posttoday

เสียงจากคนเล็กๆ ชีวิตเปลี่ยน เพราะ ‘ในหลวง’

25 ตุลาคม 2559

ข่าวการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนชาวไทย การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

โดย...กองทรัพย์

ข่าวการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนชาวไทย การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในอีกแง่มุมหนึ่งคือ การที่คนไทยร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันหลอมรวมความรักและความจงรักภักดีน้อมส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัย

เรื่องราวคุณงามความดี พระปรีชาสามารถ ตลอดจนพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการนำมาเผยแพร่สู่สายตาชาวไทยและชาวโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นภาพพระราชกรณียกิจที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้เห็นก็มีโอกาสได้เห็นในวันนี้ เชื่อว่าหลายคนมีชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วยพระมหากรุณาจากในหลวง และในบรรดาผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนที่หลั่งน้ำตา มีประชาชนอีกนับไม่ถ้วนที่ชีวิตเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เมื่อน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาใช้

ศาสตร์พระราชาคืนชีวิต

เช้าวันที่ 14 ต.ค. พสกนิกรผู้จงรักภักดี เฝ้าฯ รอส่งเสด็จในหลวงของพวกเขา ท่ามกลางผู้สูงอายุและผู้หญิง คนแก่ และเด็ก เราเจอ ต่าย-ณรงค์เดช บุญวงศ์ วัย 38 ปี ที่เชิงสะพานอรุณอมรินทร์ฝั่งโรงพยาบาลศิริราช บทสนทนาเริ่มจากคำถามที่ว่า เขามาจากไหน?

เสียงจากคนเล็กๆ ชีวิตเปลี่ยน เพราะ ‘ในหลวง’

 

“ผมเป็นประชาชน อ.แม่ไจ จ.พะเยา เดินทางมากรุงเทพฯ เพราะตั้งใจจะนำข้าวอินทรีย์ที่ปลูกเองมาขาย แต่ก็ได้ทราบข่าวจากแถลงการณ์สำนักพระราชวังเสียก่อน รีบเดินทางมาที่นี่ทันที โดยเดินทางมาคนเดียว และมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่เวลา 05.00 น. ในครั้งแรกผมรู้สึกตกใจ เสียใจมาก หัวใจสลายแต่ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการมาน้อมส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย”

น้ำเสียงที่เหนื่อยปนเศร้า ดวงตาที่แดงก่ำ บ่งชัดว่าเขาผ่านการร้องไห้มาไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ หนุ่มจากพะเยาคนนี้ บอกว่า เขาคือคนหนึ่งซึ่งเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อน้อมนำคำสอนของในหลวงมาใช้กับชีวิต “ที่บ้านของเราเป็นเกษตรกร แม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนพะเยามีน้ำป่าไหลหลากทุกปี น้ำท่วม เรือกสวนไร่นาเสียหายจนชาวบ้านต้องอพยพไปทำกินในจังหวัดอื่นหมด แต่เมื่อในหลวงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปืม ในปี 2525 พะเยาก็ไม่เจอน้ำป่าและไม่มีใครย้ายถิ่นฐานไปไหนอีกเลย

“ส่วนตัวผมเชื่อมโยงกับพระองค์ท่านด้วยแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเปลี่ยนเป็นคนใหม่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้” ณรงค์เดช เล่าย้อนว่า เคยทำงานรับเหมาทำเฟอร์นิเจอร์มาก่อน ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา ดื่มเหล้า ไม่เก็บเงิน "ฐานะทางบ้านแทนที่จะดีขึ้นเพราะเราทำงาน ก็ฉุดรั้งความเจริญลงเรื่อยๆ เป็นแบบนี้จนกระทั่งอายุ 35 ปี แต่ผมภูมิใจที่จะบอกว่าชีวิตผมเปลี่ยนแปลงไปด้วยการกลับมาทำงานเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ผมมีในหลวงเป็นต้นแบบในการพัฒนาตัวเอง ผมเลิกดื่มเหล้าได้อย่างเด็ดขาด ทั้งๆ ที่ดื่มมาหลายปี ผมมีชีวิตที่ดีขึ้นจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน ผมใช้ที่ดินไม่กี่ไร่ในพะเยาทำเป็นสวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ โดยมีผมเป็นวิทยากร ผมไม่ได้เป็นเกษตรกรเพราะใครๆ บอกให้ทำ และไม่ได้บอกว่าทุกคนจะต้องมาทำเหมือนผม แต่ผมตระหนักรู้ถึงคุณค่าของอาชีพนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมอยากเป็นคนดีขึ้นและอยากพัฒนาผืนดินให้ดีขึ้น

