posttoday

อรณ ยนตรรักษ์ เด็กไทยจิตอาสาจากเมืองหลวง

17 มิถุนายน 2560

การทำงานหน้าที่ประธานกลุ่มจิตอาสา “LIONHEART” อรณ ยนตรรักษ์ นักเรียนโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ วัย 16 ปี

โดย...ปอย ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช

 การทำงานหน้าที่ประธานกลุ่มจิตอาสา “LIONHEART” อรณ ยนตรรักษ์ นักเรียนโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ วัย 16 ปี เริ่มต้นทำงานจริงๆ จังๆ กล่าวว่า เป็นการปลูกฝังของโรงเรียนที่เน้นให้นักเรียนไม่หยุดทำกิจกรรมแค่ภายในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่เยาวชนควรมีจิตสำนึกรักการทำงานเพื่อสาธารณะ

รวมทั้งในชีวิตส่วนตัวครอบครัว พญ.พันทิดา ยนตรรักษ์ ก็เน้นการสอนลูกชายหญิงทั้งสองคน พีท-อรณ และพี่สาวพิม-พริมา ให้เน้นดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์นักพัฒนาในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

 พีท-อรณ และพี่สาวมีโอกาสทำกิจกรรมจิตอาสากับเพื่อนๆ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเด็กๆ ในถิ่นทุรกันดารของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มต้นจากครอบครัวมีบ้านพักต่างโอกาสอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จึงทำให้เด็กจากเมืองหลวงได้เห็นวิถีชีวิตของชาวอีสาน ได้รู้ว่าบริโภคแมลงเป็นอาหารได้ แต่เด็กๆ ที่นั่นกลับมีสุขภาพแข็งแรงมาก

 ทำให้กลุ่มเด็กโรงเรียนนานาชาติเกิดอยากค้นหาความรู้ และศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง “แมลงกินได้” พี่สาว-พริมา เขียนเป็นหนังสือ 1 เล่ม เพื่อให้ความรู้กับเด็กๆ และคนในท้องถิ่นเห็นว่าแมลงแต่ละชนิดมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ผลงานครั้งนี้ได้แมลงเป็นอาหารแล้ว แมลงยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขายสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย

 “ตอนนี้พี่พิมไปเรียนต่อปริญญาตรีต่างประเทศ ผมจึงสานต่องานจากพี่สาวสานต่อผลงานวิจัยแมลงกินได้ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้ชุมชนใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างพอเพียง มีงานสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน เราริเริ่มโครงการอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนยากจนหลายๆ แห่งในภาคอีสาน และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีครับ

 "เราโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ มีครบทุกอย่าง ได้เรียนโรงเรียนดีๆ แต่ด้วยความที่ครอบครัวของเราค่อนข้างสมถะ คุณพ่อคุณแม่มีที่ดินอยู่ที่อำเภอปากช่อง ทุกวันหยุดสัปดาห์ครอบครัวเราจะไปพักผ่อนที่บ้านในต่างจังหวัด ทำให้ผมได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เด็กบางคนใส่รองเท้าขาดแล้วยังต้องเดินเท้าไปโรงเรียนทุกวัน”

 การแบ่งปันสิ่งดีๆ พีทเล่าว่าเริ่มต้นจากการเก็บออมเงินค่าขนม ไปซื้ออุปกรณ์การเรียน ของเล่น และขนมมาแจกเด็กๆ ซึ่งทุกครั้งที่นำสิ่งของไปบริจาค ก็ได้เห็นรอยยิ้มของทุกคน มันเป็นรางวัลที่สวยงามมากสำหรับเขาและพี่สาว

