posttoday

ศิลปะของการเตรียมตัวก่อนตาย

15 มิถุนายน 2560

เรื่องความตาย บางคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวยังมาไม่ถึง บางคนมองเป็นเรื่องปกติที่ไม่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมใดๆ

โดย... โยธิน อยู่จงดี ภาพ เอพี, อีพีเอ, peacefuldeath2011

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่โดยไม่ได้ตระหนักถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ก็คือ เรื่องความตาย บางคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวยังมาไม่ถึง บางคนมองเป็นเรื่องปกติที่ไม่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมใดๆ ในชีวิต แต่แท้จริงแล้วความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด

ในงาน แฮปปี้ เดด เดย์ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ผ่านมาไม่นานได้แสดงให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรตระหนักรู้

เสียงร้องขอของคนใกล้ตาย

“ตอนผมอายุ 14 ปี ที่โรงพยาบาลคุณย่าชวดท่านจับมือไว้ ผมเป็นหลานเพียงคนเดียวที่ยังนั่งฟังใจอยู่ช่วยพูดกับลูกๆ แกได้ไหมว่าช่วยพาแกกลับบ้าน ผมก็พยายามพูดกับคุณลุง คุณป้า แต่ว่าก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายแกก็เสียชีวิตที่อยู่โรงพยาบาล เป็นเรื่องฝังใจของผมจนถึงวันนี้” ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศศาล อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าบางช่วงบางตอนของชีวิต

“หลังจากนั้นผมก็สนใจศึกษาเกี่ยวกับชีวิตและความตายมาโดยตลอด จนผมได้มีโอกาสดูแลคุณพ่อ ซึ่งท่านป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ ตอนที่คุณพ่อผมตรวจเจอ พบว่าท่านเป็นมะเร็งในตับระยะที่ 2 และใกล้ลามไปถึงระยะ 3 หรือจะเรียกว่าระยะ 2.8 ก็ได้ (ดร.สุปรียส์ พยายามเล่าให้ติดตลกแต่น้ำเสียงปนความเศร้า) การประเมินของแพทย์ หมอบอกว่าคุณพ่อผมอาจจะมีเวลาอยู่ได้ไม่เกินประมาณ 3 ปี ตอนนั้นเราก็เริ่มเตรียมใจไว้แล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ หลังจากคุณพ่อได้รับการรักษาและหันมาดูแลสุขภาพท่านสามารถอยู่ได้ถึง 17 ปี เรียกได้ว่าห่างไกลจากตัวเลขที่คุณหมอประเมินมาเยอะมาก

จนถึงช่วงต้นปีที่ผ่านมา คุณพ่อก็ล้มป่วยทรุดหนักลง คุณแม่และญาติๆ ก็พาคุณพ่อไปส่งที่โรงพยาบาล คุณหมอบอกว่าต้องเจาะช่องท้องต่อสายเพื่อทำการรักษา แต่ก่อนหน้านี้ผมเคยพูดคุยกับคุณพ่อเรื่องการตายไว้บ้าง ท่านบอกผมว่า หากท่านจะตายอย่าเอาอะไรมาเจาะคอเจาะท้องแบบนั้นท่านไม่เอา ขอให้ท่านไปเลยดีกว่าไม่อยากทรมาน ถ้าเป็นยังไงก็ขอเสียชีวิตที่บ้าน แต่สิ่งที่ผมพบหลังจากกลับมาจากต่างจังหวัด ก็คือ คุณพ่อถูกเจาะช่องท้องไปเรียบร้อยแล้ว

ผมถามคุณพ่อว่าเกิดอะไรขึ้น คุณพ่อบอกว่าคุณแม่และญาติๆ พยายามจะยื้อท่านเอาไว้ ปัญหาก็คือเราจะสื่อสารกับญาติพี่น้องอย่างไร โดยเฉพาะญาติพี่น้องที่เป็นคนจีน ซึ่งการพูดเรื่องความตายที่เป็นเรื่องอัปมงคล ผมรู้ตัวเลยว่าในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก สภาพของคุณพ่อก็ทรุดลงทุกวัน ท่านบอกกับผมว่าท่านรู้ตัวว่าท่านคงไม่รอด ก่อนที่สติจะเริ่มเลือนลางด้วยฤทธิ์ยา ท่านบอกกับผมว่า อยากกลับบ้านท่าน ผมต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเจรจากับคุณหมอและญาติพี่น้อง

