posttoday

ดร.ต่อยศ - ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ 2 พี่น้องผู้พัฒนาเด็กไทยสู่สากลโลก

24 มิถุนายน 2560

หากพูดถึงโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า หลายคนย่อมทราบดีว่านี่คือหนึ่งในโรงเรียนอนุบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

โดย...โยโมทาโร่

 หากพูดถึงโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า หลายคนย่อมทราบดีว่านี่คือหนึ่งในโรงเรียนอนุบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

 วันนี้ได้เข้าสู่ยุคผู้บริหารรุ่นที่ 2 ซึ่งกำลังร่วมบริหารโรงเรียนใหม่ เด่นหล้า บริติช สกูล (Denla British School) โดยสองพี่น้อง ดร.ต่อยศ-ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า บริติช สกูล เปิดยุคใหม่ของเด่นหล้า ซึ่งทั้งสองคนบอกกับเราว่าจะพาเด็กไทยที่มีขนบธรรมเนียมไทยแต่ไปไกลในระดับโลก

ต่างความสามารถจึงเกื้อหนุน

 ดร.ต่อยศ เล่าความหลังว่า โรงเรียนนี้เป็นธุรกิจของครอบครัว ดังนั้นในเรื่องของการทำงานก็จะเริ่มเข้ามาช่วยตั้งแต่พอที่จะมีความสามารถเข้ามาช่วยงานในโรงเรียนได้ แล้วก็เริ่มรับผิดชอบมากขึ้นตามอายุและคุณวุฒิที่มีมากขึ้น ซึ่งงานโรงเรียนมีความรู้สึกว่าเป็นงานที่ต้องการความเอาใจใส่ ต้องการคนที่จะต้องเข้ามาดูแล

 “ผมกับน้องชายก็มีความถนัดไม่เหมือนกัน และมีความสนใจไม่เหมือนกัน อันดับแรกสุด โรงเรียนอนุบาลเรามีอยู่ 2 สาขา ดังนั้นแต่ละสาขาก็ควรจะมีคนที่รับชอบหลัก อยู่ 1 คน ผมรับผิดชอบในส่วนหน้าที่การดูแลในส่วนที่เป็นโรงเรียนสาขาแรก ส่วนน้องชายก็ดูแลในโรงเรียนที่เป็นสาขาที่ 2

 "แต่เมื่อพูดถึงความสามารถในการบริหารงาน ในการดูแลเราก็จะเข้ามาช่วยกันดูแลความถนัดของแต่ละคน ส่วนตัวผมเรียนจบทางสายวิทยาศาสตร์ ผมก็จะถนัดชอบเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างการตกแต่งรีโนเวต ดูแลอาคารสถานที่ นำเอาเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในโรงเรียน ดังนั้น ในภาพรวมของผมก็จะดูเรื่องของเทคโนโลยีและเรื่องของอาคารสถานที่ให้กับทั้งสองโรงเรียน

 “ส่วนน้องชายของผมเขาถนัดเกี่ยวกับเรื่องวิชาการ เรื่องหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน เรื่องการดูแลบุคลากร เขาก็จะเป็นคนที่เข้ามาช่วยดูในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอนของทั้งสองสาขา ดังนั้นในภาพรวมก็ดูเหมือนว่าเราจะทำงานกันคนละที่ แต่ที่จริงแล้วเราเข้ามาช่วยทำงานด้วยกันทั้งสองสาขาครับ”

 ดร.เต็มยศ เล่าเสริมพี่ชายว่า

 “การทำงานในเวลาปกติเราก็พูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉลี่ยแล้ววันหนึ่งเราแทบพูดคุยกันประมาณ 5 ครั้ง หรือจะบอกว่าคุยมากกว่าภรรยาที่บ้านก็ว่าได้ (หัวเราะชอบใจ) เราโทรคุยกันทุกวัน เวลามีประชุมเราก็พูดคุยกันนอกรอบอีก การที่เราพูดคุยกันบ่อยๆ เรียกว่าเป็นการซิงค์ข้อมูลทางความคิดร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ตรงไหนที่เราอยากจะรู้ ตรงไหนที่เราอยากจะทำจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

 “อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราทั้งคู่ทำงานด้วยกันได้ดีก็คือ เราสองคนเติบโตในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ได้เรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน ภาพรวมด้านกรอบวิธีคิดและแนวความคิด จึงค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกันอยู่ แต่แน่นอนว่าอาจจะมีเรื่องของรายละเอียดปลีกย่อยข้างในที่จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เราก็แก้ปัญหาด้วยการพูดคุยกันบ่อยๆ

