posttoday

มลพิษจากอาหารเหลือ

10 พฤศจิกายน 2559

เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า สถานการณ์อาหารโลกในภาพรวมยังมีประชากรในบางประเทศอดอยาก

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน ภาพ... growup.org.uk

เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า สถานการณ์อาหารโลกในภาพรวมยังมีประชากรในบางประเทศอดอยาก หรือกล่าวได้ว่ามีประชากรของโลกกว่า 800 ล้านคน ที่ยังประสบภาวะการขาดแคลนอาหาร ไม่มีอาหารกิน หรือกระทั่งอดตายอยู่ในบางภูมิภาคของโลก ทั้งๆ ที่มีข้อมูลบ่งชี้เช่นกันว่า ทุกๆ ปีจะมีอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Waste) หรืออาหารถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี บางปีมีการระบุตัวเลขด้วยว่ามีอาหารในกลุ่มนี้มากถึง 1,300 ล้านตัน

อาหารที่สูญเสียไปอย่าเปล่าประโยชน์ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษมีมากถึง 17 ล้านตัน สหรัฐอเมริกาเองก็มีทิ้งอาหาร 34 ล้านตัน กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมีปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งกว่า 90 ล้านตัน/ปี หลายประเทศประสบปัญหาอาหารเหลือทิ้ง และพบด้วยว่าปัญหานี้เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที

ประเทศไทยซึ่งมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี มีรายงานว่าปริมาณขยะมูลฝอยกว่า 26.77 ล้านตัน ซึ่งในปริมาณนี้มีขยะอาหารมากถึง 64% เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอย 9,000 ตัน/วัน ในจำนวนนี้มีขยะอาหารมากถึง 50%

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งในโลกนี้ อาจมีปริมาณเทียบได้เท่ากับ 3,300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี

โดยปกติแล้วการกำจัดขยะอาหารสามารถทำได้หลายวิธี เราสามารถลดการกินทิ้งกินขว้าง ด้วยการนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ เอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ เอาไปหมักเพื่อทำเป็นก๊าซหุงต้ม แปรรูปกลับคืนไปประกอบหน้าดิน

อีกวิธีหนึ่งก็คือ การนำขยะอาหารไปฝังกลบ เป็นวิธีการกำจัดขยะอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะจะเป็นการเพิ่มภาวะเรือนกระจก จากการย่อยสลายที่จะคายก๊าซมีเทนออกมาจากขยะอินทรีย์ นอกจากนี้ขยะอาหารยังมีปัญหาเรื่องของกลิ่นรบกวน และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคมากมาย และหากจัดการล้มเหลวก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยง
ไม่ได้

เพื่อแก้ปัญหาขยะอาหาร บางประเทศใช้วิธีส่งอาหารเหล่านี้ เข้าเครื่องบด-อบขยะอาหารในการกำจัดขยะอาหารแทนการฝังกลบ ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน แหล่งเพาะเชื้อโรค และผลลัพธ์ที่ได้ยังสามารถนำกลับคืนสู่ธรรมชาติ ใช้ประกอบหน้าดินสำหรับเพาะปลูก เป็นการคืนอาหารและออกซิเจนสู่ธรรมชาติตามแนวทางลดการฝังกลบของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill)

หลักการทำงานของเครื่องบด-อบขยะอาหาร คือการบดขยะอาหารด้วยก้านใบมีดจนมีขนาดเล็กและทำการสกัดแยกน้ำออก จากนั้นจึงทำการอบฆ่าเชื้อ การทำงานแต่ละครั้งสามารถย่อยสลายขยะอาหารให้เหลือเพียง 1 ใน 8 ส่วนเท่านั้น

กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน LEED ของสหรัฐอเมริกา ทำให้หลายองค์กรในต่างประเทศ มองเห็นเครื่องบด-อบขยะอาหารเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการกำหนดกติกาองค์กร จัดระเบียบการคัดแยกและลำเลียงขยะอาหาร และกำหนดกิจกรรมในการนำผลลัพธ์ที่ได้จากการกำจัดขยะอาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี นับเป็นการพัฒนาความยั่งยืนต่อองค์กรต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ประเทศไทยมีความสามารถในการกำจัดขยะไม่ถึง 70% ของขยะที่เกิดขึ้น ทำให้มีขยะมูลฝอยตกค้างจำนวนมาก อีกทั้งการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบที่ไม่ถูกต้องของประเทศที่มากขึ้น 2,024 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 2,490 แห่ง จึงก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนมลพิษจากขยะสู่ดิน แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรคและส่งผลต่อภาวะโลกร้อนจากก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกองขยะมูลฝอย

จากปัญหาด้านการจัดการมูลฝอยดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยดำเนินการผลักดันให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องขยะจากเดิมที่เน้นการกำจัดทิ้งมากที่สุด มาเป็นเน้นเรื่องการลดสร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยยึดหลัก 3Rs ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) นำมาใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากขยะ เช่น ผลิตพลังงาน ทำปุ๋ยหมัก โดยทำให้เหลือมูลฝอยที่ต้องกำจัดทิ้งให้น้อยที่สุด แต่ก็ยังทำได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

หลายประเทศจึงมีนโยบายลดอาหารที่ถูกทิ้ง เช่น ในยุโรปมีโครงการ WRAP (Waste &Resources Action Program me) โดยมีห้างค้าปลีกจำนวนมากเข้าร่วมโครงการด้วย ในอังกฤษยังมีโครงการ Love Food, hate waste และห้างค้าปลีกเองก็มีนโยบาย Zero Waste โดยหลายแห่งได้นำเศษอาหารและอาหารที่ขายไม่หมดไปแปรเป็นพลังงาน (Waste to energy)

 บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างกำหนดมาตรการเพื่อดูแลเรื่องนี้ และสำรวจข้อมูลมาเป็นเป้าหมายการขับเคลื่อนที่ยั่งยืนของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาเรายังมีข้อมูลเรื่องนี้ที่เป็นการจัดเก็บที่เป็นระบบน้อยมาก และถือเป็นช่วงที่เรากำลังดำเนินการกำหนดมาตรการของประเทศไทยที่จะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้