คุณหมอบอกกับผมว่าน่าจะลองดูก่อนนะ โอกาสยังพอมี แต่สำหรับผมที่เห็นสภาพพ่อในวันนั้น ผมรู้ตัวเราว่าคุณพ่อท่านอาจจะไม่ได้อยู่กับเราอีกต่อไป แล้วตัวคุณพ่อเองก็รู้ตัวว่าแกก็จะไม่รอด ตอนนั้นผมอึดอัดมาก แล้วคุณหมอก็พูดวนไปวนมาเกี่ยวกับเรื่องของการรักษา ญาติๆ ก็บอกว่าไม่เอากลับไปตายที่บ้าน มันอัปมงคล

สุดท้าย ผมตัดสินใจนัดญาติมาคุยกันที่โรงพยาบาล ผมถามคุณหมอตรงๆ เลยว่า ถ้าเป็นคุณพ่อของคุณหมอ เป็นคนรักของคุณหมอ เห็นสภาพคนที่คุณหมอรักเป็นแบบนี้ แล้วเขาบอกอยากกลับบ้าน ถ้าเป็นคุณหมอจะตัดสินใจยังไง คุณหมอจะยอมให้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านตามที่เขาขอร้อง คุณหมอบอกว่าถ้าเป็นคุณพ่อผม ผมจะพากลับบ้าน ผมบอกกับคุณหมอว่า คุณหมอครับในช่วงเวลาสุดท้ายของพ่อ ผมอยากให้พ่อมีความสุข ผมขอพาพ่อกลับบ้านตามที่พ่ออยากได้ไหม

จากนั้นก็ดำเนินเรื่องเอกสารพาออกจากโรงพยาบาล สุดท้ายคุณพ่อก็ได้กลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ก่อนที่ท่านเสียชีวิต ท่านหันมายิ้ม เอื้อมมือมาแตะทุกคน แล้วท่านก็จากไปอย่างสงบ

เหตุการณ์หลังจากนั้นก็มีญาติของผมหลายคนที่เริ่มเปลี่ยนความคิด จากเดิมที่คิดว่าไม่ควรนำผู้ป่วยให้กลับมาเสียชีวิตที่บ้าน เขาก็จะเริ่มเห็นว่า แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็จะมีญาติบางคนที่เขาไม่พูดคุยกับผมอีกเลย แต่ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา ไม่ได้คิดจะไปทะเลาะเบาะแว้งอะไรด้วย เพราะผมก็เข้าใจกับการที่เติบโตมาในวัฒนธรรมจีน ความเชื่อของชาวจีนที่ไม่ควรนำคนตายเข้าบ้าน ถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคล แต่ผมเชื่อว่าผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ส่วนใหญ่หากเลือกได้ก็อยากจะเลือกกลับไปเสียชีวิตที่บ้านเหมือนกันหมด”

ศิลปะของการเตรียมตัวก่อนตาย


เรากลัวความตายเพราะอะไร


พิเชษฐ์ กลั่นชื่น นักเต้นไทยร่วมสมัย ผู้มีชื่อเสียงด้านการเต้นโขนในต่างประเทศ เป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจศึกษาแนวความคิดเรื่องชีวิตและความตาย เขาตั้งคำถามสำคัญในเวทีเสวนาได้อย่างน่าคิดว่า แท้จริงแล้วในเรื่องของความตายเรากลัวอะไรกันแน่

