posttoday

เรือเล็กออกจากฝั่ง ขงเบ้งไม่ได้รอเล่าปี่เยือนกระท่อมหญ้า

17 กรกฎาคม 2560

“สามเยือนกระท่อมหญ้า” คือฉากอมตะในสามก๊ก ว่าด้วยเล่าปี่ผู้มีอุดมการณ์ พยายามอัญเชิญผู้มีปัญญามาชี้ทางสว่างให้กับตน

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

“สามเยือนกระท่อมหญ้า” คือฉากอมตะในสามก๊ก ว่าด้วยเล่าปี่ผู้มีอุดมการณ์ พยายามอัญเชิญผู้มีปัญญามาชี้ทางสว่างให้กับตน

ขงเบ้งเป็นเพียงชายหนุ่มหน้าใส ตอนนั้นเขาอายุ 26 อ่อนกว่าเล่าปี่ถึง 20 ปี แม้มีชื่อเสียงบ้างแต่ยังไร้ผลงาน

ขุนศึกเล่าปี่แม้ไม่มีชัยชนะโดดเด่นแต่ก็มากประสบการณ์ เพียงเพราะคำบอกปากต่อปากจึงกระหายใคร่พบขงเบ้งเสียจับใจ

จะนัดไปคุยที่สตาร์บัคส์หรือเสิร์ชหาหน้าตาของขงเบ้งก่อนก็ทำไม่ได้ เล่าปี่ต้องเดินทางไปในกระท่อมกลางหุบเขาโงลังกั๋งเอง ไปหนึ่งครั้งสองครั้งก็แล้ว ทักคนผิดบ้างอะไรบ้าง เล่าปี่ก็ยังไม่ได้เจอะเจอขงเบ้งสักที ถึงขนาดต้องไหว้พระขอพรถือศีลกินเจ เดินทางฝ่าหิมะ ถึงได้เจอขงเบ้งในครั้งที่สาม แถมครั้งนี้ขงเบ้งยังปล่อยให้ยืนรอหน้าบ้านอยู่ครึ่งค่อนวันเพราะถือตัวเป็นอิ๊กคิวซังต้องขอพักแป๊บนึงก่อนใช้สมองสำแดงสติปัญญา

และเมื่อเล่าปี่ได้พูดคุยกับขงเบ้ง ก็รู้สึกประหนึ่งปลาไขว่คว้าดิ้นรนจนได้สัมผัสลำธารใสไหลเย็น

นี่คือ “สามเยือนกระท่อมหญ้า” ฉบับรวบรัด

“สามเยือนกระท่อมหญ้า” สร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านก็เพราะมันจี้ปมหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง มากความรู้ความสามารถ

เล่าปี่จึงเป็นเจ้านายในฝัน ส่วนขงเบ้งก็เปรียบเสมือนเราๆ ท่านๆ ที่อยากให้ผู้คนที่ยิ่งใหญ่กว่าเห็นความสำคัญ แล้วน้อมกายมาฟังสติปัญญาของเรา

ผู้แต่งนิยายสามก๊กเอาเค้าโครง “สามเยือนกระท่อมหญ้า” มาจากบันทึกประวัติศาสตร์จริง โดยมีที่มาอยู่สองแหล่ง

หนึ่งคือเอกสาร “จดหมายเหตุสามก๊ก” ที่บันทึกการพบกันของเล่าปี่กับขงเบ้งไว้สั้นๆ ว่า

“(เล่าปี่) เยือนสามครั้ง เพื่อพบ (ขงเบ้ง)”...5 คำจบ สำหรับฉบับจดหมายเหตุ

สองคือ “ฎีกาออกศึก” ที่ขงเบ้งเขียนขึ้นเพื่อถวายให้แก่พระเจ้าเล่าเสี้ยน (อาเต๊า) ก่อนการออกศึกครั้งหนึ่ง ในฎีกานี้ขงเบ้งบรรยายคุณงามความดีของเล่าปี่ และแนะนำสอนสั่งพระเจ้าเล่าเสี้ยนพองาม โดยมีตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า

