posttoday

‘เฉลิมพล ปุณโณทก’ ปั้นหุ่นยนต์พันธุ์ไทย ลุยตลาดโลก

21 มกราคม 2560

คนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและชีวิตนั้น ไม่จำเป็นว่าสมัยเรียนจะต้องเป็นเด็กเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งทุกปี

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

คนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและชีวิตนั้น ไม่จำเป็นว่าสมัยเรียนจะต้องเป็นเด็กเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งทุกปี เรียนมหาวิทยาลัยได้เกียรตินิยมเสมอไป เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องบ่งบอกว่าชีวิตคุณจะประสบความสำเร็จเสมอไป แต่แนวคิดและการปฏิบัติตัวของคนนั้นๆ ต่างหากที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้

ผู้ชายชื่อ เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้ได้ดี เพราะเขาคือคนไทยที่ดำเนินธุรกิจผลิตหุ่นยนต์ไทยซึ่งสามารถจำหน่ายและใช้ได้จริง

เฉลิมพล เล่าให้ฟังว่า สมัยเรียนตัวเขาไม่ใช่คนที่เรียนเก่งระดับหัวกะทิของห้อง ไม่สามารถเรียนหมอได้แน่นอน ส่วนในระดับปริญญาตรีก็จบด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาการศึกษาและวิจัยธุรกิจระดับนานาชาติ ที่สหรัฐอเมริกา โดยมีอุดมการณ์ในใจก่อนเรียนปริญญาโทว่า อยากทำบริษัทสินค้าไฮเทคโนโลยีของคนไทยให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ

เมื่อเข้าสู่ช่วงชีวิตการทำงานก็ได้ทำงานเป็นนักการตลาดให้กับองค์กรใหญ่ 3 องค์กร โดยองค์กรสุดท้าย คือ จีอี แคปปิตอล ในชิคาโก แล้วจึงลาออกมาตั้งบริษัทเองเพื่อทำตามความฝันที่อยากสร้างบริษัทไฮเทคโนโลยีของคนไทย เวลานั้นอายุ 27 ปี ก็วางแผนอยู่ว่าจะทำสินค้าไฮเทคโนโลยีอะไรดี ก็จับพลัดจับผลูมาลงตัวที่การผลิตซอฟต์แวร์ ซึ่งก็คือระบบคอลเซ็นเตอร์ จนเริ่มรู้ว่าจะสู้กับต่างชาติได้อย่างไร และได้ตั้งสมาคมส่งเสริมการส่งออกซอฟต์แวร์ไทย เพื่อรวมตัวบริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่มีศักยภาพและประสบความสำเร็จจากตลาดภายในประเทศ ให้ออกไปทำตลาดต่างประเทศด้วยกัน

‘เฉลิมพล ปุณโณทก’ ปั้นหุ่นยนต์พันธุ์ไทย ลุยตลาดโลก

 

หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดความคิดอยากผลิตหุ่นยนต์ที่ขายได้ขึ้นมา เพราะเห็นภาพเด็กไทยไปคว้าแชมป์หุ่นยนต์กันในหลายเวที แต่แล้วกลับไม่มีคนผลิตหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์เลย ในช่วงนั้นอายุ 40 ปี จึงได้ก่อตั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายหุ่นยนต์ขึ้นมาคือ ซีที เอเชีย โรโบติกส์

“ช่วงนั้นญี่ปุ่นยังมีแค่หุ่นยนต์สุนัข ไอโบที่ยังไม่มีความสามารถอะไรมาก ผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย เลยคิดว่าเป็นโอกาส ถ้าเราออกเดินทางก่อนน่าจะได้เปรียบ แต่การทำธุรกิจหุ่นยนต์เป็นไปได้ยาก จึงทำแผน 3 แผนให้รอดเอาไว้”