 

เสียงจากคนเล็กๆ ชีวิตเปลี่ยน เพราะ ‘ในหลวง’

 

วันนี้เมื่อสิ้นพระองค์ท่านแล้ว แต่อย่างไรเสีย พระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ยังแผ่ไพศาลและคอยปกป้องคุ้มครองคนไทยอยู่ทุกแห่งหน ผมในฐานะที่เป็นเกษตรกรจะนำความรู้ที่มีไปเผยแพร่ต่อ สืบทอดตามแนวทางของในหลวง นำศาสตร์ของพระราชาช่วยเหลือคนอื่นๆ ให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นต่อไป ผมจะทำให้ดีที่สุดจนสิ้นชีวิตของผม" ณรงค์เดช ตั้งปณิธาน

เสียสละให้ได้อย่างพ่อ

การพูดคุยกับณรงค์เดช ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งเดินทางไป จ.เพชรบุรี ร่วมกับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต.พุสวรรค์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เนื่องจากทราบว่าเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการยกย่องให้เป็นครัวเรือนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งชาวบ้านก็ได้น้อมนําแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

สิ่งพิเศษกว่านั้นคือการได้พบกับ ลุงสุรดิษ สดใส ประชาชนผู้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินทำกิน 30 ไร่ เพื่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำพุสวรรค์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในปี พ.ศ. 2528 ลุงสุรดิษ ฉายภาพอันแห้งแล้งของ ต.พุสวรรค์ ก่อนหน้านั้นให้ฟัง...

“เมื่อ 30 กว่าปีก่อน บ้านเราแล้งหนัก อาชีพหลักของชาวบ้านคือปลูกกล้วย มะนาว และมีปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ แต่เมื่อไม่มีน้ำ ประชาชนก็ทุกข์ยาก อพยพโยกย้ายทิ้งถิ่นฐานก็มี มีจำนวนหนึ่งบุกรุกป่าแก่งกระจานไปตัดไม้มาเผาถ่านขายก็มี เวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลมองเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ของผม จะทำให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ เดิมทีท่านให้คนมาติดต่อขอซื้อ แต่พอเรารู้ว่าเป็นโครงการในพระราชดำริ ก็ปรึกษากันในครอบครัว และยินดีที่จะถวายให้พระองค์ท่านเพื่อใช้เป็นประโยชน์ของชุมชน”

 

เสียงจากคนเล็กๆ ชีวิตเปลี่ยน เพราะ ‘ในหลวง’

 

พื้นที่สีเขียวที่โอบล้อมอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นคำตอบของความอุดมสมบูรณ์ที่คืนกลับมาแก่ ต.พุสวรรค์ “ตั้งแต่มีโครงการจากพระราชดำริของพระองค์ท่าน ปี 2528 ที่นี่ไม่มีขาดแคลนน้ำเลยตลอดทั้งปี พอมีอ่างเก็บน้ำนี้ก็ได้พึ่งพิงทั้งวิถีชาวบ้านและการเกษตร เรามีน้ำซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล จากพื้นที่ไม่มีน้ำ แห้งแล้ง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แต่พอได้พื้นที่ตรงนี้ ได้อ่างเก็บน้ำบริเวณนี้ ก็ทำให้มีน้ำใช้ในการเกษตร เพียงพอสำหรับหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน รวมทั้งยังเป็นน้ำประปาใช้ในบ้านครัวเรือนได้ด้วย

หนี้สินที่เคยมี พระองค์ท่านก็นำแนวทางการเก็บออมเงินมาสอน ทำให้เรารู้ว่าสิ่งไหนจำเป็นไม่จำเป็น ขายของจากการเกษตร มีรายได้ เก็บเงินได้ก็เพิ่มความอยู่ดีกินดีให้แต่ละครอบครัวมากๆ และทุกวันนี้ ยังอาศัยเส้นทางนี้ตลอด มองเห็นความชุ่มฉ่ำแล้วภาคภูมิใจ

