posttoday

ดีเอไอแอล ซิสเต็ม ระบบตรวจจับการหกล้ม

13 พฤษภาคม 2560

การหกล้มในผู้สูงวัยกลายเป็นปัญหาสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษาขององค์กรสุขภาพโลกปี 2555 พบการหกล้มที่รุนแรง

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์

 การหกล้มในผู้สูงวัยกลายเป็นปัญหาสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษาขององค์กรสุขภาพโลกปี 2555 พบการหกล้มที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมีจำนวนถึง 424,000 คนจากทั่วโลก จะดีหรือไม่ ถ้าเราสามารถตรวจจับการหกล้ม กิจกรรมต่างๆ และพิกัดตำแหน่งของผู้สูงอายุภายในบ้านได้จากสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว!

 สิทธิชัย สุครีพ หนุ่มวัย 34 ปี นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าของโครงการเล่าว่า การเสียชีวิตจากการหกล้มมากกว่า 80% เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยสองในสามของประเทศที่เสียชีวิตเกิดขึ้นในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 จากการสำรวจระหว่างปี 2542-2553 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการหกล้มปีละประมาณ 1,600 คน โดยอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สองในสามเป็นบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี และหนึ่งในสามเป็นบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงจากการหกล้มเพิ่มขึ้นตามอายุ เพศหญิงส่วนใหญ่หกล้มในบ้าน เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว เพศชายส่วนใหญ่หกล้มนอกบ้าน

 สิทธิชัยเล่าว่า งานวิจัยจากทั่วโลกรับรองผลตรงกันว่า การบาดเจ็บจากการหกล้มป้องกันได้ และสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา หากได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที กรณีมีระบบการตรวจจับการหกล้มหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อผู้หกล้ม แล้วทำการแจ้งให้บุคคลในครอบครัว ญาติที่อยู่ห่างไกล หรือแพทย์ประจำตัวของผู้ใช้งานระบบรายนั้นๆ ได้ทราบ ก็จะช่วยได้มาก

ดีเอไอแอล ซิสเต็ม ระบบตรวจจับการหกล้ม

 นั่นเป็นที่มาของโครงการพัฒนาระบบการตรวจจับการหกล้ม กิจกรรมต่างๆ และพิกัดตำแหน่งภายในบ้านด้วยสมาร์ทโฟน หรือ DAIL System : Detect the Daily Activities and In-house Locations Using Smartphone System ระบบจะตรวจจับการล้ม ท่าทางต่างๆ และตรวจจับพิกัดตำแหน่งของผู้ใช้งานในรูปแบบเรียลไทม์

 เครื่องมือสำคัญคือสมาร์ทโฟน ที่ผู้ใช้งานจะพกไว้ในบริเวณที่กำหนดคือ กระเป๋ากางเกง ต้นขา ต้นแขน และเอว โดยจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งข้อมูลจากเซ็นเซอร์วัดความเร่ง (Accelerometer) และความแรงของสัญญาณ Wireless ที่ได้รับมาจาก Access Point (AP) ไปยังเครื่อง Server จากนั้นระบบจะทำการแยกท่าทาง (ของผู้ใช้งาน) และพิกัดตำแหน่งในบ้านด้วยโมเดลที่สร้างขึ้น

 “สิ่งที่เราทำเรียกว่า การทำเหมืองข้อมูล หรือดาต้าไมนิ่ง โดยระบบจะทำการประมวลระดับของความเสี่ยง ถ้าเห็นว่าท่าทางของผู้ใช้งานเสี่ยงต่อการล้มลื่น จะแจ้งเตือนด้วยการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของญาติหรือแพทย์ประจำตัวของผู้ใช้งานรายนั้นทันที”

 นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถทำการตรวจสอบข้อมูล ตรวจจับท่าทางการล้มหรือก่อนล้ม ย้อนหลังกลับไป พร้อมสอบทานระดับความเร็วและความรุนแรงของการล้ม เพื่อใช้ประกอบการรักษาต่อไปด้วย

 “ดีเอไอแอลมีประโยชน์มาก เพราะทำให้เราตรวจจับการหกล้มของผู้ใช้งานได้แบบเรียลไทม์ สามารถบอกพิกัดและตำแหน่งบริเวณต่างๆ ในบ้าน กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย นั่นหมายถึงเราสามารถควบคุมความเสี่ยงจากระยะไกลได้ ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยจากนอกบ้านได้”

 ยิ่งไปกว่านั้น อาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการดูแลผู้สูงวัย แจ้งเตือนผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ เช่น การนั่ง การนอน การยืนหรือการเดินที่นานกว่าที่กำหนด การบอกพิกัด เช่น ผู้สูงอายุกำลังอยู่ในจุดเสี่ยง ขึ้นลงบันได หรือแอ่งน้ำที่อาจลื่นล้ม ในทางการแพทย์อาจใช้การจำแนกทางเหมืองข้อมูล ตรวจสอบรายงานและสรุปกิจกรรมต่างๆ ตามช่วงเวลาที่เลือกได้ด้วย 

 “หัวใจคือการควบคุมการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ ทำให้ดูแลผู้ป่วยจากระยะไกล ไม่มีอะไรที่อยู่นอกเหนือสายตา และไม่มีอะไรที่จะควบคุมไม่ได้อีกต่อไป” สิทธิชัยกล่าวปิดท้าย

ดีเอไอแอล ซิสเต็ม ระบบตรวจจับการหกล้ม