posttoday

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สามัญชนที่ไทยต้องการ

27 ธันวาคม 2558

ลูกจีน เสรีไทย ผู้ที่เคยมีชื่ออยู่บนธนบัตรไทยทุกฉบับ อธิการบดีธรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวประวัติ

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ลูกจีน เสรีไทย ผู้ที่เคยมีชื่ออยู่บนธนบัตรไทยทุกฉบับ อธิการบดีธรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวประวัติของอาจารย์ป๋วยที่ไม่พูดถึงไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้อาจารย์ป๋วยอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากมายได้ขนาดนี้ ไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติทั้งหมดที่ว่ามา

ด.ช.ป๋วย เกิดในครอบครัวชาวจีนย่านตลาดน้อย ครอบครัวไม่ร่ำรวย แม่ของ ด.ช.ป๋วย เหมือนลูกสาวในครอบครัวจีนทั่วไป ไม่ได้มีการศึกษา

แต่ก็พออ่านออกเขียนได้ ทำบัญชีได้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเธอก็อยากให้ลูกได้เรียนดีๆ

เตี่ยของ ด.ช.ป๋วย เสียตั้งแต่ ด.ช.ป๋วย อายุได้ 9 ขวบ แม่ต้องส่งเสียให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งมันไม่ง่ายเลย ถึงลุงจะคอยให้ความช่วยเหลือบ้าง แต่สภาพฐานะทางบ้านก็ไม่ดีนัก

แม่เด็ดเดี่ยวและกัดฟันส่งลูกเรียนจนจบมัธยม ในความยากลำบาก แม่ของ ด.ช.ป๋วย สอนให้ซื่อสัตย์และโอบอ้อมอารี

ด.ช.ป๋วย ขยันและเรียนได้ดีมาก พอจบ ม.8 ก็เป็นครูที่อัสสัมชัญ เงินเดือน 40 บาท ให้คุณแม่ 30 และขณะที่เป็นครู ก็เรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองไปด้วย โดยใช้เวลากลางคืนและเช้ามืดอ่านตำรา

เมื่อสอบชิงทุนรัฐบาลไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์และการคลังที่มหาวิทยาลัยลอนดอน จึงต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปลอนดอน ไม่นานนักแม่ก็มาจากไป

เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยผลการเรียนอันดับหนึ่ง แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึง อาจารย์ป๋วยจำคำแม่ที่สอนว่า เกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทย ต้องเป็นไทย ต้องจงรักภักดีต่อไทย

“เมื่อครั้งสงครามญี่ปุ่น ผมและเพื่อนๆ ลูกจีนอย่างผมอีกหลายคน ไม่เคยลังเลใจเลยที่จะสละชีพเพื่อชาติไทย”

อาจารย์ป๋วยกับคนไทยในอังกฤษจำนวนหนึ่งร่วมก่อตั้งคณะเสรีไทย ทำงานในหลายบทบาท โดยร่วมมือกับกองทัพอังกฤษ

“ผมไม่เคยคิดมาก่อนในชีวิตว่าจะต้องจับปืนต่อสู้ เดี๋ยวนี้ผมเป็นทหาร ผมจะอยู่ในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและการกดขี่ได้อย่างไร ผมจะทำงานต่อไปได้อย่างไรในขณะที่พี่น้อง ญาติสนิท เพื่อน อยู่ในอันตราย ผมต้องยื่นมือที่อ่อนล้าไปช่วยเหลือ เผื่อว่ามันอาจจะช่วยยุติความเลวร้ายทั้งปวง ผมยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่ผมจะทำให้ดีที่สุด”

อาจารย์ป๋วยต้องฝึกรบแบบกองโจร ฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธและมือเปล่า จารกรรม ฝึกทุกอย่างเพื่อเข้ารบในสถานการณ์จริง

เมื่ออาจารย์ป๋วยยืนอยู่บนดาดฟ้าเรือดำน้ำที่ลอยลำอยู่นอกฝั่งไทย

“ข้าพเจ้าจำได้ว่า แผ่นดินอันเป็นที่รักของเราสวยงามมาก หาดทรายขาว และมีกระท่อมคนหาปลาอยู่ มีต้นไม้เป็นอันมาก ข้าพเจ้าไม่เคยไปเลย แต่รู้สึกว่าที่นั่นเป็นแผ่นดินที่รักของเรา และมีคนร่วมชาติที่รักของเราอาศัยอยู่”

จากภารกิจโดดร่มเข้าไทย อาจารย์ป๋วยถูกจับ ถูกซ้อมและเกือบถูกยิง มีเสรีไทยบางส่วนถูกยิงตายในภารกิจนี้ แต่โชคดีด้วยความช่วยเหลือจากชาวบ้านและเพื่อนที่อยู่ในไทย อาจารย์ป๋วยรอดและสามารถติดต่อเสรีไทยในไทยได้

หน้าที่หนึ่งของอาจารย์ป๋วยในไทยคือ ติดต่อให้กองทัพอากาศอังกฤษละเว้นไม่ให้บินมาทิ้งระเบิดพระบรมมหาราชวัง และวังต่างๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์

สงครามโลกยุติ อาจารย์ป๋วยคืนยศทหารแก่กองทัพบกอังกฤษ และไม่ขอรับยศที่รัฐบาลไทยจะมอบให้ และเลือกกลับไปเรียนต่อที่ลอนดอน

อาจารย์ป๋วยกลับมาไทยในฐานะนักเรียนทุนให้เปล่าของรัฐบาลไทยที่มอบให้แก่เสรีไทย ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องกลับมารับราชการใช้ทุน

มีบริษัทห้างร้านต้องการตัวมากมาย แต่อาจารย์ป๋วยเลือกที่จะรับราชการ

“นอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนาเมืองไทย ไปเมืองนอก แล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย...”