การยกพื้นที่ส่วนตัวให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนรวม ผมว่ามันคุ้มค่าและดีมากๆ ถ้าผมไม่ได้สละพื้นที่ตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้ทำนาหรือเปล่า พวกเราจะมีน้ำใช้หรือเปล่า ถามว่าพื้นที่ 30 ไร่ ไม่เสียดายหรือ สำหรับผมเหลือพื้นที่แค่ 10 ไร่ ไว้ทำกินก็เหลือแหล่แล้ว แต่ 30 ไร่ของผมให้ประโยชน์คนอีกเป็นหลายร้อย ผมว่านี่คือการพอเพียงอย่างแท้จริง นี่คือการเสียสละเพื่อคนส่วนมาก เราทำตามพ่อหลวงของเรา รู้สึกดีใจ และภูมิใจได้เสียสละเพื่อให้พัฒนา” ถึงวันนี้ชีวิตของลุงสุรดิษ ไม่ได้เปลี่ยนไปแค่คนเดียว แต่ชีวิตของชาวพุสวรรค์ ทั้งหลายก็เปลี่ยนไปด้วย

 

เสียงจากคนเล็กๆ ชีวิตเปลี่ยน เพราะ ‘ในหลวง’

 

หญิงที่เห็นในหลวงแบบต้นแบบ

แม้ไม่ได้เกี่ยวโยงกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยวิถีการเกษตร แต่ ป้าจินดา มากดวงเทียน อาสาสมัครคุมประพฤติ (อ.ส.ค.) กระทรวงยุติธรรม อาศัยในย่านชุมชนสี่แยกบ้านแขก กรุงเทพฯ ก็เชื่อมโยงพระองค์ท่านด้วยดวงใจที่จงรักภักดีไม่แพ้ผู้ใด

“ป้ามาโรงพยาบาลทุกวันตั้งแต่ได้ข่าวว่าท่านป่วย วันไหนมีทำงานตอนเช้าก็มาสายหน่อย เที่ยง มาบ่าย มาเย็น ขอให้ได้มา แต่ในที่สุดพวกเราก็ได้รับข่าวร้ายพร้อมๆ กัน” ภาพความโศกเศร้าไม่อาจบรรยายได้ ณ ขณะนั้น

หลังจากขบวนอัญเชิญพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคลื่อนลับไปจากโรงพยาบาลศิริราช หญิงวัย 54 ปี ก็ก้มลงกราบแทบพื้น อธิษฐานจิตและตั้งปณิธานที่จะทำแต่ความดี และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

“จนตอนนี้ป้าก็ยังไม่อยากจะเชื่อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเราชาวไทย ทำใจไม่ได้และไม่เคยคิดภาพความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อนในชีวิต เมื่อวันทราบข่าวการเสด็จสวรรคต ป้านอนไม่หลับกลับบ้านมานอนรอที่ถนนหน้าศิริราชตั้งแต่ตีสอง จนกระทั่งขบวนพระบรมศพเคลื่อนผ่านหน้า จึงคิดได้ว่าเราต้องยอมรับความจริงว่าพระองค์ท่านไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว”

เสียงจากคนเล็กๆ ชีวิตเปลี่ยน เพราะ ‘ในหลวง’

 

ป้าจินดา บอกว่า เธอเริ่มงานอาสาสมัครมากว่า 20 ปี ส่วนหนึ่งเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระบรมโกศ เธอบอกว่าความรู้ทางวิชาการของเธออาจจะน้อย แต่ประสบการณ์ชีวิตของเธอก็เป็นประโยชน์หากใครต้องการ

“ป้าลงพื้นที่ตามชุมชน เพื่อสอนงานเย็บปักถักร้อย ทำขนม ทำเครื่องจักสาน ชุมชนในสี่แยกบ้านแขกมีหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม แต่พวกเราก็อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข เพราะพระองค์ท่านดูแลลูกๆ คนไทยทุกคนไม่เลือกยากดีมีจน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ศาสนา เป็นคนดีที่ไม่รู้ จะหาอะไรมาเปรียบได้แล้ว

สำหรับป้าแล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือที่สุดของชีวิต สิ่งที่ประชาชนไทยทำได้ตอนนี้คือร่วมน้อมส่งเสด็จ และทำหน้าที่ในฐานะพสกนิกรของพระองค์ให้ดีที่สุด ปฏิบัติตามคำสอนคำตักเตือนของพระองค์ท่าน

วันนี้อยากให้คนไทยเป็นคนดีและรักกัน ตามคำสอนของพระองค์ท่าน พระองค์ท่านจะได้สบายพระราชหฤทัย" อ.ค.ส.กระทรวงยุติธรรม กล่าวทั้งน้ำตา