posttoday

นริสสา อมรวิวัฒน์ มีลมหายใจที่สอง มีความหวังเกิดขึ้นเสมอ

23 กรกฎาคม 2560

ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จากเคยชักชวนเพื่อนฝูงไปปาร์ตี้เฮฮาสังสรรค์ตามร้านอร่อยๆ แต่ตอนนี้ไปจ่ายตลาดซื้อหมูซื้อผัก

โดย...ปอย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จากเคยชักชวนเพื่อนฝูงไปปาร์ตี้เฮฮาสังสรรค์ตามร้านอร่อยๆ แต่ตอนนี้ไปจ่ายตลาดซื้อหมูซื้อผักมาปรุงอาหารกินเอง หรือเลือกนัดเพื่อนๆ ไปกินข้าวร้านตามร้านวีแกนหรืออาหารมังสวิรัติไม่กินเนื้อสัตว์ เน้นผักผลไม้เพื่อสุขภาพ นริสสา อมรวิวัฒน์ แจงรายชื่อร้านโปรดเวลานี้ อย่างเช่น ร้านอโณทัย วีแกนเนอรี่ และอีกร้าน บรอคโคลี เรโวลูชั่น คอผักผลไม้ได้ยินแล้วคุ้นเคยกันดี

“...โชคดีค่ะ ที่ปวารณาเป็นวีแกนสายอาหารไทย ก็พอมีรสมีชาติหลากหลายไม่ต้องฝืนมาก เพราะถ้าฝืนชีวิตจะไม่สนุกเอาเสียเลยนะคะ การกินอย่างมีสติ 70% กินผักผลไม้ อีก 30% กินตามใจตัวเองได้บ้างค่ะ เราจะได้ไม่เศร้ามาก หรือดูบังคับตัวเองจนเกินไปนะคะ”

แอ้ นริสสา บอกพลางหัวเราะสดใส ในวัย 46 ปี ใครจะคาดคิดว่า ผู้หญิงยิ้มแย้มง่ายดาย บุคลิกอารมณ์ดีเข้าถึงง่าย คือ คนที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นซ้ำถึง 2 รอบ และนี่คือจุดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต แต่โรคร้ายก็นำพาให้มองเห็นการกระทำของตัวเองในอดีต ได้รับพลังอบอุ่นจากคนรักและจากครอบครัวรอบกาย ปลูกฝังความคิดใหม่ มาพร้อมกับการหลุดพ้นจากโรคร้ายคุกคามได้ในที่สุด

ความเจ็บปวดทางร่างกายเมื่อคราวเคราะห์หามยามร้าย จึงเป็นที่มาของการจับปากกาเขียนหนังสือ “ลมหายใจที่สอง” เมื่อมะเร็งหายไป ลมหายใจใหม่ในวันนี้ คือ ตัวแทนของการมีชีวิตอยู่

นริสสา อมรวิวัฒน์ มีลมหายใจที่สอง มีความหวังเกิดขึ้นเสมอ

ทุกๆ บทเรียน นริสสา กล่าวย้ำพร้อมรอยยิ้มติดใบหน้าตลอดการสนทนา ตั้งใจเขียนโดยมีความหวังว่า ทุกๆ บทเรียนที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คงสามารถสร้างกำลังใจให้กับคนอ่าน ให้เห็นค่าของการมีชีวิต และได้พบคำว่า “ความหวัง” รอเราอยู่เสมอ

วันที่ปล่อยวางยังไม่เป็น

จากหญิงสาวบ้างาน ถ้าจะมีช่วงเวลาออกกำลังกายก็เน้นขึ้นเครื่องวิ่งเพื่อเผาผลาญแคลอรี เฮลท์แอนด์บิวตี้ นึกขึ้นได้เมื่อใด จึงไปออกกำลัง (สักครั้ง!!!) วันนี้ชีวิตเปลี่ยนไป มีการจัดตารางแน่นอนอาทิตย์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย และเป็นการออกกำลังเพื่อสติสมาธิ นริสสา ยอมรับว่า เริ่มรู้จักโยคะถ่องแท้เมื่อป่วยเป็นมะเร็งนี่เอง ช่วงร่างกายยังพอไหวก็ให้ครูมาสอนที่บ้าน เล่นโยคะแล้วก็รู้สึกดีขึ้นมากมาย หลักการใช้ชีวิต คือ ทำตัวเองให้มีความสุขที่สุด ณ วันนี้

