posttoday

ยิว (ผู้กลมกลืน) แห่งบูรพาทิศ

03 มกราคม 2559

ผมไม่ได้กำลังพูดถึงหนังสือที่มีเนื้อหาต่อต้านชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ผมไม่ได้กำลังพูดถึงหนังสือที่มีเนื้อหาต่อต้านชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ถ้าจะบอกว่าไม่เกี่ยวเลยก็คงไม่ใช่

ผมกำลังจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับชาวยิวที่เคยมาตั้งรกรากในจีนเมื่อนานนม แต่เพิ่งมีคนค้นพบพวกเขาเมื่อต้นศตวรรษที่ 20

กลุ่มชาวยิวนี้ตั้งรกรากอยู่ในเมืองไคเฟิง เมื่อศึกษาแล้วจึงค้นพบว่าพวกเขาเข้ามาตั้งรกรากในจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ชาวยิวกลุ่มนี้เป็นพ่อค้าที่เดินทางมาจิ้มก้องที่จีน ด้วยแพรพรรณที่นำมาจิ้มก้องถูกใจฮ่องเต้ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งรกรากที่จีน

ชาวจีนไม่ได้เรียกกลุ่มชนนี้ว่าชาวยิว แต่เรียกว่าพวกหุยหมวกน้ำเงิน

“หุย” คือ คำเรียกคนมุสลิมแบบเบลอๆ ของชาวจีนมาตั้งแต่โบราณ เปรียบเทียบได้กับคำว่า “แขก” ในภาษาไทย แขกในภาษาไทยมีนัยว่ากลุ่มชนกลุ่มหนึ่งซึ่งดูแขกๆ จะอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา หรือแม้แต่อินโดนีเซียไปถึงอาหรับ เราก็เรียกแขกหมด และสำหรับคนทั่วไปก็เหมาๆ ว่าเขาคงนับถือศาสนาคล้ายๆ กัน มีประเพณีคล้ายๆ กัน แต่หากจะแยกแยะอีกนิด ก็แค่เพิ่มคำลงท้ายไปว่า แขกซิกข์ แขกฮินดู

หุยหมวกน้ำเงิน ก็เป็นคำเรียกชื่อชาวยิว ทั้งที่ชาวยิวไม่ได้เป็นมุสลิม และก็คงเป็นเพราะหน้าตาคล้ายๆ กันในสายตาชาวจีน แต่มีเอกลักษณ์ตรงที่หุยกลุ่มนี้ชอบใส่หมวกสีน้ำเงิน เลยถูกเรียกง่ายๆ ว่า หุยหมวกน้ำเงิน ส่วนจะมีลัทธิข้อห้ามความเชื่ออะไรแตกต่างกับหุยอื่น จีนคงไม่ได้ใส่ใจ

วันเวลาผ่านไป แต่กลับไม่มีใครรู้ว่ามีชาวยิวอยู่ในเมืองไคเฟิงเลย ไม่ใช่เป็นเพราะชาวหุยหมวกน้ำเงินสูญหายไปหมด หรือหลบซ่อนอยู่ในหลืบเขา แต่เป็นเพราะว่าชาวหุยเหล่านี้แทบจะกลายเป็นชาวจีนไปเกือบหมดแล้ว

ความเป็นยิวของชาวหุยหมวกน้ำเงินถูกผสมปนเปทั้งทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม หุยหมวกน้ำเงินแต่งงานกับชาวฮั่นจนหน้าตาเป็นชาวจีน ฉลองตรุษจีน ไหว้พระจันทร์ ส่วนเรื่องข้อห้ามทางศาสนาที่เคร่งครัดกันในหมู่ชาวยิวในยุโรป เรื่องการทานหมู หรือสัตว์เท้ากีบ กลับไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับชาวหุยหมวกน้ำเงินยุคปัจจุบันแต่อย่างใด จะมีบ้างก็เป็นคติความเชื่อเล็กๆ น้อยๆ เช่น ในเทศกาลปัสคา ชาวหุยหมวกน้ำเงินบางบ้านยังคงนำเลือดไก่มาทาประตู (ชาวยิวในยุโรปใช้เลือดแกะ)