แผนแรกที่ทำคือ ถ้าภายใน 3 ปี ขายหุ่นยนต์ไม่ได้ จะอยู่ได้อย่างไร จึงวางแผนขายโฆษณาบนหน้าหุ่นยนต์ เพราะอย่างน้อยก็สร้างรายได้ได้ หุ่นยนต์อาจไม่ต้องดีมาก แต่แค่ไปโชว์ตัวในงานอีเวนต์ก็ขายโฆษณาบนหน้าได้แล้ว แผนต่อมาคือ การสร้างการ์ตูนเกี่ยวกับหุ่นยนต์แล้วออกเป็นหนังสือการ์ตูน จากนั้นก็นำหุ่นยนต์ไปโปรโมทหนังสือการ์ตูนได้ และแผนสุดท้ายคือ หลังเดินตามแผนแรกและแผนที่สองแล้ว สร้างประสบการณ์ที่ดีก็ทำหุ่นยนต์ขายได้จริง

ผลปรากฏว่า หลังเปิดตัวตามแผนแรกไป ประสบความสำเร็จมาก มีคนมาเช่าหุ่นยนต์ ดินสอ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ของบริษัทไปออกงานอีเวนต์ งานปาร์ตี้เพื่อเป็นสีสันให้กับงานอย่างต่อเนื่อง และก็ยังเช่าเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นระหว่างแผนแรกดำเนินไปอย่างสวยงาม บริษัทจึงผลิตหุ่นยนต์ ดินสอ รุ่นที่สองและสามที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ ออกมาจนปัจจุบันผลิตรุ่นที่สี่แล้ว

‘เฉลิมพล ปุณโณทก’ ปั้นหุ่นยนต์พันธุ์ไทย ลุยตลาดโลก

 

เฉลิมพล กล่าวว่า ระหว่างทางของการผลิตหุ่นยนต์ดินสอ ก็มีโอกาสทางการตลาดเข้ามา ได้ทำโครงการที่น่าสนใจ จนบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสุกี้เอ็มเคซื้อหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน ทำให้บริษัทขายหุ่นยนต์ได้เร็วกว่าที่คิด

“แผนสำเร็จเร็วกว่าที่คิด ภายใน 1 ปีครึ่งหลังผลิตหุ่นยนต์ก็ขายได้ เอ็มเคสั่งไป 10 ตัวก็ได้เงินมาเลย จากนั้นก็มีองค์กรอื่นมาซื้ออีก เช่น เมืองไทยประกันชีวิต หรือร้านอาหารในสวีเดนก็ซื้อไป 12 ตัว ทำให้ธุรกิจของบริษัทเริ่มเป็นเรื่องเป็นราวมีรายได้เข้ามา สุดท้ายก็ได้เครือสหพัฒนพิบูลซื้อหุ่นยนต์ไปเป็นผู้ช่วยคนขายสินค้าในเครือไอซีซี”

เมื่อความสำเร็จเกิดเร็วกว่าที่คาด ทำให้ เฉลิมพล วิวัฒนาการแผนเพิ่มเติม คราวนี้มีเป้าหมายสูงสุด คือ จะทำหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุให้ได้ ซึ่งก็ได้ไปเก็บข้อมูลความต้องการของผู้สูงอายุก่อนที่จะสร้าง และเกิดเป็นหุ่นยนต์รุ่นล่าสุดคือ ดินสอมินิ ที่ไม่ใช่หุ่นยนต์เดินไปเดินมาได้ แต่เป็นหุ่นยนต์สำหรับตั้งไว้ที่หัวเตียง เพื่อดูแลคนสูงอายุที่ติดเตียง โดยจะคอยจับตาดูผู้สูงอายุ เรียกคนมาพลิกตัว เตือนเวลาผู้สูงอายุล้ม ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับดีมาก ถือเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่ผลิตแล้วเจาะตลาดทั่วไปได้ โดยมีโรงพยาบาลจองเข้ามา ตอบสนองความต้องการผู้ป่วยสูงอายุ ผลิตขายได้ในไทยขั้นต่ำ 500 ตัว และญี่ปุ่น 500 ตัว ภายใน 1 ปี

เฉลิมพล กล่าวว่า ปีนี้น่าจะผลิตหุ่นยนต์ดินสอมินิได้ 1,000 ตัว/เดือน ในความจริงแล้วสามารถผลิตได้มากกว่านี้ แต่เนื่องจากบริษัทมี 2 ภารกิจ คือ นอกจากการประกอบหุ่นยนต์ซ้ำๆ เพื่อขายตลาดทั่วไปแล้วยังมีภารกิจด้านการค้นคว้าและวิจัยพัฒนาศักยภาพหุ่นยนต์ด้วย ซึ่งภารกิจนี้ยากและใช้เวลานาน เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำการค้นคว้าและวิจัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว เมื่อนั้นจะผลิตเดือนละหลายพันตัวก็ทำได้