“หายจากโรคมะเร็ง 3 ปีแล้วค่ะ เป็น 3 ปีที่ดูแลตัวเองนอกจากอาหารและการออกกำลังกายมากขึ้นแล้ว ก็หันมาทำงานเพื่อช่วยเหลือคนอื่นที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขมากขึ้นด้วยค่ะ ตอนนี้อาสาไปเป็นวิทยากรพูดเพื่อคนป่วย และเพื่อผู้ดูแลรักษาคนป่วยได้ฟังกันในเชิงธรรมะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการดูเรื่องจิตใจ ให้ได้ก้าวข้ามออกจากความเครียด และตอบคำถามทางเฟซบุ๊กเพจ airnarissa และไลน์ narissa.journal ดิฉันเข้าใจว่า การอยู่กับความเจ็บป่วยบางทีก็มีจิตตกบ่อยๆ นะคะ ส่งคำถามกันเข้ามาได้ ตอบอย่างตั้งใจที่สุดเลยค่ะ เพื่อให้เขาคลายทุกข์ให้ได้ หรือเข้าไปเขียนเกร็ดธรรมะ ไปเจอข้อคิดดีๆ ก็แชร์ไว้ในเพจ ให้กำลังกันและกันค่ะ”

ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นริสสา เล่าว่า สุขภาพเริ่มส่อแววไม่ดี ช่วงทำงานฝ่ายการตลาดในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ตลอด 11 ปี คือ การทุ่มเททำงานหนักแบบเอาเป็นเอาตาย กระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซึ่งเป็นการตอบแทนที่ต้องแลกเปลี่ยนกับสุขภาพเสื่อมโทรมที่กว่าจะกู้กลับคืนได้ ช่างยากเย็น

“บ้างานมาก นิสัยทำอะไรแล้วต้องไปให้สุดค่ะ (บอกพลางยิ้ม) ยิ่งทำงานด้านสินค้าการตลาด การแข่งขันก็ยิ่งสูงนะคะ ดึกดื่นงานไม่เสร็จก็ขนงานกลับมาทำต่อที่บ้าน แล้วไม่หลับไม่นอน ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดในบริษัทข้ามชาติก็จัดว่าดีนะคะ แต่การที่งานหนักและเครียดเกินไปก็ตัดสินใจลาออก มีโรคลำไส้แปรปรวนที่ส่อแววความเครียดมาเป็นระยะๆ ตอนอายุ 30 ปีปลายๆ 

งานต่อมาเป็นวิทยากรและโค้ชให้ระดับผู้บริหารบริษัท ต้องเป๊ะทั้งข้อมูลทั้งภาพลักษณ์นะคะ ไปถึงงานตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้า กลับถึงบ้านหลัง 5 โมงเย็น ก็ไม่ใช่เวลาพักผ่อนแน่นอน (หัวเราะ) คิดงานอื่นๆ ที่อยู่ในมืออีกมากมาย งานลากยาวไปถึง 5 ทุ่ม เที่ยงคืน ก็เครียดอีกแล้ว

นริสสา อมรวิวัฒน์ มีลมหายใจที่สอง มีความหวังเกิดขึ้นเสมอ

“เมื่อรู้ว่าป่วย ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่เหมือนคนอื่นๆ เขาก็ทำงานไม่น้อยเช่นกัน...? คำตอบ ก็คือ เราไม่รู้จักการปล่อยวางให้เป็น คือ อยู่บ้านก็ยังคิดเรื่องงาน ทั้งที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นเลยค่ะ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ อาหารการกินก็ดูแลค่อนข้างดีด้วย ปัจจัยเครียดก็น่าจะอยู่ที่งานนี่เองค่ะที่เป็นปัญหาใหญ่

“ช่วงป่วยก็มีเวลาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ก็ยิ่งรู้ซึ้งว่าปัจจัยหนึ่ง คือ ความเครียด เครียดแล้วจะหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการแตกตัวของเซลส์ผิดปกติ แล้วคุณหมอก็อธิบายและย้ำให้ฟังบ่อยๆ ด้วยค่ะ ว่า คุณแอ้รู้ว่าป่วยก็ห้ามเครียดนะ ยิ่งเครียด ภูมิคุ้มกันมะเร็งก็ยิ่งตก ความเครียดจะไปกดฮอร์โมนที่เป็นสารหลั่งความสุขให้ลดลงๆ เรื่อยๆ ภูมิคุ้มกันก็ยิ่งอ่อนแอลง ยิ่งฟังคุณหมอแล้วย้อนกลับไปมองชีวิตงานตัวเอง เครียดทุกๆ ชั่วโมงก็ว่าได้เลยค่ะ”