อาจารย์ป๋วยคือหนึ่งในผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหลังสงครามโลกหลายต่อหลายเรื่องเข้าที่เข้าทาง ด้วยสติปัญญา ความซื่อสัตย์และกล้าหาญ

อาจารย์ป๋วยได้เป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยอายุเพียง 37 ปี ท่านมีส่วนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินต่างประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น

ความซื่อตรงในบทบาทข้าราชการของท่านไปผิดใจผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยุครัฐบาลทหารหลายครั้งและหลายคน

อาจารย์ป๋วยยืนหยัดในหลักการด้วยความสุภาพ มีเหตุมีผล และบางครั้งก็มีอารมณ์ขัน แต่ยังคงตรงไปตรงมา เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพียงคนเดียวที่กล้ากระตุกหนวดเสือ วิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองในยุคนั้น

แม้จะไม่พ้นต้องโดนมรสุมทางการเมือง แต่เพราะอาจารย์ป๋วยมีความน่าเชื่อถือและความสามารถ จึงยังคงถูกวางตัวให้กลับมาทำงานในตำแหน่งสำคัญ

จุดยืนของอาจารย์ป๋วยคือ ขอทำงานเพื่อบ้านเมืองในฐานะข้าราชการเท่านั้น และปฏิเสธไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

12 ปี ที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเสมือนดินแดนที่อำนาจการเมืองก้าวก่ายไม่ได้

แล้วอาจารย์ป๋วยก็เลือกออกไปรับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามคำชวนของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งเป็นอธิการบดีอยู่

“ป๋วย ฉันแก่แล้ว สุขภาพไม่ค่อยดี ธรรมศาสตร์ของเรามีอะไรดีๆ และจะทำประโยชน์ต่อประเทศได้มาก ฉันขอให้อาจารย์ป๋วยมาช่วยดูแลธรรมศาสตร์ด้วย”

อาจารย์ป๋วยออกจากธนาคารแห่งประเทศไทย มาเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์ป๋วยเคยสงสัยว่า ในสภาวะสังคมเช่นนั้น การเริ่มสร้างคนคุณภาพใหม่ๆ น่าจะถูกต้องกว่าการเป็นนักการธนาคารที่ซื่อสัตย์ คอยป้องกันไม่ให้ใครโกง

ทั้งๆ ที่เมื่อมองจากมุมมองความสำเร็จของคนทั่วไป การมาทำงานด้านการศึกษาเป็นทั้งการลดเกียรติ อำนาจบารมี และรายได้

แต่สำหรับอาจารย์ป๋วยอาจไม่น่าแปลกใจ เพราะท่านใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะมาโดยตลอด อาจารย์ป๋วยกินอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อ และมีเมตตาผู้ร่วมงานเสมอ โดยเฉพาะผู้ร่วมงานชั้นผู้น้อย ท่านมักค่อยไต่ถาม ช่วยเหลือ

จากคณบดีสู่อธิการบดี อาจารย์ป๋วยนำมาซึ่งความเจริญงอกงามทางด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งการปรับปรุงหลักสูตร บุคลากร ตามมาด้วยโครงการบูรณะชนบท ซึ่งนำเอานักศึกษาและมหาวิทยาลัยเข้าไปเชื่อมโยงกับชนบท ซึ่งถูกละเลยจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งกระจุกอำนาจอยู่แต่ศูนย์กลาง

“ผมเสียดายที่รู้สึกว่าได้บกพร่องไปในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง”

น่าเสียดาย ในช่วงที่อาจารย์ป๋วยพยายามพัฒนาทั้งด้านการศึกษาและชนบท มรสุมครั้งใหญ่ก็มาถึง ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ทำให้ช่วงนั้นเกิดเป็นสังคมตีตรา ฝ่ายขวาตีตราอาจารย์ป๋วยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จะตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี ส่วนฝ่ายซ้ายตีตราว่าอาจารย์ป๋วยเป็นเผด็จการ ขัดขวางกระบวนการนักศึกษา ส่วนคนที่รู้จักและเข้าใจอาจารย์ป๋วยเป็นอย่างดีก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

ผลที่เกิดขึ้นคือ ความสูญเสียของสังคมไทย เสียดายที่คนซื่อสัตย์ มีฝีมือ มีคุณงามความดี ต้องถูกกีดกันออกจากประเทศไทยด้วยพิษการเมือง

แต่กระนั้นก็ตาม คุณงามความดีที่อาจารย์ป๋วยเคยได้ทำให้แก่แผ่นดินและสังคม ไม่เคยหายไปไหน

ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของอาจารย์ป๋วย และเป็นปีที่ยูเนสโกประกาศให้อาจารย์ป๋วยเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก

การนับขวบปีด้วยทรัพย์สมบัตินอกกายที่มากขึ้น อาจเป็นความสุขของใครหลายๆ คน ในขณะเดียวกันการนับขวบปีจากสิ่งที่มอบให้กับสังคมก็เป็นความสุขอีกด้านหนึ่งที่โลกต้องการเช่นกัน

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของอาจารย์ป๋วย จึงขอนำประวัติสั้นๆ ของอาจารย์ป๋วยกลับมาเล่าอีกครั้ง เพื่อให้ความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่อาจารย์ป๋วยมอบให้กับสังคมไทย ยังคงสืบเนื่องต่อไป

ขอคารวะแด่สามัญชน ที่มีความหาญกล้าทางจริยธรรม มีความสามารถ และปรารถนาดีต่อผู้อื่นและสังคม อันเป็นเยี่ยงอย่างให้กับสามัญชนทุกคนได้อย่างเต็มภาคภูมิ