posttoday

ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา คำถาม และความรู้สึก

23 ตุลาคม 2559

บทกวีชื่อ “ไกลว่ารั้วบ้านของเรา” 1 ใน 80 บท ที่รวมเล่มพิมพ์ในชื่อเดียวกัน ผลงานของ โรสนี นูรฟารีดา

โดย...นกขุนทอง ภาพ กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

“เพื่อนจากอินโดนีเซียส่งข้อความมาขอโทษ

ควันไฟจากบ้านเขาอาจลอยมารบกวนพวกเรา

เพื่อนจากซีเรียส่งข้อความมาขอโทษ

ฝุ่นและควันจากระเบิดอาจปลิวมาถึงที่นี่

เพื่อนจากปาเลสไตน์ส่งข้อความมาขอโทษ

ภาพร่างกายฉีกขาดเลือดอาบอาจทำให้ใครหลายคนฝันร้าย

เพื่อนจากปารีสส่งข้อความมาขอโทษเช่นกัน

กระสุนและระเบิดที่นั่นส่งเสียงรบกวนข้ามทวีป

ก่อนหน้านั้นเพื่อนชาวนิวยอร์กส่งข้อความมาขอโทษ

ควันและฝุ่นจากตึกแฝดมืดดำและลอยไกล

มันกลายเป็นภาพติดตาหลอกหลอนผู้คนอยู่หลายปี

เพื่อนจากปาตานีส่งขนมมาแทนคำขอโทษ

พวกเขาพยายามใช้ชีวิตให้ปกติที่สุด

แม้ว่าเสียงตูมตามและเหตุไฟดับจะทำให้ไม่กล้าออกจากบ้าน

เราเขียนคำขอโทษส่งกลับไปหาเพื่อน

เสียงสวดมนต์ของเราไม่ดังพอจะไปไกลถึงที่นั่น

และบางทีเสียงบ่นด่าของเราก็ดังเกินไป

ไกลกว่ารั้วบ้านของเราเอง”

บทกวีชื่อ “ไกลว่ารั้วบ้านของเรา” 1 ใน 80 บท ที่รวมเล่มพิมพ์ในชื่อเดียวกัน ผลงานของ โรสนี นูรฟารีดา กวีหญิงคนเดียวที่มีผลงานติด 1 ใน 6 เรื่องเข้าประกวดรอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2559

ที่เลือกบทกวีนี้ขึ้นมา เพราะเป็นบทกวีที่แสดงภาพรวมของเนื้อหาได้อย่างครอบคลุม โดย โรสนี ช่วยขยายความว่า “ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา เป็นชื่อบทกวีบทหนึ่งในเล่ม แล้วเลือกนำมาตั้งเป็นชื่อหนังสือ เพราะกวีบทนี้ค่อนข้างครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดภายในเล่ม คือ พูดกว้างเห็นภาพรวมของทั้งเล่ม พูดถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในโลก ไล่ย่อยลงมาเรื่อยๆ ทวีปเอเชีย เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย ภาคใต้ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และย่อยมาอีกจนถึงสภาวะภายในจิตใจของตัวเอง เลยล้อกับชื่อหนังสือ เพราะสิ่งที่พูดถึงในหนังสือ คือการตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทุกสถานการณ์จริงๆ อยู่ไกลตัวเรา ไกลบ้านของเรา ทำไมเราไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนกับมันเลย แล้วคำว่าไกลใกล้เราใช้อะไรชี้วัด ภูมิศาสตร์ หรือมีกรอบ มีอาณาเขตชี้วัด หรือเอาความรู้สึกของเราเองที่เรามีส่วนร่วมก็ต้องรู้สึกว่าเราพวกเดียวกันกับผู้คนเหล่านั้น”

ทั้ง 80 บท เป็นการแต่งในรูปแบบบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ หรือกลอนเปล่า เป็นผลงานเขียนที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2556-2559 แทบทุกบทเคยผ่านการโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้เขียน เมื่อมีการนำมารวมเล่มจึงได้มีการขัดเกลาอีกครั้ง

