posttoday

ปริมาณ ‘มือถือ’ ล้นโลก ไทยเผชิญหน้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

20 ตุลาคม 2559

ภายหลังเกิดเหตุการณ์แบตเตอรี่ระเบิด บริษัท ซัมซุงตัดสินใจประกาศยุติการผลิตและทำตลาด “กาแล็คซี่ โน้ต 7” เป็นการถาวร

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ภายหลังเกิดเหตุการณ์แบตเตอรี่ระเบิด บริษัท ซัมซุงตัดสินใจประกาศยุติการผลิตและทำตลาด “กาแล็คซี่ โน้ต 7” เป็นการถาวร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัทได้จำหน่ายโทรศัพท์รุ่นดังกล่าวไปแล้วกว่า 2.5 ล้านเครื่องทั่วโลก

นั่นหมายความว่า ในระยะเวลาสั้นๆ เพียงปีเศษ นับตั้งแต่มีการเปิดตัว “กาแล็คซี่ โน้ต 7” จนถึงการเรียกคืนสินค้าเพื่อกำจัดและประกาศยุติการผลิตนั้น ส่งผลให้โลกใบนี้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นทันที 2.5 ล้านชิ้น

แล้วสถานการณ์โทรศัพท์มือถือโลก-ขยะอิเล็กทรอนิกส์โลก เป็นอย่างไร?

ข้อมูลจาก สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (กรีนนิวส์) ระบุว่า โทรศัพท์มือถือได้ทุบสถิติด้านปริมาณ ด้วยการมีจำนวนมากกว่าประชากรโลกแล้วตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยอัตราการเติบโตดังกล่าว คิดเป็น 5 เท่า หรือ 500% เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณจำนวนประชากรโลกที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% เท่านั้น

ระยะเวลาเพียง 3 ทศวรรษ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมทั้งโทรศัพท์มือถือธรรมดา ได้ทวีคูณจำนวนพุ่งขึ้นสูงกว่า 7,000 ล้านเครื่อง โดยปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีอยู่ประมาณ 7,800 ล้านเครื่อง

เมื่อหมดอายุการใช้งาน ทั้งหมดก็คือขยะอิเล็กทรอนิกส์

กรีนนิวส์ ยังได้อ้างอิงข้อมูลจาก Solving the E-Waste Problem หรือ StEP ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสถาบันทางวิทยาศาสตร์หลายหน่วยงาน ซึ่งประมาณการไว้ว่า ภายในปี 2560 ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะมีมากถึง 65 ล้านตันทั่วโลก

เทียบเท่ากับตึกเอ็มไพร์สเตต 200 หลัง

ในส่วนของประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 3.8 แสนตัน หรือคิดเป็น 65% ของจำนวนของเสียอันตรายทั้งหมดที่มีอยู่ 5.9 แสนตัน

นอกจากนี้ ทั้ง ทส.และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ยืนยันข้อมูลตรงกันว่า พบพฤติกรรมการขน “ซากอิเล็กทรอนิกส์” โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเข้ามาในประเทศจำนวนมาก เพื่อทำการแยกสกัดโลหะมีค่า

นั่นเพราะโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง สามารถสกัดได้ทั้งเงิน ทองคำ แพลทินัม หรือแม้แต่พาลาเดียม

ข้อมูลจาก บริษัท เอส.เอเอ็มเอ็ม (เทส-แอม)บริษัทรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดเกินครึ่งของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่ส่งเข้าสู่กระบวนการกำจัด ระบุว่า โทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง สามารถสกัดออกมาเป็น “ทองคำ” ได้มากถึง 1 กิโลกรัม มูลค่าสูงกว่า 4 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท

จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านบริเวณภาคอีสานหลายหมู่บ้านจะยังชีพด้วยการสกัดโลหะมีค่าจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือชาวบ้านไม่มีความรู้และดำเนินการโดยไม่มีมาตรฐานควบคุม ส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่ ล้มป่วยจำนวนมาก

ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในซากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีสารอันตรายทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น “ตะกั่ว” ที่ทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด และการพัฒนาสมองของเด็ก “ปรอท” เป็นอันตรายต่อการเคลื่อนไหวของแขน ขาการพูด การได้ยิน การมองเห็น “คลอรีน” สารมะเร็ง “แคดเมียม” ซึ่งมีพิษเฉียบพลัน และ “โบรมีน” ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี

หนึ่งในความพยายามที่จะลดระดับปัญหาจากซากขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรม คือโครงการ“ทิ้งสมาร์ท” (Think Smart)

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เล่าว่า ทุกวันนี้ราคาของสมาร์ทโฟนที่ถูกลง มีแคมเปญแจกเครื่องฟรี ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 ประเทศไทยมียอดขายกว่า 22 ล้านเครื่อง นับว่าเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 47%

“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือจำนวน 83 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็น 122% ของประชากร โดยทั่วไปแล้วโทรศัพท์มือถือมีวงจรชีวิตสั้นกว่า 2 ปี และมักจะถูกเปลี่ยนเฉลี่ยคนละ 1 เครื่องในทุกปี” อรอุมา ให้ภาพพฤติกรรมคนไทย

ที่ผ่านมาดีแทคได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อจัดวางกล่องรับแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพ มาเป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 10 ปี เพื่อนำไปคัดแยกและจัดส่งให้กับบริษัท เทส-แอม กำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งจนถึงปัจจุบันสามารถรวบรวมและส่งไปดำเนินการแล้วมากกว่า 1.5 ล้านชิ้น

ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.9 หมื่นตัน

นี่เป็นความพยายามขององค์กรเอกชนเพียงแห่งเดียว

หากทุกภาคส่วนร่วมกัน ...โลกคงน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม