posttoday

วิจิตรศิลปกรรมไทย ‘ฉากบังเพลิง’ พระเมรุมาศในหลวง ร.9

15 พฤษภาคม 2560

ส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของงานพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ฉากบังเพลิง

โดย...วราภรณ์ ผูกพันธ์, กองทรัพย์ ชาตินาเสียว ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของงานพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ฉากบังเพลิง ซึ่งถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ โดยคติในการทำได้รับแรงบันดาลใจมาจากความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ เรื่องราวเกี่ยวกับภพภูมิต่างๆ ในจักรวาล รวมทั้งการเวียนว่ายตายเกิดและบาปบุญคุณโทษ อันงดงาม

ฉากบังเพลิงที่จะใช้ประกอบพระเมรุมาศในหลวง รัชกาลที่ 9 ครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรื่องราวงานจิตรกรรม วาดลงบนฉากบังเพลิง ที่ใช้สำหรับกั้นลมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่น่าจับตามอง เพราะได้นำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ คัดเลือกให้เหมาะกับภาพในแต่ละด้านเพื่อน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงทำไว้เพื่อปวงชนชาวไทยตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์

กรมศิลปากรคัดเลือกโครงการตามแนวพระราชดำริ

ฉากบังเพลิง มีลักษณะเป็นฉากพับได้ ติดอยู่กับเสาพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ใช้สำหรับกำบังลมหรือใช้ประโยชน์ในการปิดบังสิ่งที่ไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกเห็นได้สะดวก

อาจารย์มณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สํานักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุที่ต้องวาดฉากบังเพลิงขึ้นมาใหม่ เพราะแต่ละพระเมรุมาศ แต่ละพระองค์มีเรื่องราวการทรงงานที่ไม่เหมือนกัน ฉากบังเพลิงจะเป็นการนำเรื่องราวพระราชกรณียกิจมาวาดเป็นภาพ ทางคณะทำงานได้นำเรื่องราวของพระนารายณ์อวตาร พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ที่มีทั้งหมด 10 ปาง แต่น้อมนำมาเพียง 8 ปาง วาด 4 ทิศ 4 ด้าน แต่ละด้านมี 4 ชิ้น แต่ละชิ้นมี 2 ส่วน คือด้านบนกับด้านล่าง ด้านบนเป็นเนื้อหาเทวดาที่อวตารลงมาทำความดี และเป็นการรับเทวดากลับคืนสู่สรวงสวรรค์ ส่วนด้านล่างเป็นโครงการพระราชดำริแต่ละด้าน หมวด ดิน น้ำ ลม ไฟ

วิจิตรศิลปกรรมไทย ‘ฉากบังเพลิง’ พระเมรุมาศในหลวง ร.9

ภาพแต่ละภาพที่จรดวาดลงไปในแต่ละด้านของฉากบังเพลิง กรมศิลปากร สํานักช่างสิบหมู่ และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ฯลฯ ได้ร่วมกันคัดเลือกโครงการต่างๆ มาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวจิตรกรรม อาจารย์มณเฑียร จิตรกรเชี่ยวชาญ สํานักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้รับผิดชอบงานเขียนจิตรกรรมบนฉากบังเพลิง เล่ารายละเอียดว่า ฉากบังเพลิงสูง 4.4 เมตร กว้าง 5.35 เมตร มี 2 ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้าประกอบด้วย 4 ช่อง ช่องละ 2 ส่วน ช่องบนประกอบด้วยพระนารายณ์อวตาร จำนวนทั้งหมด 8 ปาง โดยในหลวง รัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ในพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด เปรียบเป็นพระนารายณ์ปางที่ 9

ดิน น้ำ ลม ไฟ และโครงการพระราชดำริ

บนฉากบังเพลิงยังมีเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 24 โครงการ แยกตามหมวด ดิน น้ำ ลม ไฟ

ด้านทิศเหนือ หมวดน้ำ ช่องด้านบน แสดงเรื่องราวพระนารายณ์อวตาร ฉบับพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 ในปางที่ 1 มัสยาอวตาร ทรงอวตารเป็นปลากรายทอง ช่องกลางด้านขวาบน ปางที่ 2 กูรมาวตาร ทรงอวตารเป็นเต่า ช่องกลางด้านซ้ายบน ขนาบซ้ายขวาพระนารายณ์อวตาร ด้วยกลุ่มเทวดาที่ลงมาแสดงความสักการะแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และรับกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์

สำหรับช่องด้านล่างของทั้ง 4 ช่อง รวมถึงช่องด้านล่างของบริเวณทางขึ้นบันได 2 ด้าน จะมีภาพจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งหมด 6 โครงการ ดังนี้ ฝนหลวงแก้ปัญหาความแห้งแล้ง ภาคอีสาน โดยเลือกพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝายต้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศ บำบัดน้ำเสีย

วิจิตรศิลปกรรมไทย ‘ฉากบังเพลิง’ พระเมรุมาศในหลวง ร.9

ทิศตะวันออก หมวดดิน ประกอบด้วยช่องด้านบน พระนารายณ์อวตาร ปางที่ 3 วราหาวตาร ทรงอวตารเป็นหมูป่า ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร ทรงอวตารเป็นนรสิงห์ มีกลุ่มเทวดาขนาบข้างพระนารายณ์ทั้งซ้ายและขวา ช่องด้านล่างรวมถึงบริเวณทางขึ้นบันได ประกอบด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 โครงการ ได้แก่ ดินกรวด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ดินเค็ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโครงการหุบกะพง-ดอนห้วยขุน ดินดานลูกรัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง และดินเปรี้ยว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

