posttoday

บททดสอบ

20 ตุลาคม 2559

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ผมได้ทดสอบตัวเองหลายครั้ง...

โดย...ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ผมได้ทดสอบตัวเองหลายครั้ง...

ทดสอบว่าตัวเองจะทนการร้องไห้ได้นานแค่ไหน? ทดสอบว่าจิตใจเราจะกลับคืนมาสู่ภาวะปกติได้เมื่อใด? เป็นบททดสอบเหมือนกับที่คนไทยทุกคนต้องผ่าน

บางบทเป็นการทดสอบที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น การขึ้นเวทีพูดในงาน “มหกรรมหนังสือแห่งชาติ” ในวันศุกร์ ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังการแถลงการณ์ ผมเคยขึ้นเวทีมาไม่รู้กี่พันครั้ง ยังต้องเสียงสั่นก่อนสุดท้ายน้ำตาไหลคาเวที เพราะหัวเรื่องที่เปลี่ยนกะทันหันคือ “ความทรงจำถึงพระองค์”

ผมกล่าวถึงหลายเรื่อง ทั้งผลงานของพระองค์ทางด้านการประมง สิ่งแวดล้อม โลกร้อน ฯลฯ แต่เรื่องที่จำได้แม่นคือ “ความซื่อสัตย์ต่อความทรงจำ”

ในความคิดของผม สิ่งสำคัญสุดที่พระองค์ท่านทรงมอบให้ปวงชนชาวไทย คือเป็นจุดศูนย์กลางแห่งแรงบันดาลใจและแรงผลักดัน

ในโลกทุนนิยม ในเวลาที่คนต้องเลี้ยงลูกเมีย มีบางครั้งที่เรากำลังทำงานที่ต้องถามตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าเราไปทำอย่างอื่นจะดีกว่าไหม สบายกว่าไหม ได้เงินมากกว่าไหม

ในตอนนั้นเราต้องการแรงบันดาลใจ ต้องการแรงผลักดัน ต้องการคนดีโดยไม่มีข้อกังขามาช่วยให้เราก้าวต่อไป

และเราจะก้าวต่อไปด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าพระองค์ท่านยังทรงทำได้ แล้วเราจะไม่ช่วยท่านเลยเหรอ?

บัดนี้คนผู้นั้นไม่อยู่แล้ว แรงบันดาลใจเหลือเพียงความทรงจำ จึงมาถึงคำถาม “เราซื่อสัตย์ต่อความทรงจำได้นานแค่ไหน?”

ความทรงจำไม่มีตัวตน ความทรงจำยังมีศัตรูตัวร้าย ศัตรูที่เรียกว่า “กาลเวลา”

เราจะต่อสู้กับเวลา จะระลึกถึงความทรงจำ และนำมาเป็นแรงบันดาลใจผลักดันเราได้นานแค่ไหน?

นั่นคือสิ่งที่ผมตั้งคำถามกับคุณผู้นั่งฟัง จากน้อยกลายเป็นมาก จากนั่งเฉยกลายเป็นหยิบผ้าเช็ดหน้าออกมาจากกระเป๋า

คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความทรงจำของแต่ละคนแม้อาจเท่าเทียมตอนต้น แต่อาจไม่เท่ากันในตอนท้าย ในตอนที่เวลากัดกร่อนทำลายไป

สิ่งเดียวที่เราอาจมีเหลืออยู่เพื่อยึดมั่นต่อไป คือความจริงที่ว่าคนผู้หนึ่งซื่อสัตย์ต่อคำพูดของตนเองเป็นเวลา 70 ปี ตราบจนเขาไม่อยู่บนโลกนี้ ตราบจนชีวิตหาไม่

เขาซื่อสัตย์ต่อคำพูด “...เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

เราไม่เทียมเท่าเขาในทุกด้าน แต่เราจะพยายาม ให้ได้เศษเสี้ยวส่วนน้อยของเขาก็ยังดี

เราจะซื่อสัตย์ต่อความทรงจำถึงเขา และเราจะใช้ความทรงจำนั้น เป็นแรงผลักดันให้เราเดินหน้าต่อไป ให้เราตอบคำถามตัวเองได้ เรากำลังทำอย่างนี้เพื่ออะไร?

นั่นคือประโยคท้ายๆ ที่ผมพูดบนเวที หลังจากนั้นหูอื้อตาพร่า จำไม่ได้อีกแล้วว่าพูดอะไร จำได้แต่ใบหน้าของพิธีกร มีน้ำตาไหลอาบแก้ม และงานบนเวทีที่โหดร้ายต่อคนพูดที่สุด ผ่านพ้นไป พร้อมอีกหนึ่งความทรงจำ

ถึงเขา...ถึงพระองค์...

ผมหวังเพียงว่าผมจะสามารถรักษาความทรงจำของผมไว้ให้นานเท่านาน ถ้าเป็นไปได้...ตลอดชีวิต

ข้าน้อยขอกราบพระองค์ ข้าน้อยขอกราบคนที่มีความหมายมากที่สุดในการทำงานของข้าพระพุทธเจ้า

ข้าน้อยจะเผชิญหน้ากับบททดสอบเหล่านั้น บททดสอบแห่งกาลเวลา บททดสอบแห่งการท้อถอย บทแห่งความท้อแท้ และอีกมากมาย อีกหลายต่อหลายบท

ข้าน้อยจะเผชิญ แม้อาจไม่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งดังเช่นเมื่อกาลก่อน แต่ข้าน้อยจะไม่ยอมแพ้

และเชื่อเหลือเกินว่า พวกเราคนไทยทุกคนจะไม่ยอมแพ้

เราจะไม่แพ้บททดสอบเหล่านั้นครับ!