่งสำคัญ เด็กไม่ได้เป็นเด็กอย่างเดียว เขาก็มีการประเมินการสอนของอาจารย์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ทำคอร์สรีวิวอาจารย์ขึ้นมา ตรงนี้อาจารย์ก็ต้องปรับตัว


แล้วอาชีพไหนจะสูญพันธ์ุในอนาคต? รศ.พสุ ตอบว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจสอบถามอาจารย์มากว่า ที่ไหนที่ผลิต Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลบ้าง เพราะตอนนี้เรื่องบิ๊กดาต้ากำลังมาแรง องค์กรธุรกิจเขาก็มีข้อมูลมหึมาจำนวนมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน มันก็มีคนพันธุ์หนึ่งขึ้นมา ที่มีความรู้ทางด้านธุรกิจพอสมควร มีความรู้ทางสถิติ และก็ความรู้ด้านไอที จนทำโมเดลบางอย่างที่สามารถพยากรณ์และดึงข้อมูลเหล่านั้นมาทำประโยชน์ได้


“วิชาชีพนี้เราไม่ได้ผลิตมาโดยตรง เราผลิตเด็กเรียนด้านไอที บัญชี สถิติ ธุรกิจ แต่ทำอย่างไรถึงจะผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ เราก็ต้องปรับตัว เสริมอาวุธบางอย่างให้กับเด็กของเรา เอาง่ายๆ เราผลิตเด็กสาขาบัญชีค่อนข้างเยอะ จบไปทำผู้ตรวจสอบบัญชี แต่ปัจจุบันบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีจำนวนมากบอกว่า เด็กที่จบต้องมีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์อย่างมาก เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างอยู่ในระบบออนไลน์แล้ว ฉะนั้นเราค่อนข้างฟังเสียงจากภายนอกมาปรับการสอน”


"ตอนนี้สื่อดิจิทัลมาแรง แต่กลับไม่มีการผลิตคนที่มีความรู้ในเรื่องสื่อดิจิทัลเท่าไร ทางกูเกิลเข้ามาคุยกับเราเพื่อที่จะมาจัดอบรมทำเรื่อง Digital Marketing และ Digital Media แล้วก็เอาเด็กเรา 100 กว่าคนไปอบรมกับกูเกิล อบรมเสร็จสอบอีก ได้ประกาศนียบัตรก็มีลักษณะแบบนี้มากขึ้น คือเป็นอาชีพใหม่ๆ"


...เด็กไทยเก่งเฉพาะด้าน แต่ขาดทักษะคิดเป็นระบบ


หากเปรียบเทียบเด็กไทยกับต่างประเทศหรือในเอเชียด้วยกัน รศ.พสุ ประเมินว่าเท่าที่เจอระดับมหาวิทยาลัย เด็กเวียดนาม จะขวนขวายหาความรู้ กระตือรือร้น ไม่หยุดนิ่ง และปัจจุบันเขาเปิดประเทศ เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าไทย เขาดิ้นรนเพื่อเอาชนะประเทศไทยให้ได้ ยังมีข้อดีที่ต่างชาติเข้าไปลงทุนมาก โดยเฉพาะยุโรป ฝรั่งเศส แม้แต่การศึกษาก็มีการเปิดมหาวิทยาลัยที่เป็นความร่วมมือระหว่างยุโรปกับเวียดนาม 2-3 แห่ง อาจารย์คนไทยที่ไปสอนเวียดนามก็จะบอกว่า เด็กเวียดนามกระตือรือร้น จะถามเรียนรู้ตลอดเวลาเป็น Active Learning แต่ของเรา Passive Learning ขณะที่เด็กจีน ญี่ปุ่น มีความฉลาด เก่ง และอึด เด็กอินเดียกล้าแสดงออก ส่วนไทยขาดความอดทน มีลักษณะแบบสบายๆ แต่ก็มีข้อดีเรื่องการเป็นเด็กดี มีสัมมาคารวะ น้ำใจ ตามสไตล์คนไทยที่นิสัยน่ารัก


อย่างไรก็ตาม เด็กไทยมีจุดเด่นเรื่องทักษะที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก เช่น คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ แต่เมื่อเอามาประกอบเป็นการคิดเชิงระบบแล้วพบว่าเด็กไทยมีปัญหา


“แม้กระทั่งเด็กของจุฬาฯ เอง ปีที่แล้วเราเปิดวิชาหนึ่งขึ้นมา เราไม่เรียนในห้อง แต่เรียนนอกห้องกับซีอีโอของบริษัทต่างๆ เด็กได้มีโอกาสเสนองาน ซีอีโอตอบกลับมาว่าเด็กเราวิเคราะห์ได้ตามหลักการที่เรียนมา แต่ความคิดรวบยอดที่เอาสิ่งต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันกับบริบทต่างๆ ยังขาดอยู่”