 “บ้านที่ปากช่องคุณพ่อคุณแม่ปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินในครอบครัว ซึ่งผักที่ปลูกมีทั้งผักสลัดคอส ผักสลัดกลีบกุหลาบ ผักกาดแก้ว ผักสลัดใบแดง แครอต บีทรูต ถั่วแขก ถั่วลันเตา กวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักบุ้ง ผักที่ปลูกสวนในบ้านเราเยอะมากเลยครับ ผมกับพี่สาวจึงคิดกันว่า เราน่าจะนำผักที่ปลูกมาขาย เพื่อรวบรวมเงินจากการขายทั้งหมดนำมาตั้งเป็นกองทุนและนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ในต่างหวัด เราจึงรวมตัวกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนที่มีหัวใจจิตอาสา ตั้งกลุ่ม LIONHEART ขึ้น เป็นเวลา 7 ปีแล้วครับ พวกเราที่โรงเรียนคิดตรงกันว่าจะขอเดินตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"

 เวลาเราไปเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็กในหมู่บ้านหลายแห่ง พีทได้ไปดูสภาพชีวิตของเด็กนักเรียนที่โรงเรียน ได้พูดคุยกับชาวบ้านและคุณครู  ทำให้เห็นถึงปัญหามากมาย โดยเฉพาะอาหารกลางวันที่เด็กๆ เหล่านี้รับประทานกันที่โรงเรียน มีเพียงข้าวและกับข้าวนิดหน่อย ซึ่งคงไม่เพียงพอต่อเด็กวัยที่กำลังเจริญเติบโต

 "เรื่องน่าตกใจมากคือเมื่อได้คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละแห่ง จึงทราบว่า งบประมาณค่าอาหารกลางวันที่ได้จากรัฐบาลเป็นค่าอาหารของเด็กต่อคนต่อวัน เพียงวันละ 14 บาทเท่านั้นเองครับ  ซึ่งไม่เพียงพอเลย ชาวบ้านต้องช่วยๆ กันเอาพืชผักสวนครัวที่มีตามบ้านมาให้ครู มาปรุงอาหารไปได้ในแต่ละมื้อ”

 สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนั้น ได้จุดประกายให้ พีท คิดหาวิธีจะทำอย่างไร ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านี้ดีขึ้น  จึงได้จัดตั้ง "โครงการอาหารกลางวัน" เพื่อเด็กๆ ในโรงเรียนยากจนต่างๆ ขึ้นมา ในปี 2012 โดยเริ่มหาทุนจากผักปลอดสารที่ปลูกไว้เป็นงานอดิเรกขึ้นมา แล้วถ้านำผักไปขายได้ ก็จะทำประโยชน์กับผู้อื่นได้มากขึ้นอีกด้วย

 “เราสองคนพี่น้องขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่เอาไปขายในโรงเรียน รายได้ที่ได้รับจากการขายผักปลอดสาร นำไปเป็นทุนเริ่มต้นในการเริ่มโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนแห่งแรก โดยให้มีการเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ เลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ด ปลูกพืชผักปลอดสาร เพื่อนำผลผลิตที่ได้ มาเสริมประกอบอาหารกลางวันให้เด็กๆ รับประทานอย่างพอเพียงโรงเรียนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง  และไม่ต้องพึ่งพาแต่งบประมาณของทางการเพียงอย่างเดียว ส่วนผลผลิตที่เหลือสามารถขายนำรายได้มาเป็นทุนหมุนเวียนให้กับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนต่อไป เมื่อประสบผลสำเร็จดีจนโรงเรียนนั้นๆ สามารถยืนด้วยตัวเองได้แล้ว เราก็จะเริ่มทำที่อื่นต่อไปเรื่อยๆ  ปัจจุบันสามารถช่วยโรงเรียนต่างๆ ไปได้แล้ว 7-8 โรงเรียน”

