posttoday

ป่าในกรุง... ป่า(ของ)จริงในเมือง

18 กรกฎาคม 2560

เมื่อวันที่ 2-7 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. ได้นำสื่อมวลชนไปดูงานการรุกธุรกิจพลังงาน (GPSC) และศักยภาพการสร้างแบรนด์ (PTTOR) กลุ่ม ปตท. ณ ประเทศญี่ปุ่น

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

เมื่อวันที่ 2-7 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. ได้นำสื่อมวลชนไปดูงานการรุกธุรกิจพลังงาน (GPSC) และศักยภาพการสร้างแบรนด์ (PTTOR) กลุ่ม ปตท. ณ ประเทศญี่ปุ่น เช่น ดูความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัท ปตท. ที่เมืองอิชิโนเชกิ จังหวัดอิวาตะ เยี่ยมชมร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกในญี่ปุ่น ที่เมืองคาวาอุจิ จังหวัดฟุกุชิมะ เป็นต้น ในการนี้ยังได้พาไปดูสวนพฤกษศาสตร์โคอิชิคาว่าซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียวด้วยที่ใครไปดูมาแล้วก็คงอยากจะเห็นพื้นที่สีเขียวในบ้านเราเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมืองเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมือง

พื้นที่สีเขียวในกรุงโตเกียว

ต้องยอมรับว่าหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อฟื้นฟูเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2006 โตเกียวได้เริ่มนโยบาย Tokyo Big Change เริ่มแนวคิดเมืองสีเขียวครั้งใหญ่ เพื่อปรับปรุงเมืองให้สวยงามและมีพื้นที่สีเขียวรอบเมือง รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกต่างๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และมีการส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้าให้กับทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ถ้าใครที่ไปโตเกียวจะเห็นพื้นที่สีเขียวกระจายทั่วไป

ป่าในกรุง... ป่า(ของ)จริงในเมือง

ปัจจุบันกรุงโตเกียวมีพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ ทั้งใหญ่น้อยประมาณ 70 กว่าแห่ง เช่น สวนโยโยงิ (YoYogi Park) เป็นสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในเขตชิบุยะ แม้จะตั้งอยู่ในย่านฮาราจุกุอันเป็นย่านท่องเที่ยวอันดับต้นๆ แต่ภายในสวนกลับร่มรื่น เงียบสงบ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คน มีการเปิดให้เล่นดนตรีและงานแสดงศิลปะในวันอาทิตย์ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเมจิอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีสวนชินจูกุ (Shinjuku) อีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชินจูกุ อันเป็นย่านแสงสีเสียงของกรุงโตเกียวและเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟชินจูกุ แต่บรรยากาศภายในสวนเป็นไปอย่างเงียบสงบท่ามกลางแมกไม้นานาพันธุ์

สวนพฤกษศาสตร์โคอิชิคาว่า

สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ เป็นสวนเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ก่อตั้งโดยโชกุนโทคุกาว่าผู้มีความชื่นชอบในพืชสมุนไพร ในปี 1684 ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของมหาวิทยาลัยโตเกียว โดยเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า วิจัยพืชในด้านต่างๆ สายพันธุ์พืชนับล้านสปีชีส์ตัวอย่างที่อยู่ในสวนแห่งนี้จะเน้นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และจีน ทว่าไฮไลต์ของสวนคือต้นซากุระ กล่าวคือในช่วงฤดูใบไม้ร่วงสวนแห่งนี้จะกลายเป็นจุดชมซากุระเปลี่ยนสี

ป่าในกรุง... ป่า(ของ)จริงในเมือง

 

สำหรับพื้นที่ป่าและต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุร่วม 100 ปี จะอยู่ด้านในสวนลึกเข้าไปอีก ทว่าที่น่าสนใจคือสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้รวมถึงสวนป่าอื่นๆ ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้นำเอาแนวคิด ทฤษฎี และวิธีการปลูกป่าตามแนวทางของ ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยโยโกฮามา ซึ่งเป็นวิธีการปลูกป่าที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับทั่วโลกมาใช้ รวมถึงประเทศไทย หลายองค์กรก็ได้นำแนวคิดและรูปแบบของ ศ.ดร.อาคิระ มาใช้ด้วย

