posttoday

เส้นทางดนตรี ‘ฮั้ว-โต้’ NAP A LEAN ดูโอเพลงเน้นสนุก

26 ธันวาคม 2558

ในวันที่วงดนตรีหน้าใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และใครๆก็อยากก้าวเข้าสู่ถนนสาย “คนดนตรี” กันทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

โดย...สุภชาติ เล็บนาค ภาพ... วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ในวันที่วงดนตรีหน้าใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และใครๆก็อยากก้าวเข้าสู่ถนนสาย “คนดนตรี” กันทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่วงร็อกอินดี้เล็กๆ จากต่างจังหวัดจะโดดเด่นออกมายืนแถวหน้า จนติดตลาด ออกเพลงกับค่ายเพลงชั้นนำจนประสบความสำเร็จ

ถ้าพูดถึงวงดนตรี “ดูโอ” ที่เน้นฝีมือมากกว่าหน้าตา NAP A LEAN วงดนตรีจากค่าย Spicy Disc (สไปร์ซซี่ ดิสก์) อาจเป็นหนึ่งในคำจำกัดความของความสำเร็จเหล่านี้ได้ดี

เพราะเส้นทางที่ โต้-ธนพล ทองสวัสดิ์ นักร้องนำ และ ฮั้ว-พิสิฐ สมบัติพินพง มือกีตาร์ เดินร่วมกันมา ได้ทำให้คนดนตรีธรรมดาสองคนจากเชียงใหม่ ได้เข้ามาอยู่ใต้ชายคาของค่ายดนตรีชั้นนำ มีมินิอัลบั้มเป็นของตัวเอง และได้ร่วมงานกับคนดนตรีในฝันของเขาหลายคน ภายใต้วงดนตรี NAP A LEAN

เส้นทางดนตรี ‘ฮั้ว-โต้’ NAP A LEAN ดูโอเพลงเน้นสนุก

 

‘โต้’ เหมือนพระเจ้ามาโปรด

ฮั้ว : โต้เปรียบเสมือน “พระเจ้า” มาชี้ทางสว่างในเวลาที่ผมกำลังจะเป็นทาสของการ“หาเงินนรก” “ผมเป็นทาสเงินนรก กลางวันทำร้านกาแฟ เสร็จแล้วทำร้านอาหารญี่ปุ่นต่อถึงตี 1 เพื่อหาเงิน และหยุดเส้นทางดนตรีทั้งหมด แต่วันหนึ่งโต้ก็เข้ามากินข้าวพร้อมกับแสงออร่า แล้วบอกว่า ‘โยม โยมมาทำเพลงกับข้าพเจ้าสิ ทำไมนายไม่มาทำเพลงกับข้าพเจ้า’ เหมือนมาโปรดสัตว์ ตั้งแต่วันนั้น ชีวิตก็เปลี่ยนเลยครับ” มือกีตาร์อารมณ์ดีเล่าให้ฟัง

ส่วนผสมของโต้ที่ทำให้เพลงของ NAP A LEAN ลงตัวคือปรัชญาการทำงานที่คล้ายๆ กัน คือไม่เคร่งเครียด ทำเพลงให้สนุกไว้ก่อน และทำในแบบที่ชอบจริงๆ ทำให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันได้

“คือถ้าจะเล่นกันแบบซีเรียส ต้องคอร์ดนี้เท่านั้น หรือเราไปบอกโต้ว่า แต่งอะไรมาวะ ไม่เห็นได้เรื่องเลย วงเราก็อาจจะดังกว่านี้ แต่สำคัญคือเราไม่ได้อยากดัง ที่เรามีวันนี้คือเราทำเอาม่วนอย่างเดียว คือเราได้ทำดนตรีแบบที่เรารักแล้วโต้ก็คิดตรงกัน NAP A LEAN ก็เลยดังอยู่กับที่แค่นี้ละครับ”

NAP A LEAN เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ เมื่อ 5 ปีก่อน หลังจากได้เจอกับโต้ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นฮาเทน่า บนถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งเวลานั้นผมยังทำงานตัวเป็นเกลียว เป็นพนักงานร้านอาหาร ขณะที่โต้เป็นนักร้องในสองร้านดังของเชียงใหม่ อย่างมังกี้คลับ และวอร์มอัพ

