posttoday

กลางมรสุมและเรื่องสั้นอื่นๆ ปกาศิต แมนไทยสงค์

25 มิถุนายน 2560

รวมเรื่องสั้นที่ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 13 เรื่อง ผ่านการตีพิมพ์ในหน้านิตยสารมาแล้ว อีกทั้งหลายเรื่องได้รับรางวัล

โดย...พริบพันดาว

รวมเรื่องสั้นที่ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 13 เรื่อง ผ่านการตีพิมพ์ในหน้านิตยสารมาแล้ว อีกทั้งหลายเรื่องได้รับรางวัลจากการประกวดในเวทีต่างๆ อาทิ เรื่องสั้นเรื่อง “มะเส๊าะ ผู้ไม่มีหมายเลข” เคยได้รับรางวัลพานแว่นฟ้า ของรัฐสภา “เก๊าะซารี” เคยเป็นเรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์ อะวอร์ด

 ภาพรวมของงานชุดนี้ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงภาพชีวิตของผู้คนที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางปัญหาและความผันผวนของเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่มีความวุ่นวายและการก่อความไม่สงบ แสดงให้เห็นภาพชีวิตเล็กๆ ที่ดูเหมือนไร้ความหมายต่อภาครัฐและสังคม หากแต่ต้องผจญชีวิตอยู่ท่ามกลางมรสุมแห่งความเป็นไปโดยไม่รู้จบ

 ปกาศิต แมนไทยสงค์ นับเนื่องได้ว่าเป็นนักเขียนที่มาแรงในขบวนนักเขียนไทยในชั่วโมงนี้ที่มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ “กลางมรสุมและเรื่องสั้นอื่นๆ” จึงถูกจับตามองจากนักอ่านสายวรรณกรรมอยู่ใช่น้อย

 “ผมเริ่มต้นเขียนหนังสือ ตรงๆ คืออยากลบปมด้อยตัวเองมากกว่า เพราะเรียนตกวิชาภาษาไทย ทำให้พ่ออับอายขายขี้หน้า กลายเป็นปมฝังลึก จึงคิดว่าถ้าเขียนหนังสือ หรือมีผลงานตีพิมพ์ คงทำให้พ่อเลิกดูแคลน หรือมีคุณค่าในสายตาใครต่อใครขึ้นมาบ้าง” ปกาศิตเริ่มต้นพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการเขียน และเล่าต่อว่า

 “มีเพื่อนแนะนำให้อ่านหนังสือเยอะๆ ก็เลยอ่าน พออ่านมากๆ เข้า อ่านจนรู้สึกว่าถ้าเขียนออกมาอย่างนี้ ใช้ภาษาแบบนี้ เราก็น่าจะเขียนได้ ด้วยนิสัยเป็นคนชอบลอง ชอบพิสูจน์อะไรเป็นทุนอยู่แล้ว ก็เลยเริ่มฝึกเขียนตั้งแต่นั้นมา แล้วก็บังเอิญที่มาค้นพบข้อดีทีหลัง ว่าการเขียนมันช่วยขจัดความขี้เกียจให้ลดลง และก็ได้ผลจริงๆ เพราะความขี้เกียจลดลงจนน่าใจหาย ผมกลายเป็นคนที่ต้องเขียนทุกวัน ทำทุกวัน ไม่ได้เขียนไม่ได้ทำ มันเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง”

 เขาเขียนงานและส่งเข้าประกวด ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจจนกลายเป็นที่มาของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ของเขาโดยสำนักพิมพ์ Din-Dan Book ปกาศิต บอกถึงเบื้องหลังการทำงานว่า ผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ส่วนใหญ่เกิดจากแรงปะทะภายนอกที่เข้ามาบีบคั้น