“พระเจ้าเล่าปี่ไม่ถือว่าข้าต้อยต่ำ ลดศักดิ์เสียเกียรติ มาเยือนกระหม่อมสามครั้ง ณ กระท่อมหญ้า ไต่ถามกระหม่อมเรื่องบ้านเมือง...” ...จัดก็ว่ายาวกว่าบันทึกแรกไม่มาก

ก็เหมือนนักทำบทละครและภาพยนตร์สมัยนี้ นิยายสามก๊กก็เอาประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้สั้นๆ มาบรรยายให้อลังการ

ทั้ง “ฎีกาออกศึก” และ “จดหมายเหตุสามก๊ก” เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก โดยชิ้นแรกเป็นเอกสารที่น่าเชื่อ เพราะนักประวัติศาสตร์เห็นว่าขงเบ้งเขียนขึ้นเอง ส่วนชิ้นหลังเพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่ชำระแล้ว

แต่ขึ้นชื่อว่าชำระ ย่อมมีส่วนที่ถูกคัดออกไป

อันที่จริงการพบกันของเล่าปี่และขงเบ้ง มีบันทึกไว้อีกแบบหนึ่งในเอกสาร “บันทึกแคว้นเว่ย” ซึ่งมีเนื้อหาว่า

“เมื่อเล่าปี่มาถึงเกงจิ๋ว... โจโฉปราบทางเหนือได้มั่นคงแล้ว ขงเบ้งรู้แน่ว่าศึกต่อไปจะมุ่งมาที่เกงจิ๋ว แต่เล่าเปียวคิดช้า ไม่สนใจการศึก ดังนั้นเขาจึงเดินทางขึ้นเหนือไปพบเล่าปี่

เล่าปี่ไม่รู้จักขงเบ้ง จึงต้อนรับเขา เมื่อการพบปะสิ้นสุด ผู้คนต่างแยกย้ายกลับ เหลือแต่ขงเบ้งเท่านั้นที่ยังไม่ไป เล่าปี่ก็ไม่ได้สนใจซักถามอะไร ได้แต่นำเครื่องประดับขนหางจามรีขึ้นมาถักเพลินๆ

ขงเบ้งจึงถามว่า “ปณิธานกู้ชาติที่ท่านแม่ทัพมี ที่แท้ก็มีไว้เพื่อถักขนหางจามรีเช่นนั้นหรือ?”

เล่าปี่ได้ยินดังนั้นจึงรู้ว่าไอ้หนุ่มนี่ไม่ธรรมดา จึงตอบว่า “ข้าถักเพื่อระบายความกลัดกลุ้มใจเท่านั้น”

ขงเบ้งจึงถามต่อว่า “เทียบท่านกับเล่าเปียว ท่านสู้ ได้ เขา หรือไม่?” เล่าปี่ตอบว่า “ไม่ได้” แล้วถามต่อว่า “แล้วเทียบกับโจโฉล่ะ?” เล่าปี่ก็ตอบว่า “ไม่ได้” เหมือนเดิม

เล่าปี่รู้ทางจึงถามเสียเลยว่า “ถ้าอย่างนั้นความกังวลของข้า ท่านคิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไร?” ขงเบ้งจึงเริ่มนำเสนอแนวคิดของตน จนเล่าปี่ซื้อทั้งไอเดียและทั้งตัวหนุ่มน้อยขงเบ้ง

นี่คือบันทึกประวัติศาสตร์อีกด้านที่ตรงกันข้ามกับประวัติศาสตร์กระแสหลักและนิยาย ไม่มีเล่าปี่ที่ดั้นด้นไปเยือนใครถึงสามครั้ง ไม่มีขงเบ้งที่เอาแต่นั่งรอชื่อเสียงตัวเองปลิวไปกระทบหูใคร แต่ต้องเริ่มดิ้นรนเรียกร้องความสนใจจากนายใหญ่เอาเอง

