posttoday

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

07 กุมภาพันธ์ 2559

อุ้ม วิรัตน์เกษม สาวเหนือร่างเล็ก อายุ 49 ปี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิแฮปปี้เนสยูแคนกิฟ เธอเล่าถึงสาเหตุของการตั้งมูลนิธินี้

โดย...อณุสรา ทองอุไร ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

อุ้ม วิรัตน์เกษม สาวเหนือร่างเล็ก อายุ 49 ปี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิแฮปปี้เนสยูแคนกิฟ เธอเล่าถึงสาเหตุของการตั้งมูลนิธินี้ด้วยเหตุผลที่ว่าจะได้เยียวยาและเติมเต็มชีวิตของตัวเอง นอกจากนั้นก็เพราะนึกถึงหัวอกของคนเป็นพ่อเป็นแม่ เมื่อลูกมีปัญหาคนเป็นพ่อเป็นแม่จะต้องช่วยกันประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์เลวร้ายนั้นไปให้ได้ ซึ่งเธอได้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายแสนสาหัสที่ต้องเผชิญหน้ามาเพียงโดยลำพังเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา แบบที่เรียกว่าแทบจะเอาตัวไม่รอด เพราะมรสุมนั้นถาโถมมารุมเร้าเธอแบบรอบด้านพร้อมๆ กันเลยทีเดียว

อุ้มเป็นคนพะเยาโดยกำเนิด จบชั้นประถมก็ย้ายมาเรียนต่อระดับพาณิชย์จนจบก็ทำงานและมีครอบครัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ชีวิตคู่ของเธอดำเนินไปด้วยดี เธอเลือกอาชีพเป็นตัวแทนขายประกัน และถือว่าประสบความสำเร็จในสายงานนั้นเป็นอย่างดี มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างเนื้อสร้างตัวมีเงินเก็บก้อนโต จนเธอเริ่มมีลูกน้อยในวัย 12 ปี

ตอนนั้นเองเธอเริ่มรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่น่าอยู่อีกต่อไป ทั้งเบียดเสียดและแก่งแย่งแข่งขัน อากาศก็ไม่บริสุทธิ์ สังคมก็ดูรุนแรงเกินไปสำหรับเด็กๆ เมื่อเก็บเงินได้ก้อนใหญ่ เธอก็ชักชวนสามีขึ้นเหนือเพื่อไปตั้งรกรากอยู่ที่ จ.เชียงราย โดยเธอจะเปิดร้านกาแฟขายเบเกอรี่ ใช้ชีวิตแบบช้าๆ สบายๆ โดยอาจจะยังขายประกันควบคู่ไปบ้างประปราย

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

เมื่อไปอยู่เชียงรายได้ปีกว่า ทุกอย่างยังอยู่ในความเรียบร้อย เธอดำเนินชีวิตไปตามปกติ จนขึ้นปีที่ 2 ตัวเธอเองยังดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่นไม่มีปัญหาอะไรในการปรับตัว แต่ฝั่งสามีของเธอเริ่มบ่นเหงา เริ่มบอกว่าปรับตัวไม่ได้ ที่นี่ไม่ใช่ที่ทางของเขา พร้อมขอกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ เธอจำต้องยินยอม โดยสามีจะขึ้นล่องกรุงเทพฯ เชียงราย ทุก 2-3 เดือน อยู่ไม่ถึงปี ปัญหาคลาสสิกก็เกิดขึ้นคือ มือที่สามกับคนทำงานในแวดวงเดียวกัน และอวสานโลกไม่ได้สวย เพราะสามีเลือกคนใหม่โดยทิ้งเธอกับลูกไว้ที่เชียงราย

“นี่คือมรสุมลูกแรกของชีวิตอุ้ม เขาเป็นคนดีมาตลอด 10 กว่าปีที่อยู่ด้วยกันมาไม่มีวี่แววความเจ้าชู้เลย เขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนคนที่อุ้มไม่เคยรู้จัก เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขารักลูกมาก ใกล้ชิดลูกมาก แต่พอเลิกกันเขาไม่พูดถึงลูกเลย อุ้มช็อกมาก” เธอเล่าย้อนอดีตด้วยสายตาที่ยังแฝงความเศร้าให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

