posttoday

สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ปี 2016

09 มกราคม 2560

นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่นิตยสารไทม์ ยกย่องให้ “สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว”

โดย...วราภรณ์

นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่นิตยสารไทม์ ยกย่องให้ “สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว” ที่ออกแบบโดยบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) เป็น 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2016 ที่คัดเลือกจากสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดทั่วโลก โดยตัดสินจากผลงานที่ช่วยทำให้โลกดียิ่งขึ้น

สนามฟุตบอลดังกล่าวเป็นการส่งผ่านแนวคิดจากการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย สู่การออกแบบพื้นที่เพื่อคืนกลับสู่สังคม ภายใต้แนวคิด คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอย ออกแบบโดย เอพี ดีไซน์ แล็บ สร้างสรรค์พื้นที่สูญเปล่า ซึ่งอดีตเป็นที่ดินรกร้างของชุมชนคลองเตย ให้เกิดเป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกคนในชุมชน ออกมาเป็นงานดีไซน์ สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว (AP Unusual Football Field) โปรเจกต์อันภาคภูมิใจของเอพี (AP) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและคาดหวังให้เป็นสนามฟุตบอลแนวคิดใหม่ย่านชุมชนคลองเตย ซึ่งมีการส่งมอบกันไปยังไม่ครบ 1 ปี แต่คนในชุมชนได้ประโยชน์มากมาย

สนามฟุตบอลรูปแบบใหม่

ทีมงานออกแบบนับ 10 คน ทั้งภูมิสถาปัตย์และสถาปนิกช่วยกันคิดออกแบบจนเกิดเป็นสนามฟุตบอลรูปทรงแปลกใหม่ที่ไม่จำกัดแค่รูปทรงสี่เหลี่ยม ให้เป็น “สนามรูปตัวแอล” และ “สนามรูปซิกแซ็ก” ครั้งแรกของโลก ก่อนหน้านี้ได้มีสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์ค่ายต่างๆ ทั้ง จีน ตะวันออกกลาง ฯลฯ ให้ความสนใจมาทำข่าวมากมาย ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายวิธีคิดของงานออกแบบในการก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ของการพัฒนาพื้นที่ด้วยการคิดต่าง สร้างสรรค์เป็น “พื้นที่ชีวิตที่มีคุณค่า” และได้ประโยชน์สำหรับผู้คนในชุมชนทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ถือเป็นนวัตกรรมการดีไซน์ที่ไม่มีใครเหมือน จนได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ สื่อระดับโลกในครั้งนี้

ภัทรภูริต รุ่งจตุรภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงาน Corporate Image บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า เวลาพูดถึงการอยู่อาศัยในชุมชนที่มีคนจำนวนมากหลายคน มักจะนึกถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ทางทีมเอพีจึงคุยกันว่าในปีหนึ่งๆ พวกเขาอยากเอาความชำนาญของเขาในเรื่องของการออกแบบพื้นที่ มาช่วยให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จนมาลงตัวที่การออกแบบอะไรสักอย่างให้กับชุมชนคลองเตย โดยมุ่งประเด็นไปที่การพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ให้กลับมามีคุณภาพ

สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ปี 2016

“หลายคนสงสัยว่าสนามฟุตบอลที่รูปทรงไม่ใช่สี่เหลี่ยม เด็กๆ เล่นได้จริงหรือ แต่ในเมื่อบริษัทเห็นแล้วว่าสนามคือสิ่งที่คนในชุมชนต้องการ บริษัทจึงมองว่าขนาดและรูปร่างของพื้นที่ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการสร้าง แต่เราจะทำยังไงภายใต้ข้อจำกัด ให้สนามใช้งานได้จริงที่สุด และนั่นจึงเป็นที่มาของการท้าทายวิธีคิดของทีมดีไซเนอร์เรา สนามบอลรูปทรงแปลกทั้งสองแห่ง ทั้งสนามรูปตัวแอลและสนามรูปซิกแซ็ก ไม่ได้เกิดจากการคิดต่างเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการออกแบบที่บาลานซ์ทั้งความยืดหยุ่นและความกลมกลืนให้เกิดขึ้นไปกับชุมชนมากที่สุด ที่สำคัญต้องใช้สอยได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับ
รูปทรงเดิมๆ เสมอไป”

กว่าจะเป็นสนามฟุตบอลเพื่อมวลชน

ในฐานะบริษัทผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าแห่งนวัตกรรมการดีไซน์พื้นที่ใช้สอยเพื่อการอยู่อาศัย จุดเริ่มต้นของการสร้างสนามรูปตัวแอลขึ้นมา เนื่องจากปีนี้บริษัทดำเนินธุรกิจมาก้าวสู่ปีที่ 25 ซึ่งในแต่ละปีจะต้องคิดทำอะไรเพื่อสังคมในรูปแบบแปลกใหม่