ช่วงหลังจากนี้ เฉลิมพล ตั้งเป้าหมายว่า จะมุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถเชิงการแพทย์ของหุ่นยนต์ดินสอมินิให้สูงขึ้น ให้หุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยแพทย์ พยาบาล ในการตรวจสุขภาพผ่านหุ่นยนต์ไปยังคนได้ เช่น วัดจังหวะการเต้นของหัวใจ ดึงข้อมูลจากเครื่องวัดความดัน เพื่อเป็นผู้คอยดูแลภาวะทางสุขภาพและเตือนไปยังแพทย์

‘เฉลิมพล ปุณโณทก’ ปั้นหุ่นยนต์พันธุ์ไทย ลุยตลาดโลก

 

เฉลิมพล กล่าวต่อว่า จากที่ทำบริษัทผลิตและจำหน่ายหุ่นยนต์มา 6 ปี หุ่นยนต์ยังเป็นเรื่องใหม่มากของโลก ทั่วโลกยังไม่มีการวางจำหน่ายหุ่นยนต์เป็นเรื่องเป็นราว มีแต่จัดแสดงตามงานมหกรรมต่างๆ แปลว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์ช่วยมนุษยชาติ แต่เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นที่ทุกคนต้องลองผิดลองถูกกันไป โดยในส่วนของบริษัทมีกลยุทธ์ให้หุ่นยนต์เป็นเลิศระดับโลก จึงเลือกเน้นที่การดูแลผู้สูงอายุ เพราะต้องการให้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในอนาคต เมื่อไทยเข้าสู่ยุค 4.0 เต็มรูปแบบ จะได้มีการส่งออกหุ่นยนต์ไปต่างประเทศ ไม่ใช่ส่งออกอาหารสินค้าเกษตรแบบเดิมๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ เฉลิมพล มองว่าความสำเร็จที่ได้รับเกินคาดในทุกมิติ โดยในมิติของการรับรู้ของสาธารณชน หุ่นยนต์ดินสอ ก็ถูกรับรู้ไปทั่ว อย่างล่าสุดหุ่นยนต์ดินสอมินิ ก็ได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเฉลิมพล ก็ได้ผลิตหุ่นยนต์ดินสอมินิ สีพิเศษคือสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ของสมเด็จพระเทพฯ เพื่อถวายให้พระองค์ด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ความสำเร็จเกิดได้นั้น เฉลิมพล มองว่ามาจากองค์ประกอบหลายเรื่อง ข้อแรกคงจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์ เพราะเรื่องที่ทำนี้ถ้าไม่มีอุดมการณ์อาจจะถอดใจไปก่อน ยังไม่ลงมือทำด้วยซ้ำ ถ้าเขาตั้งเป้าหมายว่าจะทำเพื่อกำไร เพื่อความรวย อาจมีทางอื่นที่ความเสี่ยงน้อยกว่านี้ให้เดินไป แต่เป้าหมายที่เขาตั้งไว้คือ ศักดิ์ศรีของประเทศชาติ เรื่องกำไรขาดทุนเป็นเรื่องรอง จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้หุ่นยนต์ดินสอผลิตขายได้เกิดขึ้นจริง

“ถ้ามานั่งคิดเรื่องความเสี่ยงเป็นไปได้หรือกับการผลิตหุ่นยนต์ขาย จะแข่งกับญี่ปุ่นได้อย่างไร ใครจะกล้าใช้ เจ๊งแน่นอนคงไม่เกิด สิ่งที่ทำจึงกลายเป็นเหมือนหมูที่ไม่กลัวน้ำร้อน จัดเต็มความสามารถเพื่อให้บริษัทรอดให้ได้”

นอกจากปัจจัยเรื่องเป้าหมาย เรื่องทีมงานก็เป็นส่วนสำคัญ เฉลิมพล ระบุว่า ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของทีมคนไทย รู้ว่าชนชาติไทยมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร เมื่อเทียบกับนานาชาติ จะได้ใช้จุดแข็งที่มีและลดจุดอ่อน ซึ่งจุดแข็งของคนไทยคือ มีความคิดสร้างสรรค์ มีใจรักบริการ มีรสนิยมทางศิลปะ และคนรุ่นใหม่ก็มีจุดแข็งด้านการประกวดหุ่นยนต์ฉลาดเชิงวิศวกรรม สามารถหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ได้

