posttoday

เกษตรกรรุ่นใหม่ใจอินดี้ ความหวังของเกษตรอินทรีย์

24 พฤษภาคม 2559

การเดินทางไปที่ จ.บุรีรัมย์ จังหวัดที่ไม่เพียงขึ้นชื่อเรื่องทีมฟุตบอล แต่ยังมีชื่อเรื่องเกษตรอินทรีย์และเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไทย

โดย...สมแขก ภาพ กลุ่ม Thailand Young Farmers

การเดินทางไปที่ จ.บุรีรัมย์ จังหวัดที่ไม่เพียงขึ้นชื่อเรื่องทีมฟุตบอล แต่ยังมีชื่อเรื่องเกษตรอินทรีย์และเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไทย การร่วมทริปกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อศึกษาองค์ความรู้ของชุมชนเกษตรอินทรีย์เปิดให้เห็นทั้งการรวมตัวกันที่แข็งแรงของเกษตรกรและภูมิปัญญาพื้นบ้านที่พร้อมถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ตลอดจนผู้คนที่แวะเวียนมาเยี่ยมชม

ดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่ควรส่งเสริมขณะนี้คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เดี๋ยวนี้เราปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่ได้ จะปลูกข้าวอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องทำแบบผสมผสาน และข้าวที่ได้ก็ต้องมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ทั้งนี้การที่จะทำให้ชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องอาศัยกำลังใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการลงพื้นที่ของเราก็เชื่อว่าทำให้เกษตรกรมั่นใจในช่องทางการตลาดด้วย” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า

อย่างไรก็ตาม ความหวังของประเทศชาติตอนนี้ คือ เรื่องเกษตรอินทรีย์ ที่นอกจากจะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในตลาดได้แล้ว ยังสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ผลิตด้วย ปัจจุบันฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในไทยได้รับการรับรองมาตรฐานมีอยู่เกือบ 1 หมื่นแห่ง รวมพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ นี่คือข้อพิสูจน์ว่านอกจากการนำวิถีอินทรีย์ดั้งเดิมกลับมาในรุ่นพ่อแม่ให้ได้แล้ว การสานต่อหรือการพลิกฟื้นของคนรุ่นใหม่คือแนวทางสร้างความมั่งคั่งอย่างแท้จริง

เกษตรกรรุ่นใหม่ใจอินดี้ ความหวังของเกษตรอินทรีย์

 

เกษตรคือแก่นสารชีวิต

และจากการติดตามกรมการค้าต่างประเทศเพื่อดูความสำเร็จของหนึ่งพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ทำให้ได้เจอกับ อุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม เกษตรกรรุ่นใหม่ ขณะที่เธอกำลังอธิบายเรื่องข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ในคูหากลุ่มเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสาน อุ้มเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มทายาทเกษตร เธอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พื้นฐานครอบครัวอุ้มเป็นเกษตรกร ในวัย 29 ปี เธอเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี (09D Sufficient Center) บ้านลุงม่วง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ อุ้ม บอกว่า เคยระเริงกับความสะดวกสบายในเมืองกรุงมาก่อน เพราะเธอเรียนปริญญาตรี 4 ปีในกรุงเทพฯ และทำงานเงินเดือนสูงเป็นเวลาปีกว่า ก่อนจะพบว่าไม่มีความสุขและอิสระที่แท้จริงจากกรงอันใหญ่นี้

อุ้ม เล่าว่า สาเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจกลับบ้านได้ง่ายขึ้น ในตอนนั้นยังไม่ใช่อาชีพเกษตรกร แต่คือแม่ “เราตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านดูแลแม่ ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ เราได้เงินเดือนค่อนข้างเยอะเราก็ใช้จ่ายไปเรื่อย รู้สึกว่าชีวิตไม่มีแก่นสาร เรารู้สึกว่าเรามาสู้อะไรกับเมืองหลวง และช่วงนั้นเป็นเวลาที่แม่ป่วยสิ่งที่คิดก็คือเราเป็นลูกแม่ไม่ใช่ลูกของบริษัทก็เลยกลับมาที่บ้าน พอกลับมาก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำงานเกษตรโดยตรงคิดว่าอาจจะมาสอบเพื่อเข้าทำงานเป็นข้าราชการในละแวกบ้าน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่ ก็เลยทำงานเกษตรเริ่มจากการทำข้าวก่อน ปีแรกทำงานหลากสายพันธุ์ เพราะไปเรียนรู้กับพี่ตุ๊หล่างที่เขาเก่งเรื่องข้าวที่ จ.ยโสธร หลังจากนั้นเราก็ทำศูนย์เรียนรู้ที่หมู่บ้านของตัวเอง

เกษตรกรรุ่นใหม่ใจอินดี้ ความหวังของเกษตรอินทรีย์

 