 “เพราะว่าปัญหาในการทำงานส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราพูดคุยกันไม่มากพอ ไม่ได้ลงลึกถึงในรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ได้พูดความจริง ไม่มีความจริงใจ จึงทำให้เกิดปัญหาของการขัดแย้งในเรื่องการทำงานแล้วก็ปัญหาในการทำงานอื่นตามมา แต่ถ้าเราคุยกันบ่อยๆ ประสานงานกันอย่างสม่ำเสมอ เราก็พอจะรู้ว่าแต่ละคนมีความต้องการอย่างไรและเราจะเข้าไปช่วยเหลือเขาได้อย่างไร"

ดร.ต่อยศ - ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ 2 พี่น้องผู้พัฒนาเด็กไทยสู่สากลโลก

พาเด็กไทยสู่สากลโลก

 ผู้บริหารหนุ่มหล่อทั้งคู่มองถึงโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ของพวกเขาต่อว่า สำหรับโรงเรียนนานาชาติเป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องการจะพัฒนาเด็กไทยให้เป็นสากล

 ที่ผ่านมา ความคาดหวังของผู้ปกครองที่ส่งเด็กเข้ามาเรียนในโรงเรียนนานาชาติก็เพื่อที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องของภาษา ได้ในเรื่องความกล้าแสดงออก เรื่องของความมั่นใจในตัวเอง แต่กลับมองว่าความคาดหวังเหล่านี้ในประเทศไทยอาจจะไม่ใช่คำตอบ เพราะสุดท้ายแล้ว ความคาดหวังของผู้ปกครองคือการที่ให้เด็กสามารถสอบติดในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง

 "ตอนนี้บอกได้เลยว่า เด็กในโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่ ถ้าอยากจะสอบติดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะต้องไปเรียนพิเศษไปติววิชาการเพิ่ม เพื่อให้มีความสามารถทางด้านวิชาการมากพอที่จะสอบติดมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในเมืองไทยได้

 "ดังนั้น เรื่องของเวลาการเรียนที่เหมาะสม คือการเลือกเรียนประมาณ 5 โมงเย็น ซึ่งจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะเราจะได้ใช้เวลาอีก 2 ชั่วโมงครึ่งที่เหลือ จากที่เด็กจะต้องไปเรียนพิเศษข้างนอก ได้ใช้เวลาตรงนี้ในการเรียนในโรงเรียน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเรียนอย่างเต็มที่ให้ได้มากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วเชื่อว่าเมื่อเด็กเรียนจบไป ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะมีความคาดหวังให้เด็กเรียนต่อในเมืองไทยมากกว่าที่จะเรียนต่อในต่างประเทศ" ดร.ต่อยศ อธิบายถึงปัญหาของโรงเรียนนานาชาติที่พบได้มากในเมืองไทย"

สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในเรื่องของการที่อยู่เมืองไทยให้ได้ แม้ว่าจะเรียนในโรงเรียนนาชาติ ทางด้าน ดร.เต็มยศ บอกว่า เราต้องสอนให้เด็กไทยรู้จักในเรื่องของความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักวัฒนธรรมไทย ความเคารพในคนอื่น ความเคารพต่อผู้ใหญ่

 "จุดนี้จะเป็นจุดที่เราให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ซึ่งเราทั้งสองคนเห็นพ้องต้องกัน จากเดิมที่จุดอ่อนของเด็กที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติจะอ่อนภาษาไทย ไม่มีมารยาทความเป็นไทย ส่วนเด็กที่เรียนโรงเรียนไทยก็อ่อนภาษาอังกฤษ ไม่มีความกล้าแสดงออก เราจึงต้องสร้างเด็กไทยให้มีความเป็นสากล ดังนั้นภาษาแม่จะต้องแข็งแรง จะต้องได้จะต้องแน่นและชัดเจน เพราะว่าเด็กไทยก็ควรจะให้ความสำคัญกับภาษาไทย พูดได้ อ่านออกเสียง เขียนได้ดี ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง

 "ในขณะเดียวกันก็ต้องได้ภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาสเปน ที่มีผู้คนใช้กันมากเพราะอย่าลืมว่าภาษาและวัฒนธรรม คือสิ่งสำคัญที่จะบอกความเป็นตัวตน ความมั่นใจในตัวเองซึ่งทำให้เด็กเมื่อเติบโตขึ้นเขาสามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้โดยที่รู้ตัวเองว่าเขาเป็นใคร นั่นคือความท้าทายของนักจัดการศึกษาที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในอนาคตให้ได้" ดร.เต็มยศ กล่าวทิ้งท้าย