posttoday

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง

18 กันยายน 2559

เรานัดกับหญิงสาวที่เพิ่งผ่านรายการวิ่งมาราธอน (42.195 กม.) ที่ 7 ของตัวเองไปเมื่อต้นปีที่แล้ว เธอวิ่งหน้าสด

โดย...กองทรัพย์ ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี และเฟซบุ๊ก : porpla.panita

เรานัดกับหญิงสาวที่เพิ่งผ่านรายการวิ่งมาราธอน (42.195 กม.) ที่ 7 ของตัวเองไปเมื่อต้นปีที่แล้ว เธอวิ่งหน้าสด ตัวเปียกปอนด้วยเหงื่อเพราะวิ่งมาแล้ว 20 กม. มาหาเรา สีหน้าไม่มีท่าทีว่าเหน็ดเหนื่อย สิ่งที่เราเห็นจากหน้าเปลือยปราศจากเครื่องสำอางนั้นคือความสดใสและรอยยิ้มกว้าง ถ้าไม่บอกก็คงไม่เชื่อว่า “ปลา-ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ” เมื่อ 7 ปีที่แล้วก้าวผ่านความเป็นความตายมาแล้วเพราะโรคมะเร็งโพรงจมูก แต่วันนี้เธอพาตัวเองไปสู่ระยะมาราธอนแสนสุขในนิยามของเธอ

การเดินทางระยะมินิ

ก่อนหน้าที่จะพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ปลาเป็นหญิงสาวที่มีพร้อมทุกอย่าง เป็นนักวิ่งมาราธอน แข็งแรง มีการงานที่ดี มีปาร์ตี้ มีเพื่อนฝูงมาก ทำงานหนัก และเล่นกีฬาหนัก มีพื้นฐานชีวิตอยู่บนการเป็นคนเพอร์เฟกชั่นนิสต์ แต่แล้ววันหนึ่งวันที่ชีวิตเริ่มขาดสมดุล เธอก็พบว่าชีวิตของตัวเองอยู่ในความเสี่ยง “งานแรกของปลาคือเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน งานต่อมาเป็นโบรกเกอร์ค้าตราสารหนี้ เราเป็นคนรับผิดชอบสูงและเข้มงวดกับตนเองเสมอ เต็มที่กับทุกอย่าง ใช้ชีวิตแบบเจ้าแม่ปาร์ตี้ สุดโต่งทุกทาง ทำงานหนัก ปาร์ตี้หนัก ออกกำลังกายหนัก ทำอยู่เป็นปีๆ ในที่สุด อยู่ดีๆ ก็คลำพบก้อนที่ใต้ใบหูข้างซ้าย ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองโตเท่าไข่ไก่ ผลตรวจเป็นลบ ไม่พบเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่พอนำไปทดสอบเนื้อเยื่อพบว่าเราเป็นมะเร็งโพรงจมูก

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง

 

“วินาทีแรกที่ได้ยินเหมือนโลกทั้งโลกพังลงตรงหน้า สักพักหนึ่งก็คิดได้ว่าเรากำลังจะตาย แต่ไม่มีเวลาสับสันมากนัก พอหันไปเห็นคุณแม่คนที่อยู่ข้างๆ แน่นิ่งเหมือนหยุดหายใจ เราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าทำให้ท่านเห็นว่าเราโอเค ด้วยการคุยกับหมอถึงแนวทางการรักษา มีเวลาตั้งตัวน้อยมาก วันต่อมาคุณพ่อบินขึ้นมาจากภูเก็ต ขณะที่ปลากับแม่กับน้องนั่งซังกะตายอยู่ในบ้าน ด้วยความคิดว่าทำไมจะต้องเกิดเรื่องแบบนี้กับบ้านของเราด้วย พ่อเปิดประตูเข้ามา จังหวะแรกที่ทุกคนเห็นหน้ากัน พ่อก็พูดกับแม่กับปลาว่า ‘พรุ่งนี้ออกไปวิ่งกัน’ พ่อหันมาบอกปลาว่า ‘พ่อ แม่ กับน้อง ทุกคนจะแข็งแรงที่สุดเพื่อที่จะพาปลาผ่านในช่วงเวลานับจากนี้ไปให้ได้ เราทุกคนจะหายไปด้วยกัน’ จังหวะนั้นเป็นจังหวะที่ปลาหมดความสงสัย หมดความกลัวไปแล้วในจุดหนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉันจะหาย ผู้ชายคนนี้ซึ่งเป็นพ่อปักธงให้เราไว้ตรงโน้น เราแค่เชื่อมั่นว่าเราจะหายและเราก็จะหาย” สาวตรงหน้ามีแววตามุ่งมั่น ขณะเดียวกันก็มองไปยังพ่อกับแม่ที่นั่งรอเธออยู่ที่เก้าอี้ฝั่งตรงข้าม

ภาพตัดมาที่การเดินทางสู่กระบวนการรักษาของปลา คุณหมออธิบายวิธีการรักษา คือการฉายแสงด้วยรังสีรักษา 35 ครั้ง และคีโม 6 ครั้ง “หมอจะอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการรักษาแต่ละขั้นตอนให้เราฟัง หมองัดเอาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเคสที่แย่ที่สุดในการรักษามาให้ปลาดู คือคุณจะมีผิวที่ไหม้จากรังสีรักษา  ไหม้ตั้งแต่คอด้านใน จะกินข้าวไม่ได้ ผิวจะเบิร์นหมด คีโมจะต้องผมร่วง อาเจียน โน่นนั่นนี่ บลา บลา ฯลฯ เราก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง พอสรุปจบ ปลาถามหมอว่าทำยังไงก็ได้ให้จบเร็วที่สุด เพราะปลาจะไม่ทนอยู่กับมันนาน ด้วยสภาวะร่างกายแบบนี้ทางไหนที่เร็วที่สุด หมอบอกว่าคือการใช้รังสีกับคีโมไปพร้อมๆ กัน แต่หมอไม่แนะนำเพราะค่อนข้างเสี่ยง แต่ปลาเลือกวิธีนี้ เพราะปลาคิดว่าปลาแข็งแรงมาก ปลาเป็นนักวิ่งที่วิ่งไกลถึง 21 กม.ได้สบาย และกำลังจะไปมาราธอน และมะเร็งทำให้ปลาชะงักเสียก่อน” ปลาพูดถึงหญิงสาวที่ยังไม่พ้นวัย 30 แสนมุทะลุคนนั้น

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง

 

การเดินทางระยะฮาล์ฟฯ

ไม่มีใครรู้ แม้แต่หมอก็ยากจะเดาว่าสิ่งที่เธอตัดสินใจที่จะรับทุกอย่างเพราะอยากหายเร็วนั้น คือหนึ่งความผิดพลาดเหมือนกำลังผลักตัวเองให้ไปตาย “ไม่ว่าคุณจะอยากหายเร็วแค่ไหน คุณต้องให้เวลาร่างกายได้ฟื้นฟู ให้เขาได้เรียนรู้ แต่ปลาไม่ให้โอกาสร่างกายตัวเอง นั่นหมายความว่าสัปดาห์แรกที่ปลาเข้ารับการฉายแสงด้วยรังสีรักษา จากนั้นปลาเข้ารับคีโมต่อทันที ช่วงแรกไม่เป็นอะไรหรอกค่ะ เดือนแรกปลายังคงแต่งตัวสวย แต่งหน้าสวย ขับรถไปไหนมาไหน ไปโรงพยาบาลเอง ทุกอย่างปกติจนเหมือนไม่ป่วย เป็นเรื่องที่เรายังสนุกสนานอยู่ ยกเว้นว่าจะมีผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ จากการรักษาบ้าง คือ อาเจียน มีอาการเหมือนที่หมอบอกทุกอย่าง ยกเว้นผมร่วง ทั้งๆ ที่ปลาไปตัดผมรอไว้แล้ว ยังเป็นสาวซ่า และยังคงทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

“จนกระทั่งเข้าเดือนที่สองเดือนที่สามที่ผลกระทบมันรุนแรงขึ้น คอเราเริ่มไหม้ พูดลำบาก กลืนน้ำลายลำบาก จมูกด้านในมีก้อนเลือด ต้องล้างจมูกเพื่อนำเลือดออกมาทุกวัน อาเจียน ปวดในข้อในกระดูก ทุกครั้งก่อนกินข้าวจะต้องกลืนยาชาเพื่อให้ช่วงปากและลำคอไร้อาการเจ็บปวดเพื่อจะสามารถดูดและกลืนอาหารเหลวที่คุณหมอให้ได้มากที่สุด ให้มีแรงต่อไป เป็นกระบวนการที่ทรมานมาก ก็ยังเป็นแบบนี้ทุกวัน แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเรารับมือกับมันได้ จนกระทั่งจบเดือนที่สามเข้าเดือนที่สี่ เข้าสู่ครึ่งทางของการรักษาแล้ว ที่อาการมันรุนแรงมากขึ้น ร่างกายที่มันอ่อนแอลง แต่เราไม่รู้ตัวทำให้ติดเชื้อในกรวยไต แต่ก็ยังไม่รู้ตัว อดทนกับความเจ็บอยู่เป็นอาทิตย์ เพราะมัวแต่บอกตัวเองว่าไม่อยากให้แม่กังวล และคิดว่าเป็นผลจากคีโมเท่านั้น แต่ในที่สุดก็รับมือไม่ไหว