“ที่ฉลาดเพราะได้เจอปราชญ์ในช่วงเวลาเดี๋ยวกันถึง  4 ท่าน คือ อาจารย์เดชา  ศิริภัทร อาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้สืบสานศาสตร์แห่งพระราชา อ.โจน จันได อ.แก่นคำกล้า พิลาน้อย (ตุ๊หล่าง) เรียกได้ว่าเป็นครูบาอาจารย์ผู้เบิกทางให้พบความสุข ความสุขที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจ ทำให้หวนกลับมาถามหาแก่นสารในชีวิตตัวเองว่าเกิดมาทำไหม เพื่ออะไร พรุ่งนี้จะเอายังไง เราละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมของบรรพบุรุษมาทำอะไรในกรุงเทพฯ รากเหง้าเราเป็นชาวนาที่มันเป็นวิถี ควรกลับมาสืบทอด สร้างอาชีพบนวิถีให้ผู้คนได้รับรู้ ว่าจบธรรมศาสตร์มาทำนาทำสวนไม่ได้บ้านะคะ แต่เรามีความสุขดีด้วย มีความมั่นคงและสร้างความมั่งคั่งได้ มีเกียรติมากพอที่จะยืนหยัดในสังคมไม่ด้อยกว่าอาชีพอื่น แต่ปัญหาของเราตอนแรกคือไม่มีเงินทุน การมาทำเกษตรมันไม่ได้ง่ายดายสวยหรู เราไม่มีเงินเราต้องอยู่แบบไม่มีเงิน เรื่องต้นทุนสำคัญเหมือนกันสำหรับคนที่จะกลับมาอยู่บ้านและทำการเกษตร มาทำใหม่ๆ เครือข่ายก็สำคัญ ซึ่งตอนนี้อุ้มมีเครือข่ายทั้งกลุ่มทายาทเกษตรกร และอยู่ในกลุ่ม Thailand Young Farmers ซึ่งเป็นแหล่งรวมเกษตรกรสุดชิกไว้ (หัวเราะ) ตรงนี้ก็สร้างการรับรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้คนรุ่นใหม่ได้เยอะเหมือนกันค่ะ”

เกษตรกรรุ่นใหม่ใจอินดี้ ความหวังของเกษตรอินทรีย์

 

“ชีวิตที่บ้านมันมีความสุข ได้อยู่กับพ่อกับแม่ ได้อยู่กับคนที่เรารัก ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ตอนแรกอาจจะไม่ชอบหรอก แต่พอมาอยู่กับผืนดินจริงๆ เราพบว่าเขาให้เราอะไรเยอะมาก แต่ว่าต้องทนกับแรงกดดันรอบข้าง ชาวบ้านเขาจะพูดกระแทกกระทุ้งเรา ก็ต้องผ่านช่วงนี้ไปให้ได้แล้วเราจะไปรอด ไม่ใช่แค่อุ้มแต่สำหรับลูกหลานเกษตรกรที่เรียนจบปริญญาแล้วอยากทำเกษตรกรรม เชื่อว่าจะโดนเหมือนกัน หลายคนมองว่านี่คือกระแสของคนที่อยากกลับบ้านเป็นเกษตรกร แต่หนูมองว่าถ้าเขากลับมาที่บ้านและทำจริงๆ นี่ความยั่งยืน การกลับมาทำเพื่อผืนแผ่นดินและกลับมาพัฒนาบ้านที่บ้านเกิดของเรานี่คือวงจรการพึ่งพาตัวเอง มีอาหารปลอดภัย ร่างกายแข็งแรง แต่ทั้งนี้มันก็ต้องผ่านช่วงเวลาของความยากลำบากทั้งด้านจิตใจและทรัพย์สิน เพราะมันจะมีช่วงที่เราไม่มีเงิน มีแรงกดดันที่ต้องผ่านไปให้ได้ ต้อง
เตรียมสภาพจิตใจให้พร้อม มันไม่ได้เพอร์เฟกต์เหมือนภาพของคนที่มีเงินแล้วมาทำเกษตร” คนึงนิตย์ ให้ข้อคิด

เรื่องราวของศูนย์แห่งนี้ยังมีอีกมากมายและรอต้อนรับเพื่อนๆ ที่อยากมาสัมผัสการเป็นเกษตรกรว่าความอยากเป็นเกษตรกรของเขาจะทำได้ไหมในตอนเริ่มต้น เธอก็เปิดสอนในพึ่งพาตัวเองผ่านสิ่งที่เธอได้ทดลองทำมาแล้ว

เกษตรกรรุ่นใหม่ใจอินดี้ ความหวังของเกษตรอินทรีย์

 

ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความอยาก

จากการพบกับอุ้มในวันนั้น ทำให้เราเสาะหาเกษตรกรรุ่นใหม่ซึ่งเป็นทายาทและมีแนวคิดที่จะพลิกฟื้นผืนนาจากเคมีสู่วิถีอินทรีย์ที่ยั่งยืนอีกหนึ่งคน เธอเรียกตัวเองว่า คุณบลู (ชาวนาผู้เลอโฉม) ผู้ดูแลบ้านสวนชวนกิน จ.ชัยนาท เจ้าของสินค้าการเกษตรกิจของชาวนา (KIJ KHONG CHAOW NA) บลูบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านกลุ่ม Thailand Young Farmers ว่า เธอก็เป็นเช่นเดียวกับอุ้มคือเป็นลูกชาวนา อยู่ในสังคมเล็กๆ ของ จ.ชัยนาท เป็นเด็กที่มีโอกาสดี พ่อแม่ส่งเสียให้เรียนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งดังในเรื่องของการเกษตร แต่ขณะนั้นกลับไม่คิดเรียนคณะเกี่ยวกับการเกษตรเลย

“ความตั้งใจของพ่อแม่คือส่งลูกเรียนให้จบปริญญาตรี เพื่ออยากให้ได้งานดีๆ แต่งตัวดีๆ อยู่เมืองกรุงสบายๆ หลังจากเรียนจบก็ได้เริ่มทำงานมา 1 ปี ใช้ชีวิตในเมือง ลำบากแท้วุ่นวายทีเดียว ไม่มีเงินเดือนส่งกลับมาให้พ่อกับแม่เลย แต่พอกลับบ้านนอกทีไรสวยทุกที จนเริ่มเปลี่ยนงาน แห่งที่สองเงินดี งานมั่นคง ทำได้วันเดียวก็หนีกลับบ้านนอกยาวเลยทีนี้” บลู เป็นคนที่มีความอยาก 3 อยาก คือ อยากกิน อยากมี และอยากอยู่ เป็นแรงผลักดันให้กลับบ้าน เริ่มจากความอยากที่จะมีของกิน โดยที่ไปจ่ายตลาดน้อยที่สุดมีเห็ด มีผัก มีปลา และมีข้าวสารโดยมีแนวคิดที่ว่า ฉันจะสร้างอาหารที่ฉันกิน ด้วยมือของฉันเอง

เกษตรกรรุ่นใหม่ใจอินดี้ ความหวังของเกษตรอินทรีย์

บลู บอกต่อว่า เธออยากปลดหนี้ให้ครอบครัว “เคยตั้งคำถามกับตัวเองและถามพ่อกับแม่ว่า ทำไมพ่อกับแม่ทำนาตั้ง 70 ไร่ ชีวิตไม่เห็นดีขึ้นเลย ทำเกือบ 30 ปีก็มีหนี้เหมือนเดิม แล้วในเมื่อเรามีที่ดินตั้งเยอะขนาดนี้ชีวิตการเป็นเกษตรกร จะต้องเหนื่อย เปื้อนโคลน โดนคนอื่นมองแบบไร้เกียรติเหรอ แล้วอีกอย่างคือ เราทำนาแต่เราไม่เคยได้กินข้าวที่เราปลูกเองเลย เพราะอะไร เพราะเคมี!!!”

เพราะใช้สารเคมีในนาข้าว ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์จนถึงกระบวนการก่อนเก็บเกี่ยว ระบบนิเวศ หอย ปู ปลา หายไปหมด ผักข้างคันนายังไม่กล้ามาเก็บกิน ทำอย่างไรให้หนี้หมดก็ต้องลดต้นทุน เปลี่ยนวิถีการทำนาให้ไร้เคมีปลูกข้าวเพื่อสุขภาพ ภายใต้ ชื่อสินค้า “กิจของชาวนา” โดยมีแหล่งผลิตจากบ้านสวนชวนกิน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ดำเนินชีวิตในแบบที่เราต้องการ ลงมือสร้าง ของกินในบ้าน ผักสวนครัว เพาะเห็ด เลี้ยงปลา ปลูกข้าวโพด

“ความอยากสุดท้าย คือ อยากอยู่ดูแลพ่อแม่ในช่วงเวลาที่ท่านหัวเราะ ยิ้ม และดุว่าเราได้ มันมีความสุขมากๆ ดีกว่าที่กลับมาในช่วงที่ท่านไม่แข็งแรง แล้วได้ดูแลกัน บนเตียง โรงพยาบาล อยากอยู่กับธรรมชาติ สายลม แสงแดด ได้อยู่ในสถานที่สงบ ไม่ต้องวุ่นวายในเรื่องความเป็นอยู่ ไม่ต้องต่อแถวซื้อของ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สบายๆ และในอนาคต อยากจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาชีพเกษตรกร ที่มอซอ จน เปื้อน แต่เป็นอาชีพที่หลายๆ คนอิจฉา และพูดกันว่า ฉันอยากเป็นเกษตรกร ฉันอยากเป็นชาวนา” บลู ทิ้งท้ายได้อย่างเลอโฉมสมฉายาของเธอ