posttoday

สร้างพลังด้วยการ ‘แดนซ์’

22 มกราคม 2560

สาวน้อยมากความสามารถวัย 18 ปี หลิงหลิง-ศุภสุตา ศุภาลัยวัฒน์ นิสิตชั้นปีที่ 1 จากภาควิชานาฏยศิลป์ตะวันตก

โดย...ภาดนุ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

สาวน้อยมากความสามารถวัย 18 ปี หลิงหลิง-ศุภสุตา ศุภาลัยวัฒน์ นิสิตชั้นปีที่ 1 จากภาควิชานาฏยศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนเต้นรำมาตั้งแต่เด็ก จนพูดได้ว่าการเต้นเป็นทั้งกีฬาและงานอดิเรกที่เธอรักเลยก็ว่าได้

“ตอนเด็กๆ หนูก็เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่พ่อแม่มักพาไปเรียนทั้งเทควันโด ร้องเพลง และเต้นคัฟเวอร์ จนได้มาเรียนบัลเลต์ที่ ‘สถาบันบางกอกแดนซ์’ (Bangkok Dance Academy) ตอนอายุ 4 ขวบ แต่หนูมาชอบการเต้นจริงจังตอนที่เรียนอยู่ชั้น ม.1 เพราะได้เข้าร่วมโครงการพิเศษที่ชื่อว่า ‘Soloist’ ของบางกอกแดนซ์ ซึ่งโครงการนี้จะพานักเรียนที่ชอบการเต้นจริงๆ ซึ่งตั้งใจจะต่อยอดไปสู่สายอาชีพ ไปหาประสบการณ์ในการแข่งขันเต้นที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย คาซัคสถาน ฮ่องกง มาเก๊า และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ตั้งแต่เข้าโครงการ Soloist คุณครูที่นี่ก็สอนการเต้นให้หลายรูปแบบ เช่น คอมเทมโพลารี, แจ๊ซแดนซ์, สแปนิช แดนซ์, ฮิปฮอป และจะมีลีลาศด้วย จึงสามารถนำไปใช้ในการแข่งขันได้ เพราะทุกรอบที่ลงแข่งจะมีการเต้นที่หลากหลายแตกต่างกัน 6 โซโล (6 การเต้น) ซึ่งหนูก็เคยได้รับรางวัลจากการแข่งขันมาหลายรายการ แต่ที่ภูมิใจก็คือรางวัลรองแชมป์การแข่งขันในรายการ Betty Tilley Championship จากเมืองเพิร์ส ประเทศออสเตรเลีย ส่วนระบำสเปนล่าสุดที่หนูได้ไปลงแข่งขันในรายการ Asia Pacific Dance Competition ที่มาเก๊า ครั้งนี้ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้ค่ะ” (ยิ้ม)

สร้างพลังด้วยการ ‘แดนซ์’

 

หลิงหลิง บอกว่า เนื่องจากการเต้นเป็นกีฬาที่ต้องมีการแข่งขัน และมีการท้าทายความสามารถในการสอบวัดระดับทุกปี ดังนั้นการเต้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซะทีเดียว

“การเต้นที่ยากที่สุดในความคิดหนู ก็คือ คลาสสิคอล บัลเลต์ ซึ่งเป็นรากฐานของการเต้นทุกแขนงเลยก็ว่าได้ คลาสสิคอล บัลเลต์ จะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เยอะมาก ถ้าเราใช้ร่างกายผิดส่วนหรือทำผิดท่าก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ซึ่งแม้จะยืนเฉยๆ ก็ตาม แต่คนเต้นต้องคิดเลยว่า จะใช้กล้ามเนื้อส่วนไหนในการยืน ต้องเก็บหน้าท้องเข้า กดก้นกบลง เก็บซี่โครง เปิดหัวไหล่ พูดง่ายๆ ว่าต้องใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนในการเต้นเลยก็ว่าได้

โดยส่วนตัวแล้วหนูจะชอบการเต้นระบำสเปน เพราะเป็นการเต้นที่ถนัด แล้วพอมาเรียนที่นี่ก็ทำให้รู้ว่าการเต้นระบำสเปนแท้ๆ จะต้องมีการใช้กรับมือให้จังหวะด้วย ทำให้เราเข้าใจสไตล์การเต้นมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่เต้นสะบัดกระโปรงสวยๆ เพียงอย่างเดียว”

หลิงหลิง เสริมว่า ประโยชน์ที่ได้จากการเต้น แน่นอนว่าคนที่เต้นบัลเลต์ย่อมได้บุคลิกภาพที่ดี ได้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อมัดเล็กในร่างกาย แถมยังได้รู้จักการเข้าสังคมเพราะต้องเรียนร่วมกับเพื่อนๆ หลายคนอีกด้วย

สร้างพลังด้วยการ ‘แดนซ์’

 

“ก่อนเต้นหนูจะใช้วิธีกระโดดและวิ่งเบาๆ ไปทั่วสตูดิโอเพื่อวอร์มร่างกายให้รู้ตัวก่อน จากนั้นจะนั่งกับพื้นยืดขา หมุนข้อเท้า ยืดเอ็นร้อยหวาย ยืดกล้ามเนื้อด้านใน ซิตอัพเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับแกนกลางร่างกาย ส่วนการเตรียมชุดซ้อม ถ้าเป็นบัลเลต์ ชุดที่ใส่เรียนต้องเป็นชุดรัดรูปที่เรียกว่าชุดเลียวทาร์ด เพราะจะทำให้ครูผู้สอนรู้ว่าผู้เรียนอยู่ในท่าที่ถูกต้องหรือไม่ ยืนถูกท่ามั้ย เป็นต้น ถ้าเป็นชุดของคอนเทมโพลารีจะเป็นชุดสบายๆ แค่เสื้อยืด กางเกงวอร์มก็ใช้ได้แล้ว ถ้าเป็นระบำสเปน ชุดซ้อมท่อนบนจะเป็นชุดรัดรูปเหมือนบัลเลต์ แต่ท่อนล่างจะเป็นกระโปรง เป็นต้น

ในอนาคตหนูคิดว่าจะใช้การเต้นต่อยอดไปสู่อาชีพของตัวเองในอนาคตแน่นอน อย่างตอนนี้หนูก็เป็นครูสอนเต้นระบำสเปนให้กับเด็กเล็กๆ ที่สถาบันบางกอกแดนซ์ และส่งเด็กที่เรียนกับเราให้ลงแข่งขันภายในประเทศและแข่งขันในรายการ Asia Pacific Dance อย่างที่หนูเคยลงแข่งมาด้วย แต่ละประเทศในแถบเอเชียจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ล่าสุดปีนี้มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพค่ะ”

หลิงหลิง ทิ้งท้ายว่า ถ้าใครรักหรือสนใจในการเต้น ก็แค่กล้าที่จะเดินเข้ามาถามข้อมูล กล้าที่จะมาสมัครเรียนที่โรงเรียนสอนเต้น และทำต่อไปให้สุดๆ ตามที่ตัวเองชอบ เพราะการเต้นไม่มีคำว่าสายเกินไป ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถมาเรียนเต้นได้ เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่นและแข็งแรงได้ แค่กล้าที่จะลองเท่านั้น คุณก็จะค้นพบเสน่ห์ของการเต้นได้เอง