posttoday

มหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ รวมศิลปินถวายเกียรติสูงสุดแด่องค์อัครศิลปิน

12 มิถุนายน 2560

กรมศิลปากร เตรียมการจัดการแสดงมหรสพสมโภช ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

โดย...ชุติมา สุวรรณเพิ่ม ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล, ภวัต เล่าไพศาลทักษิณ

การถวายพระเพลิงพระบรมศพแต่ครั้งโบราณกาล จัดเป็นงานใหญ่ มีมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิ เป็นแบบแผนสืบทอดกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพื่อให้ประชาชนคลายความโศกเศร้า ถือว่าเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน ทั้งยังเสมือนเป็นการแสดงพระกฤดาธิการของพระมหากษัตริย์

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระอัจฉริยภาพในศิลปะด้านต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แด่พระองค์เป็นที่ประจักษ์ใจแก่ประชาชนไทยทั่วแผ่นดิน

งานออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง วันที่ 26 ต.ค.นี้ จึงเป็นการรวมหัวใจศิลปิน 3,084 คน แสดงถวายเกียรติสูงสุดแด่ “องค์อัครศิลปิน” เป็นครั้งสุดท้าย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร เตรียมการจัดการแสดงมหรสพสมโภช เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีการแถลงข่าวการแสดงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานการแถลงข่าวอธิบายรายละเอียดพร้อมกับ อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมแถลงข่าว ณ โรงละครแห่งชาติ

มหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ รวมศิลปินถวายเกียรติสูงสุดแด่องค์อัครศิลปิน


มีการแสดงการบรรเลงดนตรีสากลในบทเพลงพระราชนิพนธ์ แผ่นดินของเรา และอีกบทเพลงในหัวใจชาวไทย เพลงต้นไม้ของพ่อ การแสดงหนังใหญ่ และโขนชุดพระรามข้ามสมุทร การแสดงละครเรื่องพระมหาชนก ซึ่งคนไทยจะได้ชมมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ กันยาวนานข้ามคืนเลยทีเดียว

6 โมงเย็น ถึง 6 โมงเช้า

มหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ จัดตามโบราณราชประเพณี โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินรอยตามจารีตประเพณีครบถ้วนกระบวนความ ในรายละเอียดต่างๆ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม แถลงข่าวร่วมกับ อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

แม่งานใหญ่เจ้ากระทรวงวัฒนธรรม อธิบายย้อนไปในโบราณราชประเพณี มีการจัดมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ ซึ่งเป็นแบบแผนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้ประชาชนได้ชมและก็ถือว่าเป็นการออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน

“เมื่อครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการบันทึกการจัดมหรสพสมโภชของพระเมรุตามแบบแผนโบราณราชประเพณี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ครั้งนั้นการก่อพระเมรุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ปี 2349 และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 มีงานออกพระเมรุหลายงาน คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี งานออกพระเมรุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

นอกจากนี้ ยังมีงานออกพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อปี 2549 เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นการดนตรีและการ
แสดงมหสพ ซึ่งเป็นแนวคิดเพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเหงา เหมือนเมื่อครั้งถวายพระเพลิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2528 และยังเป็นการรักษาโบราณราชประเพณีเอาไว้ด้วย” วีระ อธิบายรายละเอียดการแสดงในงานใหญ่ในปลายปีนี้

มหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ รวมศิลปินถวายเกียรติสูงสุดแด่องค์อัครศิลปิน


รายละเอียดต่างๆ ของมหรสพสมโภช อธิบดีกรมศิลปากร ได้อธิบายเพิ่มเติมในส่วนการแสดงชุดใหญ่หน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) ที่เรียกว่า โขนหน้าไฟ กำหนดจัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด พระรามข้ามสมุทร-ยกรบ  เป็นการแสดงปิดท้ายเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งการแสดงสำคัญชุดยกรบนั้นเป็นโขนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรแสดงในการต้อนราชอาคันตุกะอยู่เสมอ จึงได้เลือกการนำชุดนี้

“ในระหว่างที่มีการแสดงเพื่อรับราชอาคันตุกะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการแสดง ให้กรมศิลปากรได้ไปปรับปรุง ให้มีความพร้อมเพรียงความสวยงามอยู่เสมอ ดังนั้น การนำชุดนี้เข้ามาก็เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ผู้แสดงคือนาฏศิลปิน จากสำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัย
นาฏศิลปทั่วประเทศ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้แสดง ผู้พากย์-เจรจา ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 300 คน

เวลาแสดงเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น.
ของวันรุ่งขึ้น ในการแสดงเป็นการแสดงต่อเนื่อง ยกเว้นอาจมีการหยุดบ้างในระหว่างมีพระราชพิธีที่พระเมรุมาศ แต่อย่างไรก็ตาม จะแสดงต่อเนื่องเมื่อพระราชพิธีทางการนั้นจบ” อนันต์ อธิบายรายละเอียด

3 เวทีทิศเหนือท้องสนามหลวง


การแสดงมหรสพ ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ มี 3 เวที ทุกเวทีกำหนดเวลาเริ่มแสดง 18.00 น. ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนถึงเวลา 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น โดยการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ

ประกอบด้วย เวทีการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระและโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยนาฏศิลปินของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมด้วยครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป 12 แห่ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวน 1,020 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 1,120 คน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ประมาณ 200-300 คน

การแสดงมี 3 ส่วน ได้แก่ การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ผู้แสดงเป็นครูอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับครูอาวุโส สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร เป็นการแสดงของกรมศิลปากร

การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทาน (มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ)

มหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ รวมศิลปินถวายเกียรติสูงสุดแด่องค์อัครศิลปิน


เวทีการแสดงละคร หุ่นหลวงและหุ่นกระบอก ประกอบด้วยละคร เรื่องพระมหาชนก การแสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการเวก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครในเรื่องอิเหนา ตอนบุษบาชมศาล - อิเหนาตัดดอกไม้ - ฉายกริช - ท้าวดาหาบวงสรวง และละคร เรื่องมโนห์รา ผู้แสดง บรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 322 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 422 คน

เวทีการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดงความอาลัย และบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ 7 องก์ โดยผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดงจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดง 753 คน ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 189 คน รวมทั้งสิ้น 942 คน

วีระ ในฐานะแม่งานหลัก อธิบายการแสดงทั้งการแสดงโขน การแสดงต่างๆ เป็นการเทิดพระเกียรติในนามของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักผู้รับผิดชอบจัดมหรสพสมโภชที่ต้องจัดให้สมพระเกียรติ

“ไฮไลต์ของการแสดงในวันนั้นเป็นการแสดงโขนและหนังใหญ่ การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร กำกับการแสดงหนังใหญ่และโขน โดย สุรัตน์ เอี่ยมสะอาด การซ้อมต่างๆ เริ่มซ้อมกันแล้วครับ ดังนั้น วันจริงวันที่ 26 จะเป็นการเผยแพร่ไปทั่วโลก มีการถ่ายทอดสด มีสื่อมวลชนต่างประเทศมาเข้าร่วม ดังนั้นจุดนี้ก็ต้องครบถ้วน สมบูรณ์ และสมกับพระเกียรติยศ

การแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ ถือเป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งโบราณ โดยมีจุดประสงค์ให้ประชาชนชม และถือว่าเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน”

วีระ กล่าวอธิบายรายละเอียดงานออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งจะเป็นการรวมใจภักดิ์ของปวงไทยได้มืดฟ้ามัวดินอีกครั้งหนึ่ง