“ตอนนั้นผมเพิ่งออกจากวงเก่า เพื่อไปสายทำมาหากินเต็มที่ วันหนึ่งโต้ก็เข้ามากินข้าว คุยกันเรื่องเพลง ผมก็เลยเอาเพลงให้โต้ฟัง ปรากฏว่าเขาชอบ ก็ชวนกันทำวง โต้ก็กล่อมเราว่าทำวงไปด้วย ทำงานไปด้วยก็ได้นะ แล้วก็ปล่อยในเน็ต ก็คุยกันว่าจะทำแบบใจรักอย่างเดียว แต่ว่าพอปล่อยเพลงแล้วคนชอบ เราก็เลยโอเค งั้นมาทำเพลงกัน” ฮั้ว เล่าให้ฟัง

จนเกิดเป็นวง NAP A LEAN ชื่อวงเกิดจากการแปลงคำจากชื่อแรกอย่าง Sleeping Pill ที่โต้ตั้งให้ซอฟต์ลง ซึ่งก็ง่ายๆ คือใช้วิธีเปิดหา Synonym หรือคำเหมือนจากเว็บไซต์ แล้วค้นเจอคำว่า Nap ที่แปลว่า
นอน และเจอคำว่า Lean ที่แปลว่า เอน ส่วนตัว aตรงกลางนั้น มาจากไอเดียฮั้ว ที่อยากตั้งให้ผิดแกรมมาร์เข้าไว้ เพื่อให้แฟนเพลงสามารถค้นชื่อวงในกูเกิลให้หาเจอได้ง่ายๆ

“ตอนนั้นเป็นยุคที่นิมมานฯ (ถนนนิมมานเหมินท์) กำลังบูมมาก แล้วเผอิญว่าผมเองมีเพื่อนทำงานอยู่ร้านเหล้าทุกร้านก็เลยเอาทรัมป์ไดรฟ์ไปเสียบ ให้เพลงของเราอยู่ในเพลย์ลิสต์ทุกร้านด้วย กลายเป็นว่าในนิมมานฯ เปิดเพลงเราหมดเลย คนที่มาจากกรุงเทพฯ ก็ได้ยิน หลายคนพอไปเจออีกทีในยูทูบที่เราเอาลง ก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลา สุดท้ายก็ไปติดชาร์ตอันดับ 9 ของคลื่นแฟต แล้วเราก็เริ่มได้เล่นสดกัน” ฮั้ว มือกีตาร์อารมณ์ดี เล่า

ฮั้วไม่เคยจินตนาการไว้ก่อนว่า ในอนาคต NAP A LEANจะเติบโตไปในทิศทางไหน แต่ ณ ปัจจุบันเมื่อได้เดินเส้นทางนี้แล้วก็พอใจ

“เพราะเราได้เจอคนที่เราอยากทำงานด้วย ทั้งนักดนตรีโปรดิวเซอร์ เทคนิเชียน หรือซาวด์เอนจิเนียร์ ที่เจ๋งๆ เต็มไปหมด หรือคอนเสิร์ตที่เราอยากเล่น เราก็ได้ไป ผมก็ถือว่านี่ล่ะคือสังคมที่เราอยากอยู่”

สำหรับธุรกิจจะอยู่อย่างไรก็เป็นเรื่องของธุรกิจ แต่อยากเล่นดนตรี อยากคุยกับว่าน ธนกฤต ซึ่งเป็นนักดนตรี เป็นนักแต่งเพลงที่ชอบ คุยกันได้ ชอบสังคมแบบนี้มากกว่า

เส้นทางดนตรี ‘ฮั้ว-โต้’ NAP A LEAN ดูโอเพลงเน้นสนุก

 

‘ฮั้ว’ คือผู้นำทาง

โต้ : ฮั้วเป็นคนแกร่งคนหนึ่งและที่สำคัญคือสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้เร็ว หากให้เปรียบเทียบ คงเปรียบฮั้วเป็นเสมือนเนวิเกเตอร์ (ผู้นำทาง)ที่ทำให้จุดหมายปลายทางแม่นยำมากขึ้น

