posttoday

มิสเตอร์เกย์เวิลด์ เวทีสิทธิมนุษยชน ความหวังใหม่สิทธิ LGBT

28 มีนาคม 2560

2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิหรือการแก้ปัญหาของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) อย่างเห็นได้ชัด

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิหรือการแก้ปัญหาของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ การผ่านร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อป้องกันการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติต่อใครเพราะเพศสภาพ โดยมีผลบังคับใช้แล้วในบัดนี้ ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อการสมรสระหว่างเพศเดียวกันก็มีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ศ. ... (จุดจุดจุด) เพื่อรับรองกลุ่มคนข้ามเพศนั้น องค์กรด้านความหลากหลายทางเพศได้ทำงานอย่างหนัก แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก (มาก) ก็ตาม

ดูเหมือนว่าในปีนี้กระแสโลกได้ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศอีกครั้ง อย่างการยอมรับให้ภาพยนตร์เรื่อง Moonlight ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่หนังเกย์อยู่ในสปอตไลต์ที่ทั่วโลกมองเห็น หรือด้านสิทธิและความเท่าเทียมในแง่กฎหมายหรือนโยบายก็ถูกพูดถึงมากขึ้น เช่น การมีพื้นที่ในการเรียกร้องการแต่งงานในเพศเดียวกันในหลายประเทศ การที่บางโรงเรียนในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐ ให้สิทธินักเรียนกลุ่มข้ามเพศ (ชายแต่งหญิง) สามารถเข้าห้องน้ำตามเพศสภาพของตัวเองได้เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง และการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเรื่อง “ปฏิบัติการทางภาษา” ที่มีการคิดคำสรรพนามเรียกกลุ่มข้ามเพศโดยไม่ให้ตรงกับเพศกำเนิด เช่น ใช้คำว่า Ze หรือ They รวมถึงประเทศไทย ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศถูกกล่าวถึงอีกครั้ง

มิสเตอร์เกย์เวิลด์ เวทีสิทธิมนุษยชน ความหวังใหม่สิทธิ LGBT

เวที Mr.Gay World คือ เวทีแห่งความภาคภูมิใจด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจแก่ผู้ชายกล้าจะแสดงออกถึงความเป็นเกย์ออกสู่สาธารณะ เพื่อจะแสดงให้โลกเห็นว่าเกย์คือ “ตัวตน” ที่สามารถภูมิใจได้ และเกย์ก็มีพื้นที่ในการนำเสนอตัวเอง นำเสนอความรู้ ทัศนคติ รวมถึงนำเสนอความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่ยอมรับ ให้มนุษย์ทุกหมู่เหล่าได้ร่วมสร้างสังคมที่ดีไปด้วยกันโดยไม่มีอคติเรื่องเพศมาเป็นเส้นแบ่ง ซึ่งถือได้ว่า เวที Mr.Gay World คือมาตรวัดระดับความก้าวหน้าสิทธิเสรีภาพและการยอมรับจากประเทศนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยเพิ่งมี Mr.Gay Thai คนแรกในประวัติศาสตร์เพื่อไปแข่งกับชาติอื่นๆ ในเดือน พ.ค.นี้

นิกร อาทิตย์ ผู้จัดงาน Mr.Gay Thai และประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ กล่าวว่า เวทีนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้คำว่าเกย์อย่างชัดเจนทำให้มีความท้าทายสองอย่างคือ คนไทยจะรับเวทีนี้ได้หรือไม่ และจะมีเกย์ไทยกล้าเปิดเผยในที่สาธารณชนหรือเปล่า

“จุดเด่นของเวทีนี้คือ เราไม่ได้เน้นเรื่องหน้าตา ช่วงอายุผู้เข้าประกวดจะกว้างไปถึง 40 ปี เพราะเราจะเน้นเรื่องความรู้ ความสามารถ ทั้งความเชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ด้านกฎหมาย วัฒนธรรม สังคม สิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกอย่างจะเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องนำเสนอแคมเปญเกี่ยวกับแอลจีบีทีที่ใช้ได้จริงต่อหน้ากรรมการ ดังนั้นสิ่งที่นำมาแข่งขันกันจึงแตกต่างจากเวทีความงามอื่นๆ เพราะจะแข่งกันด้วยความรู้ ความสามารถ และทัศนคติเป็นองค์ประกอบสำคัญ”

มิสเตอร์เกย์เวิลด์ เวทีสิทธิมนุษยชน ความหวังใหม่สิทธิ LGBT

การจัดเวทีประกวดก็เพื่อให้ชาวเกย์จากทั่วโลกมาอยู่บนเวทีเดียวกัน ให้พวกเขาได้แบ่งปันประสบการณ์และเปิดโลกทัศน์ของกันและกันว่าหลายพื้นที่บนโลกใบนี้ที่ความเป็นเกย์ หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ ยังเป็นสิ่งที่ต้องต้องห้าม ปกปิด และยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมถึงจะได้นำวิธีคิดหรือประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับใช้ในประเทศตัวเอง เพื่อสร้างพลังเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

“ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศแรกในเอเชียที่เข้าแข่งขัน เราเข้าไปหลังไต้หวัน ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ แต่ปีนี้เราเป็นประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะไทยเป็นเกย์เดสติเนชั่นของเกย์ทั่วโลก กองประกวดจึงอยากเห็นตัวแทนจากประเทศไทยขึ้นแข่งขันบนเวทีโลก”

ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ ยังกล่าวด้วยว่า บางกอกเรนโบว์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 โดยทำหน้าที่สื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มหลากหลายทางเพศสู่สังคมและครอบครัว รวมถึงการรณรงค์
เชิงรุกเพื่อทำลายชุดความคิดที่ไม่ถูกต้องให้หมดไป

“ที่เห็นความก้าวหน้ามากที่สุดคือ ภาครัฐ” นิกร กล่าวต่อ “อย่างเวทีนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร และอีกหลายงานที่ได้หลายกระทรวงมาช่วยสนับสนุน โดยภารกิจของบางกอกเรนโบว์ตอนนี้คือ เราต้องการสร้างคอมมูนิตี้ของชาวเกย์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อสร้างพลังในการต่อรองและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในสังคม”

มิสเตอร์เกย์เวิลด์ เวทีสิทธิมนุษยชน ความหวังใหม่สิทธิ LGBT หมอต้น-น.พ.พัฒนจัก วิภาดากุล

ตัวแทน Mr.Gay Thai คนแรกของประเทศคือ หมอต้น-น.พ.พัฒนจัก วิภาดากุล แพทย์ด้านเวชปฏิบัติทั่วไปและความงาม ตอนนี้เขาได้เตรียมความพร้อมในการสร้างแคมเปญเพื่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยลงพื้นที่หาความรู้และดูการทำงานของคลินิก เอ็นจีโอเพื่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ และเอ็นจีโอด้านเอชไอวีอย่างจริงจัง เพื่อปรับความรู้ วิธีคิด และวางแผนออกแบบให้ได้แคมเปญที่สำคัญและเข้ากับสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน

“ผมต้องการชูเรื่องยาเพร็พ (PrEP) หรือยากินป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้กินก่อนมีเพศสัมพันธ์ และยาเป๊ป (PEP) หรือยากินเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีฉุกเฉินภายหลังมีโอกาสสัมผัสเชื้อเอชไอวี” หมอต้นกล่าวถึงแคมเปญที่จะพูดบนเวทีโลก

“ผมมองว่า สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมความรู้และโอกาสในการเข้าถึงยาทั้งสองตัวนี้ อาจจะรณรงค์ร่วมกับแคมเปญถุงยางอนามัย เพื่อให้มีผลในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เกิดรายใหม่น้อยที่สุดในแต่ละปี และสร้างความเข้าใจว่า การรับยาโดยไม่จำเป็นทำให้เสี่ยงต่อการดื้อยา เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นได้

ความท้าทายของแคมเปญคือ การพูดให้คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและหวังจะพึ่งยาต้องเปลี่ยนความคิดไปตระหนักในทิศทางที่เหมาะสม ให้มองว่าเป็นยาที่ใช้ฉุกเฉิน ไม่ใช่ยาเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ระวังป้องกันตัว ซึ่งยาทั้งสองตัวนี้จะเป็นแคมเปญระดับสากลที่ถ้ารณรงค์เรื่องสร้างความรู้และเพิ่มการเข้าถึงได้ ก็จะช่วยให้ทุกเพศที่มีโอกาสมีความเสี่ยง”

นอกจากนี้ คู่แข่งที่น่าสนใจในปีนี้ต้องกล่าวถึง Charlie Tredway จากประเทศนิวซีแลนด์ที่ประกาศชัดว่า ตนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่กล้าพูดเพื่อเป็นกระบอกเสียง และปลุกความกล้าของผู้ติดเชื้อให้สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีศักดิ์ศรี โดยจะจัดขึ้นที่เมืองมาดริด ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ค. 2560

มิสเตอร์เกย์เวิลด์ เวทีสิทธิมนุษยชน ความหวังใหม่สิทธิ LGBT ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ด้าน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความก้าวหน้าด้านความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยว่า ปัจจุบันกลุ่มแอลจีบีทีมีพื้นที่แสดงตัวตนมากขึ้นเพราะสังคมไทยยอมรับมากขึ้น

“คนรุ่นใหม่ในยุคเจนวายหรือเจนแซดไม่ค่อยจะนิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร เพราะเขาเปิดกว้างในเรื่องความสัมพันธ์ พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และมีความยืดหยุ่นในอัตลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น”

ดร.นฤพนธ์ ยังได้ฝากไปถึงชาวแอลจีบีทีที่ยังไม่กล้าแสดงตัวตนในสังคมว่า สังคมไทยเป็นสังคมของความหลากหลาย เกย์ กะเทย ทอม ดี้ พบได้กับคนทุกระดับชั้นตั้งแต่คนรวยถึงคนยากจน ซึ่งแต่ละระดับชั้นจะมีแวดวงและเพื่อนฝูงของตัวเอง

“แต่เกย์ชนชั้นกลางจะมีพลังมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นชนชั้นที่สามารถชี้นำคนในสังคมได้พอสมควร ดังนั้นจึงอยากฝากให้เกย์ชนชั้นกลางเป็นสะพานให้ชาวแอลจีบีทีคนอื่นๆ ที่ยากจนหรืออยู่ในชนบทได้ออกมายืนในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น”

ปัจจุบันคำว่า เพศสภาพ กำลังเปลี่ยนชุดความคิดจากการยอมรับเฉพาะตามเพศกำเนิด เป็นการยอมรับ “ตัวตน” ตามเพศที่แสดงออก ซึ่งถือเป็นความเปิดกว้างอย่างหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก นั่นเพราะการยอมรับความหลากหลายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่การกดดัน บีบให้ปกปิดตัวตน หรือปฏิบัติต่อกันด้วยความเกลียดชังต่างหาก คือ สิ่งที่ควรละเลิก

เพราะไม่ว่าอย่างไรมนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง