posttoday

ปณต จุลกะรัตน์ ชีวิตเหมือนปิดเทอมทุกวัน

18 มิถุนายน 2560

เด็กหนุ่มที่เติบโตท่ามกลางสังคมเมืองจ๋า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรือกสวนไร่นา แถมยังเดินทางไปเรียนปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรรม

โดย...สมแขก ภาพ : โรงเรียนต้นไม้

เด็กหนุ่มที่เติบโตท่ามกลางสังคมเมืองจ๋า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรือกสวนไร่นา แถมยังเดินทางไปเรียนปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรรม ที่ประเทศแคนาดา ภาพที่หลายคนมองหรือคิดว่าการงานของหนุ่มคนนี้อาจจะเป็นหนุ่มสถาปนิกที่ทำงานออกแบบอาคารทันสมัย หรือเป็นคนทำงานที่เราเดินผ่านที่ไหนสักแห่งในกรุงเทพฯ แต่เปล่า!!

ป๊อบ-ปณต จุลกะรัตน์ กำลังทำสวนป่าของครอบครัวใน อ.แม่ออน อำเภอเล็กๆ ของ จ.เชียงใหม่ หนุ่มกรุงเทพฯ ขนานแท้และลูกชายคนสุดท้องจากพี่น้อง 3 คน เดินบนเส้นทางมนุษย์เงินเดือนอยู่ 2 ปีเศษ แต่แล้วก็ตัดสินใจบอกครอบครัวว่าจะไปทำสวนป่า “ผมกลับเมืองไทยมา 5 ปีที่แล้ว เริ่มทำงานด้านออกแบบ และทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับครอบครัว ซึ่งมีหมู่บ้านจัดสรรที่ต้องดูแลต้นไม้อยู่ อยู่ต่างประเทศก็พอจะเห็นว่าเขาตัดแต่งต้นไม้ ดูแลต้นไม้อย่างไร มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย ซึ่งผมสนใจงานด้านนี้มาตลอด”

แม้จะทำธุรกิจในครอบครัว แต่ในความรู้สึกของหนุ่มคนนี้ยังคงวนเวียนกับต้นไม้ตลอดเวลา “ผมทำงานประมาณ 2 ปีกว่า ก็รู้สึกว่าอยากมาทำสวนป่า เพราะมาถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าต้องมาคอยไล่ตามตลอด และแม่ก็อยากเกษียณตัวเอง ผมพอไม่ได้ทำงานก็เคว้งเหมือนกัน ช่วงนั้นก็เลยตัดสินใจไปเรียนเกษตรพอเพียง พอไปเรียนก็รู้เลยว่านี่แหละที่เราอยากทำ เหมือนเราได้ใช้ชีวิตเป็นเด็กอีกครั้ง รู้สึกแบบนั้น เหมือนปิดเทอม อยู่บ้าน กินนอนที่บ้าน ได้เจอแม่และคนในครอบครัวทุกวัน พอผมบอกคุณแม่ ท่านพูดแค่ว่าดีมาก ท่านสนับสนุนความคิดผมเพราะแม่เองก็เบื่อกรุงเทพฯ และคงอยากใช้ชีวิตหลังเกษียณนอกกรุงเทพฯ สำหรับผมแม่ก็เป็นหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ออกมาทำสวนนี้ด้วย” ปณต บอกจุดเริ่มต้นของการทำการเกษตรของเขา

ปณต จุลกะรัตน์ ชีวิตเหมือนปิดเทอมทุกวัน

ย้อนกลับไปที่การเริ่มต้นสวนป่าที่ อ.แม่ออน ป๊อบ เล่าว่า “ผมเริ่มไปอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่กลางปี 2557 เพื่อทำสวนป่า และการทำสวนป่าก็ต้องมีตัดแต่งต้นไม้ ตอนกลับมากรุงเทพฯ ยังไม่รู้ว่ามีที่ไหนพอจะอบรมเรื่องนี้ได้บ้าง ก่อนหน้านี้ เราเคยอยากเรียน แต่ต้องไปเรียนถึงออสเตรเลียและไปเจอว่ามีคอร์สอบรมระยะสั้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลยตัดสินใจมาอบรม แต่ต้นไม้ในส่วนป่ายังไม่โต