นริสสา เล่าเรียงเหตุการณ์ตรวจพบมะเร็งเพราะการตรวจสุขภาพประจำปี เจอมะเร็งเริ่มที่ม้ามมีเนื้อร้ายถึง 6 ก้อน หมอตัดสินใจผ่าตัด อวัยวะส่วนนี้ทิ้งไป ซึ่งม้ามคือตัวกรองเชื้อโรค แต่ไม่ค่อยมีปัญหานักสำหรับผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานแล้ว เพียงฉีดวัคซีนต่อเนื่อง 5 ปีก็ไม่น่ากังวลอะไร แต่กลับเป็นว่าหลังจากนั้นเพียง 4 เดือน สิ่งน่ากังวลกว่าก็เกิดขึ้น

“อาการไม่ออกค่ะ นี่คือ ความน่ากลัวของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาหารแสลงต่อมก็โตขึ้นมา 2 ข้างที่คอ ไปตรวจก็เจออีก และกระจายเร็วมากในระยะที่ 3 แล้ว คุณหมอให้คีโมทันที 6 เข็ม ตกใจมากเมื่อได้ยินคำว่า คีโม ดิฉันเคยเห็นภาพคุณย่าคุณยายที่ป่วยด้วยโรคนี้แล้วทั้งสองท่านก็ต้องให้คีโม ภาพนั้นเวียนหมุนกลับมาทันทีเลยค่ะ แต่ก็ต้องรับสภาพเพราะไม่มีทางเลือก แล้วฉีดเข็มแรกต่อเนื่องเข็มที่ 2 ผมก็ร่วงทันทีค่ะ แต่ก่อนดิฉันผมยาวแล้วก็คงเหมือนผู้หญิงทั่วๆ ไปที่ผมคือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสวย นึกไม่ออกว่าถ้าไม่มีผมจะทำอย่างไร แต่พอผมร่วงตกหมอนวันแรก วันที่ 2 สระผมก็ร่วงติดมือ

“เศร้ามาก วันที่ 3 เสยผมแล้วหวีก็ร่วงเต็มบ่าเลย ไม่ไหวแล้วค่ะ ทนรับสภาพไม่ได้ โกนทั้งศีรษะเลยดีกว่าค่ะ การทนทีละวันๆ ก็ยิ่งแย่นะคะ ดิฉันอยากขอบคุณช่างผมด้วยค่ะ กำลังคิดว่ารุ่งขึ้นจะไปโกนผม คืนนั้น 2 ทุ่มก็เลยสระผม แล้วกลายเป็นว่าเส้นผมเราเปลี่ยนไปหงิกงอพันกันเป็นก้อน สางก็ไม่ออกจับตัวเป็นก้อนกลมๆ กลางศีรษะ โทรไปบอกช่างผม เขาก็มาโกนให้ที่บ้านเลยค่ะ จากผู้หญิงผมยาวกลายเป็นคนหัวล้าน (หัวเราะ)

“ร้องไห้ไหม? รอบแรกนี่ไม่ร้องเลยนะคะ มาร้องไห้ตอนที่เป็นรอบ 2 ค่ะ คือมะเร็งครั้งแรกมีความบ้าคลั่ง มีความฮึด ว่าจะต้องสู้กับมันให้ได้ค่ะ อาจมีน้ำตาไหลบ้างตอนคุยกับคุณแม่แล้วท่านร้องไห้ แล้วเราก็ร้องตาม สงสารท่าน แต่สิ่งที่ได้กลับมาจากท่าน คือ พลังในการต่อสู้ เราอยากอยู่เพื่อคนที่เรารักให้นานที่สุด พ่อแม่พี่น้อง และสามี คือกำลังสำคัญ เราได้รับความรักทำให้รับรู้ไม่มีใครอยากให้เราจากไป รู้สึกค่ะ เราตายไม่ได้ ซึ่งก่อนป่วยก็ไม่ได้ดูแลพวกเขาเลย พุ่งแต่ไปข้างหน้ามีเป้าหมายตลอดเวลา