ด้านจุดอ่อนคือ เรามักถนัดแก้โจทย์ แต่ไม่ถนัดตั้งโจทย์เอง เรารอให้มีโจทย์แล้วจึงใช้ศักยภาพของเราไปแก้ปัญหา ซึ่งในชีวิตจริงไม่มีใครตั้งโจทย์ให้ต้องตั้งโจทย์เอง วิธีที่เฉลิมพลทำ คือ รวมคนเก่งมาช่วยแก้ปัญหา โดยที่เฉลิมพล เป็นคนตั้งเป้าหมาย ลุกขึ้นมาอ่านอนาคตเพื่อให้เกิดโจทย์ขึ้น จุดอ่อนอีกข้อ คือ การไม่กำหนดเส้นตายส่งงาน (เดดไลน์) เพราะคนไทยโตมาในระบบการศึกษาที่มีคุณครูให้โจทย์และมีเดดไลน์ให้มีกำหนดว่าต้องสอบวันไหน แต่พอถึงชีวิตจริงไม่มีใครวางเดดไลน์ให้ตัวเอง วิธีแก้ของเฉลิมพลก็คือตั้งเดดไลน์เอง สรุปแล้วเมื่อเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน มียุทธศาสตร์จัดการกับทีมจึงสร้างผลงานเจ๋งๆ ได้

เฉลิมพล ให้ข้อคิดว่า ระบบนิเวศในการสร้างปัญญาชนของไทยคงต้องปรับปรุง หากจะผลักดันไปสู่ประเทศไทย 4.0 และทำได้แบบที่เฉลิมพลทำ คือสร้างนวัตกรรมของคนไทยให้เกิดขึ้น โดยสิ่งที่ต้องปรับก็คือ ที่ผ่านมาคนเก่งแห่ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกันหมด พอไปทางนั้นหมดก็เลยขาดผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญบริหารจัดการคน ยุทธวิธีและสร้างทีม ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า คนฉลาดไม่ควรเป็นแพทย์ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ไม่สมดุล

“ประเทศเรามีขงเบ้งเยอะ แต่ขาดเล่าปี่ คนสร้างเมือง ประเทศเราต้องสร้างเล่าปี่ ไม่ต้องมากเท่าขงเบ้งก็ได้ แต่ต้องสร้าง ไม่ใช่ให้กบฏคือคนที่ไม่เก่งมาเป็นเล่าปี่เอง”

ท้ายนี้ เฉลิมพล ฝากไว้อีกเรื่องว่าการคำนึงถึงประเทศชาติและส่วนรวม น่าจะเป็นอันดับต้นๆ ที่เราทุกคนต้องตระหนักว่าอนาคตของประเทศชาติอนาคตของโลกจะไปทางไหน ดังนั้นก็อยู่ที่คนรุ่นใหม่ๆ ที่จะโตไปเป็นผู้สร้างในวันข้างหน้าแล้ว ถ้าเรายังมีแต่ค่านิยมเป็นแค่ผู้บริโภค ผู้ซื้อ ผู้เสพ ประเทศก็จะล้าหลัง เราน่าจะเลิกให้คุณค่ากับการได้ซื้อมาก่อนซื้อแบรนด์เนม กินดีอยู่ดีแล้วถ่ายรูปอวดกัน เพราะค่านิยมเหล่านี้จะไปบดบังศักยภาพที่จะแข่งกันสร้างสิ่งดีๆ ออกมา ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการคิด การกระทำ

ถือเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ที่คนรุ่นใหม่ควรดูไว้เป็นตัวอย่างเพราะคนที่มุ่งมั่นทำเรื่องยากมากแต่มีประโยชน์กับประเทศชาติ เพื่อให้เกิดขึ้นจริงได้เป็นกลุ่มคนที่ประเทศชาติยังขาดแคลน ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเป็นใครสักคนที่กำลังอ่านเรื่องนี้อยู่ก็ได้