“แต่สำหรับผมต้นเหตุจริงๆ คือมาจากต้นไม้ใหญ่ในหมู่บ้านในกรุงเทพฯ นี่แหละครับ บวกกับความที่เราอยากขึ้นต้นไม้แบบนั้นด้วย อยากขึ้นไปเพื่อที่เราจะได้ตัดใบกิ่งที่เราอยากตัด คอร์สที่เปิดอบรมที่จุฬาฯ สั้นๆ 2 วัน ตอนนั้นก็ไป ที่บ้านเป็นหมู่บ้านจัดสรรก็มีต้นไม้ที่ปลูกอยู่อายุ 10 กว่าปี เราก็ต้องคอยแต่งมันตลอดเวลา ถ้าเราจ้างเขาก็จะเป็นคนงานที่เขาตัดยอดจนไม่เหลือใบ สุดท้ายเราก็ต้องปีนบันไดขึ้นไปตัดเอง การไปอบรมรุกขกรก็เข้าใจในหลักการแล้ว แต่ในเชิงการปฏิบัติต้องเจาะลึกมากขึ้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัย และอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ เลยตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนต้นไม้ ซึ่งผมเป็นรุ่นที่ 3 ผมว่าดีมากที่มีแบบนี้ในเมืองไทย เพราะว่าเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้องและปลอดภัยสำคัญ”

จังหวะที่ชีวิตกลายมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง ชีวิตที่ปิดเทอมทุกวันของหนุ่มคนนี้จึงเหมือนการเดินทางในเส้นทางใหม่ เส้นทางที่เขาเลือกแม้จะมีหลากหลายอารมณ์ปะปนกันไป แต่สุดท้ายเขาก็พบทางของตัวเอง “ความเป็นจริงความรู้สึกมันปนเปนะครับ ทั้งสนุกทั้งเหนื่อยทั้งท้อ ทั้งผิดหวัง ดีใจ ปนกันหมด เพราะไม่ใช่สิ่งที่เรารู้จักตั้งแต่เด็ก มันเป็นสิ่งใหม่ที่ตอนแรกเราทำก็ท้าทาย ก่อนทำก็ไปหาปราชญ์ชาวบ้าน ศึกษาจากอินเทอร์เน็ตบ้าง ช่วงที่ผมเริ่มทำสวนป่าก็ตระเวนเดินสายขอความรู้จากผู้รู้หลายท่าน ตอนแรกไปอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา และต่อจากนั้นก็ไปอบรมกับอาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ที่กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และขอความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านใน จ.เชียงใหม่ ไปโครงการหลวง

“ช่วงแรกทำยังไงก็ได้ให้ได้เงิน พอเราทำจริงๆ ก็ร้องโอ้โห! พอทำได้ 2 เดือน ก็ล้มเลิกความตั้งใจ เปลี่ยนทางเลยคือทำอย่างที่ใจอยากทำ แม้เงินจะมีปัญหาบ้างแต่เราสบายใจ ช่างมันไม่ต้องอะไรมาก ทำไปเดี๋ยวก็ได้เอง เพราะช่วงแรกเราทำตามกระแส อยากทำตาม อยากได้บ้าง ซึ่งความจริงไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาโพสต์กัน เขาไม่ได้บอกเราว่าเขาผ่านความลำบากอะไรมาบ้าง ถามว่าตอนนี้ผมพบทางตัวเองหรือยัง ผมพบแล้วแต่ยังไม่สุด และคิดว่าตัวเองยังไม่ใช่ตัวจริงหรือประสบความสำเร็จ แต่รู้ว่าสิ่งที่เราอยากทำคืออะไร ผมอยากเป็นสวนเล็กๆ ที่มีของคุณภาพ ใครอยากมากินก็มา แทนที่จะค้าขายเป็นธุรกิจ” ป๊อบ เล่า