“นิสัยเราเป็นแบบนี้ ตอนเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบก็ต้องได้เกียรตินิยม ปริญญาโทเอ็มบีเอไม่ใช่ความถนัดเลยแต่ก็ไปเรียนถึงสหรัฐ กลับมาทำงานก็ต้องสมัครบริษัทดีที่สุด ตำแหน่งต้องดีต้องสูงที่สุด เราไม่เคยนิ่ง พุ่งไปข้างหน้าตลอดเวลาเลยค่ะ”

เรียนรู้ใช้ชีวิตให้มีความสุขจากการป่วย

มะเร็ง คือ การเปลี่ยนแปลงชีวิตโดยสิ้นเชิง เป็นประสบการณ์ที่มีค่า แต่จะให้กลับไปเก็บประสบการณ์ที่มีค่าแบบนั้นอีกไหม? นริสสา บอกทันทีไม่นะคะ สร้างอารมณ์ขันเบาๆ กับคำตอบนี้ที่มาพร้อมกับเสียงหัวเราะ

“คำว่าประสบการณ์ที่มีค่า คือ ทำให้เราเรียนรู้อะไรหลายอย่าง อย่างแรก คือ การเรียนรู้ความสุขจากความทุกข์ โศก ความยากลำบาก ความสุขเป็นสิ่งที่สร้างได้จากใจตัวเอง ลองหาความสุขง่ายๆ ความสุขไม่จำเป็นต้องมาจากคนอื่นเท่านั้น หรือได้ไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ วิวสวย กินอาหารอร่อยมากมาย แต่ความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพาสภาพแวดล้อมสิ่งเหล่านี้มากมาย แต่ความสุขที่เราหาได้เรื่อยๆ และสร้างทำได้ด้วยตัวเอง ความรู้สึกนี้จะไม่เกิดขึ้นได้เลยค่ะ ถ้าเราไม่ป่วย 

“ดิฉันชอบเขียนหนังสือ อยู่บนเตียงคนป่วยก็เริ่มจดบันทึก คุณหมอที่รักษาก็บอกด้วยค่ะ ว่าคุณแอ้ลองหาประโยชน์จากการเจ็บป่วยครั้งนี้ ลองดูนะ

“ก็เริ่มจดบันทึก ดิฉันเขียนง่ายๆ ค่ะ ไปอ่านคำคมที่ดีประทับใจ วลีสั้นๆ อ่านแล้วชอบก็ใช้วิธีตัดแปะ เปิดอ่านไปเรื่อยในตอนป่วยก็เพลินๆ ทุกคนน่าจะชอบอ่านนะคะ เพราะอ่านไม่ยาก ดิฉันเขียนบันทึกทุกวันช่วงที่ป่วย และเขียนไว้หน้าปกไดอารี่ ว่า เราต้องหายให้ได้ จึงมีเป้าหมายมีกำลังใจ แล้วก็ตั้งใจไว้ด้วยค่ะ เมื่อดิฉันหายป่วย บันทึกเล่มนี้จะถ่ายทอดประสบการณ์ช่วงที่ผ่านโรคร้ายมาได้เพื่อให้คนป่วยด้วยกันอ่าน เพื่อเป็นกำลังใจค่ะ ดิฉันหายได้ ทุกคนก็ต้องหายได้เช่นกัน” 

นริสสา อมรวิวัฒน์ มีลมหายใจที่สอง มีความหวังเกิดขึ้นเสมอ

นริสสา บอกพลางยิ้มกระจ่างสดใสในวันนี่ การรักษาครั้งแรกใช้เวลา 8 เดือน คนที่อยู่เคียงข้างตลอดเวลา คือ ครอบครัว และสามี-ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ โดย นริสสา ขอใช้คำว่าเขา คือ หมอในบ้าน เป็นยาอีกขนานที่รักษาได้ดีทั้งกายและใจ

“ตอนที่คุณหมอบอกว่า ดิฉันป่วยเป็นโรคร้าย ก็ช็อกๆ งงๆ แต่พอกลับมาถึงบ้าน เขาคือคนเอ่ยขึ้นก่อนค่ะ ‘...ไม่เป็นไร แอ้เป็นมะเร็งก็ไม่เป็นไร เราจะใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุขที่สุดให้ได้’ ระหว่างทางที่รักษาทั้งสองครั้ง 2 ปี ณัฐก็ทำอย่างที่พูดทุกประการเลยค่ะ