รศ.พสุ กล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนว่ากระบวนการคิดเป็นปัญหา เพราะสิ่งที่โรงเรียนสอนจำนวนมากและส่งผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่พอสอบเสร็จก็ลืม หลายเรื่องท่องจำไปสอบ แต่ถ้าเป็นระบบโรงเรียนนานาชาติจะสอนให้คิด ฝรั่งถึงได้คิดเป็นระบบมากกว่าเรา


“ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ถ้าไปสัมภาษณ์ลูกคนมีเงินทั้งหลาย ถามว่ากี่เปอร์เซ็นต์ที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนไทย เพื่อนผมจำนวนมากที่เป็นนักธุรกิจ ถ้าไม่ส่งลูกเรียนอินเตอร์ในประเทศไทย ก็ส่งลูกเรียนต่อต่างประเทศ สะท้อนว่าระบบการศึกษาของเรายังไม่ทัดเทียมกับเขา การส่งลูกเรียนอินเตอร์เพราะต้องการภาษาอังกฤษ กระบวนการคิด ตอนนี้การแข่งขันสูงมาก หลายมหาวิทยาลัยในไทยเปิดหลักสูตรนานาชาติ ฉะนั้นถ้าในระดับบน คนมีเงิน เขาพยายามหาทางให้ลูกไปเรียนต่างประเทศ รองลงมาก็อินเตอร์ในไทย ลงมาอีกนิดก็โรงเรียนชั้นนำในไทย พวกเครือเซนต์ทั้งหลาย” 


รศ.พสุ กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้พยายามจะปฏิรูปการศึกษา แต่ต้องทำให้เห็นผลเร็วกว่านี้ ก็ไม่มั่นใจว่าจะสำเร็จแค่ไหน เพราะระบบการศึกษาบ้านเรามีโครงสร้างใหญ่โต เทอะทะอุ้ยอ้าย และต้องเปลี่ยนอีกเยอะ ทั้งวิธีคิด ตัวอาจารย์ กระบวนการเรียนการสอน ที่สำคัญการศึกษาต้องแข่งขันกับต่างประเทศ หรือประเทศเวียดนามที่เขาทำงานเร็วและเชิงรุก แต่คนไทยมีข้อดีคือ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ซึ่งถ้ายังคิดแบบนี้ว่าอยู่แบบสบายๆ เราก็จะเสียโอกาสมากขึ้น


ฝันทำงานวิจัยให้คนไทย ภูมิใจยกระดับให้คณะบัญชี


เป้าหมายของ รศ.พสุ คืออะไร?  “เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ตอนเป็นคณบดีมา ก็ไม่ได้อะไรเลย ได้ห้องทำงานใหญ่ขึ้น มีเลขาสองคน มีโตโยต้าวีออสเป็นรถประจำตำแหน่ง (หัวเราะ) ดังนั้น มันไม่ได้อะไร แม้แต่รายได้เมื่อเทียบกับตอนเป็นคณบดีที่ตอนนั้นเรามีโอกาสเป็นที่ปรึกษาหลายที่ ก็ยังมีโอกาสเยอะกว่า แต่ถ้าเรามองว่าเราอยู่ตรงนี้แล้วช่วยทำให้ดีขึ้น และทำให้อาจารย์ในคณะมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ได้มาถึงระดับนี้ มันก็ดี ฉะนั้นเราไม่ได้เน้นว่าอยากจะเป็นอะไร เพราะเราไม่มีความต้องการอย่างนั้น”


เขาบอกว่ายังเหลือเวลาอีก 2 ปี ถึงจะครบวาระเป็นคณบดีสมัยที่ 2 หลังเป็นมาแล้ว 6 ปี เมื่อพ้นก็จะสอนหนังสือตามปกติและทำงานวิจัยที่อยากทำให้คนไทยได้ใช้ ส่วนงานสากลของเอเชียมีวาระปีต่อปี ของอเมริกาสิ้นปีนี้จะหมด ส่วนของยุโรปอีก 1 ปีจะหมด แต่เมื่อเอาตัวเองเข้าไปในเวทีนั้น มันก็จะมีงานต่อเนื่องเข้ามา เช่น ตอนนี้เขาให้ผมไปตรวจประเมินมหาวิทยาลัยคนอื่น และทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้มหาวิทยาลัยต่างชาติเพื่อให้ยื่นขอรับรองให้สำเร็จ