posttoday

โสภณ ศุภมั่งมี อดีตเนิร์ดแห่งไมโครซอฟต์

23 เมษายน 2560

คนขยันมักได้ดี เป็นบทสรุปของ โสภณ ศุภมั่งมี คอลัมนิสต์และนักเขียนแห่งสำนักพิมพ์แซลมอน กับหนังสือของเด็กโข่งเรื่อง

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

คนขยันมักได้ดี เป็นบทสรุปของ โสภณ ศุภมั่งมี คอลัมนิสต์และนักเขียนแห่งสำนักพิมพ์แซลมอน กับหนังสือของเด็กโข่งเรื่อง เดอะ เนิร์ด ออฟ ไมโครซอฟต์ (The Nerd of Microsoft) บทบันทึกประสบการณ์ตรงของอดีตโปรแกรมเมอร์ใน บริษัท ไมโครซอฟต์ ณ กรุงซีแอตเทิล ที่ขึ้นชื่อว่าเข้ายากและหินที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

“เป็นงานที่สนุกและท้าทาย” เขาตอบคำถามที่คนส่วนใหญ่มักถามว่า ทำงานที่ไมโครซอฟต์สนุกไหม “เพราะมันเป็นงานที่เราอยากทำ เวลาเจอโจทย์อะไรใหม่ก็กลายเป็นเรื่องท้าทายความสามารถ”

โสภณตามความฝันในการเป็นโปรแกรมเมอร์ด้วยการเดินทางไกลถึงเมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่อายุ 18 ปี (เมื่อปี 2543) เขาเดินทางลำพัง ไปตามหาความฝันเพียงคนเดียว ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตด้วยตัวเองครั้งแรก

เขากล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจจากบ้านไปไกลเป็นเพราะความชอบล้วนๆ โดยยังไม่ได้คิดถึงเทรนด์โลกว่าจะใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้นหรือเปล่า หรือคนจะติดอินเทอร์เน็ตมากขึ้นหรือไม่ “ตั้งแต่อายุสิบแปด ความฝันของผมก็ชัดเจนแล้วว่าอยากเป็นอะไร”

“ความตั้งใจแรกผมอยากทำเกม แต่ตลาดอเมริกาในตอนนั้นค่อนข้างปิดสำหรับคนต่างชาติ ทำให้ผมหันเหมาทางซอฟต์แวร์ และพอได้เรียนจริงแล้วก็ยิ่งรู้สึกสนุกและชอบมันมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะผมเป็นคนชอบแก้ไขปัญหา ชอบเล่นเกม ชอบต่อเลโก้ ทำให้เวลาเขียนโปรแกรมก็เกิดเป็นความรู้สึกคล้ายๆ กัน” เขากล่าวต่อ

ส่วนหนึ่งในคำนำผู้เขียนกล่าวไว้ว่า เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผมทำงานในไมโครซอฟต์ เป็นการทุบทำลายภาพจำเหล่าเนิร์ดทั้งหลาย ที่ถ้าคนภายนอกมองเข้ามาอาจคิดว่าพวกเขาเป็นมนุษย์อีกสายพันธุ์ที่พูดจาแปลกๆ ไม่รู้เรื่อง เป็นพวก Introvert (คนเก็บตัว) ขี้อาย เก็บตัว ไม่สังสรรค์เฮฮา แต่ที่จริงแล้วชีวิตของพวกเรามีอะไรมากกว่าเปลือกนอกที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

“ผมว่าผมไม่เนิร์ด” เขาตอบคำถาม “แต่ผมเป็นคนดื้อ หัวรั้น ชอบการแข่งขัน อย่างการเรียนที่อเมริกามันมีความกดดันมาก หลายคนถอดใจลาออกไปกลางคันก็มี แต่ผมไม่ใช่คนยอมแพ้อะไรง่ายๆ ถ้าจะไปก็ต้องไปให้สุดทาง และหากมันไม่มีหนทางอื่นแล้วจริงๆ ก็จบ และก็ไม่เป็นไร จงภูมิใจว่าเราทำได้ดีที่สุดแล้ว ณ ขณะนั้น และไม่ต้องมาเสียใจภายหลังว่าตอนนั้นยังทำไม่ดี”

