posttoday

พินัยกรรม ทำเลย! ไม่ต้องรอ

04 กรกฎาคม 2560

ใกล้ความตายหรือคือพินัยกรรม จ่อกันเหมือนคอหอยกับลูกกระเดือก หากใกล้กันเพียงนี้ก็หลายคนที่ “คว้า” ไว้ไม่ทัน

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพจากภาพยนตร์ แรงปรารถนาวาระสุดท้าย A Year without Love (Un Ano sin amor), สมาคมบ้านปันรัก

ใกล้ความตายหรือคือพินัยกรรม จ่อกันเหมือนคอหอยกับลูกกระเดือก หากใกล้กันเพียงนี้ก็หลายคนที่ “คว้า” ไว้ไม่ทัน ความปรารถนาสุดท้ายของผู้ตายอย่าให้มลายไปพร้อมกับปรลัย เสียชีวิตเสียก่อนทำพินัยกรรมคือเสียทีที่คิด เสียทีที่หวัง อีกสร้างความวุ่นวายหลังตายชนิดว่าคิดไม่หวาดคาดไม่ไหว โธ่! รู้งี้ทำเสียดีกว่า... พินัยกรรม

ในมุมของนักกฎหมายและนักวิชาการ พูดตรงกันว่าทำเลย ไม่ต้องรอ และไม่ต้องพะวง หรือกลัวจนเกินเหตุ ไม่ใช่ว่า ทำพินัยกรรมแล้วจะไม่ตาย แต่เป็นหลักประกันว่า ความปรารถนาของผู้ตายจะเป็นจริง ตรงกันข้าม หากเพียงคิดการสิ่งใดเก็บไว้แต่ในอก ไม่ถ่ายทอดเจตจำนงออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เรียกว่า พินัยกรรม อาจจะกลายเป็นความต้องการที่ต้องคำสาป เพราะมิอาจเป็นจริง

ประโยชน์คนตายและคนเป็น

“สมาคมบ้านปันรัก” จัดเสวนาขึ้นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา “สูงวัยจากไป มรดกตกที่ใคร” ขอมองในมุมพินัยกรรมทำแล้วไม่มีเหตุให้เสียใจ ยกมาจากเวทีเป็นย่อส่วน ประโยชน์เห็นเป็นไปทั้งสองโลก คือโลกคนตายและโลกคนเป็น

เจษฎา อนุจารี ทนายความ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิชาการบัญชี และกรรมการบริหารองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะประเทศไทย เล่าว่า มรดกมองในมุมของกฎหมาย คือภาระหน้าที่ที่คนทุกคนต้องบริหารจัดการ จัดการเร็วดีกว่าจัดการช้า จัดการช้าดีกว่าไม่จัดการเลย ทำไมถึงต้องจัดการ ก็เพราะถ้าไม่ ความยุ่งขิงจะกระโดดเข้ามา ผลลัพธ์คือศึกสายเลือด และความเป็นไปประการต่างๆ ที่ผู้ตายไม่ประสงค์

“พินัยกรรมไม่จำเป็นต้องรอให้สูงวัย บริหารจัดการแต่เนิ่นๆ ถือว่าดีที่สุด” เจษฎากล่าว

ตามกฎหมายแล้ว การทำพินัยกรรมมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 เรื่องพินัยกรรม ระบุว่า กรณีเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกจะตกไปยังทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ได้แก่ผู้สืบสันดาน 6 ลำดับ คือ

1.ลูก หลาน เหลน โหลน ลื้อ

2.บิดามารดา 

3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4.พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

5.ปู่ย่าตายาย

6.ลุงป้าน้าอา

กรณีไม่มีผู้สืบสันดานและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของแผ่นดิน

นั่นหมายความว่า พินัยกรรมถือหลักเจตนารมณ์ผู้วายชนม์ กรณีไม่ได้ทำ จึงตกแก่ทายาทโดยธรรมทั้งหก ข้อควรคิดก็คือ เจตนาของเจ้าทรัพย์ประสงค์จะให้ทรัพย์ตกแก่ทายาทตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องรีบทำพินัยกรรมเสียก่อนตาย

“จะให้ใครเท่าไรอย่างไรเป็นสิทธิขาดของเจ้ามรดกเพียงผู้เดียว ให้มากให้น้อยหรือไม่ให้เลยก็ได้ทั้งสิ้น สำคัญต้องทำขณะที่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าทำขณะเจ็บป่วย อาจถูกตีความว่านิติกรรมไม่สมบูรณ์ ถูกแย้งหรือเสียไปได้” เจษฎากล่าว