หลังจากเธอรู้ว่าสามีปันใจ เพียง 6 เดือนสามีก็ขอหย่า ตอนนั้นลูกชายอายุประมาณ 12-13 ปี ซึ่งเขาเคยสนิทกับคุณพ่อเขามาก เนื่องจากคุณพ่อจะอยู่เลี้ยงลูกมากกว่าเธอที่ออกไปทำงานนอกบ้าน มีงานเลี้ยงลูกทีม (ขายประกัน) บ่อยๆ แล้วสามีจะเป็นคนใจเย็นใจดีลูกขออะไรก็จะให้ ขณะที่เธอจะมีระเบียบวินัย เวลาลูกมาขออะไรต้องมีเหตุมีผลเสมอ ลูกชายจะคิดว่าคุณพ่อใจดี แต่คุณแม่ดุเสมอ มีอะไรเขาจะกล้าพูดกล้าขอกับคุณพ่อมากกว่า

ดังนั้น เมื่อเธอกับสามีหย่ากัน นอกจากทำให้ใจของเธอแหลกสลายแล้ว แต่ผลกระทบอันหนักหนานั้นก็ยังส่งผลถึงลูกชายของเธอแบบคาดไม่ถึงด้วย

“ตอนหย่าแรกๆ อุ้มยังไม่บอกลูก ให้เวลาเขาทำใจ จนกระทั่งพ่อหายไป วันเกิดลูกเขาไม่มา จึงจำเป็นต้องบอก ลูกช็อกไปเลย อุ้มจำสายตาลูกวันนั้นไม่ลืม มันแตกสลายปวดร้าว ใจอุ้มงี้เหมือนถูกฉีกออกเป็นเสี่ยง ความเสียใจของเราไม่เท่ากับความรู้สึกของลูกที่เขาเคยมีพ่อเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เขารักพ่อเขามากกว่าแม่หลายเท่า มันเหมือนโลกเขาดับสลายลงตรงนั้น จากเด็กร่าเริง เขาซึมเงียบขรึมไม่เล่นไม่ซน และแน่นอนเขาก็เริ่มเรียกร้องความสนใจประชดชีวิตในแบบที่เด็กอายุ 13 จะทำได้ในตอนนั้นคือ จากเด็กดีสุภาพเรียบร้อย ก็ทำตรงกันข้ามทุกอย่าง” เธอเล่าด้วยความเจ็บช้ำในสายตาที่สะท้อนออกมา

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

นอกจากเกเร โดดเรียน ต่อต้านกฎระเบียบทุกอย่างแล้ว แน่นอนเด็กผู้ชายกับบุหรี่แล้วมันก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่บุหรี่ มันพัฒนาไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นๆ เขาอยากรู้อยากลองไปหมด แล้วเชียงรายของพวกนี้ก็ดูหาง่ายเสียเหลือเกิน

ตอนนั้นเธอเจอมรสุมหลายด้านมากจริงๆ สามีทิ้ง ร้านกาแฟต้องปิด ร้านอาหารที่ทำก็ถูกโกง ลูกมาลองยาเสพติด เงินทองที่มีก็เริ่มหดหาย แล้วไปอยู่ที่เชียงรายเธอไม่มีญาติพี่น้องที่ไหน อยู่กันตามลำพังแม่ลูก และไม่ได้ขายประกันแล้ว ที่สำคัญเธอไม่รู้จะดูแลลูกยังไง ตอนที่ลูกมีปัญหาเธอจับต้นชนปลายกับชีวิตไม่ถูก เธอเข้าหน้าลูกไม่ติด ลูกไม่ฟังเธอเลย