กลางมรสุมและเรื่องสั้นอื่นๆ ปกาศิต แมนไทยสงค์

 “ผมเขียน ‘มะเส๊าะ ผู้ไม่มีหมายเลข’ ก็แค่อยากสื่อให้รู้ว่าตัวละครอย่างมะเส๊าะไม่มีทุนมากพอ ที่จะถ่อสังขารไปรายงานตัวขึ้นทะเบียนคนจน คนที่ไปขึ้นทะเบียนกลายเป็นคนที่มีรายได้มากกว่ามะเส๊าะเสียอีก ผมเขียน ‘เก๊าะซารี’ เพราะอยากรำลึกถึงเพื่อนมุสลิมคนหนึ่ง ที่เราเคยกอดคอไปไหนด้วยกัน จนมาวันหนึ่งชุดข้าราชการที่ผมสวมใส่ ไม่น่าเชื่อว่ามันจะกลายเป็นชนวนให้เก๊าะซารีโดนลอบทำร้ายถึงชีวิต

 “มีนักอ่านท่านหนึ่งชื่อ Kris Muhammadayub ขออนุญาตเอ่ยนาม เขียนตอบมาในเฟซบุ๊ก ซึ่งผมคิดว่าพอจะอธิบายอะไรได้บ้าง เขาบอกว่าตอนนี้อ่านจบไปหลายเรื่องแล้ว ยอมรับครับว่ามีหลายเรื่องอ่านแล้วทำให้คิดถึงบ้านเกิด อดีตวัยเด็กกับสถานที่เติบโตมา ถึงแม้ตอนนี้เขาไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว แต่ความทรงจำมากมายอยู่ที่นั่น สัมพันธภาพที่สวยงาม ระหว่างไทยพุทธและมุสลิมที่ประสบกับตัวเองที่เขาไม่เคยลืม หนังสือเล่มนี้กระตุ้นความทรงจำบางอย่างที่เขาเกือบลืมไปแล้ว บ่อยครั้งในความขัดแย้ง มันยังมีความสวยงามแอบซ่อนอยู่ อยู่ที่เราเลือกที่จะมองเห็น หรือเบือนหน้าหนีและเลือกที่จะไม่มองมัน 

 “เขาสะท้อนมาว่าชื่นชมมุมมองที่ไม่มีอคติในหลายเรื่อง เพราะการที่จะเขียนอะไรๆ เกี่ยวกับสามจังหวัดและสงขลาเป็นจังหวัดที่สี่ นี่มันไม่ใช่เรื่องสนุก ต้องเข้าใจวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ที่มีเรื่องของศาสนามาเกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ถ้าไม่เปิดกว้างทางทัศนคติ จะมีปัญหาและเกิดปมความขัดแย้งทันที”

 สุดท้าย ปกาศิต มีความคาดหวังกับหนังสือของตัวเอง หรือคนอ่านมากน้อยแค่ไหน เขาตอบว่า จริงๆ เขาเขียนงานออกมาแต่ละชิ้นก็เพื่อตัวเองมากกว่า

 “เพื่อปัดเป่าความป่วยไข้ของตัวเอง ที่ก่อตัวมาจากเหตุการณ์บ้านเมือง เชื้อร้ายที่ฟูมฟักและกัดกร่อนลุกลาม ให้บ้านเกิดปักษ์ใต้กลายเป็นพื้นที่แปลกตา กลายเป็นมาตุภูมิที่ไม่คุ้นชิน กระทั่งไม่น่าไว้วางใจ ผลงานที่เขียนมันจะดีแค่ไหน ข้อนี้ตอบไม่ถูกจริงๆ แต่ถ้าให้วัด ก็คงวัดจากคนอ่านบางคน เพราะผมเคยได้รับข้อความจากคนอ่าน ที่ส่งผ่านเป็นข้อความ ประมาณว่าอ่านแล้วรู้สึกเศร้าไปกับเหตุการณ์ บางเรื่องทำให้เขาอยากกลับไปหาพ่อแม่ และดูแลท่านมากขึ้น ผมจึงคิดง่ายๆ ว่างานเขียนบางชิ้น มันคงช่วยให้ใครบางคน ค้นพบมุมบางมุม ที่เขาเองอาจเผอเรอมองข้ามไป ได้รับข้อความแบบนี้จากคนอ่าน ผมก็คิดเข้าข้างตัวเองง่ายๆ ว่างานเขียนเราก็คงมีดีอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย”