posttoday

เรื่องเล่าจาก...ป่าคำชะโนด

30 กันยายน 2559

ที่แห่งนี้คือป่าศักดิ์สิทธิ์ คือ ป่าลี้ลับ คือ ป่าอาถรรพ์ คือ ป่าพญานาค และก็คือป่าที่มีตำนาน ถูกต้องแล้ว (ครับ) ... ที่นี่คือ ป่าคำชะโนด

โดย...วุฒิชัย สาสุข 

ที่แห่งนี้คือป่าศักดิ์สิทธิ์ คือ ป่าลี้ลับ คือ ป่าอาถรรพ์ คือ ป่าพญานาค และก็คือป่าที่มีตำนาน ถูกต้องแล้ว (ครับ) ... ที่นี่คือ ป่าคำชะโนด

บนพื้นที่ราว 20 ไร่ ณ ต.วังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี คือที่ตั้งของผืนป่า แห่งนี้ ทางเดินเล็กๆ ซึ่งลาดด้วยคอนกรีต นำ สื่อมวลชน ผู้กำกับ และ ทีมนักแสดงจาก “ผีจ้างหนัง” เข้าสู่ดินแดนที่เคย ตกเป็นข่าวครึกโครมตามสื่อแขนงต่างๆ จนสร้างความสะพรึงกลัวแก่ผู้ได้ยินได้ฟัง

ป่าคำชะโนด กลายเป็นสถานที่เลื่องชื่อชั่วข้ามคืน ก็เพราะเรื่องเล่า “ผีจ้างหนัง” (คนอีสานเรียก ผีบังบด หรือ เมืองลับแล ไม่สามารถมองเห็นได้ทั่วไป นอกเสียจากว่าจะมีอะไรดลใจให้เห็น) อันสุดแสนมหัศจรรย์พันลึกที่เกิดขึ้น เมื่อบริษัทหนังเร่ชื่อก้องแห่งภาคอีสาน ถูกว่าจ้างจากใครคนหนึ่งให้ไปฉายหนังกลางแปลงในหมู่บ้านวังทอง ด้วยจำนวนเงิน 4,000 บาท แต่มีข้อแม้คือ ต้องฉายจบแค่ตี 4 ของ วันใหม่ และให้ออกจากหมู่บ้านก่อนฟ้าสาง โดยห้ามหันหลังกลับมามอง

“หนังจะเริ่มฉายตั้งแต่หัวค่ำแล้วละ แต่ตอนนั้นไม่มีผู้คนมาดูเลย พอ 3 ทุ่ม ก็มีคนมาดูจำนวนเยอะมาก แต่ที่แปลกก็คือ ผู้หญิงจะนุ่งขาวห่มขาวนั่งอยู่ด้านหน้า ส่วนผู้ชายใส่เสื้อผ้าสีดำนั่งอีกข้าง และ ทั้งหมดก็นั่งกันสงบเรียบร้อยเหมือนไม่มีการเคลื่อนไหวตัวเลย ยิ่งกว่านั้นไม่ว่าจะฉายหนังอะไร ก็ไม่มีการส่งเสียงเอะอะเหมือนหนังกลางแปลงทั่วไป ฉายหนังบู๊ ก็เฉย ฉายหนังตลกก็เงียบ แต่ที่น่าแปลกคือ ในงานไม่มีร้านขายของกินของใช้ แม้แต่ร้านขายบุหรี่ก็ไม่มี”

ถ้อยคำบางส่วนที่ ธงชัย แสงชัย เจ้าของบริษัทหนังเร่ดังกล่าว ถ่ายทอดไว้ในปี 2532 จากประสบการณ์ตรงของ ลูกน้องที่โดนผีจ้างหนังไปฉาย

18 ปีล่วงผ่าน ดูเหมือนเรื่องเล่านี้ ยังคงเป็นที่โจษขานสืบมา โดยเฉพาะในหมู่ชาว ต.วังทอง ผู้เชื่อมั่นและศรัทธาต่อผืนป่า เหตุการณ์ “ผีจ้างหนัง” จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามีอยู่จริง แม้อาจไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสามารถพิสูจน์ได้

ทองอินทร์ ปักเสติ ชาวบ้านโนนเมือง ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ๆ กับป่าคำชะโนด เล่า ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ตัวเขาคุ้นเคยกับป่าแห่งนี้ดี และเชื่อในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทหนังเร่ เพราะอาจเป็นวันเฉลิมฉลองของเจ้าที่พอดีจึงเจอเข้าโดยบังเอิญ

“ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยเจออะไรผิดปกตินะ เพราะส่วนที่เป็นป่า ใครก็ไม่กล้ารุกล้ำ แค่เดินเข้าไปนิดเดียว เจอน้ำแล้ว ถ้าไม่ใช่อำนาจของท่านทำขึ้น คนฉายหนังก็คงไม่สามารถไปตั้งจอหนัง ได้หรอก”

ป่าคำชะโนดเป็นชื่อที่ตั้งตามลักษณะภูมิประเทศ เนื่องจากบริเวณนั้นมีต้น ชะโนด (อยู่ในตระกูลเดียวกับปาล์ม คล้ายๆ ต้นตาล ต้นหมาก หรือไม่ก็ต้นมะพร้าว แต่สูงกว่า) ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มองไป ทางไหนก็เห็นแต่ทิวชะโนดสูงเด่นเป็นสง่า

ปี 2520 เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้ทำการสำรวจจำนวนต้นชะโนดในป่าแห่งนี้ มีอยู่ราว 2,000 กว่าต้น จนมาถึงปี 2544 ชาวบ้านสำรวจอีกครั้งพบว่าต้นชะโนด ลดลงเหลือเพียง 1,865 ต้น ถึงกระนั้น ที่นี่ยังคงความเย็นชื้นและให้บรรยากาศวังเวงเหมือนเดิม

แต่ที่น่าแปลกใจคือ หากพ้นจากดง ชะโนดแห่งนี้ไป ห่างกันแค่ไม่ถึง 300 เมตร ก็ไม่มีต้นชะโนดปรากฏให้เห็นแม้แต่ ต้นเดียว นี่เองจึงทำให้ผืนดินราว 20 ไร่ ถูกตั้งฉายาให้เป็นป่าแห่งชะโนดขนานแท้

“เคยมีคนคิดเอาต้นชะโนดไปปลูก ที่อื่นนะ แต่ไม่นานก็ต้องเอากลับมาคืน ที่เดิม เพราะชีวิตการงานไม่ก้าวหน้า ชีวิตครอบครัวมีแต่ความเดือดร้อน ขนาดว่าแค่เอาเมล็ด หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นใบแห้งๆ ออกจากป่า สุดท้ายต้องเอามาคืนกันหมด”

ทองอินทร์ ย้อนถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในป่าคำชะโนดให้ฟัง กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าของป่าแห่งนี้ คนภายนอกฟังดูอาจคิดว่าเป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อหลอกให้คนกลัวกันเล่นๆ สำหรับชาวบ้านที่อยู่มานานนมกลับเชื่อสนิทใจ ไม่ใช่นิทานปรัมปรา หรือนิยายประโลมโลก แต่นั่นคือแรงศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อป่าอันลี้ลับและเต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย

เรื่องเล่าจาก...ป่าคำชะโนด

เช่นที่เรากำลังจะเล่าให้ฟังจากนี้อีก ซึ่งเชื่อมโยงและเกี่ยวพันถึงพญานาค เดิมทีคนท้องถิ่นจะเรียกที่นี่ว่า “วังนาคินทร์ คำชะโนด” ที่มาก็คือมีบ่อน้ำอยู่กลางดง ชะโนด เป็นบ่อน้ำขนาดเล็กๆ แต่กลับมีน้ำซึมออกมาตามธรรมชาติตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่าบ่อน้ำประทานมาให้โดยพญานาคที่อาศัยอยู่ในบริเวณผืนป่า

สำหรับบ่อน้ำในป่าคำชะโนด ว่ากันว่าเป็นบ่อน้ำที่ความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ชาวบ้านเชื่อกันอย่างนั้น มีหลายคน เคยลองอธิษฐานตรงหน้าบ่อน้ำก็ได้ตามประสงค์ บางคนเจ็บป่วยไปดื่มหรือ อาบโรคร้ายก็หายเป็นปลิดทิ้ง สร้างความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก แต่นั่นไม่ใช่ทุกคน อยู่ที่ความเชื่อมีมากน้อยแค่ไหน หลายคน ไม่เชื่อแถมยังลบหลู่ ตักน้ำจากบ่อแล้วนำมาล้างเท้าแทนที่จะหายป่วยไข้กลับทุกข์ทรมานซ้ำหนักกว่าเดิม

เช่นเดียวกับใครที่อยากจะเข้าไปสัมผัสป่าลี้ลับคำชะโนดก็ต้องสำรวมและปฏิบัติตามข้อห้ามอื่นๆ เป็นต้นว่า ห้ามใส่รองเท้าทั่วทั้งบริเวณป่า หมวก แว่นตา ร่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ห้ามเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้คือการดูถูกดูหมิ่นต่อ ผู้ปกปักรักษาผืนดิน

“แต่ก่อนห้ามใส่เสื้อสีแดงด้วย ไม่ได้เลยนะ ใครใส่เข้ามานี่เป็นเรื่อง อยู่ไม่ได้นานหรอก ต้องรีบออกไป ไม่รู้เพราะ อะไร เหมือนท่านไม่ชอบ แต่พอหลวงปู่ (หลวงตาคำ สิริสุทโธ เจ้าอาวาสวัด ศรีสุทโธ วัดละแวกป่าคำชะโนด) ได้ทำ พิธีขอยกเว้นตอนหลังก็ใส่ได้” ทองหล่อ ตลิ่งชัน กำนันตำบลวังทอง บอก

เรื่องเล่าจาก...ป่าคำชะโนด

ความเชื่อเรื่องพญานาคของคนที่นี่นั้นอาจไม่แตกต่างจากชาวหนองคายที่เชื่อว่าพญานาคมีจริง บั้งไฟพญานาคเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของเจ้าแห่งเมืองบาดาล ไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์ธรรมดาเหมือนเมื่อครั้ง ถูกนำเสนอผ่านหนัง รวมถึงสื่อทีวีบางช่องเมื่อหลายปีก่อนโน้น ชาวบ้านละแวกป่า คำชะโนดก็คล้ายกัน พวกเขาสร้างทางเดินที่เชื่อมจากโลกภายนอกกับผืนป่าอัน ศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ด้วยรูปปั้นพญานาค 2 ตัว 7 เศียร นอนเลื้อยยาวไปจนสุดทางเดินราว 300 เมตร เพื่อสะท้อนถึงพลังอำนาจและบารมีของพญานาครา

กระทั่งในวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านก็มีความเชื่อว่าเป็นวันที่ พญานาค จะขึ้นมาหายใจ ดวงไฟสีแดง ที่ผุดกลางบ่อน้ำแล้วลอยขึ้นท้องฟ้า (คล้ายๆ กับบั้งไฟพญานาคผุดกลางลำน้ำโขงที่ จ.หนองคาย) นั่นละคือ ลมหายใจพญานาค ใครเห็นจะเป็นบุญของชีวิต

ป่าคำชะโนด ยังมีเรื่องเล่าอีกนับไม่ถ้วน ทั้งที่สร้างความรู้สึกชวนขนลุกและตื่นเต้นเสียวสันหลัง พญานาคมีจริงหรือเปล่า คงปล่อยเป็นเรื่องนานาจิตตังของแต่ละคน เพราะยากจะพิสูจน์เหลือเกิน แต่ ณ วันนี้ถือว่าเป็นโชคของชาวบ้าน ต.วังทอง ที่ใครๆ ต้องอิจฉา เมื่อไม่ต้องกระเสือก กระสนสร้างพื้นที่สีเขียวให้แก่ชุมชนเหมือนที่อื่นๆ บางทีเรื่องเล่าระหว่างพญานาคกับมนุษย์อาจไม่ได้เหลวไหล หรือ แค่หลอกคนอีกต่อไปเสียแล้ว

คุณว่าไหม?!?... ป่าอันลี้ลับนี่ละที่จะเป็นคำตอบสุดท้ายในการดำรงรักษา ผืนป่า แม้ว่าต้องแลกด้วยฉายาป่าอาถรรพ์ก็ตามที

บทความในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 24 ตุลาคม 2550