“ซีเอสอาร์บริษัทอื่นทำจะดี สวย ดูหล่อ แต่เราต้องการให้ออกมาเป็นโปรเจกต์จัดการแก้ปัญหาได้จริงๆ แรกๆ เราไม่ได้มองที่ทำสนามฟุตบอลเพียงอย่างเดียว เรามองที่การทำห้องสมุดด้วย แต่พอลงพื้นที่เซอร์เวย์ก่อน มาคิดอีกว่าเราเน้นการพัฒนาคนเมือง จากนั้นเราลงมือเซอร์เวย์ทั้งกรุงเทพฯ ดูภาพถ่ายทางอากาศ ใช้โดรนดูว่าพื้นที่ไหนน่าสนใจที่จะพัฒนาในกรุงเทพฯ ที่สุด และเราก็มาสะดุดตาพื้นที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งบังเอิญอยู่ใกล้บริษัทเราด้วย

พอได้พื้นที่เราดูอีกว่าเราจะทำอะไร คนชุมชนคลองเตย คนอยู่อาศัยไม่ได้มีพื้นที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีแฟลต มีเพิงสร้างเอง แต่ไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก หนีไม่พ้นเยาวชนรวมกลุ่มกันชักจูงกันทำสิ่งไม่ดี หากเราทำสนามที่คลองเตยได้สำเร็จ เราจะทำที่อื่นได้ด้วย เราจึงเรียนรู้ และปรับเปลี่ยนไปตามองค์ประกอบแต่ละชุมชน 

สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ปี 2016

 

พอเราได้พื้นที่ ขั้นตอนต่อไปคือ การลงพูดคุยกับผู้นำชุมชน หารือรับทราบปัญหา เราใช้เวลาเจรจานาน 3-4 เดือนกว่าคนในชุมชนจะเข้าใจว่าเราจะมาทำอะไร ซึ่งสนามฟุตบอลเหมาะกับชุมชนนี้ที่สุดเพราะเราจะทำอะไรเราเน้นประโยชน์สูงสุด สนามฟุตบอลตอบโจทย์ เพราะเป็นกีฬามีแค่รองเท้ากับลูกฟุตบอลก็เล่นได้แล้ว อีกทั้งฟุตบอลเป็นกีฬาที่วัยรุ่นชอบ และเราอยากสร้างแรงบันดาลใจขับเคลื่อนให้องค์กรอื่นทำตามด้วย” ภัทรภูริต กล่าว

เด็กๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

สนามรูปตัวแอลเดิม เป็นเหมือนสลัมเพิงพักที่ชาวบ้านปลูกกันเองบริเวณชุมชนคลองเตย พื้นที่ทั้งสองส่วนเคยเป็นพื้นที่ทิ้งร้าง มีขยะ มีน้ำขัง เต็มไปด้วยมูลสุนัข ภัทรภูริต เล่าต่อว่า พอพัฒนาสนามรูปตัวแอล มีพื้นที่ใช้สอย 226 ตารางเมตร (ตร.ม.) ส่วนสนามซิกแซ็ก อยู่ตรงแฟลตการท่าเรือฯ พื้นที่ใช้สอยราว 320 ตร.ม. และมีตึกโอบล้อม ทั้งสองสนามใช้งบประมาณสร้างประมาณ 2 ล้านบาท แต่สิ่งที่ได้คืนกลับมามากกว่า 2 ล้านบาท เพราะสื่อต่างประเทศและในประเทศให้ความสนใจมากมาย 

ที่มากกว่านั้นคือ ชาวบ้านในชุมชนมีกิจกรรมเล่นยามว่าง หากพื้นสนามโดนน้ำท่วมช่วงหน้าฝน ยามน้ำลดชาวบ้านก็มาช่วยกันขัดถูทำความสะอาด กำจัดมูลสุนัขด้วยตัวชาวบ้านเอง และพื้นที่นี้นอกจากไว้เตะฟุตบอลแล้ว ช่วงเทศกาลเช่นปีใหม่ ชาวบ้านก็ยังใช้พื้นที่แห่งนี้จัดงานเฉลิมฉลองด้วย กลายเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านทำกิจกรรมต่างๆ

โครงการไม่หยุดอยู่แค่นี้ ยังมีเฟส 2 เฟส 3 ในชุมชน ยังมีรีเควสต์จากชาวบ้านไปอีกเรื่อยๆ เนื่องจากชาวบ้านอยากให้เพิ่มสนามเต้นแอโรบิก มีการตั้งเครื่องออกกำลังกายให้ผู้สูงอายุสามารถมาเล่นกีฬาใกล้ๆ ลูกหลานได้ด้วย