“ช่วงที่เขียน ยังเป็นนักข่าวประจำที่หาดใหญ่ ซึ่งช่วงนั้นทำงานข่าวอย่างเข้มข้น แล้วต้องทำข่าวออนไลน์แข่งกับเวลา เราก็ได้ทักษะการเลือกใช้คำ การอยู่ในกองบรรณาธิการข่าวทำงานทุกๆ วัน เราต้องประมวลผลตลอดเวลา ต้องคิดคำให้ตรงตัวอธิบายได้ชัดเจน ก็ได้ทักษะการเลือกใช้คำมา งานทั้งหมดที่คัดมาลงเพราะช่วงทำงานข่าวเราไม่สามารถใส่ความรู้สึกได้ แต่เรายังมีความอัดอั้นตันใจ มีความอยากบอกอยากเล่า มันตกค้างในใจเรา เขียนเป็นข่าวเล่าได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีความจริงที่หลงเหลืออยู่ ก็เลยมาเขียนสเตตัสในเฟซบุ๊กพิมพ์มาเรื่อยๆ”

ความจริงที่ยังตกหล่นไว้ข้างในความรู้สึก ถูกกลั่นเป็นคำไม่กี่คำ หากแต่ทรงอิทธิพลส่งแรงสั่นสะทือนต่ออารมณ์ จนเกิดการตั้งคำถาม และการค้นหาความจริง

“สิ่งที่ตกค้างบางอย่างก็เป็นเบื้องหน้าเบื้องหลัง มันค่อนข้างเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกที่เรารู้สึกแบบไหนบ้าง เช่น การเห็นการตายของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ เรารู้สึกยังไงกับการมีธงชาติคลุมแล้วกลับบ้าน หรือทุกครั้งที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จะได้เงินเยียวยา แต่คนตายไม่ได้ใช้เงิน อย่างข่าวเวลามีม็อบแล้วมีเจ้าหน้าที่ไปสลายม็อบใช้แก๊สน้ำตาซึ่งซื้อมาด้วยเงินของใคร ใช้เงินภาษีของประชาชนไหม แก๊สน้ำตาที่ขว้างมา เอาเงินประชาชนมาทำร้ายประชาชนหรือเปล่า นอกจากนั้นมีการเขียนถึงสถานการณ์อย่างอื่นของโลก เวลามีควันไฟจากอินโดนีเซียมากระทบถึงไทย คนอินโดนีเซียเขาก็เสียใจที่ควันไฟบ้านเขามารบกวนประเทศเพื่อนบ้าน แล้วถ้าเป็นบ้านของเราที่ไปรบกวนเขาล่ะ เราจะรู้สึกยังไงบ้าง”

โรสนีชอบคิดชอบเขียนมาตั้งแต่เด็กของขวัญที่คุณแม่ให้ ก็คือ สมุดจดไดอารี่ ที่ผ่านมาเคยรวมเล่มบทกวี 2 ครั้ง เป็นหนังสือทำมือ และข้อความที่เธอหมั่นเขียนแสดงความคิดเห็นความรู้สึกลงบนเฟซบุ๊กก็ไปเข้าตา ศิริวร แก้วกาญจน์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผจญภัย จนนำมาสู่หนังสือกวีนิพนธ์ เรื่อง ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา และเดินทางมาไกลจนถึงรอบสุดท้ายซีไรต์ ปี 2559

“แค่สำนักพิมพ์เอาไปรวมเล่มก็รู้สึกดีใจมากแล้วค่ะ ได้เข้ารอบซีไรต์ แต่คนที่ดีใจมากกว่าคือแม่ เราก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจ แต่ไม่รู้สึกว่าต้องเป็นการแข่งอะไรกับใคร เพราะเราทำเต็มที่ตั้งแต่ทำต้นฉบับแล้ว งานจะไปได้ไกลแค่ไหนขึ้นอยู่กับกรรมการและคนอ่าน สิ่งที่เราสื่อสารผ่านสายตา ความรู้สึกของเรา แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกมองเห็นและเข้าใจสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร ทุกครั้งที่โพสต์สเตตัสมีคนมากดไลค์แต่ไม่ได้คอมเมนต์ แต่เจอตัวกันเขาเข้ามาทักเรา แต่ไม่ว่าจะมีคนเห็นด้วยหรือคิดเห็นแตกต่าง คำของเราได้ทำงานอยู่ดี มันได้บอกเล่า ได้สร้างการถกเถียง”

มีคำหนึ่งที่โรสนีพูดบ่อยๆ คือ ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา เป็นการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้บอกให้เชื่อตามสิ่งที่เธอเขียน แต่เธอดีใจมากหากงานของเธอจะทำให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าสิ่งที่เขียนจริงไหม แล้วสิ่งที่คุณเห็นคือความจริงนั้น คือความจริงจากฝั่งของใคร