posttoday

ช็อป & แชร์ สังคมก้มหน้าคนสองวัย

28 พฤศจิกายน 2558

อุปกรณ์มือถือต่างๆ ได้กลายเป็นสิ่งของคู่กายในทุกเทศกาลของการฉลอง (หมายถึงช่วงเดือน ต.ค. 2557–ม.ค. 2558)

โดย...ปอย ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

อุปกรณ์มือถือต่างๆ ได้กลายเป็นสิ่งของคู่กายในทุกเทศกาลของการฉลอง (หมายถึงช่วงเดือน ต.ค. 2557–ม.ค. 2558) ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ครอบคลุมตลาดฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์) จนถึงขนาดว่าขาดไม่ได้สำหรับใครหลายคน ผู้คนจำนวนมากต่างพากันใช้ดีไวซ์เหล่านี้ (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบรวมระหว่างคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนเข้าไว้ด้วยกัน) เพื่อแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขระหว่างกัน หรือเลือกซื้อของขวัญทางร้านค้าออนไลน์ทดแทนการยืนเข้าคิวตามที่ต่างๆ การช็อปออนไลน์ก็กำลังมีบทบาทมากขึ้น

นอกจากใช้เฟซบุ๊กเพื่อการช็อปปิ้งแล้ว แน่นอนว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่จะแชร์เรื่องราวอื่นๆ กันมากขึ้นด้วย ในช่วงนี้การเล่นเฟซบุ๊กบนดีไวซ์เครื่องโปรดของแต่ละคน โดยเฉพาะเนื้อหาแชร์กันผ่านมือถือในช่วงเทศกาลวันหยุดพิเศษปลายปีที่ผ่านมาสูงกว่าช่วงปกติถึง 30%

ช็อป & แชร์ สังคมก้มหน้าคนสองวัย นวลพรรณ

 

เลือกช็อป แชร์เรื่องบอกบุญหมาแมว

นักช็อปตื่นตัวที่สุดในวันสิ้นปี ด้วยยอดเช็กอินร้านค้าที่สูงขึ้นกว่าปกติ 98% ตามมาด้วยยอดช็อปออนไลน์ที่สูงขึ้น7% ในเดือน ม.ค.ปีที่ผ่านมา หนุ่มกราฟฟิกวัย 25 ปี อภิสิทธิ์ พุ่มพุก นักช็อปตัวจริงบนตลาดออนไลน์ ของใช้ ของแต่งตัว ของผู้ชาย เช่น แว่นตา นาฬิกา กระเป๋ายี่ห้อดัง ถ้าเปรียบเทียบกับการช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ การซื้อผ่านเฟซบุ๊กถือว่าได้ราคาดีกว่ามาก แล้วที่สำคัญไม่ต้องเสียเวลาไปเดินหาซื้ออีกด้วย และบางครั้งการทำงานก็รัดตัวยากปลีกเวลาไปช็อปปิ้ง

“ผมใช้เวลาช่วงเช้าก่อนเข้างาน 30 นาทีครับ ไล่ตามหน้าฟีดก็จะได้ช็อปปิ้งของที่เราสนใจจริงๆ เพราะเราจะกดไลค์เพจขายของพวกนี้ แล้วเขาก็จะอัพเดทสินค้าใหม่บ่อยๆ และตอนช่วงเย็นผมก็จะให้เวลาเรื่องนี้นานสักหน่อย บางวันสองชั่วโมงกว่าก่อนนอน ก็จะเป็นเรื่องช็อปปิ้งออนไลน์เหมือนกันครับ ผมไม่เคยโพสต์เรื่องส่วนตัวเพราะตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ

แต่ก็ใช้อวยพรวันเกิดเพื่อนๆ หรือโพสต์คลิปฮาๆ บ้าบอๆ มันเป็นพื้นที่ของการแชร์อะไรที่ผ่อนคลายมากกว่าเรื่องอะไรที่ซีเรียส แล้วการใช้เฟซบุ๊กอีกเรื่องคือใช้เป็นไอเดียในการทำงานครับ กดไลค์เพจเกี่ยวกับกราฟฟิกดีไซน์ไว้หลายๆ เพจ แล้วเวลาไล่ฟีดดูก็จะได้ดูอะไรที่เราสนใจจริงๆ ด้วย

ผมเคยพลาดเรื่องการช็อปออนไลน์ 2-3 ครั้งเท่านั้น สินค้าไม่ตรงกับที่เห็นแต่ก็ถือว่าบางครั้งที่เราช็อปของเซลส์แบบรีบๆ เราก็อาจได้ของคุณภาพไม่เต็มร้อยมาเหมือนกัน ผมจึงไม่ซีเรียสนัก ผมชอบการซื้อขายผ่านเฟซบุ๊กที่ของมียี่ห้อก็ต่อรองราคากันได้ แล้วก่อนผมตัดสินใจซื้อก็จะดูข้อมูลร้านเปิดมานานหรือยัง ฐานลูกค้าเยอะไหมมีคอมเมนต์ดี/ไม่ดีอย่างไร เช็กข้อมูลก่อนครับ

แต่สำหรับของขวัญปีใหม่ ผมไม่ชอบซื้อผ่านออนไลน์ แต่ไปเลือกดูที่ร้านเลย เพราะเป็นของขวัญที่เราตั้งใจมอบให้คนพิเศษ เราต้องเห็นต้องสัมผัสว่ามันดีที่สุด”

นวลพรรณ โอสถานนท์ พีอาร์สาวโสด บอกว่า ไม่เคยช็อปปิ้งออนไลน์ ไม่ใช่ไม่ไว้ใจในคุณภาพสินค้าหรือคนขาย เพราะจะไม่ซื้อของโดยไม่เช็กข้อมูลอยู่แล้ว แต่ถ้าจะซื้อรองเท้าสักคู่ก็ขอลองแล้วลองอีกให้แน่ใจ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นนิสัยการซื้อที่ต้องได้ฟิตติ้งให้แน่ใจ

ส่วนการใช้เฟซบุ๊กโดยเฉพาะช่วงเวลาแห่งความสุขปีใหม่ วาเลนไทน์ สงกรานต์ จะชอบแชร์เรื่องหมาแมวจรจัด เจ็บป่วย และต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน

“ชวนคนทำบุญกันค่ะ ข้อดีของเฟซบุ๊กคือเราสามารถเสิร์ชชื่อใครก็ได้ในโลกนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเฟรนด์กัน ดิฉันก็จะเช็กไปถึงต้นตอข้อมูลก่อนแชร์ว่าเป็นข้อมูลเก่าหรือใหม่ แมวที่โดนรถชนตัวนี้เป็นเคสใหม่หรือเปล่าเราก็เช็กได้ค่ะ แล้วก็แชร์ชวนคนระดมทุนค่ารักษา คนเข้ามาก็ไม่ใช่แค่คนเป็นเฟรนด์กับเราเท่านั้น หน้าฟีดของดิฉันส่วนใหญ่ก็มีแค่นี้ค่ะ ส่วนภาพฉลองล่าสุดคือแต่งตัวเป็นผีฮัลโลวีนกับหลานๆ เป็นอัลบั้มขำๆ ฮาๆ”

แน่นอนว่าฤดูเทศกาลช่วงนี้ จะครบถ้วนสมบูรณ์ไปไม่ได้ถ้าไม่มีข้อความอวยพร หรือส่งความสุขในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ โดยปัจจุบันเฟซบุ๊กได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นการ์ดอวยพรดิจิทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื้อหาการพูดคุยกันบนหน้าฟีดมักเกี่ยวกับคำอวยพรและกิจกรรมในช่วงเทศกาล นวลพรรณ ย้ำว่า การอวยพรวันเกิดผ่านไทม์ไลน์เพื่อนฝูง คือสิ่งที่ไม่เคยพลาดเลย