ชายหนุ่ม ถามคำถามสำคัญชวนให้เราขบคิดต่อว่า ที่เรากลัวเพราะเรากลัวในเรื่องความไม่รู้ว่าชีวิตหลังความตายจะเป็นอย่างไรหรือเปล่า หรือเรากลัวว่าความตายจะสร้างความความเจ็บปวดกับร่างกายเราหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดเราคิดว่าถ้าเราทำบุญมามากพอในระหว่างที่ยังมีชีวิต และได้เกิดใหม่ สุขสบายในโลกหลังความตาย เราจะยังกลัวตายอยู่อีกหรือเปล่า

“ดังนั้นเราจะต้องถามกับตัวเองให้ดี ว่าแท้จริงแล้วเรากลัวอะไรกันแน่ คิดว่าถ้าเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังความตายทั้งหมด เราก็จะไม่กลัวกับความตายเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ที่เรากลัวก็คือกลัวเพราะความไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป จนทำให้มีคนมายื่นข้อเสนอให้เราทำแบบนั้นแบบนี้ เพื่อชีวิตหลังความตายจะได้เป็นแบบนั้นแบบนี้ เราก็ทำแค่เพียงคาดหวังว่าจะได้ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าจริงหรือเปล่า

หรือเรากลัวตาย เพราะเรายังยึดติดกับเพื่อนกลุ่มเดิมๆ อยู่กับครอบครัว ญาติ พี่น้องที่ทำให้ชีวิตเราสนุก มีความสุข กลัวว่าจะจากพวกเขาไป แต่ถ้าเรารู้ว่าถ้าเราตายไปแล้วเจอเพื่อนกลุ่มใหม่ที่สนุกกว่า เราจะกลัวอยู่ไหม นั่นคือ เรากลัวเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันที่ผมมอง ก็คือ การที่เราพยายามฝืนธรรมชาติของชีวิต ก่อนที่เราจะต้องรับรู้เรื่องความตาย เราต้องรู้กฎพื้นฐานของชีวิตมีอยู่ 4 ข้อ ก็คือ เกิดแก่ เจ็บ และตาย คนเราในปัจจุบันฝืนในเรื่องของความตาย อย่างเช่น เราเกิดแล้วเราจะไม่แก่เลย เพราะเราพยายามต่อสู้กับความชรา เคยเห็นคนอายุ 60 แล้วหน้าตึงไหมครับ นั่นคือคนเราต่อสู้กับความชราและไม่ยอมรับ พยายามที่จะข้าม
ขั้นตอนคือเกิด แล้วจะไม่เจ็บ ไม่แก่ เราจึงไม่ตระหนักถึงความตาย คำสุดท้ายในกติกาธรรมชาติ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนเราในปัจจุบันเป็นแบบนั้น ก็คือ เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาสอดแทรกกฎพื้นฐานของธรรมชาติ การพัฒนาของวงการแพทย์เพิ่มขึ้น ทำให้เราเอาชนะโรคภัยต่างๆ ที่เคยคร่าชีวิตมนุษย์ เทคโนโลยีเข้ามาทำให้เราไม่แก่ เมื่อรู้สึกไม่แก่ เราจึงไม่สนใจคำว่าความตายมากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาสูงขึ้น จึงทำให้สร้างความกลัว เกิดความคาดหวัง และยอมรับความจริงในเรื่องของความตายห่างไกลขึ้นไปเรื่อยๆ”

ศิลปะของการเตรียมตัวก่อนตาย


ความตายคือสัจธรรมชีวิต

“แท้จริงแล้วช่วงเวลาใกล้ตาย คือ นาทีทองที่จะได้เห็นสัจธรรมของชีวิต พระอรหันต์หลายรูปในอดีตก็เคยบรรลุอรหันต์ได้ในช่วงเวลาก่อนตาย ความตายจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด แค่เราเตรียมใจยอมรับ และเมื่อใจเรายอมรับ เราก็จะรับความตายอย่างเป็นสุข” พระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ แสดงธรรมเรื่องความตายไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“มีเหตุผลมากมายที่ทำให้หลายคนไม่รังเกียจความตายและพร้อมรับความตาย นั่นเพราะเขาเห็นว่าความตายนั้นมีประโยชน์ คนเรามักจะเห็นมองแต่โทษของความตายมัน ว่าเป็นวิถีที่ร้ายแรงของชีวิต แต่ที่จริงความตายนั้นมันมีคุณค่ามากมาย ในเวลาที่เรากำลังจะตายเราจะเริ่มตระหนักถึงความสูญเสียพลัดพราก แสดงธรรมให้เราเห็นว่า ชีวิตนั้นไม่เที่ยง สังขารนั้นเป็นทุกข์