ปณต จุลกะรัตน์ ชีวิตเหมือนปิดเทอมทุกวัน

“ผมเหมือนเมนูที่มีส่วนผสมเหล่านี้อยู่ อย่างปราชญ์ชาวบ้านที่บ้านธรรมดา นอนมุ้งแต่เราได้เห็นชีวิตที่มีความสุข นั่งกินข้าวก็ยิ้มแย้ม มีเวลาพักผ่อนนอนเปล ผมเป็นเด็กที่เมื่อก่อนตามกระแสเลย บ้านอยู่ปทุมวัน ชีวิตก็วนเวียนอยู่กับสยาม มาบุญครอง เมื่อก่อนก็จะเฮ้ย! ได้รองเท้าใหม่มาเว้ย มีนาฬิกาใหม่ แต่มองกลับมาที่พวกเขา ทำไมมันเรียบง่ายและแฮปปี้ ตกเย็นหัวเราะเฮฮา นอนหลับในที่อากาศดีๆ ไม่ต้องใช้เงินมากขนาดนั้น อาหารก็มีเนื้อจานหนึ่ง นอกนั้นก็เก็บผักรอบๆ บ้านกิน ผมว่านี่คืออีกมุมมองหนึ่งที่ผมไม่เคยเจอ”

“สำหรับผมเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ยิ่งใหญ่ เหมือนหลักของศาสนาเหมือนกันนะครับ คือเราทำตัวเราเองให้ดี แล้วความดีจะกระจายเผื่อแผ่ไปให้คนอื่นต่อ แล้วคนอื่นได้ความดีของเราไป ก็เหมือนโดมิโนที่จะตีไปเรื่อยๆ ถ้าทุกคนเป็นแบบนี้ได้ ก็จะเกิดสังคมที่มีความสุข”

ปัจจุบันสวนป่าของปณตที่ อ.แม่ออน มีเนื้อที่ 5 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว ด้านในแบ่งพื้นที่ป่าประมาณ 2 ไร่ ในสวนก็จะมีเสาวรส มะละกอ ใบเตย ชะพลู กล้วย มะนาว มะพร้าว และพืชไร่ตามฤดูกาล มีพื้นที่พักอาศัยของเขาและคุณแม่ แต่ว่าจะมีสวนครัวเล็กๆ และมีแปลงที่ถมใหม่อีก 2 ที่ยังว่างอยู่ประมาณไร่ครึ่ง “เมื่อก่อนชีวิตก็มีหลายพาร์ต ตอนนี้เหลือส่วนเดียว ก็คือ ชีวิตในสวนป่า ตอนนี้กำลังวางแผนว่าจะสร้างบ้านอีกหนึ่งหลังสำหรับพี่ๆ ที่จะย้ายมาอยู่ พอมาอยู่กันครบ ก็จะเริ่มทำสวนกันอย่างจริงจัง ถ้ามีลู่ทางก็จะรับตัดแต่งต้นไม้ ตรงนี้ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งลู่ทางที่ผมได้จากโรงเรียนต้นไม้ที่สามารถนำมาใช้ได้จริง” ป๊อบ กล่าว

สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การดูแลต้นไม้ใหญ่ในงานภูมิทัศน์เมือง ระดับผู้ปฏิบัติการ รุ่นที่ 4 โดยภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และกลุ่มบิ๊กทรี ด้วยการสนับสนุนจากบริษัท ปตท.และผลิตภัณฑ์ปลูกสวนแนวตั้ง กรีนพลัส รุ่น คริป-เอ็น-โก จัดขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค.-9 ส.ค. 2560 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. เว้นวันหยุดราชการ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.land.arch.chula.ac.th/news/2017/06/12/1086 หรือลงทะเบียนที่ [email protected] ตั้งแต่วันนี้-3 ก.ค. 2560