พินัยกรรม ทำเลย! ไม่ต้องรอ

ชนิดของพินัยกรรม

เจษฎากล่าวว่า พินัยกรรมมีทั้งหมด 5 รูปแบบ คือ

1.พินัยกรรมแบบธรรมดา

ต้องทำเป็นหนังสือ จะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน พยานนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือด้วย ขูดลบต่อเติมเปลี่ยนแปลงไม่ได้เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อกำกับไว้ ต้องลงวันเดือนปีขณะที่ทำขึ้น

2.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

ต้องทำเป็นเอกสาร เขียนด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับ จะพิมพ์ไม่ได้ ต้องลงวันเดือนปีขณะที่ทำขึ้น ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือหรือเครื่องหมายอื่นมิได้ ไม่จำเป็นต้องมีพยาน

3.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารเมือง

เป็นการทำโดยให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตหรืออำเภอเป็นผู้ดำเนินการ ผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน เก็บไว้ที่เจ้ามรดก 1 ฉบับ เก็บไว้ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอนั้นๆ 1 ฉบับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิต ลูกหลานจึงนำใบรับมาขอเปิดพินัยกรรม

4.พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ

ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม และลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น จากนั้นนำไปแสดงต่อนายอำเภอและพยาน 2 คน นายอำเภอประทับตราประจำตำแหน่งแล้วผู้ทำพินัยกรรม พยานและนายอำเภอลงลายมือชื่อพร้อมกันบนซองนั้น

5.พินัยกรรมทำด้วยวาจา

ต้องมีพฤติการณ์พิเศษเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ ถือเป็นพินัยกรรมฉุกเฉินที่ทำในภาวะสงคราม หรือมีอาการเจ็บป่วยใกล้ตายเท่านั้น ผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนาต่อพยาน 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น

พยานทั้งสองโดยไม่ชักช้า ต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอในพื้นที่ ผู้บัญชาการทหารหรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้นๆ ให้นายอำเภอ ผู้บัญชาการทหารหรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลจดข้อความที่พยานแจ้ง และให้ลงลายมือชื่อไว้

พินัยกรรม ทำเลย! ไม่ต้องรอ

สมเจตนาผู้วายชนม์

เจษฎาเล่าว่า พินัยกรรมเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ถ้ายังไม่ตายและหากต้องการเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมก็ทำได้ ทรัพย์สมบัติเป็นของใคร ก็ผู้นั้นย่อมถือเป็นสิทธิที่จะให้หรือมอบแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ส่วนที่ว่าทำแล้วควรบอกทายาทผู้รับไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคนแต่ละครอบครัว บางคนได้มากบางคนได้น้อยหรือบางคนไม่ได้เลย ไม่รู้เลยอาจดีกว่าหรือไม่ก็ได้ทั้งสิ้น สำคัญคือต้องมีคนรู้ว่าพินัยกรรมทำขึ้นและเก็บไว้ที่ใด

“พินัยกรรมทำแล้วต้องมีคนรู้ ต้องมีพยานรู้เห็น โดยอาจจะรู้หรือไม่รู้ข้อความในพินัยกรรมหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องรู้ว่าเก็บที่ไหน เช่น บอกลูกหลานไว้ว่าถ้าเราตายลงก็ให้ไปรับเอกสารพินัยกรรมที่อำเภอ หรือให้ไปรับกับใคร เช่น ผู้ใหญ่ที่นับถือ ญาติ ทนายความ”

ส่วนใหญ่กลัวทำพินัยกรรมแล้วจะมีเรื่อง เจษฎากล่าวว่า ทำพินัยกรรมแล้วมีเรื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับลูกหลานของเราเอง ไม่ได้อยู่ที่พินัยกรรม การทำพินัยกรรมไม่ต้องรอว่าสูงอายุ ใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท ทำเลยขณะมีสติสัมปชัญญะ เพื่อป้องกันปัญหาความวุ่นวายเมื่อเสียชีวิต ลดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งของทายาท ขณะเดียวกันก็ป้องกันการปลอมแปลงเอกสารของบุคคลผู้ไม่ประสงค์ดี

ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมผู้สูงวัย และนายกสมาคมบ้านปันรัก มองในมุมนักวิชาการว่า การประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยภาษีมรดก ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ก.พ. 2559) นั้น อาจส่งผลให้เกิดการมอบทรัพย์มรดกแก่ทายาทในเวลาที่ไม่ควร

“หลายคนอยากประหยัดค่าภาษี ไม่อยากจ่ายภาษี จึงเลี่ยงด้วยการมอบทรัพย์ให้แก่ทายาท ใช้วิธีเฉลี่ยทรัพย์เป็นรายปี เพื่อไม่ให้ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีในแต่ละปี วิธีนี้แม้จะประหยัดค่าภาษีได้ แต่คิดหรือไม่ว่า จะเป็นโทษต่อลูกหลานที่รับมอบทรัพย์ไปก่อนวัยอันควร”

ทั้งที่ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ แต่ต้องรับทรัพย์ไปปีละ 20 ล้านอันเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่จะไม่ต้องเสียภาษีรับให้ ดร.วีรณัฐให้ความเห็นว่า น่ากังวลว่าทรัพย์นั้น จะกลายเป็นพิษภัยที่ย้อนกลับมาสู่ตัวบุตรหลาน หรือตัวพ่อแม่เอง เพราะทรัพย์คืออำนาจ มีผลต่อพฤติกรรม ความคิดความสำนึก อีกยังขัดต่อหลักพุทธธรรมที่ระบุไว้ถึงทิศ 6 ที่ว่า พ่อแม่มีหน้าที่ในการแบ่งทรัพย์ในเวลาอันควร

“คำว่าควรหรือไม่ควร พึงใคร่ครวญให้รอบคอบ ถือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ และผู้ทำพินัยกรรมทุกคน”

The Last Will ความปรารถนาสุดท้ายก่อนความตายจะมาพราก ทำเสียก่อนความตายจะมาพรากไปจริงๆ คนเราข้ามฝั่งไปแล้วไปเลย ไม่อาจหวนคืนกลับ ข้ามแล้วข้ามเลย ตายแล้วตายเลยแบบนั้นเอง ทำแล้วไม่เสียใจ จะเสียใจก็เพราะไม่ทำ

อ่านบทความนี้จบลง จงทำเลยนะ...พินัยกรรม

พินัยกรรมทำเองแบบง่ายๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำพินัยกรรมระบุว่า การเขียนพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงมีคุณสมบัติ 2 ข้อ คือ 1.มีอายุครบ 15 ปีขึ้นไป 2.ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ พินัยกรรมมีหลายชนิดอย่างที่กล่าว เลือกทำแบบใดก็ได้ แต่สะดวกที่สุดและง่ายที่สุด รวมทั้งปลอมแปลงยากที่สุดคือ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

เหมาะสำหรับการสั่งเสียที่ไม่สลับซับซ้อน ตรองแล้วว่าทายาทหรือผู้รับมรดกมีจำนวนไม่มาก ผู้ทำพินัยกรรมไม่มีทรัพย์สินมากมายอะไรนัก ข้อดีคือ สามารถเขียนที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้แล้วแต่ความพอใจ ไม่จำเป็นต้องมีพยานร่วมรับรู้ คนจะปลอมก็ปลอมยากเพราะต้องปลอมลายมือทั้งฉบับ ไม่ใช่ปลอมแค่ลายเซ็น

ข้อเสียคือ ทำแล้วเก็บไว้กับตัว ลืมแจ้งไว้กับใคร หากผู้ทำพินัยกรรมเกิดเสียชีวิตลงกะทันหัน ก็มีความเป็นไปได้ว่าจบแค่นั้น เพราะไม่มีใครล่วงรู้ พินัยกรรมสูญค่าไปเปล่าๆ สรุปว่า ทำแล้วบอกใครไว้สักคนหรือหลายคน

พินัยกรรมแบบเขียนเอง เขียนตามสะดวกและตามสบาย เพียงขอให้มีข้อความระบุเกี่ยวกับสถานที่ที่ทำ วันเดือนปีที่ทำ ข้าพเจ้า(ชื่อ) ขอทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตาย หากข้าพเจ้าสิ้นชีวิตลง ขอให้มรดกตกแก่บุคคลดังต่อไปนี้ จะให้ใครอย่างไรก็ว่าไป ก่อนลงลายมือชื่อ ระบุท้ายความว่า ขณะทำนิติกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน ขอกำหนดไว้เพื่อมีผลเมื่อสิ้นชีวิต แล้วลงลายมือชื่อ