posttoday

แรงงานคือ ต้นทุนและวัตถุดิบ พลัง เพียงพิรุฬห์

02 ตุลาคม 2559

กวีนิพนธ์ที่สะท้อนภาพเมืองที่มีความปะทะกันของผู้คนกับกระแสคลื่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

กวีนิพนธ์ที่สะท้อนภาพเมืองที่มีความปะทะกันของผู้คนกับกระแสคลื่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ความเป็นไปและบุคลิกของผู้คน นี่คือหนึ่งในกวีนิพนธ์เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ 2559 “นครคนนอก” ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ ผู้ที่กล่าวว่าหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ก็คือเมืองๆ หนึ่ง เมืองที่ผู้คนแปลกหน้าต่อกัน ไม่รู้จักกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน แตกต่างแปลกแยกผสมผสาน หากก็มีหนทางและหน้าที่ที่มีต่อกัน 

พลัง เพียงพิรุฬห์ เป็นนามปากกาของ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่กับคู่ชีวิตที่ จ.สกลนคร จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ คือเมื่อสามปีก่อน เมื่อพลังตัดสินใจว่าจะเขียนหนังสือที่เกี่ยวกัน “คน” ได้แก่ คนในอาชีพต่างๆ และลักษณะบุคลิกต่างๆ แต่เมื่อเขียนไปได้ระยะหนึ่ง ก็มีแนวคิดใหม่ขึ้นมาว่า นอกจากคนแล้วคือประสบการณ์ของคน เรื่องราวของคนในสังคมทั่วๆ ไปที่อาศัยอยู่ในเมืองๆ หนึ่งจึงเกิดขึ้น

“นครคนนอกไม่ได้เพ่งความสนใจว่าใครเป็นใคร หรือเป็นอะไร ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลานั้น ช่วงเวลานี้ แต่ผมสนใจคนบางคนที่หายไปจากสารบบของเมือง” พลังเล่า

พลังบอกว่า คนไม่รู้จักกัน ถ้าไม่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงก็เป็นคนนอกของกันและกัน คนนอกนครที่คนอ่านหลายคนเพิ่งทำความรู้จักผ่านหนังสือเล่มนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับจักรวาลของการตีความ แต่อย่างน้อยที่ ก็น่าจะได้เห็นอะไรในมุมมองใหม่ๆ ในโลกของกวีนิพนธ์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้บรรจุไว้ซึ่งรูปแบบการเขียนที่หลากหลาย ทั้งร่าย ด้น วรรณรูป กาพย์ห่อโคลง กาพย์สุรางคนางค์ 28 และกลอนสี่สุภาพ

กวีนิพนธ์เป็นสิ่งที่พลังศึกษามานาน ก่อนหน้านี้เขาเคยเขียนทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย หากลงตัวที่สุดกับการเขียนบทกวี อย่างไรก็ตาม พลังบอกว่าหากให้นิยามความเป็นตัวตน ความเป็นกวีของเขาก็ยังเป็นรองของการใช้ชีวิต

“ผมเป็นนักใช้ชีวิต ผมบอกตัวเองแบบนี้นะ ผมทำงานมาหลายอย่างมาก บอกไปคนอาจจะขำก็ได้ คนสวน กรรมกร กระเป๋ารถเมล์ พนักงานถ่ายเอกสาร พนักงานเคลมประกัน พนักงานขับรถ คนขายอะไหล่รถยนต์ นี่ล่ะตัวผม”

แรงงานคือ ต้นทุนและวัตถุดิบ พลัง เพียงพิรุฬห์

 

พลังเป็นคนทำงานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยเป็นประสบการณ์ในแบบที่พลังใช้คำว่า “ถึงน้ำถึงเนื้อ” สำหรับเขาแล้วถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและสอดคล้องกับสิ่งที่เขาสนใจ นั่นคือเรื่องของคนชั้นล่าง พลังจบช่างกลและเรียนต่อปริญญาตรีที่สถาบันราชภัฏ คณะศิลปศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน

“สิ่งที่ได้จากการใช้แรงงาน ไม่ใช่เงินอย่างเดียว แต่คือต้นทุนและวัตถุดิบสำหรับงานเขียนของผม ถ้าไม่เอาแรงไปแลก เราก็จะไม่รู้จักมัน เหงื่อเพื่องานของกรรมกรไม่เหมือนเหงื่อเพื่อฟิตกล้ามเนื้อของคนออกกำลังกาย มันต่างกันเยอะ” พลังเล่า

พลังเล่าต่อว่า เมื่อทำงานใช้แรงงานก็ทำงานนั้นจริงๆ ไม่ได้คิดเรื่องงานเขียน เมื่อทั้งหมดตกผลึกแล้ว นั่นแหละจึงกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พ่อแม่มีสวนมะนาวและปลูกพริกอยู่ที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธ์ุ มีเหมือนกันที่ปลีกวิเวกไปขอพลังจากบ้านพ่อและแม่ในหน้าหนาว แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เขียนได้ทุกที่ ทั้งรถไฟฟ้า ในห้างสรรพสินค้าหรือในตลาดที่ไหนๆ จ้อกแจ้กจอแจยังไงก็เขียนได้ และเขียนเลยไม่รอให้ลมสงบ

“พ่อแม่ผมเป็นเกษตรกร ส่วนน้องชายอีกคนเป็นคนขายขยะ ขายของเก่า มีผมที่กระโดดออกมาเขียนกวี ผมเคยถามตัวเองเหมือนกันว่าผมทำแบบนี้ได้ไง แต่มันแสดงตัวออกมาเอง”

พลังมองว่า นี่คือธรรมชาติที่เป็นไป นานมาแล้วคือหนังสือเล่มหนึ่งของกวีซีไรต์ คมทวน คันธนู ที่เปลี่ยนชีวิตของเขา เมื่อได้อ่านจึงค้นพบความซาบซึ้งและอิ่มเต็มในตัวตน ทั้งๆ ที่สมัยเด็กได้เกรด 0 ภาษาไทย (ฮา) หากเพราะการสะดุ้งตื่นทางวิญญาณในหนนี้ จึงพัฒนาฝึกฝน ควบคู่ทั้งการอ่านและเขียน

“ข้างในเป็นอย่างไร ก็จะออกมาเป็นอย่างนั้น นี่คือธรรมชาติของกวีนิพนธ์ ถ้าด้านในสับสนวุ่นวาย ก็ออกมาแบบสับสนวุ่นวาย ถ้าข้างในของเราสบายดี จิตใจปลอดโปร่ง ดูได้จากบทประพันธ์”

สำหรับความคาดหวังต่อสังคม ยุคสมัยนี้แตกต่างออกไป คำตอบคือมิได้คาดหวังสิ่งใด สังคมมีกลไกของตัวมันเอง ตัวของเขาก็คือกลไกส่วนหนึ่ง ทำในสิ่งที่ทำ หน้าที่ของกวีคือการสะท้อนสิ่งที่เห็นผ่านงานศิลปะ สร้างสรรค์และสู้ด้วยความงาม ความดี และความจริง

บทกวีที่ชอบมากที่สุดในเล่มนี้คือ “ทัณฑฆาต” ที่ไม่ได้พูดถึงคน แต่พูดถึงภาษา ภาษาของมนุษย์ ภาษาของสากล ภาษาของปีศาจ ภาษาของสัตว์ ทัณฑฆาตหรือตัวการันต์ที่ทำหน้าที่ในการฆ่าเสียง ความพยายามของเขาคือการพยายามรวบรวมทั้งหมดแล้ว เพื่อปลดปล่อยตัวเองให้พบกับภาษาที่แท้จริง

กวีนิพนธ์ นครคนนอก ไม่มีขายในร้านหนังสือทั่วไป ใครสนใจสั่งซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/natnit89phuket หรือ www.facebook.com/nidjasilp และ line ID:natnitphuket