หากคนรุ่นก่อนไม่ตายแล้วคนรุ่นหลังจะมีโอกาสจากคนรุ่นก่อนได้อย่างไร ที่จริงแล้วเราต้องขอบคุณสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ที่ทำหน้าที่ตาย ให้มีอาหารกิน มีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตของเรา เพราะเราได้อาศัยชีวิตของพืชและสัตว์จากความตายของพวกเขาจึงทำให้เราได้อยู่ เราต้องขอบคุณความตายของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อที่จะได้สร้างเซลล์ใหม่ให้เรามีชีวิตที่ดีต่อไป

ถ้าเซลล์ไม่ยอมตาย ขยายตัวอยู่เรื่อยๆ นั่นก็คือเซลล์มะเร็ง ก็จะเป็นเราที่ต้องตายไปเอง และเมื่อถึงเวลาที่สมควร เราก็ต้องทำหน้าที่ตายด้วยเช่นกัน และเมื่อรู้ว่าความตายเป็นหน้าที่ เราก็ต้องรู้ว่าเราก่อนตายควรจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หน้าที่ต่างๆ ที่เราได้รับมอบหมายในการเป็นลูกที่ดี เป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี ให้ผู้คนพูดถึงเราในทางที่ดีก่อนตายแล้วหรือยัง หากเราทำหน้าที่นี้ดีแล้ว เราก็มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบ

การตายอย่างสงบเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ใช่จำกัดเฉพาะพระหรือว่านักปฏิบัติธรรม ดังนั้นการที่เรารู้จักการปล่อยวาง การที่เราเห็นความตายเป็นหน้าที่ จะช่วยให้เรามีการเตรียมตัวทำความดีเพื่อตายอย่างสงบ

เหตุผลหนึ่งของคนที่กลัวตาย ก็เพราะกลัวว่าหลังตายแล้วจะต้องรับกรรมชั่ว เพราะชีวิตที่ผ่านมาของเขาทำแต่เรื่องแย่ๆ จึงพยายามร้องขอโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อแก้ไขในสิ่งที่ทำผิดพลาดไป แต่หากเราทำความดี รู้จักหน้าที่ของการตาย เข้าใจว่าเป็นสัจธรรมของชีวิตเรา ใจเราก็จะสงบและจากไปอย่างสงบท่ามกลางความดีที่เราทำไว้”

พระไพศาลท่านกล่าวทิ้งท้าย ทำให้เราตระหนักถึงชีวิตที่ผ่านมาและคิดไกลถึงอนาคตที่จะมาถึงได้ทุกเมื่อ ถ้าเรามองทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทุกอย่างมีวันหมดอายุเสมอ ไม่มีใครที่ได้สิทธิที่อยู่ยงคงกระพัน ไม่ใช่คนที่รักตายจากเราไป ก็เป็นเราที่ต้องไปเป็นเรื่องธรรมดา

ดังนั้น เราจึงควรมองความตายเป็นบทเรียนที่ดี ว่าเราจะใช้ช่วงชีวิตที่เหลืออย่างไรให้มีประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น หันมาพูดคุยเรื่องความตายอย่างเป็นปกติ ไม่ต่างจากที่เราพยายามพูดคุยเรื่องเพศ ให้รู้แจ้งถึงการป้องกันปัญหาที่จะตามมา ความตายก็เช่นกัน ลองถามตัวเราเสียแต่ตอนนี้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่และตายจากไปอย่างไร