โสภณ ศุภมั่งมี อดีตเนิร์ดแห่งไมโครซอฟต์

ส่วนการเข้าทำงานที่ไมโครซอฟต์ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขึ้นชื่อว่าเข้ายากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนั้น โสภณกล่าวประโยคแรกว่า “ความจริงก็ไม่ได้เข้ายากขนาดนั้น” เขาแทบไม่หยุดคิด “แต่มันอยู่ที่ว่าเราตั้งใจมากขนาดไหนมากกว่า”

“เพราะผมตั้งใจตั้งแต่แรกว่า อยากเข้าทำงานที่ไมโครซอฟต์ จากนั้นก็ประเมินตัวเองและพัฒนาให้เราไปถึงจุดนั้นให้ได้ หรืออย่างการเขียนหนังสือ ผมก็ตั้งใจแต่แรกแล้วว่า อยากเขียนกับสำนักพิมพ์แซลมอน ดังนั้นวันที่เริ่มต้นเขียนหนังสือ ผมจะคิดแล้วว่าต้องเขียนอย่างไรเพื่อเราจะได้เป็นนักเขียนของสำนักพิมพ์นี้ ผมจึงตั้งเป้าหมายและส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์เรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งโอกาสจะมาหาเราเอง ผมไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่เพราะความขยัน มีความพยายาม มีเป้าหมายชัดเจน และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนมีสิ่งเหล่านี้ สักวันฝันจะเป็นจริง”

อีกหนึ่งย่อหน้าในคำนำเขาเขียนไว้ว่า อีกความพยายามของการเขียนหนังสือเล่มนี้คือ บอกเล่าถึงวัฒนธรรมบางส่วนของการทำงานในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสุดท้าย หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายที่เรียกว่า “ความฝัน” นั่นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย หรือพรวิเศษจากฟากฟ้า แต่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อทุกเม็ด จากความมุ่งมั่นทุ่มเท ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคระหว่างทาง และก้มหน้าพยายามอย่างสุดความสามารถ

ส.ค. 2552 โสภณกลายเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัท ไมโครซอฟต์แอดเซ็นเตอร์ เจ้าของเว็บไซต์ Bing ทว่าในเดือน ส.ค. 2553 เขาต้องลาออกจากงานเพื่อกลับบ้านมาดูแลคุณแม่ที่เชียงใหม่ จากนั้นชีวิตของเขาก็ได้ผันตัวเข้าสู่วงการนักเขียน เป็นเจ้าของผลงานเขียนหนังสือเชิงท่องเที่ยว 3 เล่ม และเป็นคอลัมนิสต์ประจำของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

“ตราบใดที่ยังหายใจ โปรเจกต์ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป แม้ต้องเริ่มต้นใหม่อีกกี่ครั้งก็ตาม... ชีวิตข้างหน้ายังมีอะไรให้ต้องเผชิญอีกมาก และนี่ก็เป็นโอกาสให้ผมได้กดปุ่มสตาร์ทเพื่อเริ่มต้นโปรเจกต์ของชีวิตอีกครั้ง” เขาเขียนไว้บนกระดาษหน้าที่ 292 ในบรรทัดสุดท้าย

แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ลุยเดี่ยวของเด็กชายอายุ 18 ปี จนกลายเป็นหนุ่มไฟแรงวัย 28 ปี นับเป็นเรื่องราวชีวิตสุดหรรษาและหฤโหด หรือแม้กระทั่งวันนี้ เขาอยู่ในฐานะหัวหน้าครอบครัวและคุณพ่อลูกหนึ่งในวัย 35 ปี มันก็เป็นแค่อีกหนึ่งบทในหนังสือแห่งชีวิตที่เขาลงมือเขียนทุกคำโดยไม่มีทีท่าว่าจะถึงบทสุดท้ายเท่านั้นเอง