แล้วเด็กผู้ชายจะไปบังคับสร้างกำหนดกฎเกณฑ์ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เธอได้แต่ประคับประคองลูกอยู่ห่างๆ ในตอนแรก เพราะทำอะไรไม่ถูก ลูกไม่เปิดใจให้แม่ ลูกถามหาแต่พ่อเขาต้องการพ่อ พ่อเป็นฮีโร่ของเขา ลูกคิดว่าแม่ทำลายครอบครัว ทำให้พ่อต้องจากไป ให้พ่อต้องทิ้งเขาไป เขาคิดว่ามันคือความผิดของแม่ ลูกขอไปอยู่กับพ่อ แต่พ่อไม่เอา (ซึ่งตอนนั้นลูกไม่รู้ เพราะแม่ไม่บอกไม่อยากทำร้ายจิตใจลูกไปมากว่านี้) ลูกกลับเข้าใจว่าแม่กีดกันไม่ให้ไปอยู่กับพ่อ อย่างที่บอกตอนนั้นเธอโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เรียกว่าแค่หายใจก็ผิดแล้ว

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

ลูกชายของเธอก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่พ่อเขาหย่าไปเพียง 6 เดือน แม่แทบจะเอาไม่อยู่ ไม้อ่อนก็แล้วไม้แข็งก็แล้วไม่ได้ผล เขาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ แม่เริ่มดุว่าตีบ้าง พอตีลูกชายก็สู้ แม่พยายามอธิบายอย่างไรลูกชายก็ไม่ฟัง จนสุดท้ายแม่ต้องบอกว่า ที่พ่อแม่เลิกกันเพราะพ่อมีคนอื่น เขาก็ไม่เชื่อ เขาฟังที่พ่อเขาพูดมากกว่า แม่ว่าอะไรจะเถียงจะสู้ทุกอย่าง

“เขาก้าวร้าวถึงขีดสุด จนเพื่อนอุ้มทนไม่ไหว โทรไปบอกพ่อเขาว่าลูกชายมีปัญหามากจนแม่เอาไม่อยู่ ให้พ่อช่วยมาดูหน่อย เขาบอกเลือดก้อนเดียวเขาตัดได้ อุ้มมองว่าที่ลูกเป็นแบบนี้เพราะลูกป่วยลูกมีปัญหาเราต้องช่วยกันแก้ไข แต่พ่อเขากลับมองว่าลูกชั่ว ไม่ได้มองว่าลูกป่วยลูกเครียดลูกเรียกร้องความสนใจเพราะพ่อแม่เป็นสาเหตุ เราทำให้ลูกเป็นแบบนี้เราต้องช่วยกันแก้สิ แต่พ่อเขาไม่เอาเลย” เธอเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ

เมื่อลูกชายเริ่มหันไปลองยาเสพติดบ่อยเข้า เธอกลัวว่าลูกจะติด เธอจึงต้องพยายามตัดไฟเสียแต่ต้นลม เธอเอาลูกไปรักษาที่โคราชเพื่อให้ลูกอยู่ที่นั่นสักพักไม่ให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ตอนแรกลูกไม่ยอมไป แต่ในช่วงนั้นเมียใหม่ของพ่อเขาเริ่มโทรศัพท์มาราวีเธอมาด่ามาว่า หาว่าเธอเอาลูกมาอ้างจะให้สามีกลับไป ลูกจึงรู้ว่าพ่อเขาไปมีคนใหม่จริงๆ จึงให้ความร่วมมือกับแม่บ้าง พอเอาลูกไปรักษาที่โคราชก็ดีขึ้น

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

แต่พอกลับมาอยู่ เชียงรายเจอเพื่อนเจอสังคมกลุ่มเดิมๆ ก็กลับไปอยู่วงจรเดิมๆ อีก ไปลองยาอีก เธอจึงตัดสินใจส่งลูกไปเรียนโรงเรียนประจำที่ประเทศอินเดีย เขายอมไปเพื่อแม่ ก็ไปอยู่ได้เกือบปี ปรากฏว่านักเรียนไทยไปมีเรื่องกับนักเรียนอินเดีย ซึ่งลูกชายของเธอไม่เกี่ยวข้อง แต่ลูกเบื่อแล้วเขาอยากกลับ ก็ขอแม่กลับ เธอก็ไม่อยากขัดใจลูกก็ยอมให้กลับมา

