posttoday

การออกแบบพื้นที่เกษตรพอเพียง เพื่อการพึ่งตัวเอง

22 มิถุนายน 2560

การออกแบบพื้นที่เพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติจากที่ดินจริงของประชาชนทั่วไปและเกษตรกร

โดย...วรธาร

ภาพผลงานการออกแบบพื้นที่เพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติจากที่ดินจริงของประชาชนทั่วไปและเกษตรกรประมาณ 59 ภาพ ซึ่งตั้งโชว์อยู่ในห้องประชุมศาสตราจารย์ประสม รังสิโรจน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ช่วยทำให้บริเวณพื้นที่แถลงข่าวโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลกรวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 5 โดยสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับ สจล. และเครือข่ายต่างๆ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. มีพลังจนอดไม่ได้ที่จะนำเสนอเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่

การออกแบบพื้นที่เกษตรพอเพียง เพื่อการพึ่งตัวเอง


หลักสูตรการออกแบบพื้นที่เพื่อการพึ่งตนเอง

ผลงานเหล่านี้มาจากฝีมือการออกแบบของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก 18 สถาบัน ร่วมกับประชาชนและเกษตรกรที่เข้าอบรมหลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติรุ่นแรกที่ออกแบบและสอนโดย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการที่ร่วมออกแบบพื้นที่ให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ของโครงการ

ผศ.พิเชฐ กล่าวว่า จากการที่ได้ลงไปช่วยออกแบบพื้นที่ให้กับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ในโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลกรวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินมาได้ 3 ปี มีประชาชนมาขอให้ช่วยออกแบบพื้นที่จำนวนมากปัจจุบันมีอยู่ 4,000 กว่าราย ซึ่งได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อย 2,000 ราย แต่ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้เริ่ม ซึ่งทำคนเดียวไม่ไหวจำต้องหาคนมาช่วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการออกแบบหลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติขึ้น เพื่อให้นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมจากทั่วประเทศตลอดจนประชาชนและเกษตรกรที่สนใจมาเรียนเพื่อจะช่วยออกแบบ

“ตอนนี้มี 2 หลักสูตร หลักสูตรแรกสำหรับนักศึกษาสถาปัตย์ หลักสูตรที่ 2 สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจออกแบบด้วยตัวเอง ทั้งสองหลักสูตรเพิ่งเรียนจบไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นักศึกษาเรียน 10 วัน ของประชาชน 5 วัน ซึ่งในแง่ของการออกแบบแล้วใครก็เรียนได้ แต่ที่จัด 2 หลักสูตรในระยะเวลาเดียวกันเพราะนักศึกษาสถาปัตย์จะมีทักษะและจินตนาการในการเขียนแบบและพรีเซนเทชั่นเก่ง ซึ่งจะช่วยในการออกแบบให้กับประชาชนและเกษตรกรที่อาจออกแบบไม่เก่งและไม่สวย” ผศ.พิเชฐ กล่าว

การออกแบบพื้นที่เกษตรพอเพียง เพื่อการพึ่งตัวเอง


คุณสมบัติของผู้เข้าอบรมออกแบบ

การอบรมหลักสูตรดังกล่าวผู้ที่เข้าอบรมทุกคนต้องผ่านการเรียนรู้พื้นฐานหลักกสิกรรมธรรมชาติ เช่น หลักสูตรในการจัดการดิน น้ำ ป่า ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสอนไว้ ตามศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่มีอยู่ 53 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศมาก่อน ถ้าไม่ผ่านการอบรมจากศูนย์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าอบรมหลักสูตรนี้

“ใครอยู่ใกล้ศูนย์ไหนก็ไปอบรมที่ศูนย์นั้น หรือจะไปศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องของอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ซึ่งเป็นศูนย์ใหญ่ที่ จ.ชลบุรีก็ได้ เมื่อเรียนจบจากศูนย์นั้นๆ แล้วจึงมีสิทธิมาสมัครอบรมหลักสูตรออกแบบพื้นที่ หรือจึงจะมีสิทธิในการขอให้ทางเราช่วยออกแบบพื้นที่ให้ โดยการรับรองของศูนย์ที่ได้ไปเรียนรู้มา ขั้นตอนเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ใครอยากเรียนก็มาเรียนเลย คุณต้องผ่านการเรียนรู้จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาก่อนนี่คือคุณสมบัติเดียวที่ทุกคนต้องมี”

คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า การออกแบบพื้นที่จำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการวางภาพอนาคตให้เห็นก่อนว่าสุดท้ายแล้วที่ดินผืนนี้ของตัวเองนั้นจะพัฒนาไปเป็นอะไร ไม่ใช่นึกอยากจะปลูกอยากสร้างอะไรก็ทำ ไม่ใช่ บางคนอาจตั้งเป้าทำเป็นรีสอร์ทเพื่อการเรียนรู้ บางคนตั้งสถานปฏิบัติธรรม บางคนตั้งอาจเป้าใหญ่กว่านั้น ฉะนั้นจึงต้องวางภาพอนาคตไว้แล้วการออกแบบก็ค่อยๆ ทำไปและทำเป็นพื้นฐานจนถึงภาพใหญ่ที่ตั้งไว้