ทิศใต้ หมวดไฟ ประกอบด้วยช่องด้านบน พระนารายณ์อวตาร ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพราหมณ์ปรศุราม ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ ปางที่ 7 รามาวตาร ทรงอวตารเป็นพระรามในรามเกียรติ์ มีกลุ่มเทวดาขนาบข้างพระนารายณ์ทั้งซ้ายและขวา

ส่วนด้านล่างรวมถึงทางขึ้นบันไดจะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 โครงการ ประกอบด้วยสบู่ดำ ปลูกเพื่อสกัดน้ำมัน สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซล ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โรงงานผลิตไบโอดีเซล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เชื้อเพลิงอัดแท่ง แกลบอัดแท่ง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก๊าซชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

ทิศตะวันตก หมวดลม ประกอบด้วยช่องด้านบน พระนารายณ์อวตาร ปางที่ 8 กฤษณาวตาร ทรงอวตารเป็นพระกฤษณะ ปางที่ 10 กัลกยาวตาร ทรงอวตารเป็นมนุษย์ขี่ม้าขาว มีกลุ่มเทวดาขนาบข้างพระนารายณ์ทั้งซ้ายและขวา

ช่องด้านล่างประกอบด้วยกังหันลม โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ จ.เพชรบุรี เพื่อการผันน้ำจากที่ต่ำชักน้ำขึ้นที่สูง กังหันลม โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน จ.เชียงใหม่ กังหันลม โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและกังหันลมสูบน้ำ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และบางกะเจ้า ปอดของกรุงเทพฯ พระราชดำริพื้นที่บางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นปอดของกรุงเทพฯ เนื่องจากลมมรสุมจากอ่าวไทยจะพัดเอาอากาศบริสุทธิ์ที่ผลิตจากพื้นที่แห่งนี้เข้าฟอกอากาศเสียในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าปีละ 9 เดือน

วิจิตรศิลปกรรมไทย ‘ฉากบังเพลิง’ พระเมรุมาศในหลวง ร.9

“ฉากบังพระเพลิงครั้งนี้ทีมงานได้นำเรื่องราวของพระนารายณ์อวตารจากฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 โดยคัดเลือกมา 8 ปางจากทั้งหมด 10 ปาง ยกเว้นปางที่ 5 และปางที่ 9 ที่ไม่ได้คัดเลือกมา จากนั้นได้มีการออกแบบลวดลายหรือร่างแบบจิตรกรรม ตามมาด้วยการสเกตช์สีต้นแบบ แล้วจึงขยายแบบสัดส่วนเหมือนจริง 1 ต่อ 1 เพื่อให้เห็นรายละเอียด นำไปคัดลอกลงบนผ้าใบแคนวาสก่อนลงสีอะครีลิกอีกครั้ง

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการลงสีบนผ้าใบแคนวาส ตามที่ได้มีการคัดลอกลวดลายลงมา โดยได้ลงสีฉากหลังครบทั้ง 4 ด้านแล้ว อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดพระนารายณ์ กลุ่มเทวดา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยภาพเขียนจิตรกรรมบนผ้าใบแคนวาสทั้ง 4 ด้าน ต้องแล้วเสร็จเพื่อนำไปติดตั้งที่ฉากบังเพลิงที่เป็นไม้ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้” มณเฑียร กล่าว

ภาพเขียนจิตรกรรมบนฉากบังเพลิงและพระที่นั่งทรงธรรม เป็นศิลปะชั้นสูง รัชกาลที่ 9 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ช่างจิตรกรรม กรมศิลปากร ได้ถวายงานแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งประชาชนทั่วไปจะได้เห็นความงดงามของฉากบังเพลิงนี้ตอนจัดเป็นนิทรรศการหลังวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว

ความภูมิใจ ครั้งหนึ่งในชีวิต

ปัญญา โพธิ์ดี สังกัดกลุ่มศิลปประยุกต์ สำนักช่างสิบหมู่ กำลังขะมักเขม้นกับผ้าใบแคนวาสตรงหน้าเพื่อลงสีเสื้อผ้าอาภรณ์ของเหล่านางฟ้าเทวดาบริวารที่รายล้อมพระนารายณ์ในปางต่างๆ ปัญญา กล่าวว่า หน้าที่ของกลุ่มคือออกแบบตราสัญลักษณ์ต่างๆ แต่ในงานออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตนได้ทำหน้าที่ช่วยลงสีในฉากบังเพลิง ซึ่งเป็นงานที่สร้างสรรค์ใหม่ทั้งหมด เป็นส่วนที่เขาได้ใช้วิชาจิตรกรรมไทยจากวิทยาลัยเพาะช่างได้เต็มประสิทธิภาพ

“ผมเพิ่งได้รับบรรจุให้เข้ามาทำงานที่สำนักช่างสิบหมู่ ดังนั้นงานจิตรกรรมฉากบังเพลิงจึงเป็นงานใหญ่งานแรกที่ผมจะได้ทำถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 ความรู้สึกที่ได้มาทำงานรับใช้ในครั้งนี้ จะบอกว่าภูมิใจ หรือปลื้มใจก็ไม่ได้เต็มปาก เพราะก็เสียใจด้วย แต่ผมก็จะทำหน้าที่ให้เต็มที่และดีที่สุด” ปัญญา กล่าว