ไม่เหมือนปลาได้น้ำ แต่เหมือนนายเรือ (ขงเบ้ง) ต้องผลักดันเรือลำน้อยลงสู่น้ำทะเลในครั้งแรกให้เล่าปี่ได้เห็น ซึ่งดูแล้วเหมือนจะ “เข้าท่า” กว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะปฏิเสธว่าเล่าปี่ไปเยือนขงเบ้งสามครั้งสามคราก็ใช่ที่ เพราะอย่างน้อยประโยคที่ว่า “...น้อมพระองค์เข้าหา ท่ามกลางการเยือนกระท่อมสามครั้ง...” ขงเบ้งก็เขียนเองกับมือ

ซึ่งขงเบ้งไม่น่าจะหลอกลวงปั่นกระแสความสำคัญของตัวเองด้วยเรื่องนี้

แต่ในส่วนที่ขงเบ้งเขียน ก็ใช่ว่าเล่าปี่ต้องลำบากไปเสาะหา

เล่าปี่อาจจะแค่เดินทางไปเยี่ยมถึงบ้านสามครั้งสามครา เพื่อพูดคุยให้แน่ใจว่าไอเดียของเจ้าหนุ่มนี่มัน “ใช่” จริงๆ

และที่ควรขยายความคือ ในภาษาจีนโบราณตัวเลข “สาม” ยังหมายถึง “หลาย” ซึ่งก็หมายความว่า เล่าปี่ไปหาและไปพูดคุยกับขงเบ้งเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองหลายครั้ง

ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับขงเบ้ง เล่าปี่ขุนศึกวัยกลางคนลงมาเยือนที่พักและพูดคุยด้วยกับตนซึ่งยังหนุ่มอยู่และยังไม่มีผลงานใดๆ อยู่หลายหน ก็นับว่าเป็นเกียรติและนับเป็นความอ่อนน้อมของเล่าปี่ และแม้แต่ในบันทึกที่เล่าว่าขงเบ้งเรียกร้องความสนใจจากเล่าปี่ก่อน ก็ยังเห็นได้ว่าเล่าปี่มีความอ่อนน้อมพร้อมฟังคำชี้แนะอยู่พอตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจึงยังเป็นปริศนา

หรือบางที ขงเบ้งอาจจะไปเรียกร้องความสนใจจากเล่าปี่ก่อน แล้วเล่าปี่เห็นท่าน่าสนใจจึงตามไปพูดคุยต่อถึงกระท่อมที่ขงเบ้งอาศัยหลายครั้ง

ถ้าเป็นแบบนี้ก็นับว่าไม่มีฟากไหนผิดพลาด ขงเบ้งเล่าในความประทับใจที่มี ส่วน “บันทึกแคว้นเว่ย” บรรยายถึงจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น

ส่วนถ้าเรื่องจริงเล่าปี่ดั้นด้นเสาะหาด้วยความถ่อมตนเกินคาด นั่นก็คงเป็นเพียงหนึ่งในร้อย เพราะโดยทั่วไปเจ้านายมักตัดสินลูกน้องด้วยผลงาน

เรื่องจริงเป็นอย่างไรไม่อาจรู้

ที่แน่ๆ คือ แค่นั่งรอให้ชื่อเสียงปลิวไปตามลม จนกระทบหูเล่าปี่ กับความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อเสาะหาขงเบ้ง คงเป็นเพียงเรื่องแต่ง เพราะถ้าเล่าปี่หมดความอดทนไม่เล่นตามบทขึ้นมา ขงเบ้งคงเก้อ และเดียวดายตายไปในหุบเขาโงลังกั๋ง

เรือเล็กที่สร้างเสร็จแต่ดันซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาคงต้องผุพังไปโดยไม่ได้สัมผัสทะเล

เรือเล็กที่มั่นใจในศักยภาพจึงควรถูกผลักดันออกจากฝั่งไปเสนอตัวกับท้องทะเล มิใช่รอน้ำทะเลซัดเข้าหา

สึนามิแม้มีอยู่จริง แต่มันก็เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ผิดปกติเท่านั้น