 "งานอาสาพัฒนาต่อยอดไปทุกๆ ปี และในปีนี้คือโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด และส่งเสริมการแปรรูปจิ้งหรีดปรุงให้เป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าอื่นๆ เช่น จิ้งหรีดทอดสมุนไพร น้ำพริกจิ้งหรีด เด็กๆ และชาวบ้านในท้องถิ่นก็เห็นว่าสิ่งเล็กๆ ก็สามารถเพิ่มคุณค่าได้ดีมาก แล้วถ้าเรารู้จักใช้แหล่งทรัพยากรตามธรรมชาติรอบตัวที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและยั่งยืน ก็สามารถสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมให้แก่ชุมชนได้ด้วยครับ”  

 โรงเรียนบ้านหนองไม้ตาย จ.นครราชสีมา เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้ปกครองมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน  จากสภาพปัญหาข้างต้น พีทได้เข้ามาช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไม้ตายตั้งแต่ปี 2555 

 โดยการริเริ่มโครงการอาหารกลางวัน  ต่อด้วยให้มีการเลี้ยงจิ้งหรีดตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน  รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต จากกิจกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่ออาหารกลางวันของนักเรียน ทำให้นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไม้ตายทุกคนได้มีอาหารไว้รับประทานอย่างเพียงพอ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับนักเรียนระหว่างเรียนด้วย เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดเป็นน้ำพริกจิ้งหรีด จิ้งหรีดคั่วเกลือ จิ้งหรีดอบแห้ง จิ้งหรีดคั่วสมุนไพร ข้าวพองจิ้งหรีด เป็นต้น 

 ผลิตภัณฑ์ที่จัดทำขึ้นสามารถเก็บไว้รับประทาน  จำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ และส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ของ ต.บ้านหนองบัวน้อย หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์โอท็อป ซึ่งพีท เล่าต่อว่า

 “พี่พิมเขียนหนังสือเรื่อง จิ้งหรีดสามารถเพาะเลี้ยงได้ง่ายเติบโตเร็ว การเพาะเลี้ยงแต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 40-50 วัน สามารถเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน อาหารของจิ้งหรีดก็สามารถหาได้ตามท้องถิ่น มะละกอ แตงโม ผักกาดขาว และใบกะหล่ำ จิ้งหรีดสดขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท จิ้งหรีดทอดกิโลกรัมละ 250-300 บาท การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดถือเป็นการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเราสามารถเลี้ยงและพึ่งพาตัวเองได้ในท้องถิ่นบ้านเกิด ไม่ต้องอพยพไปหางานทำหารายได้เลี้ยงครอบครัวในเมืองใหญ่ ทำให้ต้องทิ้งลูกๆ ไว้ลำพังกับปู่ย่าตายายที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง ทำให้เด็กๆ ต่างจังหวัดขาดการดูแลจากพ่อแม่และเกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีกหลายๆ อย่างเลยนะครับ” 

 โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ คือ โรงเรียนบ้านซับใต้ โรงเรียนบ้านโนนรัง โรงเรียนบ้านหนองไม้ตาย โรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี โรงเรียนบ้านหนองกก และหมู่บ้านใกล้เคียงใน จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี สมุทรสาคร กาฬสินธุ์ จากโครงการดังกล่าวทำให้พีทได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล และโล่เกียรติคุณ ในฐานะเยาวชนผู้เป็นต้นแบบต่อสังคมดีเด่น ในงานพิธีสืบสานพระราชปณิธานสรรค์สร้างงานเพื่อแผ่นดินตามเบื้องพระยุคลบาท น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 “ผมภาคภูมิใจกับรางวัลนี้มาก ที่ได้ดำเนินชีวิตโดยยึดแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ผมเชื่อว่าความรู้สามารถหาได้จากทั้งในตำราในห้องเรียน การเรียนรู้จริงนอกห้องเรียน แล้วถ้าเราสามารถนำความรู้ที่มีมาปฏิบัติจริง จนก่อให้เกิดประโยชน์ โดยตรงต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวม และผู้ต้องการความช่วยเหลือ คำแนะนำให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้นั้นถือว่าเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์การทำงานอาสาเพื่อสังคมได้อย่างแท้จริงครับ”