ช็อป & แชร์ สังคมก้มหน้าคนสองวัย ณภัสวรรณ

 

อีกสื่อผ่านช่องทางออนไลน์

เรื่องราวที่ทุกคนเลือกแชร์กันบนเฟซบุ๊กทำได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงหรือภาพการห่อของขวัญคริสต์มาส โดยเมื่อเทียบกับวันธรรมดาในช่วงสิ้นปีแล้ว ยอดการแชร์โพสต์ผ่านทางมือถือจะเพิ่มสูงขึ้นในวันส่งท้ายปีเก่าและวันคริสต์มาสอีฟถึง 68% และ 36% ตามลำดับ

ข้อมูลระบุว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กทุกกลุ่มต่างแชร์คอนเทนต์กันมากขึ้นในช่วงนี้ ทั้งเด็กช่วงอายุ 18-24 ปี (มากกว่า 19%) หนุ่มสาวช่วงอายุ 18-34 ปี (มากกว่า 23%) ผู้ปกครอง (มากกว่า 17%) หรือคุณแม่ (มากกว่า 19%) ก็ชอบแชร์สูตรอาหารใหม่ของคุณแม่ เทรนด์การแชร์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ประเภทเจเนอเรชั่น Y เท่านั้น กลุ่มผู้ใหญ่ก็เลือกใช้ช่องทางนี้ในการสื่อข่าวสารเช่นกัน

วนัสธนา สัจจกุล หรือชื่อใหม่ของ “บิ๊กหอย” อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย บอกว่า ช่วง 6 เดือนมานี้จะเห็นโพสต์ของเขากับการงานในวัย 73 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครนายกสมาคมฟุตบอล แล้วการที่คลุกคลีอยู่กับวงการสื่อมานานก็ได้เห็นว่าโลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง โลกออนไลน์เป็นช่องทางส่งข่าวสารได้ผลที่สุด

“ผมใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการส่งข่าวตั้งแต่สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันนั้นไม่ได้ผลเท่าวันนี้ครับ โลกข่าวสารอยู่บนดีไวซ์แท้จริง ผมไม่โพสต์เรื่องหวือหวา แก่แล้ว
(หัวเราะ) ไม่มีเวลาพูดเยอะ ก็พูดในสิ่งที่ต้องการสื่อสารจริงๆ และได้ผลดีมาก ผมสามารถแจ้งทุกๆ เรื่องผ่านเพจของผมโดยตรง ข้อมูลไม่ได้ผ่านสื่ออื่นแบบสมัยก่อน ข้อมูลจึงถูกต้องมาจากผมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้พักการเล่นเฟซบุ๊กชั่วคราวไปจนถึงก่อนปีใหม่ ซึ่งผมก็จะใช้พื้นที่สาธารณะตรงนี้บอกข่าวสารของผมอีกครั้ง

สำหรับอัลบั้มส่วนตัวบนพื้นที่ตรงนี้ไม่มีหรอกครับ แก่แล้วเราก็ต้องลดความหวือหวา รูปหลานๆ เด็กตัวเล็กๆ ที่ใส่ชุดนักฟุตบอลก็เป็นลูกหลานเพื่อนในเฟรนด์ลิสต์ เต็ม 5,000 คนแท็กเรามา ผมรู้สึกดีนะก็รู้สึกว่าเรายังเฟรชชี่ ที่ทำงานอยู่ในวัยขนาดนี้ ถือเป็นการแชร์สีสันวงการฟุตบอลได้ชัดๆ ว่าวันนี้คึกคักมาก” 