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง

 

“ปลาช็อกหมดสติ อีกนิดเดียวเชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะทำให้เราตายได้เลย แต่โชคดีมากที่คุณพ่อมาเห็นเหตุการณ์พอดี คืนนั้นเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งตื่นมาแล้วเห็นว่าสายอะไรต่อมิอะไรระโยงระยางพาดเต็มตัวไปหมด จุดเปลี่ยนอยู่ที่เมื่อร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอมาก แพทย์ก็ต้องหยุดการรักษาอาการมะเร็งไว้ เพื่อที่จะนำร่างกายของเราให้ฟื้นกลับมาได้ก่อน จากนั้นทุกอย่างทรุดฮวบลงไปเลย จากคนที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ หลังจากเหตุการณ์นั้นปลาทำอะไรไม่ได้เลย ต้องมีพยาบาลพิเศษที่ต้องหิ้วเราไปทุกที่ ต้องมีคนทำให้ทุกอย่าง”

ภาพเก่าๆ ของสาวคนหนึ่งที่สวย แข็งแรง จากคนที่เคยวิ่ง เคยซ่า เคยใช้ชีวิตอย่างสง่าผ่าเผย ต้องกลายมาเป็นซากที่นอนหายใจต่ำๆ บนเตียง “ตอนนั้นอย่าว่าแต่ความสวย ความเป็นมนุษย์ก็ยังเหลือน้อย ปลาไม่มีแรงแม้จะพยุงตัวขึ้นมา เท่านั้นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับใจเราที่ทรุดลงไปด้วย มีอยู่วันหนึ่งปลามองกระจกแล้วปลาก็เขวี้ยงทุกอย่างใส่กระจก เพราะว่าสิ่งที่เราเห็นตอนนั้นเราคิดว่ามันคือซาก คิดต่อว่าเราต้องตายแน่นอน ไม่มีทางรอด หรือต่อให้รอดก็ไม่ได้สภาพคนเดิมกลับมา ถ้ามีชีวิตอยู่แล้วจะอยู่อย่างง่อยๆ อย่าอยู่เลย ตายดีกว่า ชีวิตจิตใจตอนนั้นปิดทุกประตู ปฏิเสธการรับยา หรืออาหารทุกอย่าง”

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง

 

แน่นอนว่า ณ วันนั้น เธอคิดว่าตัวเองคือคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานที่สุด แต่เมื่อเธอหันไปมองปลายเตียงอีกครั้งก็พบว่าคนที่ทรมานมากกว่าก็คือคุณแม่ “แม่ปลาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เรากลับมาฟื้นใหม่ ท่านดันหนังสือธรรมะให้อ่าน เราก็อ่านเพื่อให้มันหมดวันไปในช่วงแรก เล่มที่ปลาอ่านและยึดถือคือหนังสือของท่านพุทธทาส เรื่องคู่มือมนุษย์ แต่พอเราอ่านแล้วทุกอย่างมันตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คือความไม่เที่ยงแท้ของสังขารตั้งแต่หัวจรดเท้า ความเปลี่ยนแปลง ผุกร่อนในชีวิต

“ตอนนั้นทำให้เราเปิดใจและหันไปมองแม่ คนที่พยายามรักษาชีวิตเราไว้อย่างดีที่สุด เขาดึงชีวิตปลากลับมาใหม่อีกครั้ง จังหวะที่คิดได้เราก็ไม่รู้จะหายไหม อาจจะตายก็ได้ แต่วันนี้ยังหายใจอยู่ ยังเห็นเข็มนาฬิกาขยับไปจังหวะเดียวกับหัวใจที่เต้นอยู่ ณ วันนั้นก็หันมารักร่างกาย ปลาก็เลยเข้าไปกอดแม่ และหันกลับมาฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง เป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ปลาฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมสำหรับการรักษาต่อไป เราก็เจอกับผลข้างเคียงจากการรักษาประมาณหนึ่ง แต่ก็ผ่านไปจนกระทั่งจบการรักษา”

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง

 

การเดินทางผ่านมาราธอน

“พอเราจบการรักษา หมอบอกว่าเราจะต้องไปฟื้นฟูตัวเอง หมอบอกว่าหมอรู้ว่าคุณรีบ แต่ไม่ต้องรีบนะ ค่อยเป็นค่อยไป ตอนนั้นก็ยังงงๆ ปลาก็ทำทุกอย่างเลย ไปเข้าวัด ทำสมาธิ กลับบ้านที่ภูเก็ต อยู่กับอากาศบริสุทธิ์ กับทะเล อยู่กับครอบครัว กับสัตว์เลี้ยง จากนั้น 3 เดือนก็กลับมาที่กรุงเทพฯ”