ไกด์หญิงบริษัททัวร์ ไรน์นิช ทราเวลคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า น่าจะเป็นเวลาหลายสิบปีได้ ศ.ดร.อาคิระ ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียวได้ทำวิจัยพันธุ์ไม้โอ๊กสายพันธ์ุญี่ปุ่นแท้ 7 สายพันธ์ุ และได้ปลูกในสวนนี้ประมาณ 60 ต้น ปัจจุบันต้นไม้เหล่านี้ได้เจริญเติบโตเร็วมากกว่าปกติทั่วไป

สุเจตน์ อินทวิเชียร ไกด์อีกคนกล่าวเสริมว่า การปลูกป่าในแนวคิดของ ศ.ดร.อาคิระ จะเอาเฉพาะต้นไม้พื้นเมืองในเขตพื้นที่เท่านั้น โดยการเอาเมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้าแล้วนำไปปลูก จะไม่เอาต้นไม้นอกถิ่นนอกประเทศมาปลูกเพราะผิดคอนเซ็ปต์ เหตุผลที่ต้องเอาต้นไม้ในพื้นที่เดิมเพราะต้นไม้เหล่านี้จะคุ้นชินกับสภาพพื้นที่และที่สำคัญยังเติบโตง่ายและโตเร็วอีกด้วย

“ว่ากันว่าวิธีการปลูกป่าตามแนวคิดของอาจารย์มิยาวากินี้สามารถลดเวลาในการปลูกต้นไม้ให้เจริญเติบโตจากเดิมที่จะต้องใช้เวลา 100 ปี ลดลงมาเหลือ 30 ปีเท่านั้น” สุเจตน์ กล่าวเพิ่มเติม

ป่าในกรุง ถนนสุขาภิบาล 2

การไปดูสวนพฤกษศาสตร์โคอิชิคาว่าทำให้นึกถึง “ป่าในกรุง” ของบริษัท ปตท. ที่ตั้งอยู่ถนนสุขาภิบาล 2 เนื่องจากป่าในกรุงแห่งนี้ได้นำเอาแนวคิดและรูปแบบการปลูกป่าแบบเดียวกันกับสวนพฤกษศาสตร์โคอิชิคาว่า นั่นก็คือการใช้แนวคิดและวิธีการของ ศ.ดร.อาคิระ โดยการผสมผสานกับองค์ความรู้ในการปลูกป่าของบริษัท ปตท. ที่ปัจจุบันได้ก่อตั้งสถาบันปลูกป่าขึ้นมาเพื่อดูแลป่าและการปลูกป่าทั้งหมดของบริษัท ปตท. และกลุ่มบริษัทในเครือ

ประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. กล่าวว่า โครงการป่าในกรุง ถนนสุขาภิบาล 2 เป็นการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในที่ดินของ ปตท. จำนวน 12 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวา ภายใต้แนวทางการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองของกลุ่ม ปตท. หรือ PTT Green in the City โดยได้ออกแบบสัดส่วนเป็นพื้นที่ป่า 75% (9 ไร่) พื้นที่น้ำ 10% (1.2 ไร่) พื้นที่ใช้งาน 15% (1.8 ไร่) นอกจากนี้ยังมีการออกแบบอาคารที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมเป็นต้นแบบนวัตกรรมอาคารเขียว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าของ ปตท. และการปลูกป่าเชิงนิเวศแบบยั่งยืน

ป่าในกรุง... ป่า(ของ)จริงในเมือง

 

ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ป่าในกรุงได้ใช้แนวทางการศึกษาและทฤษฎีการฟื้นฟูป่าธรรมชาติของ ศ.ดร.อาคิระ ซึ่งเป็นป่าที่มนุษย์ฟื้นฟูขึ้นตามหลักการฟื้นฟูป่านิเวศ (ป่าธรรมชาติ) วิธีการคือ ใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นดั้งเดิมของพื้นที่โดยมีการเตรียมกล้าไม้ที่ระบบรากแข็งแรง เน้นการปลูกต้นไม้ที่เพาะขึ้นจากเมล็ด ระยะห่างของการปลูก 3-4 ต้น/ตารางเมตร และปลูกพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดปะปนกัน ส่วนรูปแบบการปลูกเป็นการปลูกแบบสุ่ม (Random) ไม่เป็นแถวเป็นแนว เลียนแบบธรรมชาติ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายระดับ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้พื้นล่าง ปลูกและดูแลด้วยความพิถีพิถัน เช่น การสร้างเนินดิน การนำกล้าไม้จุ่มน้ำ การคลุมด้วยฟางข้าว เป็นต้น

“ในพื้นที่มีการจัดสรรให้มีพันธุ์ไม้ตามลักษณะป่าชนิดต่างๆ เช่น ป่าดิบที่ลุ่ม ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าน้ำกร่อย ป่าชายเลน ป่ารอบน้ำตก เขาหินปูน ซึ่งความหลากหลายของพันธุ์ไม้ที่ใช้ปลูกมีทั้งพันธุ์ไม้หายาก พันธุ์ไม้พื้นเดิมของกรุงเทพมหานคร และพันธุ์ไม้ป่าตามประเภทป่าชนิดต่างๆ จำนวนกว่า 200 ชนิด เช่น กรวยป่า กระเจียว ขันทองพยาบาท พระเจ้าห้าพระองค์ แคแสด จันทน์ชะมด ชุมแสง ชำมะเรียง เต็งรัง ตะเคียนทอง มะกอกน้ำ มะเม่า สะตือ นุ่น สมพง ยางนา เหียง ฉนวน จัน-อิน สมอไทย ทองพันช่าง ลำพู เป็นต้น”

ป่าในกรุง... ป่า(ของ)จริงในเมือง

 

ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันต้นไม้ที่ปลูกจากต้นกล้าใช้เวลาแค่ 1 ปีเศษๆ ได้เจริญเติบโตเร็วมาก ตอนนี้สูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 5 เมตร เกือบจะสูงเท่าทางเดินสกายวอล์กที่ ปตท.ได้สร้างขึ้นเพื่อการเดินชมป่าในวิถีที่ไม่ไปรบกวนระบบนิเวศจากพื้นดินประมาณ 7 เมตร เรียกว่าต้นไม้พวกนี้โตสูงเกือบเท่าสกายวอล์กแล้ว ที่สำคัญเมื่อเป็นป่าขึ้นมาแล้วได้มีการเก็บข้อมูลว่าอุณหภูมิในป่ากับข้างนอกแตกต่างอย่างมีนัยในป่าจะเย็นและมีออกซิเจนเพิ่มขึ้น

“ป่าในกรุงเป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย ปตท.สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ และสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนเมือง รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ตอนนี้เรากำลังทำร้านกาแฟเล็กๆ อยู่ข้างหน้าอีกไม่นานก็คงเปิดให้บริการ”

ประเสริฐให้ข้อมูลต่อว่า นอกจากป่าในกรุงแล้ว ปตท.ได้ทำการฟื้นฟูระบบนิเวศและพื้นที่สีเขียวมากขึ้น โดยบริษัท ปตท.สผ. ได้เข้าไปเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้และปรับปรุงคุณภาพระบบนิเวศต่างๆ ในพื้นที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์หรือสวนบางกระเจ้า 200 ไร่ และต่อเนื่องจากสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ บริษัท ปตท. ก็กำลังดำเนินการปลูกป่าในสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พื้นที่ 40 ไร่ ซึ่งก็ได้ใช้วิธีการของ ศ.ดร.อาคิระด้วย