ลูกชายเธอชอบดนตรีและมีความสามารถตรงนี้ เธอจึงให้ลูกชายไปเรียนต่อด้านดนตรี ซึ่งลูกชายก็สามารถสอบจนได้ทุนที่โรงเรียนอินเตอร์แห่งหนึ่ง เธอไปเช่าคอนโดให้ลูกอยู่ตามลำพังที่กรุงเทพฯ แต่แล้วเขาก็กลับไปลองยาอีกครั้ง

“อุ้มรู้เข้าก็โกรธมาก เงินที่มีอยู่ก็จะหมดแล้ว งานการแม่ก็แทบไม่ได้ทำ สุดท้ายอุ้มถามจะเอายังไง เถียงกันรุนแรง สุดท้ายเขาโมโหคงเผลอตัวผลักอุ้มกระแทกข้างฝาหัวแตกสลบไปเลย ต้องนอนโรงพยาบาล 2 วัน ตอนนั้นอุ้มกลัวเขาเลยนะ เอาเขาไม่อยู่จริงๆ เขาเองก็ตกใจตัวเองด้วย เขาก็เสียใจที่ทำกับแม่แบบนั้น ตอนนั้นอุ้มหมดทางเลือกไม่รู้จะทำยังไง อุ้มเลยจะขอไปบวชชีโกนผมเลยสัก 15 วัน ก็ไม่รู้จะเอาลูกไปอยู่กับใคร ไปหาอดีตสามีขอฝากลูกกะเขาไว้หน่อย ตอนแรกเขาไม่รับฝาก อุ้มต้องก้มลงกราบเท้าเขาเลย เขาถึงยอม เอาลูกไปฝากเขา 3 อาทิตย์ เขาคิดค่ากินอยู่ทุกอย่างแม้กระทั่งค่าซักเสื้อผ้าของลูก ค่าพาลูกไปกินข้าว เขาคิดเงินมาหลายหมื่น แต่อุ้มมีเงินติดตัวไม่ถึงหมื่นเลยให้เขาไป 8,000 เขาก็ไปบอกใครว่าอุ้มโกงเงินเขา ผู้ชายนี่ถ้าหมดรักเมียน่ะเข้าใจได้นะ แต่หมดรักลูกนี่อุ้มไม่เข้าใจเลย หลังจากวันนั้นอุ้มไม่เคยติดต่อเขาอีกเลย เขาใจดำกับอุ้มไม่เป็นไร แต่ใจดำกับลูกอุ้มทนไม่ได้ เป็นวันที่อุ้มจะไม่ลืมเลย บอกกับตัวเองว่าต้องรักษาลูกให้หาย เอาลูกคนเดิมกลับมาให้ได้” เธอเล่าอย่างขมขื่น

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

เมื่อลูกเริ่มเปิดใจรับรู้สิ่งที่พ่อทำกับแม่ เขาก็เริ่มมีความสงสารเห็นใจแม่ ให้ความร่วมมือกับแม่มากขึ้น เธอก็เลยเปิดใจกับลูกว่า เงินแม่กำลังจะหมด ลูกจะต้องเดินหน้าต่อ จะถอยหลังแบบนี้อีกไม่ได้ ตั้งใจเรียนให้จบๆลูกอยากเรียนอะไรตัดสินใจให้แน่นอน ลูกชายมีพรสวรรค์ทางดนตรี เขาบอกอยากเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ มีคนแนะนำอาจารย์คนหนึ่งเก่งมาก จบด้านนี้จากต่างประเทศ แต่เขารับคนมาเรียนอายุ 25 ปีขึ้นไป

ตอนนั้นลูกชายเธออายุแค่ 15-16 ปี ก็ไปขอร้องครูให้ช่วยรับสอน ครูเขาสงสารยอมสอนให้เป็นกรณีพิเศษ ก็เรียนกับครูคนนี้มา 3-4 ปี เขาก็เป็นเด็กดีขึ้น หายเป็นปกติ ตั้งใจเรียน ไม่ไปลองยาอะไรอีก ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น ครูก็รักเขา ชมว่ามีพรสวรรค์ด้านนี้จริงๆ พอเขาเรียนจบคอร์ส กลับบ้านอุ้มก็เปิดสตูดิโอให้เขารับทำเพลง อัดเสียงทำงานโฆษณาทำอีเวนต์ต่างๆ เธอก็เริ่มกลับมาทำงานจริงจังอีกครั้ง ทำงานประชาสัมพันธ์ ทำงานอีเวนต์ต่างๆ พร้อมกับทำงานด้านจิตอาสา โดยเริ่มไปบรรยายพูดเรื่องยาเสพติดประสบการณ์ของแม่ที่ต้องรักษาลูกให้หายป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นวิทยาทานให้ครอบครัวอื่นที่เจอแบบเธอได้ผ่านพ้นประสบการณ์เลวร้ายนี้ไปได้