อันที่จริงในต้นศตวรรษที่ 16 บาทหลวง แมทธิโอ ริซซี่ เคยพบกลุ่มชาวหุยหมวกน้ำเงินที่ไคเฟิงโดยบังเอิญ และแปลกใจที่พระเจ้าของคนกลุ่มนี้มีประวัติและชื่อเรียกคล้ายๆ ของชาวยิว จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาชาวหุยหมวกน้ำเงิน

จนเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 จึงพบว่าที่แท้พวกเขาคือลูกหลานของชาวยิวที่มาตั้งรกรากทำการค้าที่จีน ตัวตนความเป็นชาวยิวของลูกหลานชาวหุยหมวกน้ำเงินที่ถูกลืมเลือนจึงค่อยๆ ถูกรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง

แน่ล่ะ ก็นับเวลาจากยุคราชวงศ์ซ่งถึงปัจจุบันก็กว่า 700 ปีมาแล้ว ความเชื่อพวกนี้จะไปเหลืออะไร

ข้ามฟากไปดูชาวยิวในยุโรป ประวัติศาสตร์ชาวยิวในยุโรปในอดีตมีแต่ร่องรอยการถูกเกลียดชัง ถูกต่อต้าน หวาดระแวง ตั้งแต่ยุคฟาโรห์ จนถึงยุคนาซี ชาวยิวมีอิสรภาพและไม่ตกเป็นเหยื่อของความเดียดฉันท์ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ความเกลียดชังรอบด้านหายใจรดพวกเขาแทบตลอดประวัติศาสตร์ ชาวยิวไม่มีแม้กระทั่งแผ่นดินจะอยู่

เรียกได้ว่าชาวยิวคือชนชาติที่ลำบากลำบนยืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลก แต่ชาวยิวก็ยังไม่หมดไป บางจังหวะชาวยิวจำนวนนับร้อยต้องอยู่ท่ามกลางชาวยุโรปจำนวนนับหมื่นนับแสน แต่กลุ่มชาวยิวในยุโรปก็ยังคงรักษาเชื้อชาติ วัฒนธรรม และความเป็นยิวได้อย่างมั่นคง

ชาวยิวอยู่รอดท่ามกลางความกดดันและเกลียดชังนับ 2,000 ปี....Strong!

คำอธิบายต่างๆ ออกมารองรับความเข้มแข็งของชาวยิว... เพราะชาวยิวเกาะกลุ่มอยู่แต่ในกลุ่มของตน... ชาวยิวมี DNA ที่ฉลาด... ชาวยิวมีค่านิยมรักการศึกษา…

ผมเคยรู้สึกว่าทั้งหมดล้วนมีส่วนจริง จนกระทั่งหันกลับมาดูชาวหุยหมวกน้ำเงิน จึงเห็นว่านั่นอาจจะจริงแค่บางส่วน หรือเป็นความจริงที่ปลายเหตุ

สิ่งที่ทำให้ชาวยิวยังเป็นชาวยิวอยู่ได้คือความเกลียดชัง และการกีดกันจากคนรอบตัว ยิ่งกลุ่มชาวยิวโดนเกลียดชังและกีดกัน ความเป็นชาวยิวยิ่งเป็นปึกแผ่นและเข้มแข็ง เพราะนั่นคือหนทางในการอยู่รอด

เพราะทิ้งความเป็นชาวยิวไปพึ่งพาใครก็ไม่ได้ เพราะแค่มีเชื้อยิวก็โดนรังเกียจ การเกาะกลุ่มและร่วมมือกันระหว่างชาวยิวจึงเป็นทางออกเดียว

และต้องยอมรับด้วยว่าความมีคุณภาพของวัฒนธรรมก็มีส่วนในการส่งเสริมความเข้มแข็งนี้ด้วย ตลอดยุคกลางชาวยิวมีอัตราการรู้หนังสือเยอะกว่าชาวคริสต์ ความรู้ด้านต่างๆ ของชาวยิวเป็นความรู้ที่สืบต่อมาตั้งแต่อดีตไม่ถูกตัดตอน หากจะทิ้งตัวตนจากวัฒนธรรมที่มีคุณภาพไปหาวัฒนธรรมที่คุณภาพต่ำกว่าย่อมไม่ง่ายนัก

นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ยิวไม่ถูกลบเลือนหรือกลืนไป

กลับมาเมื่อครั้งชาวยิวเข้ามาจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง สภาพสังคมจีนหลังจากนั้นหลายร้อยปี ไร้ซึ่งการกีดกันทางศาสนาและเรื่องความรังเกียจในความต่างทางประเพณี เรียกได้ว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ

หากจะมีการกีดกันทางศาสนาในประวัติศาสตร์จีน ก็มักเป็นเพราะมันสะเทือนถึงความมั่นคงต่อบัลลังก์ฮ่องเต้เป็นส่วนใหญ่ โดยภาพรวมแล้วขอเพียงแต่ไม่ก่อเรื่อง ไม่วุ่นวาย ศาสนาอะไร ไม่สนใจ พระเจ้าของใครไหว้กันไปไหว้กันมาไม่เห็นแคร์

บวกกับวัฒนธรรมที่มีคุณภาพ หลากหลาย และน่าสนใจเพียงพอของจีน (เทียบกับวัฒนธรรมอื่นๆ ยุคนั้น) ชาวยิวจึงน่าจะค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ที่น่าสนุกกว่านั้นคือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคหลังๆ ที่ชาวหุยหมวกน้ำเงินบันทึกไว้บนศิลาจารึกปรากฏว่ายิ่งอยู่แผ่นดินจีนนานๆ ไป ก็ยิ่งอ้างว่า พวกเขาตั้งรกรากอยู่ที่จีนมาตั้งนานนมขึ้นเรื่อยๆ จากอยู่มาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง เป็นยืดย้อนไปเป็นราชวงศ์ฮั่น เวลาผ่านไปอีกก็มาบันทึกใหม่ว่าที่จริงพวกเขาอยู่มาตั้งแต่ราชวงศ์โจว

คือต้องการประกาศตัวว่ามีตัวตนและส่วนร่วมกับชาวจีนมานานขึ้น ลึกซึ้งขึ้น

ยุคสมัยยิวแห่งบูรพาทิศของไทย ก็เห็นมีแต่ชาวจีนโพ้นทะเลจะรวมกลุ่มและกลมเกลียวกันมากขึ้น พอเลิกยุคต่อต้าน อาตี๋อาหมวยก็โลดแล่นตามกระแสเสรีภาพ และวัฒนธรรมใหม่ในเมืองไทย เริ่มไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษกันผิดๆ ถูกๆ จดจำเทศกาลจีนหรือแม้แต่ชื่อแซ่จีนของตัวเองไม่ค่อยได้

คงไม่ใช่เพราะชาวยิวมี DNA พิเศษต่างจากชนชาติอื่น แต่เพราะมนุษย์มี DNA อย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือเมื่อกลุ่มชนที่ตนร่วมมีตัวตนอยู่ถูกกดดัน ย่อมพยายามสร้างตัวตนให้เข้มแข็งและเคร่งครัดขึ้นร่วมกันเพื่อพากลุ่มชนรอด

นี่แหละคือวิธีสร้างความรักชาติ รักศาสนา รักครอบครัวและสายเลือด แต่ถ้ามากเกินไปจะถูกแทนด้วยความคลั่งและไม่ยอมอยู่ร่วมกับชาติ ศาสนา และครอบครัวอื่น

ทั้งนี้ ผมไม่ได้สนับสนุนการกลืนกินกลุ่มชนหรือวัฒนธรรมใดๆ แต่เพียงอยากบอกว่าปัญหาความแตกแยกจนอยู่ร่วมกันไม่ได้ที่มากขึ้นจนกลายเป็นภัยอันตราย มีความรังเกียจ กีดกันและปิดกั้น เป็นอาหาร และการตั้งแง่จ้องทำลายล้างซึ่งกันและกัน มันกลับทำให้เกิดแรงต่อต้านที่ไม่มีวันจบสิ้น

ละเลิกการรังเกียจ กีดกัน และทำวัฒนธรรมของตนให้มีคุณภาพ คือหนทางที่มั่นคงของความกลมกลืนและกลมเกลียว