“เวลา 8 เดือนกับกาารรักษาครั้งแรก ความทรมานเริ่มขึ้นช่วงคีโมเข็มที่ 5 เริ่มติดเชื้อที่ปอด แต่ก็ตอบสนองกับยาได้ดีค่ะ ก็ผ่านการเจ็บป่วยในครั้งแรกมาได้ และในระยะเวลาภายใน 2 ปี มะเร็งก็กลับมาครั้งที่ 2 คราวนี้หนักกว่าเดิมค่ะ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองกลับมาอีก ผมร่วงต้องโกนหัวอีกครั้งแล้ว นอกจากผม คีโมทำลายเนื้อเยื่อทั้งในปาก กลืนน้ำกลืนอาหารแทบไม่ได้เลย เป็นแผลลามไปในคอ ต้องผ่าตัดที่หน้าอกสอดสายยางเพื่อให้อาหาร ต้องอยู่ในห้องปลอดเชื้อเกือบ 1 เดือน

“เจ็บรอบ 2 สภาพร่างกายแย่กว่าเดิม แต่กลับไม่ทุกข์เท่าครั้งแรก ดิฉันตั้งเป้าไว้ว่า เราจะมีความสุขกับชีวิตนี้ให้ได้มากที่สุด ทั้งที่ป่วย ไม่มีแรง นอนติดเตียง ก็หาดูซีรี่ส์ไป อ่านหนังสือธรรมะ กินอาหารได้แต่น้ำแดงก็กินไปสิ เรายังกินได้นะ ไม่สนใจสภาพร่างกายไม่ต้องไปเครียดกับมัน ระยะเวลา 1 เดือนในห้องติดเชื้อซึ่งเหมือนกับว่ายาวนานนะคะ อยู่คนเดียว เจอหน้าสามีก็อยู่อีกห้องมีกระจกกั้น ใส่หน้ากากมาเยี่ยม แต่เราก็เจอกันทุกวัน

“การตั้งเป้าโดยเลือกว่า เราจะไม่ทุกข์ เราก็ไม่ทุกข์ค่ะ นอนทำสมาธิ แชตกับครอบครัวกับเพื่อน ดูหนังเก่าๆ ที่เราได้ดูอีกครั้ง และอีกหลายๆ เรื่องที่ตอนทำงานไม่เคยมีโอกาสได้ดู ก็ได้ดูตอนนี้ ดิฉันผ่าน 1 เดือนมาได้โดยที่เลือกว่า เราจะไม่ทุกข์นะคะ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นเลยค่ะ ว่าเจ็บปวดไหม จะหายไหม พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร” นริสสา ย้ำสารนี้ที่ต้องการสื่ออีกครั้ง

แล้วในที่สุดก็หายจากมะเร็งครั้งที่ 2 ซึ่งคุณหมอใช้คำว่าภาวะโรคสงบ แต่จะหายขาดจากโรคนี้หรือไม่? ต้องใช้เวลาอีก 5 ปีซึ่งอยู่ในการดูแลของหมอ แต่เวลานี้เดินทางมาเพียง 3 ปีเท่านั้น

“ดิฉันกลัวโรคนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ก็อย่างที่บอกค่ะ เรามีกรรมพันธุ์ คุณย่าคุณยายก็เป็นกันหมด ถามว่า...กลัวการกลับมาครั้งที่ 3 อีกไหม... กลัวค่ะ (บอกพลางยิ้ม) แต่การเรียนรู้ได้อ่านหนังสือธรรมะ ดิฉันจึงได้เรียนรู้ค่ะ ว่ามนุษย์เราเกิดมาเพื่อเสาะแสวงความสุข แล้วตราบใดที่เรายังเดินได้ ไม่พิการ กินได้ หัวเราะได้ เราจะไปเศร้าทำไม เมื่อมีสิ่งไม่สบายใจหงุดหงิด ก็ต้องตัดมันออกไปจากชีวิตทันใด สิ่งเหล่านี้ดิฉันก็ได้สื่อไว้ในหนังสือ ‘ลมหายใจที่สอง’ เล่มนี้ค่ะ”