“ตอนที่เราเจอตรงนั้น เราแทบจะไม่มีใครช่วย ดิ้นรนด้วยตัวเองทุกอย่าง มันยากมาก แล้วเราเจอปัญหาทีเดียวพร้อมๆ กันหลายด้าน การเอาประสบการณ์ตรงของเราไปเล่าไปบอกไปแนะนำมันช่วยให้คนอื่นเรียนทางลัด ขณะเดียวกันเราก็ได้เยียวยาตัวเอง ปลดล็อกในหัวใจของเราออกไป การได้พูดได้แนะนำมันเหมือนได้ระบายออกไป และเมื่อได้เล่าเรื่องของเราแล้วมีประโยชน์กับคนอื่นมันทำใจเรามีความสุขอิ่มใจ อุ้มไปพูดตามโรงเรียนต่างๆ ไปพูดให้กับกลุ่มเยาวชนที่บ้านต่างๆ ให้กับกรมควบคุมความประพฤติ สถานพินิจ 4 ปีที่เราทนทุกข์ทรมานมันยาวนานจนไม่อยากให้ใครต้องเจอแบบเราๆ อยากทำบุญทำกุศลที่ไม่ต้องใช้เงินทองมากมายเราพูดแทนเด็กที่หลงผิด ให้ลูกกับพ่อแม่เข้าใจกัน จับมือกันแก้ปัญหา อย่าทิ้งลูก อย่าตัดหางปล่อยวัด กับอดีตสามีก็พยายามให้อภัย คิดว่าคงทำเวรทำกรรมด้วยกันมาถึงต้องมาเจอกัน และจบแบบนี้ปล่อยวางซะไม่คิดแค้นเคือง” เธอเล่าอย่างมีความหวัง

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

เธอกับลูกก็เลยช่วยกันแต่งเพลงให้กำลังใจชื่อเพลง Rhythm of Hope (ความหวัง) เพื่อเป็นอนุสรณ์ เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกชายของเธอและลูกคนอื่น ให้เด็กวัยรุ่นผ่านชีวิตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตวัยรุ่น ช่วงบ้านแตกในชีวิตไปให้ได้ เพราะเด็กๆ พวกนี้เขาติดอยู่กับความไม่รู้ เด็กที่ลองยามักจะวนเวียนกะวิถีชีวิตแบบเดิมเมื่อรักษาตัวจนหายแล้ว พ่อแม่จะดูแลยังไง

ทุกวันนี้เธอยังทำจิตอาสามาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และเพิ่งตั้งมูลนิธิแฮปปี้เนสยูแคนกิฟ ได้เพียง 1 ปีเศษ ก็ทำงานอย่างหนักหน่วงจริงจัง เริ่มมีพันธมิตรเข้ามาช่วยกันหลายคนแล้ว มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เธอจะทำให้กับสังคมตามกำลังเล็กๆ ของเธอ ที่ต้องการช่วยเด็กวัยรุ่นที่ติดยาเสพติดให้กลับมามีชีวิตที่ดีงามได้อีกครั้ง เธอเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรักความเข้าใจของคนในครอบครัว อย่ามองว่าเด็กชั่วเลว ต้องมองว่าเขาป่วย ครอบครัวต้องช่วยกันรักษาเขาให้หาย ขอเพียงมีแรงกายใจที่พร้อม เราก็จะก้าวผ่านเรื่องเลวร้ายนั้นไปได้ นี่แหละคือรางวัลแห่งชีวิตที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน

 

เมื่อมรสุมถาโถม จนไม่อาจตั้งรับทัน