ณภัสวรรณ จิลลานนท์ กล่าวว่า สิ่งที่เฟรนด์ซึ่งมีอยู่ไม่เกิน 500 คน เพราะได้ตั้งกติกาไว้บนหน้าเพจของตัวเองว่า จะรับเพื่อนในกติกา 1.ต้องมีรูปจริง/ชื่อจริง ถ้าเป็นรูปสัตว์/ดอกไม้/ภาพวิว หรือภาพที่ไม่ใช่บุคคลจะไม่รับแอดเฟรนด์ และ2.พื้นที่ตรงนี้ควรจะเป็นที่พูดคุยกันสำหรับคนสนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งเรื่องที่โพสต์มากที่สุดคือเรื่องมารยาทสังคม ฐานะรับเป็นอาจารย์พิเศษสอนพัฒนาบุคลิกภาพให้กับสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ John Robert Powers และในวัย 64 ปี แม้หลายคนจะเกษียณไปแล้ว แต่งานตรงนี้ก็ถือเป็นงานยามว่างและหมั่นเพิ่มเติมความรู้บนหน้าฟีดของตัวเองเสมอ

“สิ่งที่ดิฉันโพสต์บ่อยที่สุด คือ ภาพสวยๆ งามๆ ของตัวเอง ไม่ยอมแพ้วัยค่ะ (หัวเราะ) ทั้งเรื่องสุขภาพความงาม แชร์การออกกำลังกาย สีสันเสื้อผ้า หน้าตาเน้นความสดใส แล้วสิ่งที่เสริมไปด้วยคือเรื่องการดูแลสุขภาพความงามให้สดชื่นสวยสมวัยนะคะ อีกเรื่องที่ได้ยอดไลค์มากที่สุดคือการเขียนเรื่องสมบัติผู้ดี ก็มีเพื่อนๆ ขอให้รีโพสต์อีกครั้ง รู้สึกลงซ้ำไปอีก 3 ครั้ง แล้วยอดไลค์ก็น่าชื่นใจ ดิฉันคิดว่าตรงนี้คือช่องทางในการพูดคุยกันสำหรับคนสนใจเรื่องเดียวกัน ก็เลยมีกฎอีกข้อค่ะว่าจะเคลียร์เพื่อนทุกๆ 3 เดือน ถ้าใครไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับเรา ขอลบทิ้ง กฎเยอะค่ะ (หัวเราะ)

ไม่รู้ว่าติดไหมแต่จะเข้าไปดูหน้าฟีดทุกครั้งที่ว่าง แต่ไม่นานค่ะ เพราะดิฉันไฮเปอร์อยู่กับอะไรได้ไม่นานๆ

สำหรับปีใหม่ก็คิดว่ากำลังจะเขียนเรื่องมารยาทการอวยพรที่ถูกต้อง เด็กวัยรุ่นทุกวันนี้อวยพรได้งงมาก เช่น พิธีกรทีวีก็อวยพรว่า ขอให้ท่านร่ำรวย สุขภาพแข็งแรง นั่นคือการอวยพรที่ผิด เพราะเป็นการอวยพรที่ผู้ใหญ่พูดกับเด็ก แต่นี่พิธีกรหนุ่มๆ สาวๆ พูดกับคนดูทั่วประเทศ คุณจะต้องพูดว่าขออาราธนาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ดิฉันคิดว่าจะเขียนเป็นบทความในช่วงปีใหม่ค่ะ ส่วนการอวยพรวันเกิดผ่านไทม์ไลน์ก็เป็นอีกสิ่งที่ดิฉันไม่เคยพลาด ใครจะว่ารูปดอกไม้ คนแก่ แต่ดิฉันคิดว่าเป็นการอวยพรที่สดชื่นที่สุดค่ะ

อีกช่องทางที่ใช้เฟซบุ๊กคือ ตอนนี้ดิฉันเริ่มขายของส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ซึ่งก็จะรู้ในวงสังคมว่าดิฉันใช้ของพวกนี้สวมใส่ออกงานเพียงครั้งเดียวเท่านั้นจะไม่ใช้ซ้ำอีก พอโพสต์ขายการตอบรับดีมาก เป็นอีกเรื่องที่สนุกเลยๆค่ะ รู้สึกว่ามีกิจกรรมทำตลอดเวลา”