“เวลาที่เราไม่รู้ทาง หรือไม่แน่ใจทาง ฮั้วจะเป็นคนบอกทางว่าไปทางนี้ดีกว่า เราก็แค่ทำหน้าที่ของตัวเอง ถึงเวลาก็ให้ฮั้วนำบ้าง ถึงเวลาเราก็นำบ้าง แต่ถ้ามีเนวิเกเตอร์ที่ทำหน้าที่ได้ดี เป้าหมายเราก็จะชัดขึ้น”

นักร้องนำ NAP A LEAN ได้ฝากถึงน้องๆ นักดนตรีหน้าใหม่ว่า หากคิดเอาดีด้านนี้แล้ว ขอให้เริ่มต้นด้วยความรักเพราะถ้าไม่รักจริง ก็จะอยู่กับดนตรีได้ไม่นาน ในที่สุดก็จะฉาบฉวย แต่ถ้าเลือกแล้วว่า รักทางนี้จริงๆ ก็มีช่องทางมากมายที่จะประสบความสำเร็จ เพราะวันนี้คนสามารถเลือกฟังเพลงได้เยอะ และหากเพลงดีจริง ก็มีอีกหลายคนที่รอฟังเพลงอยู่ เมื่อทำด้วยความรัก ในที่สุดเพลงก็จะติดหูคนฟังเอง

ตอนเริ่มทำวงไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าอยากมีผลงานให้เพื่อนๆ เชียงใหม่ได้ฟัง เพราะตอนนั้นเชียงใหม่มีวงของตัวเองเต็มไปหมด แล้วพอทำวงก็อยากปล่อยให้คนอื่นได้รู้ว่าวงของเราก็มีเพลงดีๆ นะ

เมื่อปล่อยเพลง “ได้ยินข่าว” ออกไป ทีมงานสไปร์ซซี่ ดิสก์ เข้ามาคุย ขอฟังเดโม่ ก็พอดีมีเพลงอยู่จำนวนหนึ่งที่ทำไว้แล้ว ส่งไปให้ค่ายพิจารณา ปรากฏว่าทางค่ายก็ชอบก็เลยให้ลงมาเล่น Melody of Life แล้วชวนอยู่สไปร์ซซี่ ดิสก์ตั้งแต่วันนั้น

หลังจากปล่อยซิงเกิ้ลมาเรื่อยๆ ในที่สุด NAP A LEANก็ออกมินิอัลบั้มของตัวเอง ชื่อ JETLAB เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงยังมีผลงานเพลง “หยุดทำร้ายๆ” ประกอบละคร “ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท” อีกด้วย

จากวงอินดี้ มาสู่อุตสาหกรรมดนตรีในค่ายเพลงใหญ่ในขวบปีที่ 5 ต้องปรับตัวไม่น้อย เพื่อให้อยู่รอดในกระแสน้ำเชี่ยว

“ผมว่าเราเป็นมืออาชีพมากขึ้น อย่างน้อยเรามีวินัยในการทำงาน เพราะทีมงานทุกคนเป็นมืออาชีพทั้งหมด เราก็จะเป็นเด็กไม่ได้แล้ว แล้วพอเราได้เจอคนเยอะขึ้น ทัศนคติเราก็โตขึ้น เพลงที่เราทำก็โตตาม”

อย่างไรก็ตาม หลักสำคัญของการทำเพลง ไม่ว่าจะค่ายใหญ่หรือเล็ก ก็คือต้องเริ่มจาก “ความชอบ”

“ไม่ใช่ให้คนอื่นชอบเพลงเราอย่างเดียว แต่เราต้องชอบเพลงตัวเองก่อนเป็นอย่างแรก คือทำอย่างไรก็ได้ให้รู้สึกว่าเพลงที่ออกมาเป็นเพลงที่ตัวเองชอบ ถ้าเราชอบ เราจะอยู่กับมันได้นาน หรือถ้าไม่มีใครชอบมันเลย อย่างน้อยก็มีเราสองคนที่ชอบเพลงตัวเอง”

ปัจจุบัน มินิอัลบั้ม JETLAB กระจายอยู่ตามร้านขายซีดีชั้นนำทั่วไป รวมถึงสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งทาง iTunesDeezer และ KKbok และสามารถติดตามคิวโชว์ได้ที่แฟนเพจ NAP A LEAN ทางเฟซบุ๊ก

ต้นปี 2559 ซิงเกิ้ลใหม่จะออกมาให้ฟังกันอย่างแน่นอน