“ถ้าไม่ออกแบบแล้วไปทำเลยก็ต้องมาแก้ตรงโน้นตรงนี้ทีหลังพานให้เสียเงินมากไปอีก เรื่องที่ดินจึงต้องวางแผนให้ดี เหมือนอย่างสถาปนิกเวลาจะพัฒนาที่ดินเขาต้องทำมาสเตอร์แพลน วางภาพอนาคตให้ออก มองตลาดจะเชื่อมเครือข่ายยังไง จุดเด่นคืออะไร ต้องดูหลายอย่างไม่ใช่ออกแบบอย่างเดียว มันมีเรื่องของพลังงาน แบรนด์ ตลาด แพ็กเกจจิ้ง อะไรๆ เต็มไปหมด ฉะนั้นการออกแบบพื้นที่จึงต้องมาเรียน”

การออกแบบพื้นที่เกษตรพอเพียง เพื่อการพึ่งตัวเอง


ออกแบบพื้นที่จริงให้เกษตรกร

วิทยาพร ภักดีฤทธิบุตร นักศึกษาปริญญาโท สาขาการวางผังเมืองและสภาพแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ หนึ่งในนักศึกษาสถาปัตย์ที่เข้าอบรม ที่ สจล. เล่าที่มาของการเข้าร่วมอบรมให้ฟังว่า เขากำลังทำธีซิสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจึงมองเป็นโอกาสดีจึงได้มาร่วมเวิร์กช็อปด้วยและได้ความรู้มากมายทั้งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการออกแบบพื้นที่

“ใน 10 วันนี้อาจารย์จะพาไปเรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงการพึ่งพาตนเองที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิลักษณ์ธรรมชาติ จ.นครนายก 5 วัน แล้วกลับมาเรียนออกแบบและพัฒนาพื้นที่ที่ สจล.อีก 5 วัน ว่าในพื้นที่นั้นๆ ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น การทำพื้นที่เก็บกักน้ำ การแบ่งพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก การปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อความชุ่มชื้นในพื้นที่ การขุดบ่อ เป็นต้น ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็จะใช้ข้อมูลพื้นที่จริงของประชาชนหรือเกษตรกรที่ต้องการให้ใช้ในการออกแบบจริงและสามารถทำไปใช้ได้เลย” วิทยาพร กล่าว

วิทยาพร กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ที่เขาออกแบบให้นั้นลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบ ที่ อ.สบปราบ จ.ลำปาง เดิมมีเนื้อที่ 12 ไร่ เจ้าของพื้นที่ต้องการทำรีสอร์ท โฮมสเตย์ บ้านดิน แต่พอเรียนไปเกิดเปลี่ยนใจ เพราะคิดว่าทำไม่ไหวจึงลดสเกลลงเหลือ 1 ไร่ 3 งาน จึงให้ออกแบบในส่วนนี้ให้ก่อนและจะไปทดลองทำ ถ้าทำได้เขาก็จะค่อยๆ ขยายไปในพื้นที่ที่เหลือต่อไป

“ในพื้นที่เกือบ 2 ไร่เจ้าของไม่ต้องการทำนาแต่อยากเลี้ยงสัตว์ ปลูกป่า ต้นไม้ทุกระดับ รวมถึงพืชผักสวนครัว มีโรงทำปุ๋ย เตาเผาถ่าน ผมก็ออกแบบโดยใช้คอนเซ็ปต์ของโคก หนอง นาโมเดล มีการขุดบ่อไว้เก็บกักน้ำ เอาดินที่ได้จากการขุดบ่อมาถมที่ทำเป็นโคกเพื่อสร้างที่อยู่และอื่นๆ ที่เจ้าของต้องการ ซึ่งเจ้าของค่อนข้างพอใจกับที่ผมได้ออกแบบให้”

วิทยาพร กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ได้ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการทำธีซิสค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่ภูมิใจมากคือได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีที่ดินแต่ไม่รู้ว่าจะออกแบบยังไงให้ถูกเหมาะสมกับพื้นที่และออกมาสวยงาม   

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล กล่าวว่า หลังจากเวิร์กช็อปหลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติครั้งแรกผ่านไป ปรากฏว่าประชาชนให้ความสนใจมาก ปัจจุบันได้จองเข้ามาถึงรุ่นที่ 4 แล้วทำให้ต้อง
ปรับแผนใหม่เพื่อรองรับความสนใจของประชาชน

“ตอนแรกตั้งใจจัดอีกทีในเดือน ธ.ค. หรือ 6 เดือนจัดครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้ประชาชนจองถึงรุ่นที่ 3 และ 4 แล้ว (รับรุ่นละ 60 คน) จึงต้องปรับมาจัดเป็น 3 เดือน/ครั้ง แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ส่วนใหญ่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย แต่เป็นคนเมืองที่ต้องการเรียนเพื่อไปออกแบบพื้นที่ของตัวเอง อย่างรุ่นแรกที่ผ่านมา 59 คน มีเกษตรกรมาเรียนแค่ 7 คนเท่านั้น”

ขณะที่ระยะเวลาในการเรียน ผศ.พิเชฐ กล่าวว่า จะเรียนทั้งหมด 5 วัน แบบเข้มข้นตั้งแต่ตี 4 ไปจนถึง 4 ทุ่มโดยประมาณ และที่สำคัญ ผู้เรียนจะต้องผ่านการเรียนรู้จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาแล้ว