“ปัจจุบันเฟส 3 ซึ่งเราทำเป็นลานเต้นแอโรบิกสำหรับผู้สูงอายุ มีการติดไฟให้สว่าง ซึ่งเมื่อก่อนพื้นที่นี้ตอนกลางคืนจะมืดมาก จึงไม่ปลอดภัย พอมีแสงสว่างก็ไม่เป็นที่ลับตาคนอีกแล้ว”

สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ปี 2016

ออกแบบสนามให้เหมาะกับชุมชน

สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ผู้อำนวยการฝ่ายคอร์ปอเรต มาร์เก็ตติ้ง เอพี ดีไซน์ แล็บ ดูแลด้านการออกแบบสนาม กล่าวว่า ที่ประชุมลงมติสร้างสนามฟุตบอล ด้วยข้อมูลหนึ่งที่คุยกับคุณหมอนักจิตวิทยาเด็ก ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า วิธีการใช้เวลาของเด็กเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก มีพื้นที่อะไรให้เด็กๆ ได้ใช้บ้าง

สิ่งที่ดึงดูดใจทีมงานออกแบบที่สุด คือ พวกเขาเลือกทำ เลือกพื้นที่ที่อยู่ตรงหน้าเด็กๆ หากเด็กและเยาวชนเห็นคนออกกำลังกายอยู่ตรงหน้า เด็กๆ จะอยากออกกำลังกายด้วย สนามฟุตบอลจึงถือเป็นสิ่งจรรโลงใจให้เด็กๆ อีกทั้งการเล่นฟุตบอลจะเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นการตอบโจทย์พื้นที่ใช้สอยในชุมชนได้ดีที่สุด อุปสรรคอื่นๆ คือการลงพื้นที่ไม่ง่าย ต้องเข้าหาผู้นำชุมชนให้ได้ก่อนเพื่อเป็นตัวกลางคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่เข้ามา

สรรพสิทธิ์ บอกอีกว่า กว่าจะออกแบบได้ ต้องคิดค้นระดมสมองเพื่อออกแบบสนามให้เหมาะกับชุมชนมากที่สุด โดยฟังความต้องการของชาวบ้านด้วย

“จากเดิมพื้นที่รกร้างมีน้ำท่วมขัง เต็มไปด้วยขยะ พอออกแบบได้แล้ว เราจึงลงไปเคลียร์พื้นที่ออก แต่ยังเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่ชาวบ้านขอเอาไว้เก็บของต่างๆ ไว้ สนามแรกอยู่ตรงชุมชนคลองเตยด้านใน เราออกแบบเป็นรูปตัวแอล ส่วนสนามซิกแซ็กอยู่ตรงแฟลตของการท่าเรือฯ ซึ่งนิตยสารไทม์ยกย่องในภาพรวมทั้งสองสนาม เพราะสนามฟุตบอลปรับเปลี่ยนตามบริบทของสังคม แม้จะเป็นสนามซิกแซ็กและรูปตัวแอล เด็กๆ สามารถเตะฟุตบอลได้จริง

ทั้งสองสนามอยู่ไม่ไกลกัน แต่การสร้างสนามรูปตัวแอลเสร็จก่อน ออกแบบโดยใช้วัสดุที่เหมาะสม เพราะบางพื้นที่น้ำท่วมตลอด ทีแรกเราเลือกวัสดุที่นุ่มยืดหยุ่นเวลาเด็กๆ ล้มจะได้ไม่เจ็บ แต่ปัญหาคือเวลาน้ำท่วมแผ่นวัสดุจะหลุดลอก เราจึงเปลี่ยนวัสดุพื้นผิวของสนาม เพื่อปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เป็นก้อนซีเมนต์แต่ทาสีพิเศษเพื่อให้พื้นมีความยืดหยุ่น ไม่ลื่นล้มง่ายๆ เวลาโดนน้ำท่วมก็สามารถทำความสะอาดขัดถูได้ง่ายกว่า และไม่หลุดล่อน แทนการถมสนามให้สูง เพราะเราต้องการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะถ้าถมที่น้ำท่วมบ้านชาวบ้านแน่นอน”

สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ปี 2016

นอกจากการออกแบบให้เหมาะกับพื้นที่เดิมแล้ว การใส่ฟังก์ชั่นให้เหมาะสมกับกิจกรรมของชุมชนก็เป็นสิ่งที่นักออกแบบคำนึงถึงด้วย