มะเร็งที่หายไป และความสุขที่ได้ค้นพบ

คำสอนของพระพุทธเจ้า นริสสา เลือกไม่ใช้คำว่า ปลง แต่สัจธรรมของโลกใบนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ คือ การเปลี่ยนแปลงนิรันดร์ โดยแท้จริง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ก่อนหน้านั้นดิฉันไม่เคยสนใจหลักปรัชญาหรือเรื่องศาสนาเลยนะคะ แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้ว ถ้าเราไม่ศึกษาเรื่องเหล่านี้ก็ยิ่งจะทำให้แย่นะคะ สัจธรรมที่จริงแท้และเป็นพื้นฐานชีวิต คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำให้เราไม่ทุรนทุรายกับการเจ็บป่วยมากนัก เริ่มแรกก็คือการยอมรับได้ว่ามะเร็งเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ใช่การปลงนะคะ ขอใช้คำว่ายอมรับได้ คือเรารู้แน่นอนละค่ะ ว่า ใครๆ ก็ต้องเจ็บต้องตาย แต่เราก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดกับเรารวดเร็วแบบนี้ ดิฉันได้ยอมรับเร็วขึ้นนะคะ (ว่าแล้วก็หัวเราะ) ว่าไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้จริง

นริสสา อมรวิวัฒน์ มีลมหายใจที่สอง มีความหวังเกิดขึ้นเสมอ

“เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มีประโยชน์อะไร ถ้าเราจะไปคิดว่า ทำไมฉันซวยโชคร้ายแบบนี้ แล้วจะเจ็บไหม จะตายเมื่อไร

“คำสอนของพระอาจารย์ที่ดิฉันไปปฏิบัติธรรม คือ เราฝึกใจให้เห็นความเจ็บปวดของร่างกายได้ โดยไม่ต้องรู้สึก ไม่ต้องปรุงแต่งจนตัวเองทุกข์ใจได้เช่นกัน แต่มองให้เห็นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ร่างกายคนเราต้องเสื่อม เหมือนธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัว ดิฉันจึงนำหลักคำสอนนี้มาใช้ค่ะ เมื่อเราป่วย เราอาจตายก็ได้ เป็นธรรมชาติ การฝึกคิดแบบหลักพุทธโดยการฝึกฝนจิตในอีกระดับ ถึงแม้ตายเราไปก็ถือว่ายังมีเวลาฝึกฝนตัวเอง แต่ถ้าโชคดีเรายังมีชีวิตก็จะถือโอกาสดีนี้ส่งสารไปถึงคนป่วยมะเร็งด้วยกัน ถ้ายังมีโอกาสดีๆ ทำอะไรก็ต้องรีบทำ

“ดิฉันแบ่งเวลาใหม่แล้วค่ะ งานไม่ได้เป็นหลักของชีวิตที่แต่ก่อนทุ่มเททำงาน 80% มากกว่าครึ่งของเวลาที่มี กินอะไรก็ได้ที่เร็วจะได้รีบไปทำงาน งานวันนี้คือการทำงานเพื่อผู้อื่นด้วยค่ะ โดยผ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งรายได้ทั้งหมดมอบให้ กองทุนโลหิตวิทยา ปลูกถ่ายไขกระดูก ในศิริราชมูลนิธิ ดิฉันตั้งใจมอบให้เพราะการรักษามะเร็งไม่มีใครรู้ว่าจะยาวนานแค่ไหน ไม่ใช่คีโม 6 เข็มแล้วหายขาดได้ทุกคน

“ค่ารักษามากกว่าที่ครอบครัวและตัวผู้ป่วยวางแผนการเงินไว้แน่นอนค่ะ ในเคสตัวเอง ดิฉันยอมจ่ายเงินเยอะสักหน่อยเพื่อซื้อประกันสุขภาพ ค่ารักษาจึงใช้เงิน 6 หลัก จากที่ต้องจ่ายเกือบ  8 หลัก ก็ยังจัดว่าจ่ายสูงมากนะคะ จึงต้องการมอบเงินให้กับกองทุนนี้ค่ะ” 

สำหรับหนังสือเล่มนี้ ผู้สนใจติดต่อได้ที่เฟซบุ๊กเพจ airnarissa และไลน์ narissa.journal หรือโทรศัพท์ส่วนตัว 09-8945-4885 นริสสา บอกความเจ็บป่วยนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต หลังจบการรักษาครั้งที่สอง ลมหายใจที่สองเกิดขึ้น นับจากนี้ชีวิตจึงทำเพื่อผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ซึ่งนับว่านำความเบิกบานใจมาให้ได้มากที่สุด