วันที่เธอตั้งใจจะออกสตาร์ทใหม่อีกครั้งด้วยการวิ่ง คนที่ฉุดเธอให้ออกเดินก็ยังเป็นคุณพ่อ “ปลานั่งมองรองเท้าวิ่งตัวเองที่คอนโด พ่อชวนไปสวนลุม บอกว่าไปวิ่งกัน จำได้ว่าวันที่ไปสวนลุม อย่าว่าแต่วิ่งเลย แค่เดิน 300 เมตร ปลายังทำไม่ได้เลย ปลาจำเก้าอี้ตัวนั้นที่สวนลุมได้จนทุกวันนี้ ปลาโผไปหามันเพราะปลาไม่มีแรง จากนั้นก็นั่งร้องไห้ ในจังหวะนั้นจิตใจมันหมดไปอีกครั้ง เพราะเราเคยวิ่งได้ แต่วันนี้แม้แต่เดินก็ยังทำไม่ได้ ใจจะขาด เหมือนจะตาย คิดว่าตัวเองจะมีชีวิตเป็นภาระของคนอื่น (อีกแล้ว) พ่อถือขวดน้ำเดินมาหาแล้วบอกว่า ไม่เป็นไรนะ ค่อยๆ เดินไป เดี๋ยวพ่อจะเดินไปก่อนให้ลูกค่อยๆ เดินตามมา”

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง

 

ภาพของพ่อที่ยืนรอเป็นเส้นชัยเมื่อลูกหัดเดินทีละก้าวย้อนกลับมาให้เธอเห็นอีกครั้ง “ปลานั่งบนเก้าอี้อีกสักพักหนึ่ง ก็ถามตัวเองว่าเราจะอยู่แบบคนป่วย ไข่ในหิน และหยุดทำในสิ่งที่อยากจะทำ กับเก้าอี้เอ๋ย! พรุ่งนี้ฉันจะมาใหม่ และฉันจะเดินผ่านเธอไปให้ได้ ปลาตัดสินใจทำตามความคิดที่สอง วันต่อมาก็ไปสวนลุมอีก ค่อยๆ เดิน ทุกวันปลาจะมองที่เก้าอี้ตัวนี้ วันที่เราเดินผ่านเขาไปได้ เราก็ถือว่าทำสำเร็จ เป็นอย่างนี้ทุกวัน ภายใน 1 เดือน ปลาก็กลับมาเดินสลับวิ่งรอบสวนลุมได้”

“พอปลากลับมาวิ่งได้ สิ่งที่ปลาได้ทุกครั้งจากการวิ่งไม่ใช่เรื่องความเร็วหรือสถิติ มันสอนให้ปลารู้ว่าทุกๆ ก้าวที่ปลาก้าวไป สอนให้ปลาอยู่กับลมหายใจในปัจจุบันของปลา อยู่กับความสุขทุกลมหายใจของตัวเอง มะเร็งและการวิ่งเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับปลาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สอนให้ปลาอยู่บนความรัก อยู่บนปัจจุบัน และอยู่บนทุกวินาทีทุกลมหายใจให้มันมีความสุขและพลังมากที่สุด เราก็มีความเครียดในภาระการงาน แต่ว่ามันจะทำให้เราคิดได้ และไม่จมกับสิ่งนั้นนานนัก”

ปนิตา บอกว่า เมื่อมองกลับไปเธอไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแม้แต่วินาทีเดียว เพราะมันทำให้เธอได้เรียนรู้ “ถ้าเลิกยึดติดกับความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต ยอมรับและเริ่มใหม่ คุณจะกลับมาทำอะไรๆ ได้มากกว่าเดิม แค่เราออกมาวิ่งและทำระยะทางได้มากกว่าเดิมทุกวัน สิ่งที่ปลาทำไม่ได้เป็นความสำเร็จเพื่อเอาชนะอะไรสักอย่าง แต่การกลับมาวิ่งของปลาในครั้งนี้มันสอนปลาว่าคุณไม่ต้องไปคาดหวังว่าคุณจะไปได้ไกลแค่ไหน นั่นล่ะคือความมหัศจรรย์ของชีวิต จงรักร่างกายตัวเอง จงรักทุกลมหายใจของตัวเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองมี นี่คือสิ่งที่มะเร็งและการวิ่งมาราธอนสอนปลา” สาวนักวิ่งยิ้ม และยกน้ำที่พกมาจิบ เตรียมซ้อมเพื่อมาราธอนครั้งต่อไป

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง

 

ปนิตา ตันติวัฒนวัลลภ นักวิ่ง-สาวเคยซ่า-ขาปาร์ตี้ กับการเดินทางผ่านมะเร็ง