“สนาม 1 กับ 2 เราออกแบบเป็นสนามฟุตบอล แต่ก็สามารถทำเป็นสนามเล่นวอลเลย์บอลได้ด้วย หรือเด็กๆ อยากเล่นสเกตก็เล่นได้ และเราพยายามอนุรักษ์ต้นไม้เอาไว้ อีกทั้งมีการทำอัฒจันทร์เพิ่ม กั้นเป็นเขตออกกำลังกาย ซึ่งเรากำลังมองการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าแถวๆ สีลมหลังซอยละลายทรัพย์ทำเป็นพื้นที่เล่นสเกต มีลานแอโรบิก และมีลานอุปกรณ์ออกกำลังกายเพิ่มจากโปรเจกต์ที่ชุมชนคลองเตยด้วย ถือเป็นโปรเจกต์ที่ทำต่อยอดไปเพื่อพัฒนาชุมชนอื่นๆ ภายในกรุงเทพฯ ให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเพื่อการออกกำลังกายอีกด้วย”

คนในชุมชนได้มากกว่าสุขภาพ

พงษ์พันธุ์ ชัยปราการ วัย 56 ปี จิตอาสาโครงการของเอพีและผู้ประสานงานชุมชนเอพี หรือลุงตุ้มของเด็กๆ และเยาวชนในชุมชนคลองเตย กล่าวว่า ก่อนที่จะมีสนามรูปทรงแปลกตาทั้งสองสนามนี้ เดิมทีเด็กๆ ในชุมชนคลองเตยมีประชากรราว 1 หมื่นคน จาก 2,000 ครัวเรือน มีสมาชิกรุ่นจิ๋ว เด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดิมมีแต่สนามของเด็กโต สนามเด็กเล่นของเด็กเล็กเคยมีแต่พังไปแล้ว เพราะไม่ค่อยมีคนดูแล ตกเย็นมาก็มืดเด็กๆ ไม่มีที่เล่น จึงไปอยู่จุดศูนย์รวมคือร้านเกมมานานนับ 10 ปี ซึ่งส่งผลต่อจิตใจเด็กๆ คือ โตมามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว แต่พอมีสนามที่เหมาะสมให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่น ลุงตุ้ม คาดว่า จะส่งผลให้เด็กๆ รุ่นปัจจุบัน เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

“ทั้งสองสนามเด็กเล็กและเด็กโตสามารถเล่นร่วมกันได้ นอกจากสนามฟุตบอล ยังมีการปรับปรุงเป็นลานเต้นแอโรบิกของผู้ใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเรามีสนามเต้นแอโรบิกแต่เสื่อมโทรมมาก มีไฟหลอดเดียว ไม่สว่าง พอเต้นเสร็จปิดไฟ ก็ไม่มีใครกล้ามาเล่นเพราะมีเศษแก้วแตก มีไม้แหลมๆ เต็มไปหมด ใครๆ ก็ไม่กล้ามาใช้ แต่พอปรับปรุงพื้นที่ค่ำๆ ก็ยังใช้สนามได้อีก”

พอมีสนามกีฬาเด็กๆ ชุมชนคลองเตยเปลี่ยนไปอย่างไร ลุงตุ้ม กล่าวว่า ได้แน่ชัดคือสุขภาพแข็งแรงขึ้น

“ผมคิดว่าสิ่งที่เขาทำให้เราไม่ใช่แค่สนาม เขามอบการออกกำลังกาย สุขภาพคนก็ดี แข็งแรง ทำให้เด็กๆ ห่างไกลยาเสพติด เด็กมาออกกำลังกายกันก็เลยไม่ไปมั่วสุม เพราะคนในชุมชนแต่เดิมไม่รู้ไปทำอะไรเพราะความรู้ก็น้อย เมื่อทำผิดด้านยาเสพติดออกจากคุกมา ก็มักทำผิดซ้ำอีกเพราะเขาไม่มีอาชีพ และไม่มีการส่งเสริมอาชีพอย่างจริงจัง และหลีกไม่พ้นกลับไปผิดซ้ำอีก

พอมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้อย่างสร้างสรรค์ โดยผมและเยาวชนในชุมชนพยายามสอนให้เด็กๆ มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้แพ้รู้ชนะในการเล่นกีฬา และสิ่งที่พบเห็นโดยเฉพาะในหมู่เยาวชนที่พ้นคุกออกมาคือ เขามีจิตใจที่อ่อนโยนขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนในตัวเยาวชนที่ผมคิดว่าจะยั่งยืน เพราะสนามแห่งนี้ไม่ใช่เด็กๆ ผู้สูงอายุก็เริ่มมาทำกิจกรรม ยายพาหลานไปเล่น หลานไปเตะฟุตบอล ยายไปเต้นแอโรบิก เกิดความความผูกพันของทั้งชุมชนเคหะ แฟลต 1-10 คลองเตย ซึ่งผมเห็นได้อย่างชัดเจนเลย ถือว่าพวกเขาได้ใช้ประโยชน์อย่างรักและสามัคคีกันภายในชุมชนจริงๆ”